ปธ.ป.ป.ช.เผยหลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติให้ฟ้อง กก.ได้ มีข้อห่วงใยไม่เห็นด้วย แต่เคารพ ชี้อาจกระทบให้การทำงานยากขึ้น ต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม เหตุทำคดีเกี่ยวกับนักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล ถูกฟ้องได้ตลอดเวลา ยันตาม รธน.ที่เปิดช่องให้วุฒิสภากลั่นกรองเพื่อป้องกันในส่วนนี้ พ้อต่อไปคงไม่มีใครอยากมาเป็น
จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 มีรายงานข่าวจากศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช. รวม 9 ราย ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และผิดต่อ พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยในส่วนเนื้อหาคดีศาลฎีกาได้ยกฟ้อง โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาจำคุกนายสุรพงษ์ คดีคืนพาสปอร์ตให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปแล้ว
อย่างไรก็ดีศาลฎีกาได้วินิจฉัยประเด็นนายสุรพงษ์ มีอำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1)
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีนี้ว่า ทราบจากข่าวแล้ว แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างเป็นทางการ คงต้องรอให้เห็นรายละเอียดครบถ้วนเสียก่อน โดยสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกัน เพื่อดูข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง เนื่องจากกรณีนี้เป็นคำวินิจฉัยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นมีการหารือกันกับกรรมการ ป.ป.ช. อย่างไม่เป็นทางการ แค่รอดูรายละเอียด เท่าที่คุยกันทุกคนไม่ค่อยสบายใจ แต่เข้าใจว่าเป็นมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคารพมติดังกล่าว แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ คงไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อดูเจตนารมณ์จากรัฐธรรมนูญปี 2540, ปี 2550 จนถึงปี 2560 มีการออกแบบให้การฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองโดยวุฒิสภา ทำให้ยากขึ้น เพราะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้วินิจฉัยคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ดังนั้นการปล่อยให้ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ง่าย ๆ อาจทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องทำอะไร เป็นจำเลยกันหมด
“ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกฟ้องอยู่ตลอดเวลาในศาลปกครอง เนื่องจากการชี้มูลความผิดทางวินัย แต่ในส่วนของศาลอาญานั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าให้ยากหน่อย แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เคารพมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่พวกเรา (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีข้อห่วงใย คือไม่เห็นด้วย แต่เคารพมติ และพร้อมดำเนินการตามที่ศาลวินิจฉัย ต่อไปการทำคดีคงต้องทำด้วยความระมัดระวัง อาจเป็นภาระหน่อยในการทำงาน อาจทำให้ยุ่งยากขึ้นหน่อย แต่ต้องทำ เพราะถ้ามีการฟ้องเราได้หมด ปี ๆ หนึ่งคงไม่ต้องทำอะไรกันเลย ใครก็ไม่อยากมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถูกฟ้องทุกเรื่อง” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าว จะส่งผลกระทบในการทำงานของ ป.ป.ช. ต่อไปหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า น่าจะมีบ้าง ต้องดูว่าเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร มีเหตุผลใด ในเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตีความอย่างนี้ มีผลกระทบกับเราแน่นอน โอกาสถูกฟ้องมีมากขึ้น การทำงานต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น งานของ ป.ป.ช. เป็นงานที่กระทบกับคนอยู่แล้ว ถ้ามีการฟ้องเรา อาจเสียกำลังใจในการทำงานเหมือนกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/