“...โลกหลังโควิดคงไม่เหมือนเดิมแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา เพราะในโลกที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่คงไม่ใช่การแข่งขันเรื่องราคา เรื่องปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ใครที่ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักกับเพิ่มคุณภาพ ก็มีโอกาสก้าวผ่านไปได้...”
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ 'ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัตน์' ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารธนาคารแห่งประเทศ สำนักงานภาค ประจำปี 2563 'ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน' จัดโดยธปท. เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2563
ขณะนี้เป็นสภาวะที่เรียกว่า 'วิกฤติ' เราจึงใช้คำว่า 'โควิดภิวัฒน์' เพราะจะต้องมีการอภิวัฒน์ คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงมาก เราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ที่ผ่านมาเราอาจเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง และเราก็จะคุ้นเคยดี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติเศรษฐกิจมหภาค
แต่คราวนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากด้านสาธารณสุข และไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ส่วนสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางใดนั้น ไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่เราจะมองได้จากปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกด้วย อีกทั้งทำให้หลายเรื่องที่เราเคยคิดกันมาก่อนหน้านี้ว่า เราจะต้องมีการปรับตัว มาคราวนี้จะเป็นเวลาที่เราต้องปฏิรูป เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวอย่างจริงจัง
ผมอยากจะชวนถอยหลังกลับไป ก่อนจะก้าวไปข้างหน้า เพราะจะได้ตรวจสอบว่าเราอยู่ตรงไหน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา
@ไทยเข้าเฟส 3 ต้องให้น้ำหนักปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ
ถ้าถอยกลับไปเดือน ก.พ.-มี.ค.63 วันนั้นเราเริ่มเห็นการระบาดเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นการระบาดที่กระจายตัวจากภูมิภาคในเอเชียไปสู่ภูมิภาคอื่นของโลก ช่วงนั้นเราไม่ค่อยรู้จักว่าโควิด-19 เป็นอย่างไร ก็สร้างความตื่นตระหนกตกใจไปทั่วโลก และเราก็เริ่มเห็นปัญหา ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน เพราะกลไกการทำงานของตลาดการเงินหลายอย่างไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น
เนื่องจากคนตื่นตระหนกขอถือเงินสด หุ้นก็ขายออก ตราสารหนี้ก็ขายออก กองทุนรวมที่มีก็ขายออก เป็นช่วงเวลาที่หุ้นตกแรง ราคาตราสารหนี้ตกแรง ราคาทองคำยังตกเลย ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นสภาวะเกิดขึ้นกับกลไกการทำงานของตลาดการเงินทั่วโลก ในช่วงนั้นเราต้องพยายามที่จะเข้าไปดูแล รักษากลไกการทำงานของตลาดการเงินให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะถ้าตลาดการเงินมีปัญหา ก็จะยิ่งซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจจริงให้รุนแรงหนักขึ้นไปอีก
พอมาในช่วงที่ 2 ช่วงนั้นเราจะพูดกันในเมืองไทยว่า ถ้าเราไม่หยุดเชื้อเพื่อชาติ อาจจะมีคนติดเชื้อถึง 1 แสนคน และห้องรักษาพยาบาลทั่วประเทศจะไม่เพียงพอ ถึงต้องมีมาตรการที่ออกมาให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้ทุกคนหยุดอยู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำพร้อมกันทั่วโลก โดยต่อเนื่องมาตั้งแต่เม.ย.ถึงต้นพ.ค.63 ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ล็อกดาวน์ทั่วโลก และเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และไม่ใช่ในเฉพาะประเทศไทย
มาถึงวันนี้ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชน ทำให้เราก้าวข้ามในช่วงที่ 2 ได้ดีกว่าหลายๆประเทศมาก เราสามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในประเทศได้ และเราได้เข้าสู่ช่วงที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เราต้องเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร เพราะมาตรการที่เราต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วงที่ 2 มันเกิดผลกว้างไกลมากกับทุกคน ผมเชื่อว่าไม่มีใครในประเทศไทยไม่ถูกกระทบ
