‘ที-วอเตอร์’ แจงทุกข้อสงสัย ขอสูบน้ำจาก ‘บางปะกง’ ผลิตประปาขาย ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี มูลค่าโครงการ 6 พันล. ระดมทุนทั้งใน-ตปท. อายุสัมปทาน 30 ปี ยันพร้อมจ่ายค่าน้ำต้นทุน ตามกม.ทรัพยากรฯ ปี 61 ล่าสุด ยังไม่ได้รับอนุญาต
หนังสือของบริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด ที่มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและแจ้งให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับทราบ ในการขออนุญาตสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงในฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่ มิ.ย. 2563 มาผลิตประปา ขนาด 250,000 ลบ.ม./วัน เพื่อจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและชลบุรี โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
(อ่านประกอบ: 'ที-วอเตอร์' ขอผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา สูบน้ำบางปะกง ปีละ 150 ล้าน ลบ.ม. ผลิตประปา เริ่ม มิ.ย. 63)
นำมาสู่การตั้งคำถามว่า บริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด เป็นใคร มาจากไหน และต้องจ่ายค่าน้ำต้นทุนหรือไม่ เนื่องด้วยในหนังสือฉบับดังกล่าว ไม่มีการเขียนระบุอย่างชัดเจน
สืบค้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงทราบว่า บริษัท ที - วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 17 กรกฎาคม 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยแจ้งวัฒนะ 12 แยก 4-7-4-1-2 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภค บริโภค ปรากฎชื่อ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายเกริกไกร อนันตชัย นายณัฐวัฒน์ แสงทอง บริษัท ที - วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด ขาดทุนสุทธิ 1,339,342.73 บาท
ขณะที่ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 27 มิถุนายน 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยเเจ้งวัฒนะ 12 เเยก 4-7-4-1-2 ถนนเเจ้งวัฒนะ เเขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค ปรากฎชื่อ กรรมการ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายณัฐวัฒน์ เเสงทอง ขาดทุนสุทธิ 31,399.90 บาท
ปัจจุบันมีนายสมัย อนุวัตรเกษม อดีตรองผู้ว่าการ (ผลิตเเละส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เเละรักษาการในตำเเหน่งผู้ว่าการ กปน. เป็นประธานกรรมการ
แล้วชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อได้พูดคุยกับ ‘นายสมัย อนุวัตรเกษม’ ประธานกรรมการบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านแจ้งวัฒนะ นำทีมผู้บริหารมาร่วมชี้แจงให้คลายสงสัย ในทุกประเด็น
นายสมัย เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงที่มาของบริษัทฯ ว่า ก่อตั้งขึ้นจากอดีตคน กปน. เหตุที่ใช้ว่า “ที-วอเตอร์ (อีอีซี) เพราะตั้งขึ้นในช่วงที่มีโครงการอีอีซีใน 3 จังหวัด ตามนโยบายของรัฐบาล
“ผู้บริหารส่วนใหญ่มาจาก กปน. เรารักในอาชีพทำน้ำประปา และทำมาตลอดชีวิต เมื่อเราเกษียณ จึงอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำประปา เพราะมีความชำนาญ จึงได้มารวมกลุ่มกัน”
โครงการ 6 พันล. ผลิตน้ำประปาป้อนจว.อีอีซี
ทั้งนี้ โครงการของบริษัทฯ ชื่อว่า “สัมปทานโรงงานผลิตและจ่ายน้ำประปา จ.ชลบุรี” มูลค่า 6,000 ล้านบาท เพื่อสาธารณูปโภค ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีระยะเวลาการก่อสร้าง (ตามแผนเดิม) ระยะที่ 1 =2 ปี (2020-2021) และระยะที่ 2 =2 ปี (2024-2025) เริ่มจำหน่ายน้ำ (COD) ระยะที่ 1 ปี 2022 และระยะที่ 2 ปี 2025 ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
โดยขออนุญาตสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญ แต่มีข้อเสีย คือ ครึ่งปีแรก ตั้งแต่ ธ.ค.-พ.ค. น้ำจะกร่อย ทำให้บริษัทฯ ต้องเลือกสูบน้ำในในช่วงฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่ มิ.ย.-พ.ย. เพื่อนำไปเก็บไว้ในบ่อดินรกร้างที่ซื้อไว้ ซึ่งสามารถเก็บได้ราว 100 ล้านลบ.ม. ในพื้นที่ 2,600 ไร่ ดีกว่าปล่อยให้ไหลทิ้งทะเล
จากเดิมที่มีแผนจะขอสูบจากฝายท่าลาด แต่โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ปริมาณน้ำดิบที่เหนือฝายท่าลาดนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอ
เส้นสีเขียวคือเเนวท่อน้ำดิบ
“ฝายท่าลาดมีน้ำทั้งปี แต่จากการจ้างบริษัททำสมดุลน้ำ กลับพบปีนี้ไม่มีน้ำเลย โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา จึงแนะนำให้มาดึงน้ำจากแม่น้ำบางปะกงแทน ซึ่งเรากลัวเรื่องความเค็ม เลยเลือกจุดสูงขึ้นไปด้านบน และตัดสินใจยกเลิกดึงน้ำจากฝายท่าลาด มิฉะนั้นชาวบ้านจะค้านแน่นอน”
ผู้บริหาร บ.ที-วอเตอร์ฯ อธิบายต่อถึงการวางโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งน้ำ จะวางท่อส่งน้ำดิบตามแนวถนนและคลองชลประทาน เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนในพื้นที่ มาเก็บไว้ที่ ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และส่งมาเก็บไว้ในบ่อดินขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้
น้ำที่ผลิตขึ้นจะถูกจำหน่ายให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ภาคประชาชนผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล 8 แห่ง ในบริเวณจุดผ่านแนวท่อน้ำประปาและภาคอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานต่าง ๆ ที่ดำเนินการในปัจจุบันและอนาคต
“ขายให้ภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ย 20 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ปัจจุบัน 30 กว่าบาทต่อลบ.ม. ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมต้องมีแหล่งน้ำ เพื่อขออนุญาตการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในขณะที่ภาคประชาชนราคา 10-12 บาทต่อลบ.ม. อาศัยตามราคาอ้างอิงจาก กปภ.”
