"...แม้การแสดงบัญชีทรัพย์สินจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่สาธารณะจะต้องรับรู้เพื่อร่วมตรวจสอบ ในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่า การเข้ามาทำงานการเมืองเป็นเรื่องของความสมัครใจที่จะเข้ามาทำงานที่ตนรักเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่การบังคับ หรือการเสียสละ และเงื่อนไขในการแสดงบัญชีทรัพย์สินก็เป็นสิ่งที่ต้องทราบแต่แรกก่อนที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งต้องยอมรับให้ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาทำงานทางการเมือง..."
หลังจากที่มีการรับทราบรายชื่อคณะรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 2" ไปแล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจ คือ ตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” หรือเรียกให้ถูกต้องตามกฎหมาย คือ “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี”ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญในการช่วยสนับสนุนการทำงานของคณะรัฐมนตรีอย่างมาก และยังสามารถตั้งได้มากกว่าจำนวนรัฐมนตรีเสียอีก
กล่าวคือ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของการกำหนดจำนวนกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 40 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม คือ 30 คน ซึ่งตอนนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อมีนักวิชาการบางท่านให้ข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมหากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ก็ต้องเรียนว่า ในอดีตอาจเป็นเช่นนั้น
แต่ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแก้ไขรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้ง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะขึ้นใหม่ โดยได้ออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ตามข้อ 4.4.1 ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติตามในการเข้าสู่ระบบการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ด้วยเช่นกัน โดยในประกาศฉบับนี้ ยังมีการกำหนดรายละเอียดของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในรายกระทรวง ครอบคลุมไปจนถึง ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐและในกำกับของรัฐ และ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับที่มีหน้าที่ยื่นตรวจสอบอีกด้วย (1)
กรณีเช่นนี้สำหรับต่างประเทศ พบว่า ในปัจจุบันกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แม้จะมีการตั้งคำถามอยู่บ้างว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง รวมถึงครอบครัวมากเกินไปหรือไม่ ดังกรณีคดีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ที่นักการเมืองโปแลนด์ ยื่นฟ้องต่อรัฐให้งดการบังคับกฎหมายดังกล่าวกับตนและครอบครัว ในปี 2005 ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลวินิจฉัยได้ว่า แม้การแสดงบัญชีทรัพย์สินจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่สาธารณะจะต้องรับรู้เพื่อร่วมตรวจสอบ
ในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่า การเข้ามาทำงานการเมืองเป็นเรื่องของความสมัครใจที่จะเข้ามาทำงานที่ตนรักเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่การบังคับ หรือการเสียสละ และเงื่อนไขในการแสดงบัญชีทรัพย์สินก็เป็นสิ่งที่ต้องทราบแต่แรกก่อนที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งต้องยอมรับให้ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาทำงานทางการเมือง
หมายเหตุ : (1) จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/087/T_0057.PDF