ผมคิดว่าเราเข้าสู่ในช่วงที่ 3 ช่วงที่เราต้องมานั่งคิดว่าต่อจากนี้ไป เราจะฟื้นฟูและปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร ให้สอดคล้องกับโลกใหม่ แต่ตอนนี้ไม่ได้หมายว่าจะก้าวผ่านช่วงที่ 2 ได้แล้วอย่างสบายใจ เราการ์ดตกไม่ได้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังรุนแรงอยู่ในหลายเมือง แต่ตอนนี้น้ำหนักจะต้องถ่ายมาเรื่องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทย ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังหาทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด ยังออกจากล็อกดาวน์ไม่ได้
@มองเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเครื่องหมาย ‘ถูก’ ไม่ใช่ตัว ‘U’
ส่วนในแง่ผลกระทบเศรษฐกิจ ในมุมมองของธปท. เราคิดว่าไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่แย่ที่สุด เป็นช่วงที่ต่ำที่สุด ที่คิดแบบนี้ เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักทั่วโลก เราอยากส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ แต่เครื่องบินก็หยุดบิน สนามบินหยุดทำงาน ท่าเรือหยุดทำงาน ส่งสินค้าไปแล้วทางประเทศปลายทางก็เอาไปกระจายสินค้าต่อไม่ได้ เราได้รับออเดอร์มาเราก็ผลิตไม่ได้ เพราะเราต้องอยู่บ้าน work from home
สถานการณ์อย่างนี้ เลยทำให้ไตรมาสที่ 2 เป็นไตรมาสที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน และผมคิดว่าตัวเลขของเราน่าจะสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ไตรมาสที่ 2 เป็นจุดต่ำสุดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว จะเป็นลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เราคงไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในประมาณการของธปท. ถ้าเราไม่มีการระบาดรุนแรงเหมือนกันในช่วงไตรมาสที่ 2 และเราสามารถควบคุมได้ แม้ว่าอาจมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ
ถ้าเราไม่มีการระบาดรุนแรง ผมคิดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆทยอยกลับฟื้นตัวขึ้นมา อาจจะใช้เวลาจนถึงประมาณปลายปีหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจถึงจะกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าเราจะใช้เวลาถึง 2 ปี ในการค่อยๆปรับฟื้นตัว อาจจะไม่เรียกว่าเป็นตัว 'U' แต่จะเป็นเครื่องหมาย 'ถูก' ที่มีหางยาวๆ ตกลงมาแล้วค่อยๆฟื้นขึ้นมา
แต่ก็มีความไม่แน่นอนหลายด้านที่เราจะต้องช่วยกันระมัดระวัง และจับตามอง
อันแรก คือ เศรษฐกิจของเราดูเหมือนจะ 'ลงลึก' กว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพราะเราเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพากับเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และการส่งออก วันนี้การท่องเที่ยวหยุดโดยสิ้นเชิง และตอนนี้เราไม่สบายใจที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ส่วนนักท่องเที่ยวเองก็ไม่ได้อยากเดินทางเข้ามา เพราะมีโอกาสติดเชื้อ และรายได้ของประชาชนทั่วโลกก็ตกลงด้วย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
เพราะฉะนั้น การที่เราจะมีนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคนต่อปี เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียว เราพึ่งการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เรามีการจ้างงานที่พึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้น แม้ว่าเราจะควบคุมโควิด-19 ได้ และค่อยๆเปิดให้การท่องเที่ยวกลับมาได้ แต่การฟื้นตัวจะไม่เร็ว
อีกด้านหนึ่ง คือ ภาคการส่งออก การส่งออกมีบทบาทสำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจไทย แต่อุปสงค์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของเรา ซึ่งประเทศคู่ค้าก็ได้รับผลกระทบแรงจากวิกฤติครั้งนี้ อำนาจซื้อก็ลดลง
และเราต้องไม่ลืมว่า ในการผลิตของเรา โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม มันอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมีการผลิตอยู่ในหลายประเทศแล้วเอามาเชื่อมต่อกั
ดังนั้น ถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งหยุดชะงักลง สินค้าและชิ้นส่วนต่างๆที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็ไม่สามารถทำได้สะดวกเหมือนเดิม ดังนั้น การส่งออกก็ต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับก่อนที่จะเกิดโควิด-19 เช่นกัน
@วิกฤติโควิดกระทบแรงไม่แพ้ปี 40 แต่ระบบการเงินไทยเข้มแข็ง