นายสมัย ยังระบุถึงปริมาณน้ำที่ขอใช้จากปริมาณที่สำรวจได้ทั้งปี 3,580 ล้านลบ.ม. บริษัทฯ ขอใช้เพียง 150 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จากแผนเดิม 90 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากสำรองไว้เผื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำแล้ง
พร้อมจ่ายค่าน้ำตาม กม.
“ให้เสียเท่าไหร่ก็ต้องเสีย ไม่เสียไม่ได้ เพราะออกเป็นกฎหมายแล้ว”
นายสมัย ตอบชัดเมื่อถามถึงประเด็นบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าน้ำต้นทุนหรือไม่ หลังจากถูกตั้งข้อสังเกตในหนังสือที่มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ได้ระบุไว้
ผู้บริหาร ที-วอเตอร์ฯ ชี้แจงว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับใหม่ มีบทเฉพาะกาล หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มาตรา 41-50 (อ่านประกอบ: พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561)ต้องมีกฎหมายลำดับรอง ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ภายใน 27 ม.ค. 2564 ถึงเวลานั้นต้องขอใช้ลุ่มน้ำตามที่ประกาศ
คาดว่า แม่น้ำบางปะกง จะขึ้นตรงกับกรมชลประทาน แต่เวลานี้ยังเป็นลำน้ำสาธารณะ ทำให้บริษัทฯ ต้องขออนุญาตสูบน้ำจากกรมเจ้าท่ามาผลิตน้ำประปาและใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2551
นายสมัย ยังระบุถึงการดำเนินโครงการอาจเลื่อนออกไป เพราะยังไม่ได้รับอนุมัติ จากเดิมมีกำหนด มิ.ย. 2563 เปลี่ยนเป็น มิ.ย. 2564
“ปัจจุบันโครงการยังไม่ผ่านการอนุมัติ แต่ขั้นตอนให้ขอจากกรมเจ้าท่า และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ต้องพิจารณาแผนและให้ความเห็นแผนการสูบน้ำ ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ แต่การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการให้ความเห็นตามกฎหมายเดิม ไม่ใช่เห็นชอบ”
ส่วนจะเสียค่าน้ำต้นทุนเท่าไหร่นั้น ผู้บริหาร บริษัท ที-วอเตอร์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน สทนช. กำลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยบริษัทฯ เข้าร่วมในครั้งแรก จากนั้นจะเสนอไปยังอธิบดีกรมทรัยพากรน้ำเพื่อกำหนดค่าน้ำ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าน้ำต่อไป
“ตอนนี้กรมชลประทานเสียค่าน้ำ 50 สตางค์/ลบ.ม. การประปานครหลวง ใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองฝั่งมหาสวัสดิ์ เสียค่าน้ำ 50 สตางค์/ลบ.ม. แต่อีกฝั่งหนึ่งไม่เสีย ซึ่งเมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้ ต้องเสียทั้งหมดแล้ว แต่อัตราเท่าไหร่ ตอบไม่ได้ และไม่มีข้อยกเว้นให้กรณีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในพื้นที่อีอีซี”
นายสมัย ทิ้งท้ายว่า โครงการมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท เพราะใช้ระบบปั๊มและท่อที่มีราคาสูง บริษัทฯ จึงต้องหาผู้ร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ โดยจะสามารถประกอบกิจการได้ทุก 30 ปี หลังจากนั้นต่ออายุได้ เพราะเป็นกิจการเพื่อสาธารณูปโภค ตราบใดไม่ทำผิดกฎหมาย
ท้ายที่สุด โครงการจะมอบกำไรส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อท้องถิ่นอีกด้วย ส่วนคาดหวังว่า 30 ปีหลังจากนี้ บริษัทฯ จะมีกำไรมากน้อยเท่าไหร่นั้น ยังตอบไม่ได้ จนกว่าแผนธุรกิจจะนิ่ง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:พร้อมจ่ายค่าน้ำ! ‘ที-วอเตอร์ฯ’ กับโครงการ 6 พันล. สูบบางปะกงผลิตประปา ป้อน 3 จว.อีอีซี
ไร้อำนาจเก็บค่าน้ำ สทนช. แจง ‘ที-วอเตอร์’ สูบบางปะกง เหตุรอ กม.ลูก ตามพ.ร.บ.ทรัพยากรฯ
ชลประทานที่ 9 เเจง 'ที-วอเตอร์' ขอใช้น้ำบางปะกงผลิตประปา กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