“...ผมคิดว่าการผ่านเกณฑ์ การไม่ผ่านเกณฑ์ เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยต้องปรับปรุงแก้ไข คนที่ผ่านเกณฑ์แล้วก็ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ให้ได้ คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ต้องไปดูว่าตรงไหนที่หน่วยของตนเองได้คะแนนน้อย ก็ต้องปรับปรังการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงที่ว่าต้องปรับปรุงที่ประสิทธิภาพจริงๆเพื่อให้การปฏิบัติงานนั้นได้มาตรฐาน ไม่ใช่การปรับปรุงเฉพาะวิธีการเพื่อให้คะแนนมันสูงขึ้น ต้องไม่ใช่แบบนั้น...”
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยข้อมูล 71 หน่วยงานรัฐที่ไม่ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่จัดประเมินโดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (อ่านประกอบ:เปิดชื่อ 71 หน่วยงานรัฐ สอบตกเกณฑ์ประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62 -'จุฬา- มธ.' ไม่ผ่านด้วย)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศราได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ 2 แห่ง ที่ไม่ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังกล่าว คือ กรมประชาสัมพันธ์ และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินผลดังกล่าว
โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้คะแนน 84.99 คะแนน ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ชี้แจงว่า "เบื้องต้น กรมประชาสัมพันธ์คงก็ต้องไปดูในเรื่องเกณฑ์การให้คะแนนว่ากรมประชาสัมพันธ์นั้นทำได้น้อยตรงไหน ในการให้คะแนนของ ITA ทั้งนี้ ต้องขอเรียนว่าหน่วยงานที่ไม่ผ่านการประเมินซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้มีแค่กรมประชาสัมพันธ์เพียงหน่วยเดียว แต่มีหลายหน่วยงาน"
“ผมคิดว่าการผ่านเกณฑ์ การไม่ผ่านเกณฑ์ เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยต้องปรับปรุงแก้ไข คนที่ผ่านเกณฑ์แล้วก็ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ให้ได้ คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ต้องไปดูว่าตรงไหนที่หน่วยของตนเองได้คะแนนน้อย ก็ต้องปรับปรังการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงที่ว่าต้องปรับปรุงที่ประสิทธิภาพจริงๆเพื่อให้การปฏิบัติงานนั้นได้มาตรฐาน ไม่ใช่การปรับปรุงเฉพาะวิธีการเพื่อให้คะแนนมันสูงขึ้น ต้องไม่ใช่แบบนั้น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า "ปกติแล้วการทำหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์จะยึดตามระเบียบทางราชการเช่นการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคาที่มีการใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าบางรายการในงานประชาสัมพันธ์นั้นมีบางกรณีที่ไม่สามารถใช้e-bidding ได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีผู้ที่ทำรายการในสื่อต่างๆนั้น จะพิจารณาในประเด็นราคาอย่างเดียวไม่ได้ แม้ว่าการทำรายการนั้นจะต้องไม่เกินราคาที่กำหนดไว้ แต่ฝีมือผู้ที่จะดำเนินรายการจะต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และตอบโจทย์ที่กรมประชาสัมพันธ์ได้รับมาด้วย ดังนั้น ทางกรมประชาสัมพันธ์ก็จะต้องไปลงลึกในรายละเอียดว่ามีกรณีใดบ้างที่ทำให้คะแนนนั้นต่ำ โดยจะต้องมีการประชุมหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกันอย่างเร่งด่วน"
ขณะที่ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินเช่นกัน โดยได้คะแนนทั้งสิ้น 77.88 คะแนน ชี้แจงว่า ได้มีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินเหมือนกันว่า มีปัญหาตรงไหนกันบ้าง และก็ต้องดูการให้คะแนนด้าน ITA ด้วยว่าทางด้านของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนั้นได้คะแนนน้อยตรงไหน
"งานทางด้านของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเองนั้นเป็นเรื่องของการให้บริการและสร้างความรับรู้กับประชาชน ดังนั้น ภารกิจเรื่องคะแนน ITA ที่ว่านั้นก็ถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ"
ทั้งหมดนี่คือคำชี้แจงเบื้องต้นจากผู้บริหารหน่วยงานรัฐ 2 แห่ง ใน 71 แห่ง ที่ไม่ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่มีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/