"...เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด บาดเจ็บจากทะเลาะวิวาทหรืออุบัติเหตุ ก็จะมาจบที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล และการต้องรับมือกับคนเมาที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งก็เป็นศึกหนัก (ต้องเตรียมใส่ครบชุด) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะทราบกันดีว่า คนเมาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมใส่หน้ากากในระหว่างที่หมอพยาบาลฉีดยาเย็บแผล ดีไม่ดีก็มีการร้องโวยวาย ตะโกนหรือพ่นน้ำลายออกมาอีก ไม่นับรวมถ้าอาการหนักก็เหนื่อยทั้งโรงพยาบาล เพราะต้องส่งชันสูตร เข้าผ่าตัด (ถ้าฉุกเฉินก็ต้องเลื่อนเคสอื่น ๆ มาผ่าตัดก่อนอีก) รวมทั้งการส่งหอผู้ป่วย เป็นภาระให้ครอบครัวก็ต้องแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียนในแต่ละวัน..."
จากข่าว... เปิดขายเหล้าได้-ห้ามดื่มในร้าน! แพร่ประกาศ 4 ฉบับ กำหนดเกณฑ์คุม 8 กิจกรรมหลังคลายล็อกดาวน์( https://www.isranews.org/article/isranews-news/88306-COVID_oder_liqueur.html ) ถือว่าไม่เกินคาดหมายที่รัฐบาลจะผ่อนปรนเพราะแรงกดดันจากธุรกิจสุราและกระแสสังคม
แต่ที่น่าห่วงใยคือ ความพยายามที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้าง “วิถีใหม่ให้คนไทยห่างไกลโควิด” New Normal .. ซึ่งกำลังค่อย ๆ ได้รับการตอบรับและปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการออกจากบ้าน “ใส่หน้ากากอนามัย – ล้างมือบ่อย ๆ ” การลดการสัมผัสทั้งบุคคลและสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้งการมีระยะห่างทางกายภาพ (Physical distancing) ต้องถือว่า ประสบความสำเร็จ
ถ้าดูจากผลสำรวจของกรมควบคุมโรคที่สัดส่วนผู้ใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้นมาเกิน 90% .. ทำให้ทุกวันนี้จะเห็นคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าใส่หมวกกันน็อก ซะอีก
ที่สำคัญคือ วิถีใหม่/New normal ที่กำลังจะเกิดขึ้น และมาตรการควบคุมโรคเข้มข้น ได้ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันลดลงอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบอื่น ๆ จากมาตรการภาครัฐได้ส่งผลให้ทั้งปัญหาทะเลาะวิวาท อาชญากรรม รวมทั้งอุบัติเหตุทางถนน ลดลงอย่างชัดเจน โดยปฎิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ “ห้ามขายเหล้า” เพราะป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การถ่ายทอดเชื้อโควิดออกสู่วงกว้างช่องทางหลักอีกอย่างคือมีกลุ่มคนมารวมกลุ่มหรือตั้งวงดื่มสังสรรค์
ข้อมูลจาก บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2563 ลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 (ลดลง 30-40%) หลังจากที่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 1-30 เมษายน 2563 โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 739 ราย (เฉลี่ยวันละ 24.63 ศพ) โดยลดลงจากเมษายน 2562 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 1,132 ราย (เฉลี่ยวันละ 37.7 ศพ) โดยลดลงถึง 393 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 34.72
สาเหตุที่ทำให้ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ "ห้ามขายเหล้า" ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ออกประกาศห้ามขายเหล้าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนถึงวันที่ 30 เมษายน2563
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลผ่อนปรนให้กลับมาขายเหล้าในลักษณะซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ นอกจากที่จะมีความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด เพราะผู้ที่ซื้อกลับบ้านก็จะกลับไปตั้งวงดื่มกันที่บ้านหรือในชุมชน ซึ่งวิถีใหม่ new normal ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก การลดการใช้อุปกรณ์ร่วมกันและเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร คงเกิดขึ้นไม่ได้ในวงเหล้า
