"...ในการประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว ของ กนย.มิได้เกิดโภชน์ผลใดๆโดยที่ประชุมอ้างว่า กนย.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติของ กนย. และจะให้นางทัศนีย์ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าว ขณะที่ กนย.จะประสานสอบถามจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ก่อนจะชี้แจงต่อสาธารณชนต่อไป..."
เมื่อสัปดาห์ก่อนเขียนถึงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ สถานีไทยพีบีเอสว่า มี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้น
2 เหตุการณ์ที่ว่า ไม่มีความเกี่ยวพันกัน แต่อาจมีความเชื่อมโยงกันที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงานของคณะกรรมการนโยบาย(กนย.) ที่เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารสูงสุดตามกฎหมายในไทยพีบีเอส
(- เหตุเกิดที่ไทยพีบีเอส(อีกแล้ว) )
เหตุการณ์ที่หนึ่ง นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งนางทัศนีย์ ผลชานิโก กนย. และอดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านสื่อประชาสัมพันธ์โดยมีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะด้านสื่อประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,สนับสนุน การดำเนิน กิจการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย แม้ต่อมา มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้วก็ตาม
แต่ประเด็นคือ การได้ที่ กนย.ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษในหน่วยงานของรัฐและต้องรับคำสั่งจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็น กนย.หรือไม่
เหตุการณ์ที่สอง มีข่าวว่า ผู้ประกาศข่าวหญิงสถานีไทยพีบีเอสรับทรัพย์สินหรือกู้เงินจากนักการเมืองใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลเป็นเงินถึง 300,000 บาท ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้นำสัญญาเงินกู้มาแสดงต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งโดยฝ่ายบริหารโดยมีสุภาพสตรีรายหนึ่งรับสมอ้างว่าเป็นผู้ให้กู้ในวงเงิน 200,000 บาท โดยอ้างว่าชดใช้คืนไปแล้ว 100,000 บาท
ฝ่ายบริหารจึงลงโทษสถานเบากับผู้ประกาศข่าวหญิงรายนี้และให้ย้ายไปทำหน้าที่อื่น มิให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวต่อไป
ประเด็นสำคัญของกรณีนี้ ไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวหญิงรายนี้รับทรัพย์สินหรือกู้เงินจากนักการเมืองใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลจริงหรือไม่
แต่คำถามคือ ทำไมฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสจึงไม่ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ให้เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ กลับรวดรัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการเอง ทั้งๆที่ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญจริยธรรมผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะด้านสื่อมวลชน มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายและให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯขึ้นมาดำเนินการเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างอิสระ
หลังจากเขียนเรื่องดังกล่าวและ กนย.ที่มี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นประธาน เรียกประชุมด่วน กนย.ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพิจารณากรณีที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ที่หนึ่ง ก่อนการประชุม กนย. มีหนังสือที่อ้างว่า เป็นข้าราชการสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.โกมาตรขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนางทัศนีย์ ผลชานิโก ที่อาจมีลักษณะต้องห้ามและเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะฯ มีใจความสรุปว่า นอกจากนางทัศนีย์ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษฯแล้ว ยังได้มาทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2ครั้ง ในหัวข้อ "สื่อสารอย่างไร? ได้ใจ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 กับหลักสูตรผู้ตรวจกระทรวงของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวข้อการเสวนาเรื่อง "How to ตรวจราชการ" เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 โดยรับค่าตอบแทนในการเป็นวิทยากรทั้งสองหัวข้อ
ดังนั้น การที่นางทัศนีย์ รับเป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษาพิเศษ อาจส่งผลให้นางทัศนีย์ มีลักษณะต้องห้ามและเข้าข่ายเป็นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 21 อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กนย.ตามมาตรา 25 (4) แห่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ
แม้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษฯแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า นางทัศนีย์ ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 17 มีนาคม 2568
ดังนั้น เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม และดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯขอให้ประธาน กนย. พิจารณาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนางทัศนีย์ด้วย
ในการประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว ของ กนย.มิได้เกิดโภชน์ผลใดๆโดยที่ประชุมอ้างว่า กนย.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติของ กนย. และจะให้นางทัศนีย์ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าว ขณะที่ กนย.จะประสานสอบถามจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ก่อนจะชี้แจงต่อสาธารณชนต่อไป
ไม่อยากจะปรามาสว่า กนย.ที่ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายคิดได้เพียงแค่นี้เพื่อให้ทุกอย่างจบๆไป แบบลูบหน้าปะจมูก ทั้งๆที่การปล่อยให้เรื่องคาราซังอยู่เช่นนี้อาจเกิดปัญหาบานปลายตามมา เพราะมีสงสัยในทางกฎหมายว่า กนย.บางรายอาจขาดคุณสมบัติหรือไม่ ถ้า กนย.มีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือมีการกระทำทางปกครองที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น เช่น การลงมติเห็นชอบผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส อาจถูกฟ้องร้องได้
นอกจากนั้น การที่ยังนิ่งเฉยโดยอ้างว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องการขาดคุณสมบัติของ กนย.บางรายหรือไม่ ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องหรือดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
ข้อแนะนำเบื้องต้นด้วยความปรารถนาดีคือ กนย.ควรมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ผลออกมาอย่างไร ค่อยคิดดำเนินการต่อไป
เหตุการณ์ที่สอง ในการประชุม กนย.ไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ทำไมฝ่ายบริหารไทยพีบีเอส จึงไม่ส่งกรณีผู้ประกาศข่าวหญิงไปให้อนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯพิจารณา อ้างแต่เพียงว่า กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่อ่อนไหว ต้องรอบคอบระมัดระวังในหลายๆด้านโดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สอบวินัย ผลออกมาว่า ไม่ถูกต้องซึ่งได้พิจารณาโทษไปแล้ว
คำตอบดังกล่าวสะท้อนว่า ฝ่ายบริหารไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ไว้วางใจอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯหรือไม่ ทั้งๆที่อนุกรรมการชุดนี้มี กนย.อยู่ถึง 5 คน เป็นการไม่ปฏิบัติ และไม่ให้ความสำคัญกระบวนการพิจารณาด้านจริยธรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
แต่ กนย.กลับนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ เหมือนกับนิ่งเฉยกับผลการประเมินการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารที่มีกระแสข่าวว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ แต่มีการยอมให้ทบทวนผ่านแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
การที่ กนย.ดูเหมือนไม่อินังขังขอบการกระทำที่เสี่ยงต่อการกระทำที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายสำคัญโดยเฉพาะด้านจริยธรรมซึ่งเป็นจุดสำคัญและจุดแข็งของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส
อาจทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า คณะกรรมการนโยบายมีไว้ทำไม?
บทความโดย :
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เปิด 23 ชื่อผู้สมัครตำแหน่ง ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส