"...เท่าที่ทราบข้อมูล ก่อนที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษฯ กนย. บางส่วนที่ทราบว่า มีคำสั่งแต่งตั้งนางทัศนีย์ เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ ได้มีการหารือกันเห็นว่า การที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนางทัศนีย์เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ อาจไม่เหมาะสมและอาจขัดต่อคุณสมบัติ ของ กนย. ตามกฎหมายเพราะการที่ กนย. ไปเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐและต้องรับคำสั่งจากหน่วยงานของรัฐจะส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างเป็นอิสระของ กนย. ได้..."
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ สถานีไทยพีบีเอส จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสื่อสาธารณะแบบในต่างประเทศ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น BBC ของอังกฤษ, NHK ของญี่ปุ่น, KBS ของเกาหลีใต้
ดังนั้น จึงมีความพยายามออกแบบการทำงานของไทยพีบีเอส ให้เป็นอิสระจากอำนาจทุนและอำนาจทางการเมือง รวมถึงเน้นเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน
ในขณะที่สื่อมวลชนของเอกชนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในทางธุรกิจ แต่ไทยพีบีเอสได้รับเงินสนับสนุนจาก ภาษีบาป ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับสื่อสาธารณะในประเทศที่กล่าวมาข้างต้น แต่สำหรับสื่อในประเทศไทยถือว่าเป็นลูกเศรษฐีที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด
จึงอยู่ที่ฝีมือของผู้บริหารไทยพีบีเอสว่า สามารถนำเงินก้อนนี้ มาบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน
นอกจากไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณแล้ว การกำหนดคุณสมบัติและที่มาตามกฎหมายของคณะกรรมการนโยบาย(กนย.) ได้พยายามสร้างหลักประกันให้ กนย.สามารถทำงานได้อิสระ
ทั้งนี้ ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ได้รับ เสนอชื่อเป็น กนย.ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ ได้ด้วยความอิสระ เป็นกลาง และสุจริต
ขณะเดียวกันยังห้าม กนย.เป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
แม้แต่เป็นกรรมการในสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการยังไม่สามารถเป็นได้
การที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นก็เพื่อไม่ให้อำนาจภายนอกโดยเฉพาะอำนาจรัฐหรือ การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของไทยพีบีเอส
ด้านจริยธรรม ในกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ที่มีบุคคลภายนอกร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้การพิจารณาการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน เป็นไปอย่างอิสระ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก
ผู้เขียนมีเหตุการณ์ 2 เรื่องที่เกิดขึ้นในไทยพีบีเอสมาเล่าให้ฟัง
เหตุการณ์ที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งนางทัศนีย์ ผลชานิโก กนย. และอดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านสื่อประชาสัมพันธ์โดยมีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะด้านสื่อประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,สนับสนุน การดำเนิน กิจการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปฎิบัติหน้าที่ตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง นางทัศนีย์ ผลชานิโก เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านสื่อการประชาสัมพันธ์โดยอ้างว่า นางทัศนีย์แจ้งว่าปัจจุบันได้รับการสรรหาเป็น กนย. ด้านบริหารจัดการองค์กรจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาพิเศษฯได้
เท่าที่ทราบข้อมูล ก่อนที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษฯ กนย. บางส่วนที่ทราบว่า มีคำสั่งแต่งตั้งนางทัศนีย์ เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ ได้มีการหารือกันเห็นว่า การที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนางทัศนีย์เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ อาจไม่เหมาะสมและอาจขัดต่อคุณสมบัติ ของ กนย. ตามกฎหมายเพราะการที่ กนย. ไปเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐและต้องรับคำสั่งจากหน่วยงานของรัฐจะส่งผลกระทบต่อการทำงานอย่างเป็นอิสระของ กนย. ได้
จึงได้แจ้งให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนางทัศนีย์เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ
เมื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว ดูเผินๆ ปัญหาน่าจะจบลง แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหา เป็น กนย. ต้องศึกษากฎหมายของไทยพีบีเอส มาเป็นอย่างดี รวมถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กนย.ด้วย
2. ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการสรรหา กนย. โดยตำแหน่ง ดังนั้นจึงต้องทราบว่า นางทัศนีย์ได้รับการสรรหาเป็น กนย. และปฎิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้ว
ขณะเดียวกัน ในฐานะกรรมการสรรหา ต้องทราบเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กนย. เป็นอย่างดี ว่า ต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง
แต่ทำไมปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียังแต่งตั้งนางทัศนีย์เป็นที่ปรึกษาพิเศษฯ และตอนยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งยังอ้างว่าได้รับแจ้งจากนางทัศนียว่า ปัจจุบันนางทัศนีย์ได้รับการสรรหาเป็น กนย. จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาพิเศษฯได้
3. แม้จะมีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษฯไปแล้วก็ตาม แต่ต้องถือว่า นางทัศนีย์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษฯ ไปแล้วอย่างน้อยเกือบครึ่งเดือน
หากมีผู้หยิบยกให้ตีความคุณสมบัติความเป็น กนย. ของนางทัศนีย์จะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้อยู่ระหว่างการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสซึ่ง กนย. จะต้องเป็นผู้ลงมติในขั้นสุดท้ายว่า จะเห็นชอบกับผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสหรือไม่
ถ้าผู้ที่ไม่ผ่านการสรรหาเป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอสหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาฟ้องต่อศาลปกครองจะเกิดปัญหาหรือไม่
เพื่อให้เข้าใจ กรณีดังกล่าวอย่างง่ายๆ หากเป็นคดีอาญาจะพูดกันว่า เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
ดังนั้นคณะ กนย. ต้องพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ โดยเฉพาะ นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธาน กนย. อย่าละเลยปัญหานี้เป็นอันขาด
เหตุการณ์ที่สอง ในเว็บพันทิปมีกระทู้ถามเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า ผู้ประกาศข่าวสถานีไทยพีบีเอสชื่อ…. หายไปไหนแล้ว ไม่เจอหน้าหลายสัปดาห์เลย
แต่ไม่มีคำตอบจากทางสถานีอย่างเป็นทางการ
เท่าที่พยายามเสาะหาข้อมูลอย่างยากลำบาก เพราะพยายามมีการปกปิดทุกระดับชั้น
ดังนั้นข้อมูลที่จะเล่าต่อไปอาจมีความคลาดเคลื่อนบ้าง ถ้าทางไทยพีบีเอส มีข้อมูลที่ถูกต้องสามารถชี้แจงได้
เมื่อหลายเดือนก่อน มีข่าวว่า ผู้ประกาศข่าวหญิงรายหนึ่งรับทรัพย์สินจากนักการเมืองใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลเป็นเงินถึง 300,000 บาท
เมื่อมีข่าว พูดกันอื้ออึง ในไทยพีบีเอส ฝ่ายบริหาร ของไทยพีบีเอส จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน
ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้นำสัญญาเงินกู้มาแสดงต่อคณะกรรมการโดยมีสุภาพสตรีรายหนึ่งเป็นผู้ให้กู้ในวงเงิน 200,000 บาท โดยอ้างว่าชดใช้คืนไปแล้ว 100,000 บาท
ฝ่ายบริหารจึงลงโทษสถานเบากับผู้ประกาศข่าวหญิงรายนี้และให้ย้ายไปทำหน้าที่อื่น มิให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวต่อไป
ประเด็นสำคัญมิใช่อยู่ที่ว่า ผู้ประกาศข่าวหญิงรายนี้รับทรัพย์สินหรือกู้เงินจากนักการเมืองใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลจริงหรือไม่
และเมื่อมีข่าวเล็ดลอดออกมาก็หาบุคคลมารับสมอ้าง เป็นเจ้าหนี้แทน นักการเมืองใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลหรือไม่
เพราะหากสอบกันจริงจังแล้วคงหาความจริงได้ไม่ยาก
แต่คำถามคือ เมื่อ มีข้อมูลหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำฝ่าฝืนจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานฯ ทำไมฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสจึงไม่ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ให้เป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับรวบรัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเอง
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการตั้งกรรมการขึ้นมาช่วยเหลือหรือปกปิดข้อเท็จจริงหรือไม่
เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นนี้อื้ออึง จนบุคคลภายนอกในวงการสื่อ รับทราบกันไปทั่ว แต่ กนย. กลับไม่รับรู้อะไรเลย เป็นเรื่องน่าแปลกอย่างยิ่ง
อาจมี กนย. บางคนรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่กลับไม่มีการทวงถามเรื่องนี้กับฝ่ายบริหารว่าทำไมถึงไม่ส่งให้กับคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรง พิจารณา
การที่ฝ่ายบริหารไทยพีบีเอสไม่ยอมส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการรับ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ ดำเนินการเป็นการ กระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ในฐานะประธาน กนย. อย่าปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไปเป็นอันขาด
เพราะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือสื่อสาธารณะอย่างรุนแรงได้
บทความโดย :
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์