แล้วควรจ่ายหัวละเท่าไหร่? ต้องใช้เงินมากไหม? ผมเสนอให้พิจารณาโดยเทียบกับสองประเทศในโลกที่ใช้วิธีจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 เท่ากันทุกคน คือญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลญี่ปุ่นแจกเงินเยียวยาประชาชนญี่ปุ่นทุกคนหัวละ 100,000 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30,000 บาท รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus check) ให้กับประชาชนอเมริกันหัวละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 40,000 บาท โดยให้เฉพาะกับคนที่มีรายได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน 100,000 เหรียญต่อปี
“แทนที่จะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยแยกเป็นกลุ่มๆ ตามที่ได้วางแผนไว้ รัฐบาลน่าจะพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนคนไทยทุกคนในจำนวนเท่าๆ กัน โดยจ่ายให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไปในอัตราหัวละ 12,000 บาท”
รัฐบาลมีแผนในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยแจกเงินจำนวนเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือนให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม คือผู้ที่มีอาชีพอิสระ เช่น คนขับแท็กซี่ พนักงานเสริฟ พนักงานโรงแรม พนักงานนวด/เสริมสวย ช่างตัดผม ฯลฯ ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยานี้เป็นจำนวนกว่า 27 ล้านคนแล้ว กระทรวงการคลังได้คัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและจ่ายเงินเดือนแรกออกไปแล้วให้กับผู้ลงทะเบียนจำนวนประมาณ 4 ล้านคน
แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านการคัดกรอง โดยกระทรวงการคลังแจ้งว่า ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เช่น เป็นนักศึกษา เป็นเกษตรกร หรือมีอาชีพที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ สร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลเหล่านี้ เพราะปรากฏว่า บางคนอายุเกือบ 50 ปีขี่วินมอเตอร์ไซค์ แต่ถูกระบุว่าเป็นนักศึกษา บางคนไม่เคยทำไร่ทำนาเลย แต่ถูกปฏิเสธเพราะระบบ artificial intelligence (AI) ของกระทรวงการคลังจัดให้เป็นเกษตรกร แม้ว่าภาครัฐจะยอมให้มีการอุทธรณ์เพื่อทบทวนสิทธิ์ได้ แต่ก็เชื่อว่า ความวุ่นวายต่างๆ คงไม่หมดไปง่ายๆ คงจะมีความผิดพลาดในระบบคัดกรองและการประท้วงต่อไป และการแจกจ่ายเงินออกมาให้ผู้คนได้ใช้จ่ายเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานและการขาดรายได้ก็คงจะล่าช้าออกไปอีก
รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 9 ล้านคน จ่ายคนละ 15,000 บาทในสามเดือน จึงเป็นงบประมาณรวม 135,000 ล้านบาท แต่ผมเชื่อว่าเมื่อคัดกรองไปจนครบคนแล้ว อาจพบว่าจะต้องจ่ายชดเชยให้มากเกิน 9 ล้านคนแน่ๆ ซึ่งในที่สุดก็อาจจะทำให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินรวมกันมากถึง 300,000 ล้านบาทก็ได้
อีกส่วนหนึ่งของการบรรเทาความเดือดร้อน คือ การจ่ายเงินชดเชยการว่างงานจากกองทุนประกันสังคมให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ ที่ต้องออกจากงานอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 คาดว่า ผู้ได้รับเงินชดเชยส่วนนี้น่าจะมีจำนวนระหว่าง 1 - 2 ล้านคน และหากอัตราการชดเชยนี้เท่ากับเงินที่ภาครัฐจ่ายให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม คือ 15,000 บาทในช่วงสามเดือนข้างหน้า เงินทั้งหมดที่จะจ่ายออกจากกองทุนประกันสังคมในส่วนนี้ก็น่าจะตกประมาณ 15,000 - 30,000 ล้านบาท
รัฐบาลยังมีแผนที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย โดยในขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือส่วนนี้ แต่ข่าวเบื้องต้นระบุว่า จะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรครัวเรือนละ 30,000 บาท ในปัจจุบันมีเกษตรกรลงทะเบียนจำนวนประมาณ 7.5 ล้านครัวเรือน ถ้ารัฐบาลจ่ายเกษตรกรทุกครัวเรือนก็จะใช้งบประมาณรวม 300,000 ล้านบาท
เมื่อรวมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งสามกลุ่มข้างต้น คือ กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ (ที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม) กลุ่มผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม และกลุ่มเกษตรกร ก็จะปรากฏว่า รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นระหว่าง 465,000 ล้านบาท ถึง 550,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณของรัฐและบางส่วนจ่ายออกจากกองทุนประกันสังคม
ผมอยากจะเสนอว่า แทนที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาชดเชยแยกเป็นกลุ่มๆ ตามที่ได้วางแผนไว้ข้างต้น รัฐบาลน่าจะพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนคนไทยทุกคนในจำนวนเท่าๆ กัน โดยกำหนดจ่ายให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป จะมียกเว้นก็เฉพาะบุคคลที่ได้รับเงินเดือน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือเลี้ยงดู และสวัสดิการจากภาครัฐ ซึ่งก็ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงนักโทษในคุก เท่านั้น
การจ่ายเงินเท่ากันเป็นรายหัว เป็นวิธีการเยียวยาที่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะภาครัฐสามารถคัดกรองโดยตรวจสอบเฉพาะอายุและการเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้โดยง่าย อย่างน้อยก็ง่ายกว่าเกณฑ์การคัดกรองที่ AI ของกระทรวงการคลังกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นการแจกจ่ายเงินที่ทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทั่วถึงด้วย
บางคนอาจจะค้านว่า วิธีการจ่ายเท่ากันรายหัวนี้มีความไม่เท่าเทียมกัน เพราะผู้ที่ได้รับการชดเชยมีรายได้ไม่เท่ากัน และมีบางกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การชดเชยจึงไม่ควรใช้เงินจ่ายเท่ากันทุกคน
ผมต้องยอมรับในจุดอ่อนของวิธีการนี้ แต่เราก็ได้เห็นความยุ่งยากและความไร้ประสิทธิภาพของความพยายามที่จะคัดแยกเอาเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบที่มีรายได้น้อยแล้ว ผมต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า วิกฤติโควิด-19 นี้มีผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ (มนุษย์ทั่วโลกด้วยซ้ำไป) ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม มากบ้างน้อยบ้าง หากเรากำหนดให้ผู้ที่ต้องการรับเงินเยียวยานี้ต้องมาลงทะเบียนกับภาครัฐ ผมก็ยังหวังว่าผู้มีรายได้ค่อนข้างดีส่วนใหญ่ก็คงมีจิตสำนึกที่จะเลือกไม่มาลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินส่วนนี้จากภาครัฐ อันจะทำให้ความเป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
แล้วควรจ่ายหัวละเท่าไหร่? ต้องใช้เงินมากไหม? ผมเสนอให้พิจารณาโดยเทียบกับสองประเทศในโลกที่ใช้วิธีจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 เท่ากันทุกคน คือญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลญี่ปุ่นแจกเงินเยียวยาประชาชนญี่ปุ่นทุกคนหัวละ 100,000 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30,000 บาท รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus check) ให้กับประชาชนอเมริกันหัวละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 40,000 บาท โดยให้เฉพาะกับคนที่มีรายได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน 100,000 เหรียญต่อปี
การเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศน่าจะเป็นการใช้ตัวเลขรายได้ต่อหัวเป็นเกณฑ์ การคำนวณรายได้ต่อหัวเมื่อปรับด้วยค่าครองชีพ (หรือที่เรียกว่า purchasing-power-parity per capita income) สำหรับปี 2560 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีรายได้ต่อหัวประมาณ 60,000 เหรียญต่อปี ญี่ปุ่นมีรายได้ต่อหัวประมาณ 42,000 เหรียญต่อปี และไทยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 18,000 เหรียญต่อปี เมื่อปรับตามความแตกต่างของรายได้ต่อหัวแล้ว ปรากฏว่าเงินเยียวยาในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะเทียบเท่ากับเงินเยียวยาในไทยที่มีมูลค่าประมาณ 12,000 บาทต่อคน
ดังนั้น เพื่อให้การเยียวยาในไทยไม่น้อยหน้ามาตรการเดียวกันกับที่ใช้ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รัฐบาลไทยจึงควรจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 แก่คนไทยทุกคนในอัตราหัวละ 12,000 บาท
จำนวนคนที่รัฐบาลไทยจะต้องจ่ายเท่ากันเป็นรายหัวนี้น่าจะเป็นประมาณ 45 ล้านคน คือจำนวนผู้มีสัญชาติไทยทั้งหมดประมาณ 65 ล้านคน หักด้วยจำนวนคนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 15 ล้านคน และหักออกไปอีกด้วยจำนวนผู้เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสากิจ และผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงทะเบียนขอรับเงิน (อาจจะเป็นเพราะไม่เดือดร้อนมากนัก) รวมกันประมาณ 5 ล้านคน เบ็ดเสร็จแล้วมาตรการจ่ายชดเชยเท่ากันรายหัวจะต้องใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 540,000 ล้านบาท (12,000 คูณด้วย 45 ล้าน) ซึ่งอาจจะเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเงินที่จะใช้ในมาตรการเยียวยาคนสามกลุ่มตามที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ขณะนี้ แต่จำนวนเงินที่มากกว่าก็ไม่น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าจะใช้เงินมากกว่าอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าการจ่ายเงินเยียวยาเท่ากันรายหัวน่าจะทำได้เร็วกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ทั่วถึงกว่า และมีผลบรรเทาความเดือดร้อนได้มากกว่าด้วย หากจะเปลี่ยนมาใช้มาตรการนี้ก็ยังพอทำได้ในขณะนี้ เพราะเม็ดเงินที่ได้จ่ายออกไปแล้วภายใต้มาตรการปัจจุบันก็สามารถปรับมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาเท่ากันรายหัวได้ และจำนวนเงินรายหัวที่ลดลง (จาก 15,000 บาท) ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้เพราะถือว่าเป็นการกระจายรายได้ออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง รัฐบาลควรจะใช้โอกาสในการแจกเงินให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในคราวนี้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและขอความร่วมมือจากผู้ได้รับประโยชน์นี้ เพื่อนำเอาใช้เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ/ควบคุม/สืบสวนโรคการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น อาทิเช่น การกำหนดหรือขอความร่วมมือให้ผู้ได้รับเงินเยียวยาทุกคนใช้แอพพลิเคชั่นบางอย่าง (เช่น แอพฯ ที่ชื่อ “หมอชนะ”) บนมือถือ เพื่อทำให้ contact tracing เป็นไปได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็วมากขึ้น