สำหรับวิกฤติคราวนี้ ถ้าเทียบกับวิกฤติอื่น พบว่ามีบริบทแตกต่างกันค่อนข้างมาก อย่างวิกฤติปี 40 เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศเรา ประเทศเพื่อนบ้านของเรา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาค และความเข้มแข็งของระบบการเงิน ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดกิจการ และสร้างผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง รวมทั้งเรามีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูงมาก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง เศรษฐกิจเราต้องพึ่งพาเงินตราต่างประเทศ
แต่ตอนนั้นเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีปัญหา เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ภาคการส่งออก โดยเฉพาะภาคเกษตรสามารถขายได้ดี รายได้ของเกษตรกรดี เพราะว่าค่าเงินอ่อนค่าลงมาก เคยอ่อนไปสูงสุดถึง 57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ วิกฤติตอนนั้นจึงค่อยๆขึ้นมาได้เร็ว โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการส่งออก แต่ในเรื่องของระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เวลานานมากในการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก อเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของเรา แต่ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจในประเทศมากนัก ตอนนั้นระบบสถาบันการเงินของเราเข้มแข็ง แม้ว่าสถาบันการเงินในอเมริกา ยุโรปหลายแห่งจะมีปัญหารุนแรงมาก แต่ไม่ได้มากระทบกับระบบสถาบันการเงินของเราเลย เพียงแต่ในด้านอุปสงค์หาย คนที่จะมาซื้อสินค้าของเราหาย เพราะเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆมีปัญหารายได้
และในช่วงนั้นมีข้อดี คือ เศรษฐกิจจีน เข้ามาเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และจีนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามาก ผนวกกับรัฐบาลในประเทศแถบนี้ก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามาก ทำให้เราสามารถกลับมาฟื้นได้
แต่ในวันนี้เป็นวิกฤติครั้งแรกที่เกิดขั้นทั้งโลกพร้อมกัน และเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับภาคเศรษฐกิจจริงโดยตรง
อย่างไรก็ตาม วันนี้ระบบการเงินของเราเข้มแข็ง กลไกการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเข้มแข็งขึ้นมาก สถาบันการเงินมีเงินกองทุนฯในระดับที่สูง มีกลไกการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง และมีมาตรฐานบัญชีที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาค เรามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งอันนี้เป็นจุดแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย
มีคนไปเปรียบเทียบว่าเราจะเป็นเหมือนปี 40 หรือไม่ วิกฤติครั้งนี้จะแรงกว่าปี 40 หรือไม่ แน่นอนว่าวันนี้ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบแรงไม่แพ้ปี 40 แต่ภาคการเงิน เศรษฐกิจมหภาคตอนนั้นกับวันนี้ต่างกันมาก
ส่วนที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเราต้องไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือเปล่า แล้วไอเอ็มเอฟจะมาสั่งให้เราต้องทำโน่นทำนี่อีกหรือเปล่าเหมือนปี 40 ผมยืนยันว่า เราไม่มีความจำเป็นที่จะไปขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟในคราวนี้ เพราะเศรษฐกิจมหภาคเรามีความเข้มแข็งมาก เราทุกคนจำบทเรียนจากปี 40 ได้ และเราทำให้กลไกการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของเราเข้มแข็ง ทำให้เราไม่ต้องไปพึ่งความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ
ถ้าดูแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง เราโดนผลกระทบค่อนข้างแรง เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ เราพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศเยอะ เราพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างเราเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด แต่ถ้าดูเรื่องความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน ผมคิดว่าเราไม่ด้อยกว่าใคร ถ้าดูความเข้มแข็งของเศรษฐกิจมหภาคก็ชัดเจนว่าเรามีกันชนทางด้านเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างดี
ทำให้เรามีความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายต่างๆภายในของเราให้เอื้อกับสถานการณ์ได้อย่างค่อนข้างดี แต่ถ้าเราต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศเหมือนตอนปี 40 วันนี้เราคงไม่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 0.5% เพื่อจะช่วยให้สถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ยลงให้ภาคธุรกิจมีภาระด้านดอกเบี้ยลดลง หรือแม้แต่การให้สถาบันการเงินออกหลายมาตรการดูแลลูกหนี้ ทั้งรายย่อย และผู้ประกอบการได้
@ปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถ
ส่วนการจัดการวิกฤติรอบนี้ ไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ แต่ต้องเป็นเรื่องการประสานนโยบาย หรืออาจจะเรียกว่าต้องหยิบทุกเครื่องมือที่ภาครัฐมีมาใช้ เช่น ในช่วงแรกเป็นช่วงที่ทุกคนตระหนกตกใจ ไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะระบาดแรงแค่ไหน ไม่รู้จะยาวแค่ไหน จะจบอย่างไร ทุกคนต้องการถือเงินสด กลไกตลาดการเงินมีปัญหา วันนั้นเป็นหน้าที่ของธปท.โดยตรงที่จะต้องมาดูแลให้กลไกการทำงานของตลาดการเงินยังทำงานได้เป็นปกติ
และในช่วงนั้นเราได้มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง เราเป็นธนาคารกลางแรกๆที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่เดือนก.พ.63 และลดต่อเนื่องมาถึง 3 ครั้ง จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำสุด
ส่วนในช่วงที่ 2 เป็นช่วงการเยียวยาก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมาตรการชุดแรกที่เราออกมาตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. มีคนได้ประโยชน์กว่า 11 ล้านบัญชี จากบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด 35 ล้านบัญชี ครอบคลุมสินเชื่อหลากหลายประเภทตั้งแต่บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ บ้าน ให้มีการยืดชำระหนี้ไปได้ โดยลูกหนี้ไม่เสียประวัติเครดิตบูโร และทุกคนมีโอกาสมาทบทวนความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองได้
ในกรณีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เช่นเดียวกัน ถ้าใครที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เรามีการออกพ.ร.ก.ที่ให้มีการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้เป็นการทั่วไปเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเยียวยาทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพราะวิกฤติครั้งนี้ทำให้รายได้คนหดหายไปทันที
วันนี้เราเข้าสู่ช่วงที่ 3 เมื่อเราควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศได้ เราต้องมาให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ภาระหนี้ของประชาชน ผู้ประกอบการ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้จริง แต่มาตรการในช่วงที่ 3 จะเป็นมาตรการที่เน้นลงเฉพาะกลุ่ม ต่างจากมาตรการช่วงที่ 2 ที่ประกาศเป็นการทั่วไป เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายมีปัญหาไม่เหมือนกัน ความสามารถในการชำระหนี้ก็ไม่เหมือนกัน
@ห่วงแรงงานจบใหม่ตกงานยาว 2 ปี
ถ้าถามว่าสิ่งที่ผมห่วงที่สุดคืออะไร ก็คงเป็นห่วงเรื่องการจ้างงานมากที่สุด เพราะสถานการณ์โควิด-19 กระทบเราแรงมาก โดยเฉพาะภาคบริการ และภาคการผลิต ทั้งสองภาคเป็นภาคที่มีการจ้างงานในระดับที่สูง ทำให้คนจำนวนมากตกงาน ที่สำคัญถ้ามองไปยาวๆ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ผมเชื่อว่าหลายคนก็จะไม่สามารถกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในโลกใหม่ได้ เพราะตลาดแรงงานในโลกใหม่ หลังโควิด-19 จะต่างไปจากตลาดแรงงานในช่วงก่อนหน้านี้
อันแรก คือ กำลังการผลิตส่วนเกินมีสูงมาก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก หลายอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราอาจจะคาดหวังให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยปีละ 40 ล้านคนเหมือนเดิมทันทีคงไม่ได้ ต้องใช้เวลาอีกหลายปี แรงงานจำนวนมากที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้ามาได้
และเมื่อผ่านไป 2 ปี 3 ปี 4 ปี เขาก็อายุมากขึ้น รูปแบบของนักท่องเที่ยวก็จะแตกต่างไปจากเดิมด้วย กรุ๊ปทัวร์ใหญ่ที่ๆเคยเข้ามา ก็เปลี่ยนไปไม่ใช่เป็นกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ๆแล้ว และเราต้องดูว่าทักษะของแรงงานที่ตกงานนั้น จะปรับตัวอย่างไร ให้เขามีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ได้
ส่วนในภาคการผลิต ก่อนมีโควิด-19 เราเห็นว่ามีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะต้นทุนหุ่นยนต์ถูกลงมาก ดังนั้น ทักษะที่แรงงานในอุตสาหกรรมต้องมี ต้องเป็นทักษะที่สูงขึ้น ไม่ใช่แรงงานที่ไร้ทักษะ หรือทักษะต่ำเหมือนเดิม
