"...ในการพัฒนาคาบสมุทรภาคใต้ สองฝั่งทะเล ต้องนำสุวรรณภูมิมาเป็นแง่คิดชี้นำ การพัฒนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกทิศต้องนำเส้นทางการค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามดินแดน-อาณาจักร ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิมาพิจารณา แม้แต่ภาคเหนือและภาคอีสาน หากนำวิสัยทัศน์แบบสุวรรณภูมิมาพิจารณาล้วนเชื่อมโยงกับทะเลได้ เพียงแต่ผ่านดินแดนที่แคบหรือไม่ยาวนักของประเทศเพื่อนบ้านทุกวันนี้ และเราจะข้ามแดนข้ามประเทศได้ดีขึ้น ถ้าชี้ชวนให้เพื่อนบ้านเห็นว่านี่คือการฟื้นคืนมาของสุวรรณภูมิร่วมกันทั้งของเราและของเขา..."
เมื่อวานนี้ 12 มี.ค. 2563 ผมไปเสวนาที่สตูดิโอ ม.รังสิต กับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้รวบรวมความรู้ล่าสุดเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ยืนยันว่าสุวรรณภูมิโบราณนั้นยิ่งใหญ่ทีเดียว ขอขอบคุณคุณหมอบัญชาไว้ ณ ที่นี้
กล่าวอย่างรวบรัด สุวรรณภูมิ ที่มีในเอกสารกรีก อินเดีย และจีนโบราณราวสองพันปีมาแล้วนั้น รุ่งเรืองทั้งการผลิต การค้า และ วัฒนธรรม สุวรรณภูมิมีอยู่จริง อย่างแน่นอน เพราะหลักฐานใหม่ๆที่ค้นพบ : — ลูกปัด เหรียญ ต่างหู เครื่องทอง เครื่องโลหะ ภาชนะ ทั้งที่เป็นโลหะ และดินเผา— บอกเราเช่นนั้น
สุวรรณภูมิเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว ก็คือเอเชียอาคเนย์ในทุกวันนี้ รวมมณฑลตอนใต้สุดของจีน อันได้แก่ กวางสี กวางตุ้ง ยูนนาน ด้วย เอเชียอาคเนย์นั้น ที่จริงเป็นคำเรียกใหม่ทางภูมิศาสตร์ เกิดช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ตามยุทธศาสตร์ใหม่ของอังกฤษกับอเมริกา
ก่อนหน้านั้น เคยทราบกันว่าดินแดนแถบนี้รับอารยธรรมและศาสนาจากอินเดีย ชาวตะวันตกจึงเรียกแถบนี้ว่า “อินเดียไกล” บ้าง แต่โดยทั่วไปนักรัฐศาสตร์มักสรุปว่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นี้ไม่มีเอกภาพนัก เป็นพุทธ เป็นอิสลาม เป็นฮินดู เป็นคริสต์ ก็มี มิหนำซำ้ ปกครองกันด้วยระบอบการเมืองที่หลากหลาย มีทั้งระบอบประชาธิปไตย ทหาร-เผด็จการ และสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทว่า จากหลักฐานใหม่ กลับพบว่าดินแดนสุวรรณภูมิอันเป็นรากฐานเดิมของเอเชียอาคเนย์นั้น มีกำเนิดอารยธรรมร่วมกันชัดเจน นอกจากศาสนาแล้ว ยังค้าขายแลกเปลี่ยน กับ อินเดีย จีน และตะวันตกมาช้านาน และผลิตสินค้า เครื่องใช้เครื่องประดับ หัตถกรรม งานฝีมือเพื่อการส่งออกด้วย มีความเจริญทางวัตถุ และมีการค้าการผลิตที่สลับซับซ้อนมากไปกว่าการเกษตรมากทีเดียว
พบลูกปัดและเครื่องประดับที่งดงามประณีต ทำด้วยดินเผา หิน กระเบื้อง แก้ว และโลหะ แม้กระทั่งหยก กล่าวได้ว่าวัตถุดิบในการทำจำนวนมากนำเข้าจากดินแดนห่างไกล ลูกปัดที่พบแทบทุกจังหวัดตอนใต้ของไทย และยังมีที่ลุ่มน้ำท่าจีน-สุพรรณ ที่ลุ่มน้ำบางปะกง ที่กำแพงเพชรขึ้นไปถึงสุโขทัย และกระทั่งพบที่ลุ่มน้ำชี-มูล ก็มี ลูกปัดแต่ละที่มีเอกลักษณ์ที่ต่างกันไป หลายชนิดพบตั้งแต่พม่า ไทย ไปจนถึงลาว และเวียดนาม มีชนิดที่พบตั้งแต่ไทยไล่ลงไปจนถึงมาเลเซียตอนเหนือ สำคัญกว่านั้น ก็คือลูกปัดของสุวรรณภูมินั้นมีลวดลาย ลีลา สีสรรค์ที่ไม่เหมือนของจีน ของอินเดีย หรือของตะวันตก และมิหนำซ้ำส่งไปขายที่อินเดียและจีนด้วย