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบที่มาตามมาทั้งการ “ลดภูมิคุ้มกันโควิด” ในคนที่ดื่มปริมาณมาก ๆ ต่อเนื่อง ผลกระทบจากเรื่องทะเลาะวิวาท รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต เพราะการพบปะในชุมชนส่วนใหญ่จะขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปมาหาสู่กัน และพบอีกว่า เกือบทั้งหมดไม่มีใครสวมหมวกนิรภัยเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าไปใกล้ๆ แค่นี้เอง
อีกประการที่ทำให้คนดื่มเหล้าออกมาขับขี่โดยไม่กลัวกฎหมายเพราะทุกวันนี้แทบไม่เหลือด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์บนท้องถนน เพราะทั้งตำรวจและผู้ใช้รถใช้ถนนกลัวโควิดเลยไม่เป่าตรวจ อย่างช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย ทางตำรวจก็เป่าตรวจดำเนินคดีเมาขับได้เพียง 408 ราย (คิดเป็น 0.75 ราย/จังหวัด/วันหรือถูกจับไม่ถึงหนึ่งคน/จังหวัด/วัน) พูดง่าย ๆ คือ รัฐบาลผ่อนปรนทั้งการขายและการบังคับใช้กฎหมาย
ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนให้ขายเหล้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จะออกประกาศและบังคับใช้ ก็ต้องมีหลักประกันให้คนในสังคมมั่นในว่า คนที่ซื้อกลับไปจะไม่มาตั้งวงดื่มที่บ้านในลักษณะที่เพิ่มความเสี่ยงทั้งการเพิ่มการถ่ายทอดเชื้อโควิดและเสี่ยงต่อผลกระทบอื่น ๆ ทั้งทะเลาะวิวาทและการดื่ม/เมาแล้วออกขับขี่
เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโควิด บาดเจ็บจากทะเลาะวิวาทหรืออุบัติเหตุ ก็จะมาจบที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล และการต้องรับมือกับคนเมาที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งก็เป็นศึกหนัก (ต้องเตรียมใส่ครบชุด) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะทราบกันดีว่า คนเมาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมใส่หน้ากากในระหว่างที่หมอพยาบาลฉีดยาเย็บแผล ดีไม่ดีก็มีการร้องโวยวาย ตะโกนหรือพ่นน้ำลายออกมาอีก ไม่นับรวมถ้าอาการหนักก็เหนื่อยทั้งโรงพยาบาล เพราะต้องส่งชันสูตร เข้าผ่าตัด (ถ้าฉุกเฉินก็ต้องเลื่อนเคสอื่น ๆ มาผ่าตัดก่อนอีก) รวมทั้งการส่งหอผู้ป่วย เป็นภาระให้ครอบครัวก็ต้องแวะเวียนกันมาเยี่ยมเยียนในแต่ละวัน
โดยสรุป มาตรการที่ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค. )ต้องสร้างหลักประกันหลังผ่อนปรนให้ขายเหล้า ได้แก่
1) มีระบบเฝ้าระวังและติดตามยอดผู้ติดเชื้อโควิดและยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทะเลาะวิวาท และที่สำคัญคือกรณีเมาแล้วขับขี่อย่างไกล้ชิด
2) กำหนดให้ทุกจังหวัดต้องมีด่านตรวจเมาขับ อย่างครอบคลุมเส้นทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องปรามมิให้คนเมาออกมาขับขี่บนท้องถนน พร้อมทั้งรายงานสถิติมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและที่ ศบค.ทุกวัน
3) กรณีพบมีผู้ประสบเหตุหรือผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ทั้งจากกรณีเมาขับหรือกรณีอื่น ๆ เช่นการดื่มแอลกอฮอล์แล้วทะเลาะวิวาท ฯลฯ ต้องมีการสอบสวนสาเหตุโดยละเอียดและดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีผู้บาดเจ็บมีอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็ต้องนำ พรบ.คุ้มครองเด็กมาบังคับใช้กับผู้ปกครอง และกรณีที่อายุน้อยกว่า 20 ปีก็ต้องตรวจสอบร้านจำหน่าย ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4) ในระดับจังหวัด ต้องมีการสรุปสถิติยอดผู้ติดเชื้อหรือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เกี่ยวข้องกับเมาขับ เพื่อประมวลสถานการณ์ในทุก ๆ วัน พร้อมทั้งมีการทบทวนมาตรการที่จะป้องกันผู้ติดเชื้อ และผู้รับผลกระทบจากการดื่ม
ในระหว่างที่สังคมกำลังสร้าง “วิถีใหม่ New Normal” แต่อาจจะสะดุดด้วยการผ่อนปรนในครั้งนี้ จึงถือเป็นความท้าทายที่ระดับพื้นที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพทั้งในการจัดการปัญหาและการสร้างการปรับเปลี่ยน ซึ่งเชื่อว่าผู้ว่าราชการทุกจังหวัดและกลไกที่มีอยู่ในจังหวัดและพื้นที่อำเภอ-ท้องถิ่น พร้อมจะพิสูจน์ประสิทธิภาพให้ปรากฎต่อสายตาผู้บริหารและสาธารณะชน
อ่านประกอบ :
เปิดขายเหล้าได้-ห้ามดื่มในร้าน! แพร่ประกาศ 4 ฉบับ กำหนดเกณฑ์คุม 8 กิจกรรมหลังคลายล็อกดาวน์