"...ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม วาวาได้รับค่าจ้างค้าจ่ายจากนายจ้างแล้ว โดยนายจ้างค้างค่าแรงเธอทั้งหมด 41 วัน ซึ่งเป็นภาวะปกติเธอควรได้รับค่าจ้าง 41X331=13,571 บาท หรือถ้านายจ้างเลือกใช้มาตรา 75 เธอก็ควรได้รับค่าจ้าง 10,178 บาท แต่นี่เธอได้รับค่าจ้างเพียง 8,414 บาท หรือ 62% ของค่าจ้าง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงได้ค่าจ้างเพียงเท่านี้..."
“วาวา” เกิดที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เธอเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างใน บริษัท น. เมื่อ 5 ปีก่อนโดยได้ค่าจ้างวันละ 331 บาทตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นราคาค่าแรงที่เธอพอใจ
เธอส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวทุกเดือน ตลอดเวลา 5 ปี ซึ่งนายจ้างไม่เคยมีปัญหาเรื่องจ่ายค่าจ้าง เพียงแต่ระยะหลังอาจขลุกขลักบ้างและเธอได้ยินข่าวจากเพื่อนๆลูกจ้าง
บริษัท น. เป็นกิจการสิ่งทอในอ้อมใหญ่ จ.นครปฐมที่ก่อตั้งมานานตั้งแต่รุ่นพ่อจนตกมาถึงรุ่นลูก
ขณะที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมี “ป้าริน” น.ส.สุรินทร์ พิมพา เป็นประธาน
เดิมทีวาวาเช่าห้องพักอยู่กับสามีเดือนละราว 2,000 บาท แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนสามีต้องกลับไปต่อใบอนุญาตในฝั่งพม่า ซึ่งขณะนั้นเธอเริ่มตั้งท้องอ่อนๆ เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมโดยได้ปิดพรมแดนทำให้สามีของเธอไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในไทยได้
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเงินค่าจ้างเริ่มไม่ค่อยออกตามเวลา จนกระทั่งนายจ้างสั่งปิดโรงงานชั่วคราวซึ่งเดิมทีเขาจะจ่ายให้ลูกจ้าง 75% ตามกฎหมายคุ้มครองแรงานมาตรา 75 แต่ตอนหลังเมื่อสำนักงานประกันสังคมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบในเหตุสุดวิจัยกรณีว่างงานรายละ 62% นายจ้างจึงทำท่าให้ลูกจ้างขอรับความช่วยเหลือในช่องทางดังกล่าว
เกือบ 2 เดือนที่วาวาไม่ได้รับค่าจ้าง สถานการณ์ที่เผชิญทำให้เธอกังวลใจมาก ไหนจะลูกในท้องที่อายุ 4 เดือน ไหนจะเงินทองที่ต้องจ่ายค่าห้อง-ค่ากินอยู่ จนในที่สุดเธอได้ย้ายออกมาเช่าห้องอยู่กับเพื่อนเพื่อช่วยกันประหยัด ยังดีที่มีคนเอาข้าวไปบริจาคให้
“ จริงๆแล้วหนูอยากกลับไปคลอดลูกที่บ้านในมัณฑะเลย์ อยู่ที่นี่ต้องจ่ายค่าคลอดแพง จะใช้สิทธิประกันสังคมก็ไม่ได้ ถ้าได้กลับไปคลอดที่บ้านถูกกันกว่าเยอะ” วาว่าพูดไว้เมื่อวันที่พี่ๆในสหภาพแรงงานพาไปร้องเรียนกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม “ที่บ้านมีคนช่วยดูแลตอนเราคลอด แต่ตอนนี้ยังไปไหนไม่ได้เพราะต้องรอค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับ เราไม่มีค่ารถกลับบ้าน และอยากได้เงินสักก้อนไว้ตอนคลอด”
หลังจากเรื่องราวของวาวาโผล่มาให้สังคมได้รับรู้ ผู้ใหญ่บริหารในกระทรวงแรงงานท่านหนึ่งได้ช่วยประสานกับสถานทูตพม่าในไทยและตม. พร้อมทั้งสั่งการให้จัดหางานจังหวัดเข้าไปดูแลช่วยเหลือวาวา เพื่ออำนวยความสะดวกหากเธอต้องการกลับบ้าน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม วาวาได้รับค่าจ้างค้าจ่ายจากนายจ้างแล้ว โดยนายจ้างค้างค่าแรงเธอทั้งหมด 41 วัน ซึ่งเป็นภาวะปกติเธอควรได้รับค่าจ้าง 41X331=13,571 บาท หรือถ้านายจ้างเลือกใช้มาตรา 75 เธอก็ควรได้รับค่าจ้าง 10,178 บาท แต่นี่เธอได้รับค่าจ้างเพียง 8,414 บาท หรือ 62% ของค่าจ้าง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงได้ค่าจ้างเพียงเท่านี้
“ดีใจที่นายจ้างจ่ายเงินให้ ได้ 8 พันกว่าบาทก็ยังดี ตอนแรกคิดว่าเขาจะไม่ได้เสียแล้ว”วาวารู้สึกคลายกังวลมากขึ้นที่จะได้กลับบ้าน ชีวิตของแรงงานต่างบ้านต่างเมืองอย่างเธอไม่ค่อยมีโอกาสให้สนใจและคิดมากเรื่องสิทธิที่ควรได้รับ ขอแค่ได้เงินสักก้อนกลับไปหาครอบครัวก็นับว่าดีที่สุดแล้ว
วันจันทร์(25 พค.63)เธอและเพื่อนแรงงานพม่าจะนั่งรถเมย์จากขนส่งหมอชิตไปยังแม่สอด เมื่อข้ามด่านไปแล้วเธอจะถูกกักตัวไว้ 21 วันตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทางการพม่า หลังจากนั้นเธอต้องนั่งรถอีก 2-3 กว่าไปสู่บ้านเกิดในมัณฑะเลย์อดีตเมืองหลวงของพม่า
“ที่ยังรู้สึกกังวลก็เรื่องอาการแพ้ท้องนี่แหละ แต่ก่อนเดินทางก็ว่าจะไปหาหมออีกสักครั้ง” วาวาพยายามคิดให้รอบคอบก่อนเดินทาง ดูเหมือนชีวิตเธอไม่มีทางเลือกมากนัก ชีวิตของเธอก็เช่นเดียวกับแรงงานจากเพื่อนบ้านราบอื่นๆ ในช่วงที่สังคมกำลังชุลมุน
พวกเธอก็มักกลายเป็นเหยื่อของนักฉวยโอกาสเสมอ
หมายเหตุ : เรื่อง/ภาพ จากเฟซบุ๊ก Paskorn Jumlongrach
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/