"....โดยมีข้อเสนอแนะว่า การทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) จะต้องยกระดับมาตรฐานเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ให้เอื้อต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลของบุคคลทั่วไปที่สนใจ ที่สำคัญภาครัฐต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ “พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล” พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ ให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างแท้จริง..."
................................
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคในการทำข่าว Data Journalism ของนักข่าวไทย” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับพฤติกรรมคนอ่านข่าวและคนดูข่าวก็เปลี่ยนไป วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล หรือ Data Journalism เป็นกระบวนการช่วยสร้างคุณค่าให้กับงานวารสารศาสตร์ ด้วยการทำให้ข้อมูลที่มีจำนวนมาก และเรื่องราวที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน สามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ นำเสนอด้วยรูปแบบที่หลากหลาย สิ่งที่ทำให้ Data Journalism ต่างจากการรูปแบบบการนำเสนอข่าวอื่น ๆ คือ ต้องใช้ข้อมูลแบบมีโครงสร้างเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง เมื่อมีข้อมูลเป็นแกนหลักแล้ว เราสามารถเอาส่วนอื่น ๆ มาเสริมได้ เช่น บทสัมภาษณ์ หรือข้อมูลปลีกย่อยจากแหล่งอื่น ๆ สร้างสีสันให้ชิ้นงาน นอกจากนี้ยังช่วยนักวารสารศาสตร์ได้เห็นถึงมุมมองใหม่ ๆ หรือประเด็นใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ให้กับนักวารสารศาสตร์ การศึกษารายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคในการทำข่าว Data Journalism ของนักข่าวไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการหาข้อมูลของวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลไทย
ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง 5 ท่าน ได้แก่
1) นายเอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2) นางสาวชนิกานต์ กาญจนสาลี ตำแหน่งอดีต News Strategic Supervisor สำนักข่าว PPTV
3) นางสาวพิมพ์ตะวัน แน่ประโคน ตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
4) นายโมเลกุล จงวิไล ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ (Social Media) ไทยพีบีเอส
5) นายชินภัทร จันทร์หล้าฟ้า ผู้สื่อข่าวออนไลน์ PPTV
“ข้อมูล” ถือเป็นหัวใจของการทำข่าว Data Journalism จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปฏิบัติงานข่าว และนักวิชาการ รวม 5 คน ในประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการหาข้อมูลของวารสารศาสตร์เชิงข้อมูลไทย พบว่าทุกคนเห็นพ้องกันว่าข้อมูล Open Data ในไทยที่มีขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมประเด็น การจัดเก็บข้อมูลล่าช้าไม่สมบูรณ์ ไม่ทันสมัย ข้อมูลกระจัดกระจายไม่เป็นระบบฐานข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน มีหน่วยงานทำข้อมูลเรื่องเดียวกัน ซ้ำซ้อนกันทำให้เกิดปัญหาในอ้างอิงข้อมูล ข้อมูลที่มียังเก็บย้อนหลังไม่เพียงพอที่จะนำไปประมวลให้เห็นภาพความแตกต่าง รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลไม่อำนวยต่อการนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ประเมินผล เช่น บางหน่วยงานจัดเก็บเป็นไฟล์พีดีเอฟ (PDF)
โดยมีข้อเสนอแนะว่า การทำข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) จะต้องยกระดับมาตรฐานเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ให้เอื้อต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลของบุคคลทั่วไปที่สนใจ ที่สำคัญภาครัฐต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ “พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล” พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ ให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการบูรณาการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ แบ่งสัดส่วน หน่วยงานไหน รับผิดชอบเรื่องให้ทำหน้าที่อะไร ใครเก็บข้อมูล หรือเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ข้อมูลไม่กระจายและซ้ำซ้อน ไม่มีปัญหาในการนำข้อมูลไปอ้างอิง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ข้อมูล Open Data ภาครัฐ ที่ดำเนินงานโดยองค์การมหาชน คือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (https://data.go.th) ต้องมีข้อมูลที่ดีกว่านี้ เช่น มีข้อมูลย้อนหลังอย่างน้อย 10 ปี มีข้อมูลที่สำคัญ ๆ ปรากฏบนเว็บไซต์ หรือแสดงการเชื่อมโยงว่าเรื่องที่ต้องการค้นหาสามารถไปค้นคว้าที่หน่วยงานใดต่อไป หรืออาจจะมีการทำงานร่วมกันกับสมาคมนักข่าว
จากปัญหาและอุปสรรคเรื่องการหาข้อมูลข้างต้น ตัวนักข่าวเอง อาจจะปรับตัวด้วยการเปลี่ยนไปใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ โดยใช้ทักษะสืบค้นข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ และวิธีการนำเสนอเรื่องราวนั้น ๆ จากข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งข้อมูลที่ได้มาอาจมีที่มาหลากหลาย เช่น แหล่งข้อมูลบุคคล แหล่งข้อมูลออนไลน์ แหล่งข้อมูลเอกสาร หากเป็นข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured data) เช่น ภาพถ่าย เอกสาร ข้อความ คลิปวีดิโอ ซึ่งการทำงานด้วยวิธีดังกล่าว นักข่าวต้องใช้ทักษะส่วนตัวในการจัดระเบียบข้อมูลให้เรียบร้อยก่อนนำมาใช้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากว่านักข่าวไม่มีใจรัก ไม่ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่มีทักษะการทำข่าว Data Journalism ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้มีการเพิ่มหลักสูตร Data Journalism เข้าไปเพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะการทำข่าว Data Journalism เพื่อเป็นการให้แนวคิดและลองทำจริง ให้รู้จักกระบวนการทำงานข่าวในรูปแบบนี้
ส่วน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อการทำข่าว Data Journalism เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ให้หน่วยงานภาครัฐ ที่มีข้อมูลสาธารณะที่กระทบต่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ต้องเตรียมข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลนั้น แต่หลาย ๆ ครั้งจะอำนวยความลำบากให้กับคนทำข่าว Data Journalism เพราะต้องใช้เวลาในการขอข้อมูล ซึ่งไม่เอื้อต่อการทำงานนับเป็นอุปสรรคอย่างมากในการผลิตชิ้นงาน ซึ่งนักข่าวผู้ให้สัมภาษณ์ได้มีข้อเสนอแนะว่า หากมีการปรับแก้ หรือการวางโรดแมป การขอข้อมูลที่ชัดเจน มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคำร้อง เพื่อไม่ให้มีการใช้การซักค้าน เป็นตัวยืดระยะเวลาการให้ข้อมูลออกไปอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการทำหนังสือขอข้อมูล ผู้รับผิดชอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐ เกิดมีความรู้สึกไม่มั่นใจในสิ่งที่นักข่าวจะนำเสนอ เกิดความสงสัยว่านักข่าวจะนำข้อมูลไปใช้ในแง่ลบหรือไม่ จึงตัดสินใจไม่ให้ข้อมูล นับเป็นปัญหาอุปสรรคอีกอย่างที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของประสบการณ์การทำข่าวและภูมิหลังทางการศึกษาของนักข่าว ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยสืบค้นหาข้อมูล หรือการใช้เทคนิคลูกเล่นในการสืบค้น หรือขอข้อมูลจากแหล่งข่าว เพราะนักข่าวที่ประสบการณ์ยังน้อย จะไม่มีความเชี่ยวชาญในการค้นหาแหล่งข้อมูล เช่น ข้อมูลบางเรื่องที่กำลังค้นหา เป็นหัวข้อย่อยในรายงานประจำปีของบางหน่วยงาน นักข่าวหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่สูงมาก จะไม่ทราบว่าข้อมูลที่ต้องการ มีอยู่ที่ใด