"...ขั้นตอนต่อจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะนัดประชุม เพื่อลงมติว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาในวันที่ 5 ก.พ.2564 ทั้งนี้สามารถเสนอชื่อบุคคลเพียง 1 คนก็ได้ หากที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ หรือกรณีที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอชื่อมากกว่า 1 คน ก็เป็นแนวทางที่สามารถทำได้เช่นกัน..."
....................................................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : คณะกรรมการสรรอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย ของบุคคลที่ตอบรับการทาบทามเข้ารับการสรรหาอธิการบดี เพื่อให้ประชาคมธรรมศาสตร์ได้พิจารณานโยบายการบริหารระหว่างปี 2564-2566 โดยขั้นตอนต่อจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะนัดประชุม เพื่อลงมติว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาในวันที่ 5 ก.พ.2564
สำหรับบุคคลที่ตอบรับการทาบทามเข้ารับการสรรหาอธิการบดี ประกอบด้วย 1.รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน 2.ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3.ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งแต่ละคน มีนโยบายการบริหาร ดังต่อไปนี้
‘มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน’
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน
แนวนโยบายสำคัญ คือการสานต่อโครงการหลักหลายด้านที่ได้ริเริ่มทำมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Thammasat Innopolis ที่จะพลิกโฉมธรรมศาสตร์ทั้ง 4 ศูนย์ให้เป็นมากกว่าพื้นที่การเรียนการสอน ดังนี้
ศูนย์ท่าพระจันทร์ เป็นเมืองนวัตกรรมสังคมโดยมี Freedom Square สอดรับกับการฟื้นฟู ตึกโดมดั้งเดิม
ศูนย์รังสิต เป็นเมืองนวัตกรรมที่บูรณาการหลายศาสตร์ โดยมี Thammasat Viva City เป็นแหล่งสร้างชีวิตชีวาใหม่ให้ชาวธรรมศาสตร์
ศูนย์พัทยา เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งสุขภาพและเวลเนสโดยมีทั้งโรงพยาบาล ศูนย์วิจัยการแพทย์ชั้นสูง และ Wellness Retreat Center เพื่อรองรับพื้นที่ EEC
ศูนย์ลำปาง เป็นเมืองนวัตกรรมพหุศาสตร์ที่เป็นต้นแบบของ Frontier School อย่างแท้จริง
ทั้งนี้มีพันธกิจสำคัญ 3 ข้อ คือ สร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้แบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ใหม่ๆในโลกอนาคต , สร้างทักษะผู้นำ และยกระดับชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อให้ไท่ยแข่งขันได้ในเวทีโลก และสร้างจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ให้อยู่ในทุกคน ทุกภาคส่วน ทุกหลักสูตร ทุกกิจกรรม
สำหรับเป้าหมายหลัก ประกอบด้วย ธรรมศาสตร์จะได้รับการจัดอันดับในเวทีวิชาการระดับโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง , บัณฑิตทุกคนพร้อมทำงานได้ทุกที่ทั่วโลก , นักศึกษาทุกคนได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมให้เติบโตและพัฒนาในแนวทางที่สนใจ , ทุกหลักสูตรปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ , ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ได้รับรางวัลและการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ , บุคลากรทุกระดับได้รับการพัฒนา ส่งเสริมความก้าวหน้า , ระบบการจัดการของธรรมศาสตร์ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความเรียบง่าย และการเชื่อมต่อที่สะดวกสบายในทุกช่องทางของการติดต่อ และรูปแบบการทำงาน การใช้ชีวิต และการใช้ทรัพยากรในธรรมศาสตร์ต้องสะท้อนชัดเจนว่าอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงความยั่งยืน
สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้เป็นแนวทางการในการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ดังนี้
1.Future Workforce สร้างพลังทำงานแห่งอนาคต เพื่อเป็นสถาบันวิชาการที่สร้างพลังการทำงานในอนาคตให้กับประเทศ โดยจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้กับบัณฑิต และคนทำงานในอาชีพต่าง ๆ เพื่อทำให้ทุกคนสามารถปรับตัวจากอาชีพเดิมจำนวนมากที่กำลังจะหายไป และตอบโจทย์อาชีพใหม่ ๆ ที่ท้าทายในโลกอนาคตโดยทำงาน ได้ทุกที่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังต้องมีจิตสำนึกที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่กำหนดไว้โดยสหประชาชาติอีกด้วย
2.Future Workplace พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต เป็นสถานที่ทำงานแห่งอนาคตที่ช่วยสร้างผลิตภาพสูงสุดให้คนทำงาน มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและออนไลน์ที่ทันสมัยสะดวกสบาย รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าในการทำงานโดยมีทักษะการทำงานที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีค่าตอบแทนและสวัสดิการในมาตรฐานที่เทียบเคียงกันได้กับมหาวิทยาลัยในระดับเดียวกัน
3.Future Campus Life สร้างชีวิตชีวาในมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต เป็นพื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตในอนาคต มากกว่าการทำงาน การวิจัย และการเรียนการสอน หากแต่จะเป็นพื้นที่ที่สามารถเติมเต็มความฝันเติมพลังกาย พลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับตนเองและสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