ที่สำคัญเมื่อคนเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงาน และกลับสู่โลกใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่ทุกคนต้องคำนึงถึงต้นทุน การใช้เครื่องจักรทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไฟไม่ต้องเปิด แอร์ไม่ต้องเปิด รักษาระยะห่างทางสังคมไม่ต้องมี มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ และการผลิตของหลายอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น เราจะดูแลแรงงารเหล่านี้อย่างไร
อีกด้านหนึ่ง คือ ผู้จบการศึกษาใหม่ ในช่วง 1-2 ปีนี้ เป็นปีที่แรงงานจะหางานได้ยากมาก ถ้าน้องๆที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ เขาหางานไม่ได้ เขาต้องว่างงานไปในช่วง 2 ปีนี้ ในทฤษฎี ในงานวิจัยมากมายที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แรงงานพบว่าจะมีผลข้างเคียงต่อเนื่องระยะยาวถึงศักยภาพของเขา และความสามารถในการหางานของเรา
เพราะอย่าลืมว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ก็มีคนรุ่นใหม่จบออกมา และจบออกมาด้วยทักษะใหม่ด้วย เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาก็ต้องปรับวิธีการใหม่ เปลี่ยนการเรียนการสอนไปใช้ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะให้แน่ใจว่า 2-3 ปีนี้ จะไม่สร้างแผลเป็นให้กับเขา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อศักยภาพในระยะยาวของเขา อันนี้จึงเป็นความกังวลใหญ่ จึงต้องให้มีการสร้างงานที่จะรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้น ผมคิดว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินเยียวยาในช่วงสั้นๆ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ เรื่องปรับโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว โดยเราทำให้คนเหล่านี้ฝากชีวิตไว้ในต่างจังหวัดได้ โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ หรือเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และหากเราสามารถปรับโครงสร้างหลายอย่าง รักษาและสร้างงานให้ต่างจังหวัดได้ จะเป็นการตอบโจทย์อย่างยั่งยืน
@โลกหลังโควิดทุกคนต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองตลอดเวลา
วิกฤติโควิด ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ เพราะโควิด ไม่ใช่โรคสุดท้ายที่เราต้องเผชิญ เนื่องจากสภาวะโลกร้อนจะทำให้โรคระบาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก ขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ เราเห็นปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด และเวลาถูกกระแทกแรงๆ รายได้หาย ผลกระทบจะเยอะมาก ดังนั้น การออม และการให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินจึงสำคัญมาก
ส่วนเรื่องหนี้เสีย แน่นอนว่าจะต้องเพิ่มขึ้น แต่เรามีมาตรการป้องกันล่วงหน้า เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทำให้เอ็นพีแอลไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ทุกคนไปต่อได้ ทำให้ภาระหนี้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่าย ส่วนในแง่ระบบ สถาบันการเงินมีเงินกองทุนสุง และตั้งสำรองด้วยความระวังอย่างต่อเนื่อง จึงไม่คิดว่าจะมีปัญหาไปที่ระบบสถาบันการเงิน เหมือนวิกฤติในรอบก่อนๆ
สำหรับโลกหลังโควิดคงไม่เหมือนเดิมแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา เพราะในโลกที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่คงไม่ใช่การแข่งขันเรื่องราคา เรื่องปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ใครที่ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักกับเพิ่มคุณภาพ ก็มีโอกาสก้าวผ่านไปได้
อย่างภาคเกษตร ถ้าเราไปแข่งที่ปริมาณ ราคาก็มีแต่ตกลงเรื่อยๆ แต่ถ้าใครทำเกษตรปลอดภัย ทำเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถเพิ่มราคาได้สูง เพิ่มมาร์จิ้น สร้างความแตกต่าง ทุกอุตสาหกรรมต้องไปแบบนี้ การท่องเที่ยวและการผลิตอาหารก็เหมือนกัน วิธีคิดต้องเปลี่ยนจากราคาและปริมาณ มาเป็นเรื้องคุณภาพ อีกทั้งเราต้องเจอกับความเสี่ยงและความผันผวนอีกมากหลังโควิด ทำให้การบริหาร กระจายความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
อ่านประกอบ :
ฟันธง 2 ปีเศรษฐกิจกลับสู่ปกติ! ‘วิรไท’ ห่วงนศ.จบใหม่ไม่มีงานทำ-'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' แนะตุนเงินสด
ธปท.พบนักวิเคราะห์! ‘วิรไท’ มองเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 3-เชื่อโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ในไทย
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/