“…สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ผมเชื่อว่า ไม่ได้กลัวการตรวจสอบที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลัวหน่วยงานที่ใช้อำนาจบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจสมาชิกวุฒิสภาแห่งนี้ว่าเป็นสภาอั้งยี่ ซ่องโจร พวกท่านทุกคนถูกกล่าวหาแล้วนะครับว่า เราคือโจร ท่านประธานก็คือ ประธานโจร ขออนุญาตถอนก็ได้ครับ เผื่อใครจะประท้วง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) การประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 มีการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เสนอญัตติโดย พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยที่ประชุมได้เปิดให้ สว.อภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงการดำเนินคดีการเลือกตั้ง สว.ปี 2567 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่มี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ เป็นอธิบดีดีเอสไอ และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดีเอสไอ ก่อนที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานจะประชุมเพื่อพิจารณาและลงมติว่าจะรับ ‘คดีฮั้วเลือกสว.’ เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ในวันที่ 6 มีนาคม 2568
พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ ผู้เสนอญัตติ : พันตำรวจเอก ทวี และพันตำรวจตรี ยุทธนา ได้แถลงข่าวเป็นรายวัน เพื่อขอความชอบธรรมต่อสังคมที่จะดำเนินการสอบสวน จัดให้มีการรับเรื่องร้องเรียนเป็นรายวัน เพื่อให้เห็นว่า มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นวงกว้าง ทั่วประเทศ มุ่งหวังให้สังคมเห็นว่า การได้มาของ สว.ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
“การกระทำดังกล่าวมีการล็อกเป้าหมายในการดำเนินคดี โดยอ้างว่า มี กลุ่ม สว.138 บวก 2 ซึ่งไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ได้หรือไม่ จึงสงสัยว่า การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอสามารถล็อกเป้ากลุ่ม สว. โดยแยกประเภทสีได้อย่างไร โดยเฉพาะมุ่งเน้นสีน้ำเงิน ซึ่งวันนี้ผมใส่เสื้อสีน้ำเงินมาอภิปราย พร้อมรับแจ้งข้อกล่าวหาจากอธิบดีดีเอสไอ พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าท่านมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”
@ ชี้ช่องร้องศาลรธน.ล้มล้างการปกครองฯ
ท่านประธานฯ (นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานในที่ประชุม) เคยได้ยินหรือไม่ ศูนย์มีค่ามากกว่าหนึ่ง นักคณิตศาสตร์ระดับโลกยังคิดไม่ได้ แต่มีนักผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยสามารถที่จะคิดได้ ที่จะทำให้ ศูนย์มีค่ามากกว่าหนึ่ง และได้จำนวน สว.เข้ามาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ซึ่งตรงนี้มีเพื่อน สว. ที่ได้ไปพักโรงแรมใกล้ๆ อิมแพคเมืองทองธานีได้พบเห็น มีการปิดห้องประชุมลับ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน มีการแจกจ่าย เอกสาร หมายเลข ที่จะให้มีการเลือก ซึ่งลักษณะเช่นนี้ อยากถามอธิบดีดีเอสไอท่านรู้หรือไม่ ท่านได้รับการร้องเรียนหรือไม่ ท่านพอจะมีข้อมูลทำการสืบสวน เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ ผมเห็นว่า การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เป็นกระบวนการ สมคบกัน ร่วมกัน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด เป็นระยะ ซึ่งหนสุดท้ายจากการดำเนินการก็ได้ตัวเลขออกมาที่น่าสนใจ คือ 21 บวก 24 คล้ายคลึงกับตัวเลข 138 บวก 2 เพราะฉะนั้น ผมขอฝากปัญหาว่า ตัวเลขสองชุดนี้ ท่านอธิบดีดีเอสไอสามารถที่จะสืบสวนสอบสวนตามที่ท่านกล่าวหา เป็นการฮั้ว อั้งยี่ ฟอกเงินหรือไม่”
