"...ประชาชนทุกครัวเรือน ก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันสร้างบรรทัดฐานนี้ได้ โดยเลียนแบบการกำหนดนโยบายประจำครอบครัวครับ หมดสมัยแล้วกับช้างเท้าหน้าและช้างเท้าหลัง พ่อแม่ลูกควรมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากคุณลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ถูก ก็ต้องกล้าที่จะแนะนำหรือขอร้องให้ท่านทำ แต่หากคุณลูกทำไม่ถูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยดูแลสอนสั่ง ไม่ปล่อยตามใจ เพราะการตามใจหนึ่งครั้ง อาจเกิดผลกระทบติดเชื้อตามมา จนไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเป็นคำรบที่สอง..."
วันนี้รัฐบาลแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นอีก 30 คน
ราว 60% ของผู้ที่ติดเชื้อใหม่วันนี้มาจากการไปสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้
นอกนั้นประปรายก็มาจากการไปที่ที่แออัด เช่น ตลาด สถานที่ท่องเที่ยว และมีบางส่วนที่กลับมาจากต่างประเทศ
เคสที่เราพบติดเชื้อใหม่เหล่านี้ยังคงเน้นย้ำว่าเราทุกคนต้องรู้จักป้องกันตนเองให้ดี หากอยากจะให้โรคระบาดหายไปโดยเร็ว จะต้องลดเคสที่ติดเชื้อในลักษณะนี้ลงให้ได้ ไม่งั้นไม่มีทางจบ
พึงระลึกเสมอว่า ออกไปข้างนอก ที่ใดก็ตาม ล้วนมีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะคนที่ดูปกติ ไม่มีอาการใดๆ ก็อาจเป็นคนที่กำลังติดเชื้ออยู่ และสามารถแพร่ให้เราได้ แถมเราเองก็อาจนำไปแพร่ให้คนใกล้ชิดได้เช่นกัน
ดังนั้นเรื่อง #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #ล้างมือบ่อยๆ #ใส่หน้ากากเสมอเวลาออกนอกบ้านยามจำเป็น และ #อยู่ห่างกันอย่างน้อย1เมตร นั้นสำคัญมาก
หากวิเคราะห์สถานการณ์กันตรงๆ บอกได้ว่า ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าเดือนมีนาคม แต่การลดลงของเคสใหม่ลงไปกว่านี้จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
เพราะกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จะเป็นกลุ่มที่ยากต่อการเข้าถึง กลุ่มที่หลีกเลี่ยงและฝ่าฝืนกฎระเบียบ หรือกลุ่มที่ยากต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม
มาตรการที่รัฐและเราทุกคนช่วยกันทำมาตลอดนั้น ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงไว้ และทำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
แต่ต้องมีมาตรการที่ต่างจากเดิม เพื่อหวังผลต่อกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การเร่งลงพื้นที่หาผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่เสี่ยง หรือตรวจสอบต่อเนื่องจากเครือข่ายสังคมของผู้ติดเชื้อเดิม
ตลอดจนมาตรการทางสังคม ที่ควรมุ่งสร้างบรรทัดฐานการใช้ชีวิตใหม่ (New Social Norm)
นั่นคือ การช่วยกันสร้างให้เกิดภาวะ
หนึ่ง "ช่วยกันจัดของป้องกัน ทั้งหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์/ที่ล้างมือ ให้เพียงพอทั่วถึงในทุกที่ที่คนใช้ชีวิตประจำวัน"
สอง "ช่วยกันรณรงค์ กระตุ้นเตือน ให้ทุกคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้ใส่หน้ากาก และล้างมือเสมอก่อนกระทำการใดๆ"
สาม "ฝึกให้ชินกับการเว้นระยะห่างระหว่างกัน"
ควบรวม 3 ภาวะดังกล่าวง่ายๆ ว่า "...จัดของให้เพียงพอ ฝึกใช้ให้เป็นนิสัย...อยู่ให้ห่างกันและกัน..."
นี่เป็นอาวุธที่เราจำเป็นต้องมี และต้องทำในระยะยาว อย่างไม่มีทางเลือกอื่นใด ตราบใดที่เรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาอีกอย่างน้อย 1-1.5 ปี
การจะทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคมนั้นขึ้นมาได้ จำเป็นจะต้องทำร่วมกันทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกครัวเรือน
รัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรประกาศนโยบายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอทุกที่ และกำหนดกระบวนการทำงานของทุกที่ให้เกิดการตรวจสอบ และกระตุ้นให้ทั้งบุคลากรและประชาชนที่เข้ามาติดต่อ ต้องสวมหน้ากาก และต้องล้างมือก่อนเสมอ ไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี CEO นายกอบจ./อบต. ลงมาถึงคนธรรมดาอย่างพวกเราเองทุกคน รวมถึงการเว้นระยะห่างที่ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้ปฏิบัติได้จริง ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็ต้องปรับให้เอื้ออำนวย ถ้าปรับสภาพแวดล้อมไม่ได้ ก็ต้องปรับคน
ประชาชนทุกครัวเรือน ก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันสร้างบรรทัดฐานนี้ได้ โดยเลียนแบบการกำหนดนโยบายประจำครอบครัวครับ หมดสมัยแล้วกับช้างเท้าหน้าและช้างเท้าหลัง พ่อแม่ลูกควรมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากคุณลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ถูก ก็ต้องกล้าที่จะแนะนำหรือขอร้องให้ท่านทำ แต่หากคุณลูกทำไม่ถูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยดูแลสอนสั่ง ไม่ปล่อยตามใจ เพราะการตามใจหนึ่งครั้ง อาจเกิดผลกระทบติดเชื้อตามมา จนไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเป็นคำรบที่สอง
ด้วยข้อมูลจำนวนเคสใหม่ต่อวันในขณะนี้ เราฉุดกราฟการระบาดของไทยจาก 33% มุ่งไปแตะเส้น 8% ได้ในอีก 6 วันข้างหน้า และมีโอกาสที่จะดึงไปแตะเส้น 5% ภายใน 30 วัน หากไม่เกิน 30 เคสต่อวันไปเรื่อยๆ
หนทางที่ว่านั้นจะเป็นไปได้ หากพวกเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน
...โควิด-19...ไม่ใช่หวัดธรรมดาครับ แต่เราต่อสู้กับมันได้
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก
#StayHome #อยู่บ้านกันนะครับ
#ช่วยกันแบ่งปันข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มแก่ผู้ยากไร้ในชุมชนใกล้บ้าน
สู้ๆ นะครับทุกคน...
เป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง...
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล