“...เขาบอกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เจตนาของการออกกฎหมายนี้ต้องการกระจายไปยังทุนใหญ่ ไม่ใช่เอสเอ็มอีโดยตรงใช่หรือไม่ แล้วที่เขียนว่านิยามวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท หมายความว่าถ้ามีสินเชื่อ 3 แห่งรวม 1,500 ล้านบาท ก็กู้เงินได้ แล้วจะช่วยเอสเอ็มอีตัวจริงได้หรือไม่...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์จากเชื้อโควิด โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเนื้อหาถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด วงเงิน 5 แสนล้านบาท ดังนี้
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาจเป็นการเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ใช่เอสเอ็มอีขนาดเล็ก และจะกระทบแรงงานอย่างน้อย 12 ล้านคนในระบบ หมายความว่าเศรษฐกิจระดับกลางจะสะเทือนทั้งประเทศ
เมื่อดูรายละเอียดพบว่า เนื้อหาโดยภาพรวมคือการให้ ธปท.ปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ในวงเงิน 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 2% ให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่มีวงเงินวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้พูดถึงนิยามของเอสเอ็มอีที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดนิยามและขนาดเอสเอ็มอีจากจำนวนการจ้างงานและรายได้ต่อปี แต่ใน พ.ร.ก.ซอฟท์โลนนี้ นิยามเอสเอ็มอี ไว้ว่า วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท หมายความว่าบริษัทที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท หากมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอรับสินเชื่อนี้ได้ทั้งหมด
“เขาบอกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เจตนาของการออกกฎหมายนี้ต้องการกระจายไปยังทุนใหญ่ ไม่ใช่เอสเอ็มอีโดยตรงใช่หรือไม่ แล้วที่เขียนว่านิยามวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท หมายความว่าถ้ามีสินเชื่อ 3 แห่งรวม 1,500 ล้านบาท ก็กู้เงินได้ แล้วจะช่วยเอสเอ็มอีตัวจริงได้หรือไม่” นายธีรัจชัย กล่าว
นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการกำหนดให้ลูกค้าเดิมได้รับสินเชื่อส่วนนี้ แต่เอสเอ็มอีในประเทศไทยมี 3 ล้านราย มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแค่ 1.9 ล้านราย ส่วน 1.1 ล้านราย ไม่มีสินเชื่อ เพราะเป็นร้านกาแฟริมทาง รีสอร์ทเล็กๆ บริษัทจัดรถทัวร์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง
“เมื่อเป็นอย่างนี้จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นอีก เอสเอ็มอีระดับกลางจะถูกทำลายให้เป็นคนจน นี่คือผลสะเทือนถึงระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ ออกกฎหมายเอื้อกลุ่มทุนได้อย่างไร” นายธีรัจชัย กล่าว
ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้าบาท โดยเฉพาะเรื่องของความโปร่งใส เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมากมาย เช่น ทั้งการซื้อแอลกอฮอล์ราคาแพง และแคร์เซ็ตที่มีราคาสูงเกินจริง รวมถึงการเรียกเก็บค่าหัวคิวจากผู้ประกอบการโรงแรมแลกกับการเป็นสถานที่กักตัวของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แม้ว่าคนในรัฐบาลจะยืนยันว่า เงินก้อนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี เพราะมีแต่ข้าราชการพิจารณา และมีการกำกับดูแลที่ดี แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเรื่องความโปร่งใส
“ทั้งนักการเมืองหรือข้าราชการ ก็มีคนไม่ดี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลนักการเมือง ใช้แต่กลไกข้าราชการ แต่ก็พบการทุจริตโดยข้าราชการ เช่น การทุจริตเงินช่วยบุคคลยากไร้ ทุจริตเงินทอนวัด ดังนั้นการใช้งบครั้งนี้ อาจจะมีโจรใส่สูทมาขูดรีดเงินประชาชน ขอฝากรัฐบาลให้ระวังเรื่องการใช้เงินตรงนี้ด้วย ขอให้เป็นการกู้เงินเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง” นายองอาจ กล่าว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้พยายามพิจารณามาตรการต่างๆอย่างรอบคอบ โดยยืนยันว่าไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อเอื้อกลุ่มทุน แต่หัวใจสำคัญคือการดูแลคนตัวเล็กตัวน้อย และความเห็นของนายธีรัจชัย ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานรัฐบาลที่จะนำไปพิจารณารายละเอียดด้วยความรอบคอบต่อไป
นายจุติ ยืนยันว่า ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิดทุกเรื่องเรื่องเดือน ฉะนั้นจะไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้หลุดหูหลุดตาไป สิ่งใดที่บกพร่องก็จะรีบแก้ไข