4.Future Collaboration พัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต เป็นต้นแบบความร่วมมือแห่งอนาคตที่ระดมทรัพยากรทั้งในด้านการเงิน ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศ เข้ามาสู่กระบวนการเรียนการสอน การวิจัยการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาสำคัญ ๆ ให้กับทุกภาคส่วนของสังคมไทย และสังคมโลก โดยจะสร้างโมเดลความร่วมมือที่เป็นประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญให้กับทุกฝ่ายเพื่อให้เป็นความร่วมมือที่ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
Greater and Even Better THAMasat
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับแนวนโยบายการบริหารและการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเน้นเป้าหมาย Greater and Even Better ‘THAMmasat’ และพันธกิจ THAM สร้างให้เกิด Thammasat Transformation มีทีมขับเคลื่อนและบริหารการเปลี่ยนแปลง ทำงานร่วมกับสภามหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดเสมือนกับบริษัทจดทะเบียนที่มีระบบธรรมาภิบาลกำกับ โดยที่การบริหารงานทั่วไปยังคงการกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้นโยบายและแผนงานที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงาน มีการบริหารการเงิน ทรัพยากรบุคคลที่เปิดเผยโปร่งใส และการรายงานงบการเงินหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยที่เปิดเผยและเข้าถึงได้
การบริหารงานในแต่ละศูนย์ จะเป็นเอกเทศตามหลักการบริหารภายใต้นโยบายและแผนงานมีเป้าหมายแต่ละศูนย์ที่ชัดเจน สามารถวัดประสิทธิภาพและบริหารต้นทุนได้ภารกิจสำคัญสามารถคงอยู่ได้โดยฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยพิจารณาภาพรวมและภารกิจเฉพาะ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีบริการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นและแยกส่วนได้ แม้ว่าการเรียนการสอนวิชาการขั้นสูงและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมอนาคต แต่อาจจะไม่ต้องทำในรูปแบบของมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรระดับปริญญาบัตรอีกต่อไป
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำเป็นต้องบริหารต้นทุน ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพในการให้บริการ และสามารถปรับตัวได้เท่าทันกับความท้าทายหลากหลายด้านที่กำลังเกิดขึ้น ภายใต้ ‘ความเป็นธรรม’ และสร้าง ‘คุณค่า’ ขององค์กร ทั้งในสายตาของบุคลากรภายใน ผู้รับบริการ และสังคม เพราะหากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขาดซึ่ง ‘ความเป็นธรรม’ และ ‘คุณค่า’ ในสายตาคนที่เกี่ยวข้องแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวา และจิตวิญญาณ
สำหรับพันธกิจ ที่ต้องการดำเนินนโยบายการบริหาร คือ THAM คือ
T - Transformation, properly for betterment การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ที่จะต้องดำเนินภายใต้หลัก 5 ข้อ คือ 1) ทบทวนและกำหนดคุณค่าของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องเป็นมหาวิทายลัยที่พึ่งได้ เป็นที่พึ่งของสังคม โดยมีความเป็นธรรมเป็นพื้นฐาน 2) ประสิทธิภาพสูง โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากร ที่ต้องวัดประสิทธิภาพและต้นทุนอย่างจริงจัง เพื่อรักษาวินัยทางการเงิน 3) การเปลี่ยนแปลงดิจิทัล ต้องสร้างและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งเรื่องการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้วย
4) สร้างทีมบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องมีทีมขับเคลื่อนและบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่ประกอบด้วยผู้นำที่มีความชัดเจน เห็นประโยชน์องค์กรมากกว่าประโยชน์ของพรรคพวกหรือเครือข่ายผลประโยชน์ และ 5) สร้างการบริหารจัดการรูปแบบใหม่และการทำงานวิถีใหม่ ที่ต้องสร้างระบบเชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อใจ ให้เกิดระบบธรรมาภิบาลลงไปในระดับบุคคล
H - High efficiency ประสิทธิภาพสูง มุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานให้เกิดการข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัย เน้นสร้างผลกระทบทางด้านวิชาการ เศรษฐกิจ ชื่อเสียง และการยอมรับ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นผลงานวิจัย และนวัตกรรมแบบสหสาขา สร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการ สร้างบัณฑิตที่มีความรู้รอบ รู้ลึก รู้จริง มีคุณธรรม และพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
A - Academic excellence วิชาการโดดเด่น โดยจะพัฒนาหลักสูตรเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำให้เกิดการข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัย สร้างบทบาทความเป็นที่พึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก พัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายศิษย์เก่า ในด้านการเรียนการสอน การอบรมที่เป็นรูปธรรม
