"...เมื่อวันเวลาผ่านไป ยายยิ่งไม่มีความสุข ในขณะที่สาไม่ได้มาสอนหนังสือให้ตามที่สัญญาไว้ กลับไปคบกับเพื่อนหลังเลิกเรียน ส่วนยายถูกใช้ทำงานบ้าน งานไร่ พอแอบไปฟังครูสอนที่โรงเรียนกลับถูกป้าตามกลับบ้านพร้อมถูกทำโทษ และเมื่อแม่กลับมาเยี่ยมบ้าน ยายพยายามเกลี้ยกล่อมร้องขอตามไปอยู่กับแม่ แต่ไม่สำเร็จ สร้างปมร้าวและตอกย้ำว่า แม่และป้าไม่เห็นความสำคัญของการศึกษามีความลำเอียง ตั้งแต่นั้นมา ยายจึงเป็นคนเจ้าคิด เจ้าแค้น และผูกใจเจ็บกับทุกคน..."
สวัสดีครับ
ในคืนที่ท้องฟ้ามืดมิด พร้อมลมหนาวพัดผ่าน ทำให้ชาวบ้านต้องก่อกองไฟ นั่งผิงไฟกันในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่สำหรับยายแสงวัย 70 ปี ต้องนั่งอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ได้แต่นั่งมองบ้านข้าง ๆ ที่ลูกหลานนั่งคุยกันอย่างสนุกสนานโดยไม่สนใจแวะมาเยี่ยมเยียน ทำให้ยายแสงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ยิ่งคิดยิ่งน้ำตาคลอไปกับโชคชะตาชีวิตตนเอง แต่ก่อนจะคิดเลยเถิดไปกว่านั้น ไพลิน หลานสาววัย 20 ปี ได้ปรากฏกายขึ้น นำอาหารและผลไม้เข้ามาเยี่ยมถึงบ้าน พร้อมกับก่อไฟเพื่อให้ยายอบอุ่น ทำให้ยายแสงซาบซึ้งและรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก เอ่ยถามไพลินว่า “เอ็งไม่เกลียดโกรธยายเหมือนแม่กับป้า และหลานคนอื่น ๆ หรือ?” ไพลินตอบกลับว่า “หนูเคยคิดเช่นนั้น เพราะเคยได้ยินแม่เล่าให้ฟังในสิ่งที่ยายได้ทำไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนูกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นแล้ว” ยายแสงได้ฟังแล้วถึงกับน้ำตาซึม พร้อมสำทับว่า “ถ้ายายไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร ชีวิตยายคงไม่เป็นเช่นนี้” พรัอมกับเข้าสวมกอดไพลินด้วยความซึ้งใจ1/
“ไหน ๆ เวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว ยายมีความจำดี ช่วยเล่าให้หนูฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น” ยายแสงครุ่นคิดพักใหญ่ เพราะไม่เคยมีใครขอให้เล่าเรื่องในอดีตที่ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 63 ปีก่อน ก่อนตัดสินใจเล่าให้ไพลินฟัง
ครอบครัวของยายมีฐานะยากจน แม่ตัดสินใจไปหางานทำที่กรุงเทพฯ จึงฝากยายให้พี่สาวเลี้ยงดู เนื่องจากป้ามีลูกสาวชื่อสา เด็กในวัยเดียวกันน่าจะดูแลกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งยายสามารถปรับตัวได้ และเป็นเพื่อนเล่นกับสาอย่างใกล้ชิดสนิทใจ แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อทั้งสองถึงเกณฑ์เข้าเรียนหนังสือ ตอนแรกป้าตั้งใจจะส่งทั้งสองเข้าเรียน แต่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ให้สาลูกสาวเข้าเรียนเพียงคนเดียว ทำให้ยายไม่พอใจ ร้องขอ อ้อนวอนเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ “เอ็งจะโวยวายไปทำไม ข้าไม่มีปัญญาส่ง สามันหัวดีกว่า กลับจากโรงเรียนแล้วให้มันมาสอน แล้วที่แม่เอ็งส่งเงินมาก็เพียงพอแค่ค่ากินอยู่”
เมื่อวันเวลาผ่านไป ยายยิ่งไม่มีความสุข ในขณะที่สาไม่ได้มาสอนหนังสือให้ตามที่สัญญาไว้ กลับไปคบกับเพื่อนหลังเลิกเรียน ส่วนยายถูกใช้ทำงานบ้าน งานไร่ พอแอบไปฟังครูสอนที่โรงเรียนกลับถูกป้าตามกลับบ้านพร้อมถูกทำโทษ และเมื่อแม่กลับมาเยี่ยมบ้าน ยายพยายามเกลี้ยกล่อมร้องขอตามไปอยู่กับแม่ แต่ไม่สำเร็จ สร้างปมร้าวและตอกย้ำว่า แม่และป้าไม่เห็นความสำคัญของการศึกษามีความลำเอียง ตั้งแต่นั้นมา ยายจึงเป็นคนเจ้าคิด เจ้าแค้น และผูกใจเจ็บกับทุกคน
