"...กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการผ่านทางระบบสารสนเทศ (web application) ที่มีชื่อว่าระบบ ITAS (https://itas.nacc.go.th) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถรองรับการประเมินหน่วยงานภาครัฐได้ทั่วประเทศ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วประเทศที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนกว่า 1,006,275 ราย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการสำรวจความเห็นของมหาชนที่สะท้อนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการให้บริการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของประเทศไทย..."
หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปหลายตอนถึงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ของหน่วยงานภาครัฐ(Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ว่ามีหน่วยงานใดได้คะแนนเท่าไหร่ หน่วยงานใดสอบผ่าน สอบไม่ผ่าน และสอบตก มีคำถามเข้ามามากว่า การประเมิน ITA มีความเป็นมาและทำกันอย่างไร
ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่เรียบเรียงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
การประเมิน ITA กับการพัฒนาธรรมาภิบาลในระบบราชการไทย
การประเมิน ITA เป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวัดระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานภาครัฐว่ามีระดับคุณธรรม ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลมากน้อยเพียงใด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในทุกพื้นที่ทุกจังหวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลผ่านกระบวนการตอบแบบประเมิน ITA
ขณะเดียวกันการประเมิน ITA ก็ถูกขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูล (open government data) เพื่อสร้างรัฐบาลแบบเปิด (open government) และเพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเข้ารับบริการจากหน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลที่ถูกเปิดเผยไปใช้ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน การให้บริการ และมีธรรมาภิบาลที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
การประเมิน ITA ได้ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งมีผลผูกพันให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจะต้องเข้าร่วมการประเมิน ITA ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2580 โดยในทุกๆปีจะมีการประกาศผลการประเมินในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะจำแนกผลการประเมินออกเป็นภาพรวมของประเทศ รายจังหวัด รายประเภทของหน่วยงาน รายกระทรวง และรายหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ของตนเองหรือในประเภทงานที่ได้เคยเข้ารับบริการ นอกจากนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถนำผลการประเมินที่ได้รับไปใช้ในการวางแผนดำเนินงานและพัฒนาองค์กรในปีงบประมาณต่อไป
ประเมิน 8,299 หน่วยงานทั่วประเทศ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 การประเมิน ITA กำหนดหน่วยงานกลุ่มเป้าหมายจำนวน 8,299 หน่วยงานทั่วประเทศ โดยจัดเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วนได้แก่
1) การสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ
2) การสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เข้าไปติดต่อ/รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ
3) การตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน
กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการผ่านทางระบบสารสนเทศ (web application) ที่มีชื่อว่าระบบ ITAS (https://itas.nacc.go.th) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถรองรับการประเมินหน่วยงานภาครัฐได้ทั่วประเทศ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วประเทศที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนกว่า 1,006,275 ราย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการสำรวจความเห็นของมหาชนที่สะท้อนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการให้บริการภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเครื่องมือหนึ่งของประเทศไทย
ตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน
การตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมิน ITA ได้ช่วยวางรากฐานกรอบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐผ่านทางเว็บไซต์ของทุกหน่วยงานทั่วประเทศ โดยเป็นการขับเคลื่อนโครงสร้างการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและดำเนินการพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการขนาดใหญ่ระดับกรม รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน จนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก โดยมีการกำหนดประเด็นการเปิดเผยไว้อย่างครอบคลุม ทั้งในส่วนของโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ภารกิจการให้บริการ นโยบายและแผนการดำเนินงาน การบริหารงานด้านการคลังและงบประมาณ การบริหารงานบุคคล การต่อต้านทุจริต เป็นต้น ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์และความสะดวกจากการเข้าค้นหาข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อติดต่อหรือรับบริการในภารกิจต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย
กรอบการประเมิน ITA ใช้ 10 ตัวชี้วัด
ในการประเมินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษาทบทวนการประเมิน ITA หลายด้านเพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านรายละเอียดขั้นตอนการประเมิน เครื่องมือการประเมิน และวิธีการประเมิน นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment System: ITAS) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดงบประมาณที่ใช้ในการประเมินแล้ว ยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการประเมินผลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรอบการประเมิน มีจำนวน 10 ตัวชี้วัด เป็นการประเมินผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITAS) ด้วยเครื่องมือการประเมินผลจำนวน 3 เครื่องมือ ดังนี้
ในทุกๆปี สำนักงาน ป.ป.ช. จะประกาศผลการประเมิน ITA ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานได้รับทราบระดับคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรในรอบปี ซึ่งก็จะเปรียบเสมือนการรับผลตรวจสุขภาพประจำปีของหน่วยงาน โดยผลการประเมินจะมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 100 คะแนน
หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมินจะได้รับผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปี พร้อมกับข้อเสนอแนะทางนโยบายและทางวิชาการจากสถาบันวิจัยที่เป็นผู้ดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะจัดส่งให้แก่หน่วยงานทุกหน่วยงานผ่านระบบ ITAS สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรในปีงบประมาณถัดไป เพื่อที่จะให้องค์กรมีสุขภาวะในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผลการประเมิน ITA ก็จะมีการประกาศสู่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของแต่ละหน่วยงาน แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และในภาพรวมระดับประเทศว่ามีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเฝ้าระวัง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อ่านประกอบ
INFO:แผนที่คะแนน ‘คุณธรรม ความโปร่งใส’62 ประเทศไทย ผ่าน 45 จังหวัด
จำแนกรายจังหวัด คะแนน ‘คุณธรรมความโปร่งใส’ - 29 จว.สอบตก สุโขทัย E พิษณุโลกบ๊วย
INFO:หน่วยงานภาครัฐ 78 แห่ง สอบตก เกณฑ์คุณธรรมความโปร่งใส ปี 62
เว็บไซต์ขัดข้องดูผลงานไม่ได้! เลขาฯ สพฉ.แจงเหตุสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ป.ป.ช. ปี 62
เปิดชื่อ 71 หน่วยงานรัฐ สอบตกเกณฑ์ประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62 -'จุฬา- มธ.' ไม่ผ่านด้วย
ฟังคำชี้แจง พล.ท.สรรเสริญ- อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ไฉนสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62
ผวจ.พิษณุโลกแจงได้คะแนน'คุณธรรมโปร่งใส'ปี 62 ต่ำสุด อ้างระบบ ป.ป.ช. บกพร่อง
กลาโหมรั้งท้าย-คลังแชมป์! ป.ป.ช.เปิดผลคะแนนคุณธรรม-โปร่งใสหน่วยงานรัฐปี62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/