สุสานจีนโบราณจำนวนมากที่ขุดค้นเมื่อเร็วๆนี้ ที่จีนตอนใต้รอบอ่าวตังเกี๋ย พบว่ามีลูกปัดจากสุวรรณภูมิอยู่ด้วย และ พบอีกว่าหีบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุทำในสมัยอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ก็มีลูกปัดนานาชนิดของสุวรรณภูมิอยู่ในนั้น สุวรรณภูมิไม่ใช่อารยธรรมชั้นสองหรือชั้นสาม ที่รับของดีจากอินเดียและจากจีนเท่านั้น น่าจะเป็นอารยธรรมในตัวมันเองได้อีกอารยธรรมหนึ่ง ที่แม้จะรับของดีจากเพื่อนบ้าน แต่ก็นำมาต่อยอดเข้ากับของดี แต่ดั้งแต่เดิม ของตนเองด้วย และผลลัพธ์ที่ออกมานั้น แม้แต่จีนและอินเดียเอง ก็ยังต้องการ หรือแสวงหา ด้วย
สุวรรณภูมิจึงไม่เพียงเป็นรากฐานของเอเชียอาคเนย์ที่สัมพันธ์กันเองเท่านั้น แต่ต้องรีบบอกว่าสุวรรณภูมินั้นอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์มาแต่ดึกดำบรรพ์ อะไรที่หมายเป็นสุวรรณภูมินั้น ต้องนับรวมเข้ากับอินเดียเสมอ ต้องนับรวมเข้ากับจีนด้วยเสมอ สุวรรณภูมิชี้ว่าเราไม่ใช่แผ่นดินปิด หากเป็นสะพานเชื่อมจีน เชื่อมอินเดีย ยึดโยงจีน-ญี่ปุ่น เกาหลี กับอินเดีย-เปอร์เซีย เข้าด้วยกัน ต้องย้ำว่าสุวรรณภูมินั้นเป็นทั้งอาณาเขตทางบก และ ทางทะเล-มหาสมุทร ด้วย
แต่ครั้งโบราณที่คนไทยยังไม่ลงมาอยู่นั้น ดินแดนเรานับเป็นส่วนสำคัญของสุวรรณภูมิอย่างแน่นอน เชื่อมโยงเข้ากับส่วนอื่นๆ ทั้งทางบกและทางทะเล และเชื่อมโยงกับจีนและอินเดียผ่านทางทะเล สองข้างของคาบสมุทรไทย ขุดค้นไปเท่าไรยิ่งพบของโบราณล้ำค่า
ที่ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นยิ่งกว่าการค้นพบของโบราณต่างๆ ของสุวรรณภูมิเอง หรือของจีน หรือของอินเดีย ก็คือ ค้นพบของโบราณ พบสร้อยคอเหรียญประดับ รวมทั้งที่มีภาพของจักรพรรดิโรมันประทับอยู่ด้วย การพบเงินตราโรมันที่ทำจากโลหะ การพบตะเกียงน้ำมันโบราณโรมัน ล้วนชี้ว่าเราเป็นส่วนสำคัญของกระบวนโลกาภิวัตน์โบราณมานานแล้ว โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเราเลย
สุวรรณภูมิ คือ บริเวณที่โลกโบราณมาพบกัน การขุดค้นโบราณคดีที่นี่จึงมีความสำคัญระดับโลกทันที ฤาสุวรรณภูมิคือพิพิธภัณฑ์โลกที่กำลังก่อรูป สุวรรณภูมิขณะนี้คือขุมทรัพย์หรือขุมทองของนักโบราณคดี คือที่ที่อารยธรรมของโลกมาบรรจบกัน ปัจจุบันนี้ มีการขุดค้นโบราณคดีและอารยธรรมเป็นจุดๆ ในโลก แต่การขุดค้นที่สุวรรณภูมิของเรา คือการขุดค้นอารยธรรมจีน อินเดีย และ ตะวันตก รวมทั้งอารยธรรมของสุวรรณภูมิเอง ไปพร้อมๆ กัน ของมีค่าหลายอย่างหาไม่ได้ในบ้านเกิด แต่กลับหาได้ที่สุวรรณภูมิเป็นต้น ของหลายอย่างหาได้ทั้งที่แหล่งกำเนิด และที่สุวรรณภูมิ แต่ปรากฏว่าที่สุวรรณภูมิมีนั้น บางครั้งเลียนแบบ บางครั้งต่อยอด กลับประณีตกว่า สวยงามกว่า