M - Moral value for welfare of all สวัสดิการเป็นธรรม แก้ปัญหาเรื่องเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย จัดให้มีเงินชดเชยการเลิกจ้าง ปรับปรุงระบบแรงจูงใจ และระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างสภาพแวดล้อมสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศการทำงานรูปแบบใหม่ ลดการเดินทาง
และอีกยุทธศาสตร์ที่สัคญ คือการรักษาความเป็นไทย และอัตลักษณ์ธรรมศาสตร์ ผ่านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยและเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ส่งเสริมให้เกิดตลาดวิชาและการเรียนรู้สาธารณะ และสนับสนุนให้มีการศึกษาเรื่องความเป็นธรรม เป็นวิชาพื้นฐานในระดับปริญญาตรีโดยอาจารย์ที่มีคุณภาพและไม่มีอคติ
‘เป็นเลิศทางวิชาการ ก้าวล้ำนวัตกรรม นำสังคมด้วยคุณธรรม’
ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
การรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อประชาชนชาวไทยเพื่อมุ่งสู่การสร้างสรรค์ พัฒนาสังคมสู่โลกแห่งสันติธรรม จึงเป็นภาระที่สำคัญอย่างยิ่งของการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะจำเพาะ แตกต่างจากมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป รวมถึงการปลูกฝังวินัยมให้กับบุคลากรทุกฝ่ายจะนำไปสู่การนำประชาคมกลับคืนสู่คุณธรรมความดีได้จริง และการจัดการบริหารการศึกษาให้เลิศในทางความรู้ แน่วแน่ในคุณธรรมความดี สัมฤทธิ์ในประโยชน์และความสุขทั้งต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติ สามารถทำได้จริงด้วย แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย ดังนี้
วิสัยทัศน์ ‘มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ที่มีมาตรฐานระดับโลก เป็นเลิศทางวิชาการ ก้าวล้ำนวัตกรรม นำสังคมด้วยคุณธรรม อย่างทั่วถึง และยั่งยืน’
โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าว สามารถขับเคลื่อนเป็นพันธกิจ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1) สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสังคม ที่บูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างคนสำหรับอนาคตที่มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจและเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีคุณธรรม 2) ก้าวล้ำนวัตกรรมสร้างสรรค์และบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน
3) นำสังคมด้วยคุณธรรม อย่างทั่วถึง และยั่งยืนเป็นต้นแบบแห่งการจัดการบริการวิชาการและบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง และยั่งยืน พร้อมทั้งนำสังคมด้วยการสร้างสำนึกบนพื้นฐานของคุณธรรม 4) พัฒนาสู่องค์กรที่มีศักยภาพสูงอย่างยั่งยืนพัฒนาระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ให้มีความพร้อมของสาธารณูปการทรัพยากรมนุษย์ การเงินและทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่องค์กรที่มีศักยภาพสูง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนยุทธศาสตร์ จึงกำหนดนโยบายบริหารรวม 8 ข้อ ดังนี้
1.การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาโดยการนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปสู่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศ และมีมาตรฐานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
2.การผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ได้มาตรฐานในระดับสากลและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและความเป็นพลวัตรของโลก
3.การบริการวิชาการและการบริการสุขภาพแก่สังคมอย่างทั่วถึง
4.การสร้างความสุขและความมั่นคงในอาชีพให้กับคนธรรมศาสตร์ สามารถทำงานภายใต้ระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่ส่งเสริมความเป็นมืออาชีพ เป็นธรรมและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
5.การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัยและยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนธรรมศาสตร์ ที่มีทั้งบรรยากาศในการเรียนรู้และการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
6.การส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และศิษย์เก่า
7.การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
8. การจัดหารายได้อย่างต่อเนื่องและมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังที่ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อความมั่นคงทางการเงินการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะนัดประชุม เพื่อลงมติว่าจะเสนอชื่อบุคคลใดให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาในวันที่ 5 ก.พ.2564 ทั้งนี้สามารถเสนอชื่อบุคคลเพียง 1 คนก็ได้ หากที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ หรือกรณีที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอชื่อมากกว่า 1 คน ก็เป็นแนวทางที่สามารถทำได้เช่นกัน
ข่าวประกอบ :
ศึกชิงเก้าอี้อธิการมธ.!'เกศินี'ชนะหยั่งเสียง ฮือฮานิติฯชง'สมศักดิ์ เจียมฯ'ติดโผด้วย
หลังการหยั่งเสียงชิงเก้าอี้อธิการบดี!'อุดม-เกศินี'ส่งสารถึงประชาคมธรรมศาสตร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/