ตนจึงคิดว่า การเลือกปฏิบัติและกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบจากปฏิบัติหน้าที่หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการที่ดีเอสไอพยายามให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามข้อกล่าวหาการฮั้วเลือก สว.อาจเป็นการก้าวก่าย เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งบุคคลธรรมดา อัยการ สามารถยื่นร้องต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัยและออกคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าวได้
และรัฐธรรมนูญตามมาตรา 116 อาจเข้าข่ายกรณียุยง ปลุกปั่น ให้กระทำการเกิดความปั่นป่วน หรือกระด่างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยมีเจตนาเปลี่ยนแปลงกฎหมายของแผ่นดิน หรือทำให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร
จึงสมควรที่วุฒิสภาจะได้อภิปราย ระดมความคิดเห็น เพื่อพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ของรมว.ยุติธรรม และอธิบดีดีเอสไอ และเสนอไปยังรัฐบาลและส่งข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป
“หรืออาจจะมีการขอเปิดอภิปรายทั่วไปพันตำรวจเอก ทวี กรณีผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรงและยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งในโอกาสต่อไป และพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจตรี ยุทธนา เป็นการทุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”
@ ไม่มีกฎหมาย-ไม่มีอำนาจ
พันตำรวจเอก กอบ อัจนากิตติ สว. ผู้ร่วมอภิปรายญัตติ : รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
“สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน ตามหลักไม่มีอำนาจไม่มีกฎหมาย ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ”
เสาหลักทางกฎหมายมหาชนมีสองเสา คือ หลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย การทำงานต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย ความชอบธรรม การอำนวยความยุติธรรมให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องกังวลว่าการทำงานเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ใด อย่าเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาแลกกับบุญคุณส่วนตัว ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตนและกับประโยชน์ของประเทศชาติ
“ความเห็นของคณะอนุกรรมการคดีพิเศษเป็นความเห็นเบื้องต้น การกระทำต้องชอบด้วยกฎหมายคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือใครก็ตามที่เป็นองค์อำนาจ ต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ใช้หลักฟังความทั้งสองฝ่าย”
@ ‘หลุมดำ’ ในกระทรวงยุติธรรม
ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ หมายความว่า ฝ่ายปกครองทำการใด ๆ ที่มีผลต่อการจำกัดหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การที่กฎหมายลำดับรอง ชั้นต่ำกว่า ไม่เคารพกฎหมายชั้นที่สูงกว่า คือ ปรากฎการณ์ที่ทั้งสองขัดแย้งกัน หรือวิวาทกันเอง องค์กรตุลาการจึงต้องเข้ามายุติข้อพิพาท แต่ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
“ต้องการชี้ให้เห็นว่า การใช้หลักกฎหมายในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ปัจจุบันเป็นการใช้กฎหมายที่บิดผัน บิดเบือนอำนาจ ฉ้อฉลหลักกฎหมายโดยสิ้นเชิง จึงเกิดเป็นกรณีหลุมดำขึ้นในกระทรวงยุติธรรม”
ดีเอสไอมีการสถาปนาขึ้นในปี 2547 เรื่องมีหรือไม่มีอำนาจ วิญญูชนพึงเข้าใจได้ว่า การกระทำหรือการปฏิบัติหน้าที่ของรมว.ยุติธรรม อธิบดีดีเอสไอ ได้กระทำไปโดยมีอำนาจหรือไม่ การอภิปรายในวันนี้มีวัตถุประสงค์ชี้ให้เห็นว่า สามเสาหลักในระบอบประชาธิปไตย วุฒิสภาเป็นหนึ่งในองค์กรนิติบัญญัติ พ.ร.บ.คดีพิเศษ มีศักดิ์ต่ำกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.