สุวรรณภูมิ ความเป็นพี่เป็นน้องร่วมอารยธรรมเก่าที่ย้อนหลังไปลึกมากนั้น ต้องค้นคว้า ศึกษาต่อไป และนำความภูมิใจ มิตรไมตรีจิต และความเป็นพี่น้องร่วมอู่อารยธรรมเดียวกันมา มาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของอาเซียน การเรียนประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิร่วมกันนั้น มีความสำคัญและต้องเคียงไปกับประวัติศาสตร์ชาติ
สุวรรณภูมิควรเป็นยุทธศาสตร์การต่างประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย ในยามที่จีนมียุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล และ อเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียนั้น ก็ผลิตยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกขึ้นมาทัดทาน ย้ำการเชื่อมโยงและการรักษามหาสมุทรทั้งสองให้เป็นที่เดินเรือได้โดยเสรี ไทยเรามีที่ตั้งที่อยู่ในปริมณฑลของยุทธศาสตร์สองค่ายใหญ่ ควรที่จะร่วมกับชาติอาเซียนทั้งปวง สร้างยุทธศาสตร์ “สุวรรณภูมิ” ขึ้นมา เชื่อมโยงกับจีน กับอินเดีย และกับตะวันตก ต่อไป ไทยและอาเซียนจะเป็นมิตรกับทุกฝ่าย แต่ก็ต้องเร่งร่วมกันเป็นตัวของตัวเอง หากทำให้ดี เราจะมีสุวรรณภูมิเป็นประวัติบุพกาลที่ย้อนไปได้ไกล ที่ไพบูลย์ รุ่งเรืองและภูมิใจร่วมกันได้ ไม่ด้อยกว่าอารยประวัติของอินเดีย จีน และตะวันตก
ในการพัฒนาประเทศ เราต้องทำให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเราเป็นสุวรรณภูมิให้มากขึ้น แม้เราจะมาสู่สุวรรณภูมิไม่นานนัก แต่อารยธรรมสุวรรณภูมินั้นอยู่ใน “สายเลือด” เรา อยู่ในวัฒนธรรมชาติ วัฒนธรรมภาค วัฒนธรรมถิ่นของเราไม่น้อย ต้องทำพิพิธภัณฑ์สุวรรณภูมิที่ดีที่สุดที่มีวัตถุและเรื่องราวการค้นพบใหม่ๆทั้งในไทยและนอกไทยมานำเสนอ ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก ถ้ามาไทย ก็เท่ากับได้มาสุวรรณภูมิด้วย ทำให้ไทยเป็นศูรย์เรียนรู้อีกศูนย์หนึ่งในโลกเกี่ยวกับ “สุวรรณภูมิ: ประวัติศาสตร์ที่ลึกของเอเชียอาคเนย์”
ในการพัฒนาคาบสมุทรภาคใต้ สองฝั่งทะเล ต้องนำสุวรรณภูมิมาเป็นแง่คิดชี้นำ การพัฒนาเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในทุกทิศต้องนำเส้นทางการค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามดินแดน-อาณาจักร ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิมาพิจารณา แม้แต่ภาคเหนือและภาคอีสาน หากนำวิสัยทัศน์แบบสุวรรณภูมิมาพิจารณาล้วนเชื่อมโยงกับทะเลได้ เพียงแต่ผ่านดินแดนที่แคบหรือไม่ยาวนักของประเทศเพื่อนบ้านทุกวันนี้ และเราจะข้ามแดนข้ามประเทศได้ดีขึ้น ถ้าชี้ชวนให้เพื่อนบ้านเห็นว่านี่คือการฟื้นคืนมาของสุวรรณภูมิร่วมกันทั้งของเราและของเขา
เรื่อง “ยุทธศาสตร์สุวรรณภูมิ” ตอนนี้คงเป็นเพียงความคิดที่โยนกันไปมาในหมู่ชาวรังสิต หรือเป็นการออกกำลังกายทางปัญญา ที่ทำกันที่ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต แต่ผมหวังว่ายุทธศาสตร์นี้จะได้รับการพิจารณาจากรัฐและสังคมไทยในเวลาที่ไม่นานนัก