เปิดงานวิจัย 'สิทธิจากเรือถึงฝั่ง' ชี้ตั้งเเต่ปี 60 เเรงงานประมง-อุตฯ เเปรรูปอาหารทะเล ย้ายถิ่นผ่านนายหน้าน้อยลง เงินเดือนเพิ่มขึ้นเเตะหลักหมื่น ยังพบบางคนตกอยู่ในสถานการณ์เเรงงานบังคับ
สถานการณ์แรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด มีการเปิดเผยงานวิจัย เรื่อง โครงการสิทธิจากเรือถึงฝั่ง ซึ่งดำเนินการโดยองค์การแรงงานระหว่าประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย องค์กรแรงงาน นายจ้าง สหภาพแรงงาน และองค์กรภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย
โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างและกรอบกฎหมาย เสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรการอุตสาหกรรม แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี และสนับสนุนกิจกรรมของแรงงานผ่านสหภาพแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคม
โครงการนี้มีระยะเวลา 4 ปี กำลังจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2563 ไอแอลโอ จึงจัดทำการวิจัยวัดผลความก้าวหน้า โดยดำเนินการวิจัยและใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลคล้ายกับการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เพื่อประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานและผลลัพธ์การพยายามของโครงการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทีมงานวิจัยลงพื้นที่ค้นหาคำตอบใน 11 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงาน ชุมพร สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ตราด เหมือนในการสำรวจในข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสัมภาษณ์แรงงานทั้งหมด 470 คน ประกอบด้วย แรงงานประมง 219 คน และแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล 251 คน
โดยใช้แบบสำรวจที่เป็นระบบ ลงรายละเอียดเรื่องการจ้างแรงงาน ค่าจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว โดยสอบถามข้อมูลเป็นภาษาของแรงงาน ไทย พม่า เขมร ช่วง ก.ค. 2562 ซึ่งแรงงานที่สัมภาษณ์ทั้งหมด แบ่งเป็นชายร้อยละ 72 และหญิง ร้อยละ 28
มีแรงงานประมงที่เป็นชายทั้งหมด ร้อยละ 47 และแรงงานแปรรูปอาหารทะเล ร้อยละ 53 ขณะที่ร้อยละ 64 เป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่าและร้อยละ 19 มาจากกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้มีการสัมภาษณ์คนไทยมากขึ้น เป็นร้อยละ 18 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานไทยที่มีเพียงร้อยละ 5 ในการวิจัยข้อมูลพื้นฐาน
ขณะที่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงช่องทางการย้ายถิ่นของแรงงานประมงและแรงงานแปรรูปอาหารทะเล โดยมีแรงงานเข้ามาในช่องทาง MOU มากขึ้น มีการใช้ตัวแทนและนายหน้าการจัดหางานน้อยลง ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หางานได้ผ่านการแนะนำของครอบครัวและเพื่อน
มีการลงนามในสัญญาก่อนทำงานและยังมีรายงานว่าแรงงานได้รับสำเนาสัญญาเก็บไว้กับตัว อย่างไรก็ตาม สัญญาส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ซึ่งหมายความว่า แรงงานข้ามชาติ อาจไม่ทราบรายละเอียดในสัญญาที่ลงนามไว้
เงินเดือนเฉลี่ยของแรงงานที่สำรวจครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจาก 9,980 บาท เป็น 12,730 บาท ในแรงงานประมง และเพิ่มขึ้นจาก 9,270 บาท เป็น 10,640 บาท ในแรงงานแปรรูปอาหารทะเล
ส่วนการจัดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 76 เป็นร้อยละ 96 ในแรงงานประมงและร้อยละ 67 เป็นร้อยละ 94 สำหรับแรงงานแปรรูปอาหารทะเล
ทั้งนี้ มีความแตกต่างอย่างมากในการถือครองบัตรเอทีเอ็มและการจ่ายเงินระหว่างแรงงานประมงและแรงงานแปรรูปอาหารทะเล พบว่า ร้อยละ 89 ของแรงงานแปรรูปอาหารทะเล สามารถครอบครองบริหารบัตรเอทีเอ็มได้เอง ในขณะที่ร้อยละ 66 ของแรงงานประมง ไม่ได้ครอบครองบัตรเอทีเอ็ม แต่ยังคงได้รับค่าจ้างเป็นเงินสด
ร้อยละ 89 ของแรงงานประมง และร้อยละ 70 ของแรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่สำรวจได้เข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล มีรายงานว่า แรงงานจำนวนมาก สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานได้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสองปีก่อน เช่น ห้องน้ำสะอาด ไฟฟ้า น้ำสะอาด
ยังพบว่า แรงงานประมงร้อยละ 23 รายงานสภาพความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน และแรงงานแปรรูปอาหารทะเล ร้อยละ 17 รายงานสภาพการทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน
แรงงานประมงรายงานว่า ต้องทำงานโดยเฉลี่ย 9 ชม./วัน ซึ่งดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ทำงานเฉลี่ย 11 ชม./วัน ส่วนแรงงานแปรรูปอาหารทะเลทำงานเฉลี่ย 9 ชม/วัน เท่าเดิม
จะเห็นว่า จากการใช้วิธีการวัดแรงงานบังคับของไอแอลโอ ยังพบแรงงานต้องเผชิญกับการบังคับโดยไม่สมัครใจและบีบบังคับ
นักวิจัยพบว่า ร้อยละ 7 ของแรงงานแปรรูปอาหารทะเล และร้อยละ 14 ของแรงงานประมงที่สำรวจอยู่ในสถานการณ์เข้าข่ายแรงงานบังคับ
ประมาณ 3 ใน 4 ได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือ และเกือบทั้งหมดนำปัญหาไปพูดคุยกับนายจ้างเพื่อให้ได้รับการแก้ไข โดย 2 ใน 3 ที่ขอความช่วยเหลือสามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนที่เหลือปัญหาได้รับการแก้ไขบางส่วน
เมื่อถูกถามว่าคนงานรู้จักองค์กรภาคประชาสังคมใด ๆ ในไทย มีเพียงร้อยละ 15 ที่รู้จัก และร้อยละ 3 ที่เคยติดต่อกับองค์กรเหล่านี้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/