@ อิทธิฤทธิยักษ์ในตะเกียงวิเศษ
ถ้าหากดูบริบทของคณะกรรมการคดีพิเศษ พยายามทำคดีอาญาทั่วไปให้เป็นคดีพิเศษด้วยการครอบงำทางการเมือง เพราะมีบุคคลที่เป็นกรรมการมาจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงหรือครอบงำการทำงานของดีเอสไอหรือไม่
“ดีเอสไอใช้กฎหมายตามอำเภอใจและบิดผันอำนาจมาตลอดตั้งแต่ปี 47 จนถึงปัจจุบัน เพราะผู้ที่เป็นพ่อมดในตะเกียงวิเศษ ซึ่งไม่รู้ฝ่ายการเมืองท่านไหนปล่อยยักษ์ตัวนี้ออกมา อิทธิฤทธิ์ของยักษ์ตัวนี้ที่ออกมาจากตะเกียงไม่สามารถต้านทานได้ และยักษ์ตัวนี้ก็กำลังโลดแล่น ทำให้พี่น้องประชาชนอกสั่นขวัญแขวน ความเสมอภาค ความเท่าเทียมเป็นแค่นามธรรมเท่านั้นเอง คนที่ปล่อยยักษ์ตัวนี้ออกมาต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะดีเอสไอต้องรับผิดชอบ เพราะกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดมาตั้งแต่ต้น”
ขอยืนยันว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯคดีพิเศษ เป็นความเห็นเบื้องต้น คณะกรรมการคดีพิเศษ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ถ้าท่านเห็นด้วย ท่านต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน
@ ถูกกล่าวหา ‘สภาอั้งยี่-ซ่องโจร’
พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ผู้ร่วมอภิปราย : วันนี้เป็นวันที่ทำให้รู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมที่นำโดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ทำให้รู้สึกหมดศรัทธากระบวนการยุติธรรม
“สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ผมเชื่อว่า ไม่ได้กลัวการตรวจสอบที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลัวหน่วยงานที่ใช้อำนาจบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจสมาชิกวุฒิสภาแห่งนี้ว่าเป็นสภาอั้งยี่ ซ่องโจร พวกท่านทุกคนถูกกล่าวหาแล้วนะครับว่า เราคือโจร ท่านประธานก็คือ ประธานโจร ขออนุญาตถอนก็ได้ครับ เผื่อใครจะประท้วง”
อำนาจบริหารกำลังแทรกแซงอำนาจองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการเลือกตั้ง
“วันนี้ประชาชนเข้าใจเราผิดไปอย่างรุนแรง”
การอ้างว่า การเลือก สว.เป็นการฮั้ว เป็นการกล่าวหาสมาชิกวุฒิสภาแห่งนี้ โดยไม่มีการอ้างอิงหลักกฎหมายใด ๆ รวมถึงหลักคณิตศาสตร์ ผู้กล่าวหามีเจตนาต้องการให้ผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นจำเลยของสังคม และการที่บอร์ดดีเอสไอขอเลื่อนการลงมติว่าจะรับเป็นคดีพิเศษจากวันที่ 25 ก.พ.68 ซึ่งครบองค์ประชุมสองในสาม คือ 19 คน จากทั้งหมด 22 คน แล้วเลื่อนไปวันที่ 26 มี.ค.68 โดยอ้างว่าจะเชิญกกต.มาชี้แจง
“ผมถามว่า เป็นการประวิงเวลาหรือไม่ เพื่อให้ตัวเองไปล็อบบี้กรรมการเพื่อให้มาโหวตรับเป็นคดีพิเศษ คำว่าล็อบบี้ในที่นี้ ท่านกำลังฮั้วกันหรือเปล่า”
@ เร่งร้อน-เลื่อนลอย
พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา สว.ผู้ร่วมอภิปราย : ตนเป็นหนึ่งใน สว.หลาย ๆ คนที่ยอมรับไม่ได้กับการให้สัมภาษณ์ของพันตำรวจเอก ทวี ที่ออกมาให้ข่าวว่า สมาชิกวุฒิสภามีพฤติการณ์เป็นอั้งยี่ กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้งพ.ร.บ.ฟอกเงิน
“การเลือกตั้ง กกต.เป็นผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจในการดูแลและการควบคุมดำเนินการให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้ถูกแทรกแซงทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 มาตรา 79 และมาตรา 81 ซึ่งได้กำหนดทั้งฐานความผิดและบทลงโทษ”
ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรง คือ กกต. มีฐานความผิด มีโทษในการจำคุกไว้ครบถ้วนแล้ว ทั้งเรื่องการฮั้วและการฟอกเงิน และกกต.อยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับดีเอสไอที่มาใช้ประมวลกฎหมายอาญาขึ้นมากล่าวอ้าง กล่าวหา รวมทั้งได้ให้สัมภาษณ์ให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศเข้าใจผิด ดูถูกเหยียดหยาม เสียหาย เป็นการชี้นำ หรือทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกใช่หรือไม่
“ทำไม รมว.ยุติธรรมถึงได้เร่งร้อนออกมา ไม่ว่าจะการให้สัมภาษณ์ หรือนำเข้า กคพ.ก็ตาม เร่งร้อนเกินไป และขณะนี้นำเข้าคณะอนุฯคดีพิเศษดำเนินการก่อน เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เช่น ใส่เสื้อเหลืองเหมือนกัน”