ราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศ 4 ฉบับ ให้ขายเหล้าได้ แต่ห้ามนั่งดื่มในร้าน สั่งเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 กำหนดกิจกรรม 'ห้ามทำ' และกิจกรรมที่ 'ผ่อนคลาย' ให้ทำได้ พร้อมแนวปฏิบัติคุม 8 กิจกรรม หลังผ่อนคลายล็อคดาวน์ ขณะที่ 'บิ๊กตู่' สั่งตั้งทีมที่ปรึกษาศูนย์โควิดดูแลผลกระทบเศรษฐกิจ ดึง 'นพ.จรัส สุวรรณเวลา' นั่งประธาน เชิญนักวิชาการร่วมทีมเพียบ
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเษกเผยแพร่ประกาศ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว จะกำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการดำเนินการ หรือการทำกิจกรรมบางอย่างตามพระราชกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
เช่น การห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. การให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด และห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2563 เป็นต้นไป (อ่านรายละเอียด : ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๕))
2.ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6) โดยมีสาระสำคัญ คือ จะให้มีการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ โดยเฉพาะการผ่อนคลายให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุราให้เปิดได้ แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน เป็นต้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2563 เป็นต้นไป (อ่านรายละเอียด : ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๖))
3.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ที่ 2/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยประกาศฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
สำหรับแนวปฏิบัติการดำเนินกิจกรรมตามคำสั่งฉบับนี้ จะแบ่งเป็นกิจกรรมเป็น 2 กลุ่มกิจกรรม คือ กลุ่มกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.มาตรการควบคุมกิจกรรมการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในโรงแรมท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อรถเข็น หาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์
2.มาตรการควบคุมกิจกรรมของห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ให้เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็น ต่อการใช้ชีวิต และร้านขายปลีก ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น
3.มาตรการควบคุมกิจกรรมการเปิดร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อมร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด และ 4.มาตรการควบคุมกิจกรรมร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี (เฉพาะสระ ตัด ซอยผม แต่งผม)
ส่วนกลุ่มกิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.มาตรการควบคุมกิจกรรมสนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 2.มาตรการควบคุมสนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง และตามกติกาสากล ได้แก่ เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธน สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่ 3.มาตรการควบคุมกิจกรรมในสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา (เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อการเดินวิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นเป็นส่วนบุคคล)
และ 4.มาตรการควบคุมกิจกรรมในสถานที่ให้บริการดูแลรักษา สัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยง หรือรับฝากสัตว์ (อ่านรายละเอียด : คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙) ที่ ๒/๒๕๖๓ เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ )
4.คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 21/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำหน้าที่ให้ความเห็นทางวิชาการเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ศ.กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นรองประธาน
คณะที่ปรึกษาดังกล่าวยังมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเป็นกรรมการหลายคน เช่น ศ.วุฒิสาร ตันไชย ,รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ,รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ นายบัณฑิต นิจถาวร ,นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ ,นายวีระ ธีระภัทรานนท์ ,นายสมชัย จิตสุชน ,พล.ต. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา และมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ (อ่านรายละเอียด : คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๑/๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด - ๑๙))
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage