"...ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมแบบ myside bias หรือ partisan bias เป็นธรรมชาติของสัตว์การเมืองประเภทที่เรียกว่ามนุษย์แล้ว (homo politicus) นับจากนี้ไปการไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จ-จริงจากข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ไม่ว่าของทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าล้วนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในการติดตามข้อมูลข่าวทางด้านการเมืองเพราะในยุคสมัยนี้ที่ใครต่อใครก็สามารถที่จะแสดงบทบาทการเป็นสื่อหรือเป็นนักข่าวได้..."
ในงานวิจัยเรื่อง “Evaluating Information : The Cornerstone of Civic Online Reasoning” คณะนักวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น ตั้งแต่มัธยมปลายถึงปริญญาตรี จำนวน 7,804 คน กระจายไปใน 12 มลรัฐทั่วประทศสหรัฐฯ พบว่า 82% หรือเกือบ 6,400 คนของกลุ่มตัวอย่างนั้นไม่สามารถแยกแยะวินิจฉัย ข้อเท็จ-จริง จากข่าวสารที่อยู่ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ได้ว่าชิ้นไหนเป็น ข่าวจริง (fact news) หรือ ข่าวปลอม (fake news)
คณะนักวิจัยยังพบว่าเด็กมัธยมปลายในสหรัฐฯส่วนใหญ่ออนไลน์กันประมาณเจ็ดชั่วโมงครึ่งต่อวัน ไม่นับเวลาที่อยู่ในโรงเรียน และขณะที่ออนไลน์อยู่ก็จะทำอะไรหลายๆอย่างไปในเวลาเดียวกัน ทั้งส่งข้อความ (texting) คุยกับเพื่อนและอ่านหนังสือไปด้วยพร้อมๆ กับดูวีดีโอ คลิป ต่างๆที่ถูกเผยแพร่กันใน โลกโซเชียลมีเดียซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นอยู่ภายในโทรศัพท์เครื่องเดียวกันหมด
อันที่จริงแล้ว การติดตามข่าวสารที่มาจากแหล่งข้อมูลในสังคมโลกออนไลน์ปัจจุบันนี้อย่าว่าแต่เด็กวัยรุ่นระดับมัธยมปลายหรือปริญญาตรีเลยครับ ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้กระทั่งคนมีวุฒิปริญญาเอกจำนวนไม่น้อยก็ยังยากที่จะบอกถึงความแตกต่างระหว่าง ข่าวจริง กับข่าวปลอม ได้
และถ้าจะว่ากันต่อไปแล้ว แม้กระทั่งการรับข้อมูลข่าวสารแบบตรงไปตรงมาในช่องทางแบบเก่าอย่างเช่น ทีวี ก็ต้องใช้วิจารณญาณกันขนาดหนักในการสกัดหรือบีบคั้นตัวสาร (message) ที่ถูกสื่อออกมาเพื่อแยกระหว่าง ข้อเท็จ-จริง ออกจากกันเพื่อวิเคราะห์ว่าอันไหนเป็นข่าวปลอมที่โดยมากก็มักจะมีความจริงบางส่วนผสมอยู่ด้วยในระดับที่มากน้อยต่างกันไปในแต่ละเรื่องหรือข่าวที่เสนอความจริงเฉพาะแต่เพียงบางด้านหรือบางส่วนเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ จินตนาการหรือการคิดไปเองแบบผิดๆ ของผู้เสพต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา บรรดาสื่อกระแสหลักอเมริกันอย่าง CNN, FOX News และ MSNBCได้ถ่ายทอดสดการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา (นายโดนัลด์ เจ. ทรัมป์)ซึ่งคนอเมริกันที่ติดตามดูส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกเปิดดูเพียงช่องใดช่องหนึ่ง โดยสื่อแต่ละช่องก็จะทำการถ่ายทอดสดเหตุการณ์นี้ด้วยมุมกล้อง การจับภาพและการให้ข้อมูลตัววิ่งประกอบการรับชมด้วยลีลาที่แตกต่างกันไปตามแนวทาง นโยบาย อุดมการณ์ ไปจนถึงอคติ ความลำเอียงหรือความเป็นเจ้าเรือนที่ครอบงำจิตใจของสื่อในแต่ละค่าย
ครับ ก็ไม่ต่างอะไรจากสภากาแฟไทยที่ ออน ล็อก หยุ่น แถววังบูรพา หรือร้าน เฮียะ ไถ่ กี่ ตรง หัวมุมถนนประชาธิปไตย เยื้องๆ วัดตรีทศเทพ เพราะเป็นที่รู้กันดีในสภาโอเลี้ยงหรือคอกาแฟ ร้านสตาร์บัคส์ที่นั่งกิน American breakfast กันทุกเช้า แล้วถกเรื่องการเมืองกันว่า สื่อค่ายอย่างช่อง FOX News นั้นมีจุดยืนเอียงขวาไปทางพรรครีพับลิกันเต็มที่ ในขณะที่ช่อง MSNBC ก็ชัดเจนว่ามีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม เอียงซ้ายไปทางพรรคเดโมแครต ส่วน CNN นั้นที่ผ่านมาก็พยายามที่จะเดินตามอุดมการณ์หรือทฤษฎีแบบตามตำราว่าสื่อนั้นต้องวางตัวเป็นกลางหรือหาจุดลงตัวที่อยู่ตรงกลาง แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี CNNก็ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์แขวนป้ายให้มาโดยตลอดเวลาว่าเป็นสื่อ ที่เลือกข้าง (เดโมแครต) ดังนั้น ถ้าบ้านใครมีโทรทัศน์ 3 เครื่อง แล้วเปิดดูไปพร้อมๆ กัน ก็จะเห็นความแตกต่างในรายละเอียดของการถ่ายทอด การให้ข้อมูลเป็นตัววิ่งประกอบการรับชมของแต่ละช่องในระหว่างการถ่ายทอดสด
เช่น ในขณะที่ MSNBC นำเสนอข้อมูลพฤติกรรมบางด้านของนายทรัมป์ เช่น มีการทวิตเตอร์จำนวนกว่า 11,390 ครั้งนับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีโดยยังให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า 2,026 ครั้งเป็นการทวิตเตอร์ชื่นชมตัวเอง, แต่อีก1,713 ครั้ง กลับเป็นการด่ากราดคนโน้นคนนี้ไปทั่วจำนวนทั้งสิ้น 630 คน,ทวีตกระแหนะกระแหนเรื่องต่างๆ อีก 5,889 ครั้ง, ส่วนอีก 1,710 ครั้ง เป็นการสร้างทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories)ขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการให้ตนเองพ้นจากตำแหน่ง 36 ครั้ง เป็นกล่าวหาสื่ออย่าง CNN หรือ MSNBC ว่าเป็นศัตรูของประชาชน และอีก 16 ครั้งเป็นการกล่าวถึงตนเองว่าเป็นประธานาธิบดีที่คนอเมริกันทุกคนชื่นชอบ
ตรงกันข้ามกับ MSNBC ถ้าเปิดดูช่องเอียงขวาอย่าง FOX News ผู้ชมก็จะเห็นข้อมูล ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดัชนีหุ้นการจ้างงานต่างๆ ที่ถูกนำมาแสดงให้เห็นถึงการบริหารประเทศที่ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาส่วน CNN ก็อย่างที่บอกไว้ว่าก็พยายามจะนำเสนอข้อมูลประกอบการถ่ายทอดสดที่เป็นกลาง แต่ทำได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ชมแต่ละคนไป
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่ว่าใคร มันก็ยากที่คนทั่วๆ ไปจะสามารถรับข้อมูลได้ครบถ้วนจริงๆ นอกจากคอการเมืองขนาดหนักหรือพวกคนทำข่าวมืออาชีพจริงๆ ที่ดูพร้อมกันทีละ 3 หรือ 4 ช่อง เพราะในทางจิตวิทยาแล้วคนเราล้วนแต่มีพฤติกรรมที่โน้มเอียงไปในทางเลือกรับ เลือกฟัง เลือกดูในสิ่งที่ตรงหรือสอดคล้องกับจริตหรือความคิด ความเห็นของตัวเองมากกว่า ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า confirmatory bias หรือ myside bias ขณะที่นักรัฐศาสตร์เรียกพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ว่า partisan bias
ฉะนั้น ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมแบบ myside bias หรือ partisan bias เป็นธรรมชาติของสัตว์การเมืองประเภทที่เรียกว่ามนุษย์แล้ว (homo politicus) นับจากนี้ไปการไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จ-จริงจากข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ไม่ว่าของทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าล้วนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในการติดตามข้อมูลข่าวทางด้านการเมืองเพราะในยุคสมัยนี้ที่ใครต่อใครก็สามารถที่จะแสดงบทบาทการเป็นสื่อหรือเป็นนักข่าวได้ ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องง่ายมากที่นักสร้างข่าวปลอมจะอาศัยความไม่รู้ของผู้คนเพื่อการสร้างข่าวปลอมหรือ Fake News ขึ้นมาด้วยการให้ข้อมูลแบบผิดๆ หรือไม่ครบถ้วน (misinformation) การบิดเบือนข้อมูล (disinformation)ไปจนถึงการปล่อยข่าวลือ (rumor) เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาต่อไป
ข่าวลือดังกล่าวนี้...ได้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วโดยไปตระโกนใส่ร้ายบุคคลในโรงหนังเฉลิมกรุงภายหลังวันมหาวิปโยค 9 มิ.ย. 2489 ครับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/