"...หากจะรื้อฟื้นเรื่องที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วยเหตุผลมีข้อเท็จจริงใหม่หรือปรากฏพยานหลักฐานใหม่ ก็จะต้องเป็นข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยนำมาใช้พิจารณาในกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและกระบวนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย..."
ในคดีอาญาทั่ว ๆ ไป เมื่อมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว
ถ้าหากพนักงานอัยการได้พิจารณาหรือขอให้สอบสวนเพิ่มเติมจนกระทั่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะสั่งคดีได้ พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จะต้องส่งสำนวนกลับไปที่พนักงานสอบสวนระดับสูงที่มีอำนาจ และหากพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ก็ถือว่าเรื่องนั้นเสร็จเด็ดขาด โดยจะไม่มีการส่งฟ้องคดีต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คดี “บอส อยู่วิทยา” ได้เดินทางมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว
จึงต้องถือว่า “รอด” จากการถูกฟ้องคดีต่อศาลไปแล้ว
แต่เมื่อปรากฏเหตุการณ์ “ทัวร์ลง” ชนิดถล่มทลายวินาศสันตะโร ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ทั้งในและนอกประเทศ จึงต้องมาดูว่าจะสามารถ “รื้อ” เรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่เพื่อให้มีการฟ้องคดีต่อศาลได้หรือไม่
แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนการปฏิบัติงานของทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายตำรวจก็ตาม แต่ก็น่าจะสอบสวนได้เฉพาะในส่วนของการปฏิบัติงานตามขั้นตอนในระเบียบคำสั่ง เช่น การรวบรวมพยานหลักฐาน การเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ การนำพยานหลักฐานมาใช้ในการพิจารณา เป็นต้น
คณะกรรมการสอบสวนไม่น่าจะก้าวล่วงไปถึงเรื่องความถูกผิดในการใช้ดุลพินิจของผู้ปฏิบัติงานทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายตำรวจ โดยเฉพาะทางฝ่ายอัยการได้รับการคุ้มครองทั้งโดยรัฐธรรมนูญ และโดยพระราชบัญญัติองค์กรอัยการ ในความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดี
ดังนั้น ผลการสอบสวนที่จะออกมาภายใน 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ ยังเป็นข้อสงสัยว่าจะสามารถนำไปสู่การรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่เพื่อสั่งฟ้องคดีได้หรือไม่ จากการที่การสอบสวนทำได้เพียงชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติงานมีความบกพร่องหรือไม่เท่านั้น แม้จะพบว่ามีความบกพร่อง แต่ก็ไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่มีความเห็นไปแล้วได้ โดยความบกพร่องที่พบในชั้นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงใช้เป็นข้อมูลว่าจะดำเนินการทางวินัยกับผู้กระทำผิดวินัยหรือไม่ และหากพบพยานหลักฐานถึงขั้นเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ก็จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนและฟ้องคดีกับพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่กระทำผิด
ซึ่งอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่จะรื้อเรื่องของ “บอส อยู่วิทยา” ขึ้นมาเพื่อสั่งคดีใหม่ได้ โดยการสั่งคดีได้เสร็จสิ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากจะสั่งคดีใหม่ในเรื่องเดิมก็จะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่หากจะรื้อฟื้นเรื่องที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วยเหตุผลมีข้อเท็จจริงใหม่หรือปรากฏพยานหลักฐานใหม่ ก็จะต้องเป็นข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยนำมาใช้พิจารณาในกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและกระบวนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
แต่จากที่ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลายาวนานหลายปี โดยพนักงานอัยการเคยมีคำสั่งฟ้องไปแล้ว เมื่อผู้ต้องหาได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมและนำเสนอข้อเท็จจริงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงใหม่จริง ๆ หรือความเห็นใหม่ของพยานปากเดิม ก็ทำให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาไปหมดแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องความเร็วของรถยนต์ที่จะเป็นเหตุผลสำคัญว่าผู้ต้องหาประมาทหรือไม่ พนักงานอัยการก็ได้พิจารณาทั้งพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนครั้งแรก และพยานหลักฐานใหม่ที่ปรากฏเมื่อมีการยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม
โดยพนักงานอัยการได้ใช้ดุลพินิจไปแล้วว่าพยานหลักฐานใหม่มีความน่าเชื่อมากกว่า คือ ความเร็วรถยนต์ของ “บอส” ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ถ้าจะรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อสั่งคดีใหม่อีกที ก็จะต้องมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ใหม่ยิ่งกว่า ที่มีความสำคัญและมีผลทำให้การสั่งคดีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แต่จะสั่งคดีใหม่ด้วยเหตุผลว่าผู้สั่งคดีคนเดิมใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้องย่อมทำไม่ได้
ก็ต้องคอยดูว่าข้อเท็จจริงที่ใหม่ยิ่งกว่าที่จะหามาได้นั้นคืออะไร และจะถูกฝ่ายผู้ต้องหาโต้แย้งในเรื่องข้อกฎหมาย และความใหม่ของข้อเท็จจริงหรือไม่
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้คุกมีไว้ขังคนรวย!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/