"...วันที่อยู่บ้านก็ทำการบ้านที่ได้รับมอบหมาย โดยปรับให้สอดคล้องกับชีวิตเด็กแต่ละคน คณิตเอย วิทย์เอย ภาษาเอย อื่นๆ เอย ถ้าเอาเข้าจริงๆ เราก็อยากให้เค้าได้รู้เพื่อใช้การได้ในชีวิตประจำวันมิใช่หรือ? หากใช่ ก็น่าจะถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอุดมศึกษาปรับโจทย์การเรียนรู้ให้เข้ากับวัตถุประสงค์หลักและเข้ากับบริบทสังคมเสียที..."
ช่วงนี้เราเห็นการเรียกร้องผลักดันให้เปิดโรงเรียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลมีหลากหลาย
หลักๆ คือ กลัวเด็กไทยจะเรียนไม่ทันหลักสูตร ไม่พร้อมที่จะเข้าสนามสอบต่างๆ ที่สำคัญต่ออนาคตของเด็ก
เหตุผลอื่นๆ คงเป็นเรื่องความลำบากในการดูแลลูกหลาน หากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านโดยไม่มีใครดูแล รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีตามมา
โรคติดต่อ...จะติดต่อ ถ้าเราติดต่อกัน...
โรคติดต่อ...จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน...
งานวิจัยในปี 2004 ที่เยอรมัน ศึกษาเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเด็กๆ ที่ไปโรงเรียน จะมีการติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ในโรงเรียน เฉลี่ยวันละประมาณ 40 ครั้ง
งานวิจัยในปี 2014 ที่จีน ศึกษาเด็กเกรด 7-8 (หรือประมาณม.ต้นของเรา) พบว่ามีการติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นๆ ในโรงเรียนวันละประมาณ 20 ครั้ง วันที่ไปโรงเรียนจะมีจำนวนการติดต่อสัมผัสกับคนอื่นๆ มากกว่าวันหยุดถึง 30%
การเปิดโรงเรียนของเราในยุค COVID-19 นี้จึงท้าทายมากว่าจะจัดการอย่างไร?
นอกไปจากการคัดกรองไข้สำหรับครู บุคลากรต่างๆ นักเรียนและผู้ปกครองแล้ว มาตรการให้ใส่หน้ากาก ล้างมือ และอยู่ห่างๆ จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
กระบวนการวิกฤติที่น่าจะได้รับการขันน็อตอย่างแน่นๆ คือ
หนึ่ง หากใครมีอาการไม่สบาย ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ควรให้กลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นครู บุคลากรฝ่ายสนับสนุน รวมถึงนักเรียน
สอง การปรับกิจกรรมการเรียนการสอน การเล่น/การสังคม ในทุกระดับชั้น ให้มีจำนวนการติดต่อสัมผัสกับคนอื่นลดลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น
สาม การล้างมือทุกครึ่งชั่วโมง จะล้างด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ประจำห้อง
สี่ สุขอนามัยในห้องสุขา ทั้งการทำความสะอาด และการใช้งาน
สิ่งที่ควรพิจารณากันคือ แนวการเรียนใหม่ ไปโรงเรียนสัก 3 วัน (จันทร์ อังคาร พุธ) เว้น 4 วัน (พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์) เพื่อเป็นระยะเฝ้าสังเกตอาการหากติดเชื้อ ปกติจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 4.5 วัน
วันที่อยู่บ้านก็ทำการบ้านที่ได้รับมอบหมาย โดยปรับให้สอดคล้องกับชีวิตเด็กแต่ละคน คณิตเอย วิทย์เอย ภาษาเอย อื่นๆ เอย ถ้าเอาเข้าจริงๆ เราก็อยากให้เค้าได้รู้เพื่อใช้การได้ในชีวิตประจำวันมิใช่หรือ? หากใช่ ก็น่าจะถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอุดมศึกษาปรับโจทย์การเรียนรู้ให้เข้ากับวัตถุประสงค์หลักและเข้ากับบริบทสังคมเสียที
อ้างอิง :
1. Mikolajczyk RT et al. Social contacts of school children and the transmission of respiratory-spread pathogens. Epidemiol Infect. 2008 Jun; 136(6): 813–822.
2. Luh DL et al. Comparison of the social contact patterns among school-age children in specific seasons, locations, and times. Epidemics. March 2016.
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก freepik.com