"...หลายคนเข้าใจว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรพิเศษที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากจะโดนโทษสองเท่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเองแล้ว กรรมการ ป.ป.ช. สามารถมีความผิดได้เหมือนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นทุกคน และหากจะปฏิเสธไม่ยอมทำงานเพราะกลัวว่าจะถูกฟ้อง หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็มีโอกาสถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ..."
หมายเหตุ : เป็นบทความของ ศ.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอ้างอิงถึงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่สัมภาษณ์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรณีมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเปิดช่องให้สามารถฟ้องตรงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ได้ (อ่านประกอบ : ‘วัชรพล’แจงไม่เห็นด้วยแต่เคารพ!ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเปิดช่องฟ้องตรง กก.ป.ป.ช.ได้)
----
เมื่อวันที่ 13 มีนาตม 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ให้ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องกลับคดีอาญาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ได้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือความผิดตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญานั่นเอง) โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้การทำงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความลำบากมากขึ้นเพราะต้องคอยเสียเวลามาต่อสู้กับคดีต่างๆ เหส่านี้ อนึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจรัฐปกป้องผลประโยชน์ของประชาขน ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับให้การรับรองและพยายามให้การคุ้มครองอยู่แล้ว โดยมีบทลงโทษในกรณีที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าคนธรรมดาถึงสองเท่าด้วยซ้ำ
ในฐานะที่ผู้เขียนเองเคยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาก่อน เหมือนกับที่ท่านวัชรพลเป็นอยู่ในขณะนี้ รู้สึกเห็นใจท่าน และเห็นด้วยกับท่านในเรืองนี้ แต่ถ้าถามว่าเรื่องนี้ (การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะถูกฟ้องกลับเป็นจำเลยในคดีอาญา) เป็นเรื่องใหม่หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่เลย สมัยที่ผู้เขียนเป็นกรรมการ ป.ป.ช. (ในชุดที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน) เราโดนฟ้องกลับคดีอาญามากที่สุดกว่าทุกชุดที่เคยมีมา ที่พอจำได้ในตอนนี้ก็คือคดีที่ถูกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฟ้อง 157 กรณีชี้มูลความผิดท่านในการสลายการขุมนุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 และอีกสองคดีคือคดีที่อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐท่านหนึ่งฟ้อง 157คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการชี้มูลความผิดท่านกรณีใช้งบประมาณแผ่นดินโดยมิชอบ และคดีที่อดีตปลัดกระทรวงท่านหนึ่ง ฟ้อง 157คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการชี้มูลความผิดท่านกรณีแต่งตั้งรองอธิบดีโดยมิชอบ
มีอีกหลายคดีที่ผู้เขียนไม่รู้หรือจำไม่ได้ก็เพราะว่าสำนักกฎหมายและคดีของสำนักงาน ป,ป,ช. มีความเข้มแข็งมากในเรื่องการปกป้องและคุ้มครองกรรมการ ป.ป.ช. โดยแต่ละครั้งที่กรรมการถูกฟ้อง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะเอาหนังสือมอบอำนาจมาให้เซ็นแล้วคอยดูแลต่อสู้คดีให้จนถึงชั้นฎีกาโดยที่กรรมการไม่ต้องทำอะไรอีกเลย แต่ถึงแม้ว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะไม่มีผลต่อการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามปกติ แต่ก็มีผลโดยไม่คาดคิดต่อตัวกรรมการ ป,ป,ช. เอง อย่างเช่นเมื่อตอนผู้เขียนไปสมัครเป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิคนนอกเมื่อตอนที่เกษียณจากป.ป.ช.แล้ว ก็ถูกร้องเรียนทักท้วงจากผู้ที่เคยถูกผู้เขียนชี้มูลว่าเป็นคนด่างพร้อย จากคุณสมบัติ เพราะถูกฟ้องเป็นคดีในศาลหรือยังมีคดีติดอยู่ในศาล กว่าจะอธิยายให้ผู้ใหญ่ในคณะกรรมการ ก.ต. เข้าใจได้ก็สะบักสะบอมพอสมควร
แต่ที่สำคัญที่สุดคือไม่มีคดีอาญาคดีใดเลยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกฟ้องแล้วศาลตัดสินว่ามีความผิด (ยกเว้นคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นเงินเดือนตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนในคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่สอง) แสดงวาศาลท่านเช้าใจการทำงานของ ป.ป.ช. และให้ความเป็นธรรมกับองค์กรนี้ อย่างเต็มที่
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมควรจะมีความวิตกกังวลในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและตรงไปตรงมาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการจะต้องถูกฟ้องกลับคดีอาญาหรือไม่?
