“...ใจแผ่นดิน มีหลักฐานการมีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2455 ในขณะที่เพิ่งประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524 นี้เอง ทำไมวันนี้บอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยาน การพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินคือความชอบธรรม ต้องทำได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่นั่น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ...”
.....................................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี จัดเสวนาหัวข้อ ‘ทำไมต้อง Saveบางกลอย’ ในกิจกรรม ‘พาชาวบางกลอยกลับบ้าน’ หลังจากประกาศปักหลักชุมนุมค้างคืนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี , ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือ , ผู้แทนภาคีกลุ่ม #saveบางกลอย และนักวิชาการด้านวนศาสตร์ ร่วมการเสวนา
@'ใจแผ่นดิน' หมู่บ้านดั้งเดิมกะเหรี่ยงบางกลอย
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวปกากะเญอบ้านบางกลอย กล่าวอธิบายถึงคำว่า 'ใจแผ่นดิน' ที่เรียกว่าเป็นบ้านของตัวเอง ที่ทุกคนอยากที่จะกลับไปเพราะต้องการใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม ที่สามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเมื่ออพยพลงมา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน กลายเป็นต้องอยู่ในกรอบขอบเขตที่ไม่สามารถพึ่งพาธรรมชาติ วัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็อาจหายไป อีกทั้งสถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งให้ตัดสินใจกลับไป
"เมื่อเปรียบเทียบกันการอยู่ที่ใจแผ่นดิน ชีวิตดีกว่านี้ ไม่ใช่ต้องไปรับจ้างทุกวัน ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ถ้าไม่ซื้อก็จะไม่มีกิน แต่ถ้าเราทำไร่หมุนเวียน ก็ได้ข้าวก็พอกินแล้ว เดิมไม่เคยขายของให้กัน ตอนนี้ต้องซื้อของกิน จากเดิมลำบากอยู่แล้ว โควิดมาซ้ำเติมอีก ลำบากกว่าเดิม" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
@'กะเหรี่ยงทำลายป่า'มายาคติที่สร้างโดยคนเมือง
นายณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีเซฟบางกลอย กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้นึกถึงการจัดการที่ดินที่ล้มเหลวของรัฐไทยซึ่งไม่เพียงกระทบต่อชาวบ้านแต่กระทบถึงทุกคนในประเทศ ความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดิน ชุมชนหลายแห่งมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 120 ปี ก่อนการสถาปนาของกรมป่าไม้ใน พ.ศ.2439 กรมป่าไม้ที่บอกว่ารักป่านักหนา ถามว่าตั้งขึ้นครั้งแรกเพราะอะไร คำตอบคือเพื่อการตัดไม้ โลโก้ยังเป็นรูปท่อนซุง เพิ่งมาอนุรักษ์ป่าในภายหลัง นี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องยอมรับ ไม่ใช่กล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก
“ใจแผ่นดิน มีหลักฐานการมีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2455 ในขณะที่เพิ่งประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524 นี้เอง ทำไมวันนี้บอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยาน การพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินคือความชอบธรรม ต้องทำได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่นั่น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ” นายณัฐวุฒิกล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ขอโทษชาวกลุ่มชาติพันธุ์เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งตอบคำถามในข้อสอบว่า ทำไมป่าเมืองไทยลดลง ถ้าจะให้ได้คะแนนต้องตอบว่าเพราะชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า ซึ่งไม่เป็นความจริง จากข้อมูลการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่าไม้มากถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งจังหวัดที่มีหมู่บ้านกะเหรี่ยง เช่น เพชรบุรี มีพื้นที่ป่าร้อยละ 57 ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่รอยต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นป่า ร้อยละ 37 ของพื้นที่ทั้งหมด พร้อมตั้งคำถามว่า กทม. ไม่มีชุมชนกะเหรี่ยง ทำไมถึงเหลือพื้นที่ป่า เพียงร้อยละ 0.3
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า รัฐต้องปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติ การใช้โมเดลจากต่างประเทศมาใช้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำป่าให้ปลอดคน ไม่ดีเท่าการให้คนอยู่กับป่า ต้องออกจากมายาคติที่ถูกหลอก ออกมาอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่ใช้โมเดลเดียวในทุกพื้นที่ ต้องยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม อีกทั้งออกแบบและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง
@'ไร่หมุนเวียน'วัฒนธรรมหรือการทำลาย
นายบัญชา มุแฮ ชาวปกาเกอะญอจากบ้านดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า เมื่อพูดถึง 'ใจแผ่นดิน' คิดถึงความอบอุ่นของครอบครัวหมู่บ้านหนึ่ง ที่กลายเป็นความหดหู่และเศร้าใจในปัจจุบัน โดยกล่าวอีกว่าหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ยังไม่มีไฟฟ้าใช้และการสื่อสารเข้าถึงยาก แต่เรื่องราวสะเทือนใจความหดหู่ที่เกิดของชาวบ้านบางกลอยกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีผลกระทบกับความรู้สึกต่อเจ้าหน้าที่ในแต่ละหน่วยงาน ในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ กรมอุทยาน จะถูกมองในด้านอคติ ถึงแม้ว่าหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ จะประกาศเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์วัฒนธรรมพิเศษแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน หมู่บ้านใจแผ่นดิน บางกลอยที่มีวัฒนธรรมเช่นเดียวและเหมือนกัน กลับถูกปฏิบัติอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ จะเชื่อใจไว้ใจเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร
นายบัญชา กล่าวด้วยว่า ถ้าอยากรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยให้คงอยู่ จำเป็นจะต้องปกป้องรักษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์โดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน เมื่อสมัยวัยเด็ก ตนสะเทือนใจเป็นอย่างมากที่เห็นการทำไร่หมุนเวียน ที่เห็นพ่อแม่ตัดไม้ เมื่อโตขึ้น ได้เดินทางไปหลายที่ พบว่าสิ่งที่น่าหดหู่กว่านั้นก็คือ ภูเขาหัวโล้น ที่มีนายทุนส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แล้วไม่มีต้นไม้เติบโตขึ้นมาเลย ยิ่งไปกว่านั้นคือ ระบบวิถีชีวิตที่พังทลายหมด วัฒนธรรมหายลับไปกับสายน้ำ แต่จุดที่ทำไร่ ที่ถูกเรียกว่าทำไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน ไม่นานต้นไม้กลับมา สัตว์ป่าก็กลับมา
นายบัญชา กล่าวอีกว่า งานหนักที่สุดของพวกชาวเขาไม่ใช่การทำไร่ทำสวน แต่คือการดับไฟป่าทั้งกลางวันและกลางคืน ในขณะที่เจ้าหน้าที่มาช่วยดับไฟเสร็จก็กลับลงไป แต่ไม่ถึงชั่วโมงไฟลุกขึ้นมาใหม่ ปี 2563 ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ไม่เคยได้หยุดพัก เตรียมรับมือกับไฟป่าตลอด
“การแก้ไขปัญหาหมอกควัน รัฐยังแก้ปัญหาแบบเดิมๆ แก้ไม่ตก เปลืองงบประมาณอยู่อย่างนั้น คนบนดอยก็ยังเป็นจำเลยตลอด ขอให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ปัญหา ประชาชนที่มาในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นคนในเมืองที่เปิดใจเรียนรู้ การสื่อสารออกไปจะมีผลอย่างยิ่ง และขอให้พี่น้องชาติพันธุ์ยืนหยัดมุ่งมั่นในวิถีบรรพชนที่ดีวามตามวัฒนธรรมของเรา” นายบัญชากล่าว
@ขีดเส้นเขตป่าอนุรักษ์ในอดีตคลาดเคลื่อนสูง-ทับชุมชนดั้งเดิม
นายสุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการด้านวนศาสตร์ กล่าวว่า รัฐมีการกำหนดนโยบายหรือกฎหมายที่ทับซ้อน ครอบพื้นที่ชุมชนเดิมที่มีอยู่ก่อน อีกทั้งการขีดเส้นกำหนดเส้นของเขตป่าอนุรักษ์ กำหนดบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 50000 ทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนที่ค่อนข้างสูง มีการขีดทับชุมชนเดิม ชุมชนจำนวนหนึ่งยังติดค้างอยู่ การออกมาครั้งนี้เพื่อเรียกร้องทวงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ของชาวบ้านที่จะเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและทุนในการดำรงชีพของชาติพันธุ์
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ถูกจำกัดทั้งนโยบายรัฐ ที่จำกัดการใช้พื้นที่ เมื่อจำกัดพื้นที่ การทำรอบหมุนเวียนก็ลดลง ส่งผลต่อการพักฟื้นฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงยังโดนจำกัดความในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นต้นเหตุภาวะค่าฝุ่น PM 2.5 เนื่องการทำไร่หมุนเวียนเพราะในกระบวนการทำมีการเผา หรือการถูกตรีตราว่าการทำไร่หมุนเวียนทำให้น้ำเสีย เป็นการกดทับกำหนดกรอบของชาวกะเหรี่ยง และด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการจำเป็นจะต้องตัดต้นไม้เตรียมพื้นที่เพื่อเพราะปลูก แต่อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการตัดไม้เพื่อขายเลี้ยงชีพ ฉะนั้นรัฐจะต้องทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับบริบทความซับซ้อนและความหลากหลายของวัฒนธรรม
อ่านประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก
ถอดบทเรียน'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
ขอ'วราวุธ'ถอยคนละก้าว! 'ธรรมนัส'อาสากาวใจม็อบกะเหรี่ยงบางกลอย-นัดถก 19 ก.พ.
เสวนา'saveบางกลอย'แนะรัฐทบทวนแผนจัดการป่าอนุรักษ์ คำนึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage