บ.ที-วอเตอร์ฯ แจงปมโครงการ 6 พันล. ขออนุญาตสูบน้ำบางปะกงผลิตประปา พื้นที่อีอีซี เลื่อนไป มิ.ย. 64 ยันพร้อมจ่ายค่าน้ำต้นทุนตามกม. ระหว่างนี้รอกฎกระทรวงคลอด
เสียค่าน้ำต้นทุนหรือไม่?
คือประเด็นคำถามที่เกิดขึ้น ภายหลังมีหนังสือของบริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและแจ้งให้เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทราบ เพื่อขออนุญาตใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาผลิตน้ำประปาในฤดูน้ำหลากในพื้นที่จ.ชลบุรี ระยอง เเละฉะเชิงเทรา
โดยในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ มิ.ย. 2563 แต่มิได้ระบุถึงรายละเอียดการจ่ายค่าน้ำต้นทุนแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท ที-วอเตอร์ จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่เกิดจากการรวมตัวของอดีตคนการประปานครหลวง (กปน.)
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ที - วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 17 กรกฎาคม 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยแจ้งวัฒนะ 12 แยก 4-7-4-1-2 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ จำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภค บริโภค ปรากฎชื่อ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายเกริกไกร อนันตชัย นายณัฐวัฒน์ แสงทอง บริษัท ที - วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด ขาดทุนสุทธิ 1,339,342.73 บาท
ขณะที่ บริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 27 มิถุนายน 2561 ทุน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99/559 ซอยเเจ้งวัฒนะ 12 เเยก 4-7-4-1-2 ถนนเเจ้งวัฒนะ เเขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค ปรากฎชื่อ กรรมการ นายสมัย อนุวัตรเกษม นายนิธิวัชร์ ธรรมพีรสิงห์ นายณัฐวัฒน์ เเสงทอง ขาดทุนสุทธิ 31,399.90 บาท ณ 23 ส.ค. 62 นายสมัย อนุวัตรเกษม ถือหุ้นใหญ่สุด
โดยนายสมัย อนุวัตรเกษม เคยเป็นอดีตรองผู้ว่าการ (ผลิตเเละส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เเละรักษาการในตำเเหน่งผู้ว่าการ กปน.
ทั้งนี้ ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ ม.ค. 2562 ยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดการคิดค่าน้ำต้นทุน เนื่องจากต้องรอกฎหมายลำดับรอง ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี แล้วเสร็จ ทำให้ในเวลานี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราการเก็บค่าน้ำใหม่ออกมา
ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด สทนช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการคิดค่าน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ซึ่งเวลานี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 2563
โดยในการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ จะพิจารณา 2 ด้าน คือ ด้านอุปทาน พิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการน้ำ และด้านอุปสงค์ พิจารณาปริมาณความต้องการใช้กับปริมาณที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอหรือไม่
นั่นหมายความว่า เมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ ผู้ใช้น้ำในประเภทที่สอง (การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น) และประเภทที่สาม (การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง) ต้องเสียค่าน้ำ
ส่วนเกษตรกรรายย่อย หรือผู้นำน้ำไปใช้เพื่อรักษาระบบนิเวศ บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ในประเภทที่หนึ่ง ไม่ต้องเสียค่าน้ำ
แน่ชัดว่ากรณี บริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตน้ำประปา จัดอยู่ในประเภทที่สอง เพื่อการอุตสาหกรรม จึงต้องเสียค่าน้ำตามกฎหมาย
“ให้เสียเท่าไหร่ก็ต้องเสีย ไม่เสียไม่ได้ เพราะออกเป็นกฎหมายแล้ว”
เป็นคำยืนยันของนายสมัย อนุวัตรเกษม ประธานกรรมการบริษัท ที-วอเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561
ผู้บริหาร ที-วอเตอร์ฯ ชี้แจงต่อว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับใหม่ มีบทเฉพาะกาล หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มาตรา 41-50 (อ่านประกอบ: พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561)ต้องมีกฎหมายลำดับรอง ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ภายใน 27 ม.ค. 2564 ถึงเวลานั้นต้องขอใช้ลุ่มน้ำตามที่ประกาศ
คาดว่า แม่น้ำบางปะกง จะขึ้นตรงกับกรมชลประทาน แต่เวลานี้ยังเป็นลำน้ำสาธารณะ ทำให้บริษัทฯ ต้องขออนุญาตสูบน้ำจากกรมเจ้าท่ามาผลิตน้ำประปาและใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2551
นายสมัย ยังระบุถึงการดำเนินโครงการอาจเลื่อนออกไป จากเดิมมีกำหนด มิ.ย. 2563 เปลี่ยนเป็น มิ.ย. 2564 ในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากมิ.ย.-พ.ย. ของทุกปี น้ำไม่กร่อย เมื่อเปรียบเทียบกับ ธ.ค.-พ.ค. และมีปริมาณมาก อีกทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาที่กฎหมายลำดับรองบังคับใช้แล้วด้วย
ส่วนจะเสียค่าน้ำต้นทุนเท่าไหร่นั้น ผู้บริหาร บริษัท ที-วอเตอร์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน สทนช. กำลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยบริษัทฯ เข้าร่วมในครั้งแรก จากนั้นจะเสนอไปยังอธิบดีกรมทรัยพากรน้ำเพื่อกำหนดค่าน้ำ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าน้ำต่อไป
“ตอนนี้กรมชลประทานเสียค่าน้ำ 50 สตางค์/ลบ.ม. การประปานครหลวง ใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองฝั่งมหาสวัสดิ์ เสียค่าน้ำ 50 สตางค์/ลบ.ม. แต่อีกฝั่งหนึ่งไม่เสีย ซึ่งเมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้ ต้องเสียทั้งหมดแล้ว แต่อัตราเท่าไหร่ ตอบไม่ได้ และไม่มีข้อยกเว้นให้กรณีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในพื้นที่อีอีซี”
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการยังไม่ผ่านการอนุมัติ แต่ขั้นตอนให้ขอจากกรมเจ้าท่า และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ต้องพิจารณาแผนและให้ความเห็นแผนการสูบน้ำ ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ แต่การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการให้ความเห็นตามกฎหมายเดิม ไม่ใช่เห็นชอบ
สรุปว่า โครงการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเพื่อผลิตประปาในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มูลค่า 6 พันล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ของบริษัท ที-วอเตอร์ (อีอีซี) ต้องจ่ายค่าน้ำต้นทุนตามกฎหมาย
ไม่มีการได้รับอภิสิทธิ์เลี่ยงจ่ายใด ๆ อย่างที่หลายคนสงสัย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:ไร้อำนาจเก็บค่าน้ำ สทนช. แจง ‘ที-วอเตอร์’ สูบบางปะกง เหตุรอ กม.ลูก ตามพ.ร.บ.ทรัพยากรฯ
ชลประทานที่ 9 เเจง 'ที-วอเตอร์' ขอใช้น้ำบางปะกงผลิตประปา กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ
'ที-วอเตอร์' ขอผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา สูบน้ำบางปะกง ปีละ 150 ล้าน ลบ.ม. ผลิตประปา เริ่ม มิ.ย. 63