ถ้าคิดถึงการต้องเสียเวลาต่อสู้คดี (โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.) และผลกระทบต่อตัวกรรมการ ป.ป.ช.เองตามที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความวิตกกังวลนี้ยังคงมีอยู่ ตราบใดที่มาตรา 28 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังเป็นเช่นนี้อยู่ คือระบุว่า “บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย” คงไม่มีผู้ใดสามารถปิดกั้นการใช้อำนาจของบุคคลผู้เสียหายเหส่านี้ได้นอกเสียจากว่ามีการตีความหรือจำกัดความของคำว่า “ผู้เสียหาย” เสียใหม่ ว่าให้หมายถึงผู้ที่ถูกชี้มูลและถูกฟ้องที่ศาลตัดสินถึงที่สุดให้ไม่มีความผิด หรือยกฟ้องแล้วเท่านั้นจึงจะฟ้องกลับในฐานะ “ผู้เสียหาย” ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้ร่างมาตรา 28 ใน ป. วิอาญา คงประสงค์ให้ใช้กับบุคคลทั่วไปมากกว่าที่จะให้ใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะในความส้มพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคลด้วยกันเองมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากกว่าความส้มพันธ์ระหว่างรัฐกับบุคคล ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกันมีความชัดเจนกว่าความเสียหายที่พิจารณาจากมุมมองของรัฐหรือบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐหรือกระทำในนามของรัฐ ซึ่งจะมีกฎหมาย วิธีการ หรือกลไก ที่จะจัดการหรือรับมือกับปัญหาหรือประเด็นต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใข้อำนาจรัฐกับบุคคลทั่วไป (เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ กับประชาชนทั่วไป) หรือระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐกับผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (เช่น ป.ป.ช. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับระบบกฎหมายของบางประเทศ เช่นฝรั่งเศสหรือ เยอรมนี ที่คุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่อนุญาตให้ประชาชนฟ้องตรงต่อศาลได้หากเป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้มีสิทธิพิเศษเหนือคนธรรมดา หากแต่ว่ามีกฎหมาย วิธีการ หรือกลไก ที่จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ชองรัฐอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว
หลายคนเข้าใจว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรพิเศษที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากจะโดนโทษสองเท่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเองแล้ว กรรมการ ป.ป.ช. สามารถมีความผิดได้เหมือนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นทุกคน และหากจะปฏิเสธไม่ยอมทำงานเพราะกลัวว่าจะถูกฟ้อง หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็มีโอกาสถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
หรือหากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ ก็มีองค์กรอิสระอื่นตรวจสอบได้เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การจะให้ ป.ป.ช.เป็นองค์การต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจริง ๆ องค์กรนี้จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนอย่างแท้จริง
การถูกฟ้องกลับทางอาญาซึ่งขณะนี้ยังมีอยู่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าท้อถอย เพราะเราสามารถเชื่อในความเป็นธรรมของระบบศาลไทยในปัจจุบันได้เสมอ และที่สำคัญกว่านี้คือความคุ้มครองทางกฎหมายสูงสุดซึ่งมีอยู่แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ, 2561 มาตรา 41 วรรคสอง ระบุว่า
“ในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการมีความเห็น มติ คําสั่ง ในการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งได้แสดงเหตุผล อันสมควรประกอบแล้ว และได้กระทําไปโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ศ.เมธี จาก https://live.staticflickr.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/