เมื่อยายโตเป็นสาว ได้พบรักกับตาสิงห์หนุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งแม้จะรู้จักกันไม่นานแต่ตัดสินใจ ขอแยกบ้านไปมีครอบครัว โดยที่แม่กับป้าไม่สามารถรั้งยายไว้ได้ “ฉันโตแล้ว ไม่ต้องมาสอนหรอก ทีแม่ละก็ไม่ยอมให้ฉันไปอยู่ด้วย” ยายย้ายไปอยู่กับตาสิงห์ มีลูก 5 คน แต่ด้วยฐานะยากจนจึงต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ฝากลูกให้แม่เลี้ยง แต่อยู่ได้เพียง 3 ปี แม่ก็จากไป ในงานศพ ยายจ้องมองรูปแม่ แต่ไม่มีแม้แต่น้ำตา เพราะจิตใจยังโกรธเคืองอยู่
หลังจากนั้นไม่กี่ปี ตาสิงห์ติดเหล้าหนักขึ้น มีหนี้สินรุงรัง ต้องขายที่ ขายนา และเมื่อถึงกำหนดต้องจ่ายค่าเทอมลูก ยายต้องไปขอความเมตตาจากครู และตกใจเมื่อเห็นสาเดินเข้ามาหาในฐานะครูใหญ่ ซึ่งเมื่อสาได้ยินเรื่องราว ได้ยื่นข้อเสนอรับผิดชอบค่าเล่าเรียนลูก ๆ แต่ยายกลับคิดเป็นอย่างอื่น คิดว่าสาต้องการเยาะเย้ย จึงไม่ขอรับความช่วยเหลือใด ๆ แม้ว่าสาจะได้กล่าวขอโทษ รับผิดทุกอย่างสารภาพว่า ตอนนั้นยังเป็นเด็กไร้เดียงสา เหตุผลที่จะส่งเสียลูก ๆ เพื่อต้องการชดเชยกับสิ่งที่ตนทำไป
ยายตัดสินใจให้ลูกลาออกจากโรงเรียนกลับมาช่วยงานที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่คนโตยังไม่จบ ป. 6 และพิมพา ลูกสาวคนเล็ก (แม่ของไพลิน) จบเพียง ป. 2 ใช้ชีวิตกันด้วยความยากลำบาก พิมพาเคยป่วยหนัก ชีวิตเกือบไม่รอด และเมื่อพี่ ๆ แยกย้ายไปมีครอบครัว พิมพาก็รอวันไปจากแม่เช่นกัน และแทนที่ยายจะพูดคุยด้วยดี กลับบอกว่า “จะไปหางานทำ หรือจะไปหาแฟนกันแน่ ไปแล้วอย่ากลับมาแบบลูกไม่มีพ่อแล้วกัน” เป็นคำพูดที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพิมพาเป็นอย่างมาก เก็บเสื้อผ้าออกจากบ้านไปทันที
ยายไม่ได้ข่าวและพบเจอกับพิมพาอีกเลย จนวันงานศพตาสิงห์ พิมพาได้พาสามีชาวต่างชาติพร้อมไพลินมากราบไหว้ยาย แม้ใจลึก ๆ ยังมีทิฐิ โกรธเคืองแม่อยู่ แต่พี่ ๆ ได้ร้องขอพร้อมเป็นกาวใจให้
“เรื่องราวทั้งหมดก็เป็นอย่างที่เล่านี่แหละ ยายเข้าใจทุกอย่าง กำลังรับกรรมที่ทำเอาไว้ รู้สึกผิดกับลูก ๆ ตลอดและเสียใจกับทุกสิ่งที่ผ่านมา” ไพลินจับมือยาย พร้อมกับพูดว่า “ยายจ๋า ฉันอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกของยายทั้งหมด แต่ถ้าฉันเจอเรื่องร้ายแบบนี้ ฉันอาจจะเป็นแบบยายก็ได้ ตอนนี้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นกันใหม่” ยายแสงได้ฟังเช่นนั้น ทำให้มีกำลังใจ แม้ไม่ง่ายที่จะลืม แต่ก็ยอมปล่อยวางเรื่องราวในอดีต เริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อเป็นแม่และยายที่ดีให้ลูกและหลานอีกครั้ง
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ
นิทานข้างต้นได้ให้ข้อคิดว่า การผูกใจเจ็บเป็นเรื่องยากที่จะสลัดทิ้ง สร้างความทุกข์กับตนเองและคนรอบข้าง เป็นเหมือนเจ็บไข้ เป็นโรคโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การให้อภัย การไม่ผูกใจเจ็บ ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงการไม่เรียกร้องสิทธิ์ ไม่รักษาความถูกต้อง แต่ต้องยืนบนพื้นฐานความไม่ผูกใจเจ็บจะทำให้ใจเรามีความสุข และทำให้คนอื่นสุขตาม2/ ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศน์ไว้ว่า “หากเขาว่าเราจริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันจริง และหากเขาว่าเราไม่จริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันไม่จริง”
รณดล นุ่มนนท์
3 มีนาคม 2568
แหล่งที่มา :
1/ YUI Story, นิทานผูกใจเจ็บ ปล่อยวางความแค้น สู่ชีวิตใหม่ที่สงบสุข, พากย์โดย ใบไม้, September 26, 2024
2/ ดังตฤณ ทำอย่างไรจะเลิกผูกใจเจ็บได้ ไทยรัฐออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา 05:30 น. https://www.thairath.co.th/content/307236