"...อ่านรายงานจบเล่มแล้วต้องเตือนสติตัวเองว่า คนโกงจะปล้นทำลายทุกอย่างเมื่อมีโอกาส แม้เป็นเรื่องทุกข์ร้อนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของประชาชนเพียงใดก็ตาม จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของเราเองตลอดเวลา..."
ป.ป.ช. เปิดเผยผลข้อมูลและเบาะแสการทุจริตเฉพาะที่รวบรวมได้ในช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2563 มีจำนวน 1,300 ข้อมูล (เรื่อง - ผู้เขียน) ที่ “เกี่ยวกับโควิด” ในจำนวนนี้ มีความเสี่ยงการทุจริต 974 ข้อมูล (ร้อยละ 75) และไม่ปรากฏข้อมูลความเป็นไปได้ในการทุจริต 326 ข้อมูล (ร้อยละ 25)
จาก 974 เรื่องดังกล่าวแยกเป็นเรื่องที่ “มีความเป็นไปได้ในการทุจริตในระดับสูงมาก 129 ข้อมูล (ร้อยละ 10) เป็นไปได้ในการทุจริตระดับสูง 337 ข้อมูล (คิดเป็นร้อยละ 26) เป็นไปได้ในการทุจริตในระดับปานกลาง 465 ข้อมูล (ร้อยละ 36) และไม่ระบุระดับความเป็นไปได้ในการทุจริต 43 ข้อมูล (ร้อยละ 3)”
ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏในหน้า 76 ของรายงานเรื่อง “แนวทางการป้องกันการทุจริตในภาวะวิกฤติโควิด: กรณีศึกษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” มีเนื้อหาน่าสนใจ 3 บท (ดาวน์โหลดเอกสาร https://bit.ly/2OKJHHn)
1. การปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย (Corruption Risk Mapping)
2. ผลงานวิจัยเชิงกรณีศึกษา (Case Study Research)
3. ข้อเสนอแนวทางการป้องกันการทุจริตในสถานการณ์วิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
รายงานฉบับนี้ยังบันทึกทุกเรื่องอื้อฉาวที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อย่างเช่น กรณีหน้ากากอนามัยหายไปไหน อบจ. ลำพูน อบจ. ปากน้ำ เทศบาลนครตรัง อบจ. สระบุรี เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ป.ป.ช. เกาะติดทุกเรื่องที่สังคมเฝ้าติดตามอยู่เช่นกัน ไม่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านไป นั่งรอให้มีคนร้องเรียนหรือเกิดความเสียหายแล้วค่อยไปไล่ล่าหาคนผิด
เบาะแสกลโกงที่ถูกปักหมุดชี้เป้ามีตั้งแต่ ซื้อของแพง ปลอมแปลงเอกสาร อมของหลวงหรือของบริจาค ให้พวกพ้องได้มากกว่าคนอื่น ยักยอก ฯลฯ แต่ผมเชื่อว่าหากมีการเปิดโปงกันจริงจังทั่วประเทศคงได้รู้เห็นการโกงมากกว่านี้ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7.8 พันแห่งรวมทั้ง กทม. บวกกับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศที่ใช้เงินใช้อำนาจมาตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดถึงปัจจุบัน
ต้องชื่นชมว่า การรวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ครั้งนี้ ป.ป.ช. ทำได้รวดเร็ว ทันสมัยและทันการณ์ ทำให้ประชาชนอย่างผมเข้าใจมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และทราบว่ามีการใช้เทคนิคใหม่ๆ ผสานพลังชุมชนและคนในพื้นที่ ปูพรมตรวจจับคนโกง จนพบเห็นข้อเท็จจริงมากมาย
ที่ชมว่า “ทันการณ์” ก็เพราะ การตรวจสอบจริงจังในขณะสถานการณ์กำลังคุกรุ่นเช่นนี้ แม้บ้านเมืองจะเสียหายไปแล้ว แต่ก็ทำให้ผู้คนรู้ทันกลโกง คนที่คิดจะโกงอีกก็โกงยากและเกรงกลัวขึ้นบ้าง อีกทั้งข้อมูลและวิธีการอย่างนี้สามารถใช้เป็นฐานความรู้ที่หลายฝ่ายนำไปกำหนดแนวทางปกป้องเงินสี่แสนล้านบาทที่เพิ่งเริ่มใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
อ่านรายงานจบเล่มแล้วต้องเตือนสติตัวเองว่า คนโกงจะปล้นทำลายทุกอย่างเมื่อมีโอกาส แม้เป็นเรื่องทุกข์ร้อนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของประชาชนเพียงใดก็ตาม จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของเราเองตลอดเวลา
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