“ขอยืนยันว่าเราตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำ พยายามทำให้เงินไปถึงประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับล่างให้มากที่สุด เรื่องนี้ถกเถียงกันเยอะในที่ประชุม และคำนึงถึงว่าเงินเหล่านี้อาจจะดูตามหลักเกณฑ์แล้วแปลไปได้ว่าเอื้อ แต่ผมยืนยันว่า ครม. ทุกท่านยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้น และเราก็พร้อมรับฟังผ่านสภา รัฐบาลจะไม่ละเลยและจะแก้ไขให้ถูกต้อง” นายจุติ กล่าว
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า เราตระหนักดีว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูและรักษาความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลมีหลายมาตรการในการช่วยเหลือ ทั้งพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และใส่เงินลงไปในระบบผ่านซอฟท์โลน ส่วน พ.ร.ก.ซอฟท์โลนของ ธปท.เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการมุ่งใส่เงินเข้าไปในระบบอย่างเดียว โดยที่ผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวอย่างเหมาะสม จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มเติมในอนาคต เช่น ทำให้เกิดปัญหามูลหนี้ ที่จะทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากขึ้นไปอีก
นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายว่า สถาบันการเงินได้รับส่วนต่างดอกเบี้ย 2% จากการได้รับซอฟท์โลนของ ธปท.ที่คิดอัตรา 0.01% ถือเป็นขั้นตอนตามปกติ และหากพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างละเอียดจะพบว่า เอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าเดิมของสถาบันการเงิน มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 2% ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะสถาบันการเงินไม่ทราบความเสี่ยง จึงอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็วไม่ได้
“ธปท. ไม่ได้คาดหวังว่าการปล่อยซอฟท์โลน จะทำทีเดียวทั้งหมด 5 แสนล้านบาท เพราะเราทราบดีว่า การเยียวยาเอสเอ็มอีต้องสอดคล้องกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เรายอมรับว่า แม้จะไม่ได้คาดหวัง แต่การปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมาก็ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีมาตรการต่างกัน ประกอบกับมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ก็ส่งผลต่อการดำเนินการเพื่อไปขอสินเชื่อของผู้ประกอบการด้วย” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า กรณีที่มี ส.ส.หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่จะได้ประโยชน์จากการทำซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปปล่อยกู้อีกทอดหนึ่งโดยคิดดอกเบี้ยสูง หากมีหลักฐานขอให้รีบแจ้ง ธปท.ทันที เพื่อจะเร่งดำเนินการสอบสวน หากพบว่ามีความผิดจะมีการลงโทษและเรียกคืนเงิน เพราะเห็นว่เป็นการดำเนินการขัดต่อ พ.ร.ก. และเป็นการดำเนินการที่ไม่มีความระมัดระวังของสถาบันการเงิน
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ตั้งข้อสังเกตว่า สศช. ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ได้ส่งหนังสือไปแจ้งให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดนำเสนอโครงกาตามกรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาทภายใน 5 มิ.ย. โดยนายดนุชา ระบุว่า สิ่งที่ส่งไปถึงท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทย คือโครงการที่ต้องการมุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนทันทีและเป็นการเสนอในลักษณะสรุปสาระสำคัญของโครงการ จากนั้นยังมีเวลาถึงวันที่ 15 มิ.ย.ในการจัดทำรายละเอียดเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา ทั้งนี้ สศช.ยืนยันว่า การใช้เงินกู้ในรอบแรก ไม่ใช่การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทให้หมดในคราวเดียว เพราะต้องเก็บไว้ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
“เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอเรียนว่าการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนงาน 4 แสนล้านบาท เราไม่ได้กลั่นกรองครั้งเดียวจบ แต่จะกลั่นกรองเป็นรอบๆ ตามสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงค่อนข้างสูง และเราตระหนักดีว่าวิกฤติรอบนี้มีผลกระทบในวงกว้าง การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ” นายดนุชา กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/