"...สำหรับผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ปรากฎผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก คือ รศ.เกศินี และ ศ.ดร.อุดม แต่รายชื่อทั้งหมดยังต้องถูกเสนอให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อดำเนินการทาบทามและรับฟังแนวทางการบริหาร ก่อนที่จะเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง..."
------------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2563 ประชาคมธรรมศาสตร์รวม 51 หน่วยงานร่วมกันเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏว่า รศ.เกศินี วิฑูรย์ชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันได้รับคะแนนสูงสุด และ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้รับคะแนนในลำดับรองลงมา ซึ่งทั้ง 2 คนได้โพสต์ข้อความสื่อสารถึงประชาคมธรรมศาสตร์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจ
(ข่าวประกอบ : ศึกชิงเก้าอี้อธิการมธ.!'เกศินี'ชนะหยั่งเสียง ฮือฮานิติฯชง'สมศักดิ์ เจียมฯ'ติดโผด้วย)
ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต - “คนธรรมศาสตร์ต้องการเปลี่ยนแปลง”
จากวันที่ผมลงรับฟังความคิดเห็นและข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาทั้งหลายที่ประชาคมธรรมศาสตร์กำลังเผชิญอยู่ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานั้น ผมตระหนัก เข้าใจ และตั้งใจที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการช่วยแก้ปัญหานั้น ๆ ทันที ด้วยผมก็เจ็บปวดไม่ต่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อได้รับคะแนนเสียงที่ทุกท่านมอบให้ผมในวันนี้ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจได้ว่า คนธรรมศาสตร์ 'ต้องการเปลี่ยนแปลง' องค์กรของพวกเขาเองอย่างไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด
ผมยังย้ำเสมอว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเราทุกคน เมื่อมหาวิทยาลัยยิ่งเติบโตมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิการ สวัสดิภาพของคนทุกคนอย่าง ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม บนพื้นฐานของการบริหารองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากข้อกังวลในการมีส่วนได้เสีย
ชีวิตของผมในธรรมศาสตร์ กว่า 40 ปี ที่เฝ้ามองการคงอยู่และการเติบโตของมหาวิทยาลัยมาจนจะครบ 90 ปี ย่อมทำให้ผมและพวกเราชาวธรรมศาสตร์ต่างตระหนักซาบซึ้งว่าเราต้องเป็นมหาวิทยาลัย 'เพื่อประชาชาชน' มิใช่ 'เพื่อธุรกิจ'
ทุก ๆ คะแนนที่ทุกหน่วยมอบให้ผมอย่างมากมายในวันนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ว่าเราควรกลับมาย้ำจุดยืน 'ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม' ซึ่งเป็นปณิธานของการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ผู้ประศาสน์การได้ริเริ่มไว้และพวกเราควรรักษาไว้ อัตลักษณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมจะทำให้ธรรมศาสตร์ก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกโดยคงไว้ซึ่งปณิธานของตนได้เช่นกัน
วาระอีก 3 ปี ถัดจากนี้ ธรรมศาสตร์จะพัฒนาไปในทิศทางใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาคมธรรมศาสตร์ที่ส่งผ่านไปยังสภามหาวิทยาลัยฯ จะชั่ง ตวง วัด ตัดสินเลือกใครคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้นำองค์กรที่เรารัก
ผมรู้สึกปลาบปลื้มใจ เป็นเกียรติ และขอบคุณ ทุก ๆ กำลังใจที่มอบให้แก่ผมมาโดยตลอด ทุก ๆ การบรรจงเขียนชื่อของท่าน ทำให้ผมประจักษ์แก่ใจแล้วว่า 'ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม กับอุดม รัฐอมฤต' มีตัวตนและพร้อมเป็นอธิการบดีคนถัดไปของธรรมศาสตร์ ถ้าโอกาสนั้นจะมาถึง
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ - “ต้องรักษาความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน”
ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมธรรมศาสตร์ได้ร่วมกันเสนอชื่อดิฉันให้มีโอกาสบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะอธิการบดีอีกครั้งหนึ่ง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมามีการพัฒนาและความก้าวหน้าที่ทำให้เราสามารถไปปักธงวิชาการใน ระดับนานาชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกคณะ ทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย แต่เรายังคงต้องก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อนำพาธรรมศาสตร์ของเราสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
แน่นอน ในขณะที่เรามุ่งมั่นเดินไปข้างหน้าก็มีเรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตในธรรมศาสตร์ทั้ง 4 ศูนย์ที่เราต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในประชาคมซึ่งดิฉันตระหนักเป็นอย่างดีและมุ่งมั่นที่จะจัดการแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วและมีประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งได้กำหนดไว้ในนโยบายและแผนงานบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคตแล้ว
เหนือสิ่งอื่นใดคือการรักษาไว้ซึ่งความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ที่แม้เราจะโดนมรสุมมากมายในช่วงที่ผ่านมาและอาจจะมีตามมาอีกในอนาคต ดิฉันตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาหลายอย่างไม่ได้ถูกใจคนทุกกลุ่ม ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของธรรมศาสตร์ที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลาย อย่างไรก็ตามเป้าหมายใหญ่ของเราทุกคนน่าจะตรงกัน คือรักษาไว้ซึ่งมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของเราทุกคน ดิฉันสัญญาว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดตลอดระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า หากได้รับความไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการเลือกดิฉันให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเพื่อสานต่อภารกิจสำคัญๆต่อไปอีกวาระหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ปรากฎผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก คือ รศ.เกศินี และ ศ.ดร.อุดม แต่รายชื่อทั้งหมดยังต้องถูกเสนอให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เพื่อดำเนินการทาบทามและรับฟังแนวทางการบริหาร ก่อนที่จะเสนอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง
สำหรับปฏิทินการดำเนินการสรรหาอธิการบดี ประจำปี 2563 คณะกรรมการสรรหาฯจะประชุมเพื่อสรุปความคิดเห็นในวันที่ 24 ธ.ค.2563 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทาบทามบุคคล และรายงานผลการทาบทาม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การแถลงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยของผู้ตอบรับการทาบทามในวันที่ 12 ม.ค.2563 จากนั้นจะมีการเผยแพร่แนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยของแต่ละบุคคลให้ผู้ปฏิบัติงาน ศิษย์เก่า และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรับทราบ
วันที่ 5 ก.พ.2564 กำหนดสัมภาษณ์ผู้ตอบรับการทาบทาม และแถลงแนวทางการบริหารฯต่อคณะกรรมการสรรหาฯ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาคมธรรมศาสตร์ ร่วมรับฟังผ่านระบบการประชุมทางไกล และจะมีการเสนอชื่อให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาในวันที่ 22 ก.พ.2564 ต่อไป
ข่าวประกอบ :
ศึกชิงเก้าอี้อธิการมธ.!'เกศินี'ชนะหยั่งเสียง ฮือฮานิติฯชง'สมศักดิ์ เจียมฯ'ติดโผด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage