"...โดยธรรมชาติคงไม่มีมนุษย์คนไหนมีความพึงพอใจเมื่อมีคนนำข้อมูลส่วนตัวของคนนั้นไปเผยแพร่ตามสื่อสาธารณะโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่ยินยอม การสอดแนมเพื่อล้วงความลับของใครก็ตามจึงย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลนั้นโดยตรง เพราะความเป็นส่วนตัวซึ่งหมายถึงความสามารถและสิทธิในการเก็บสิ่งที่ควรจะเป็นของตัวเองเอาไว้กับตัว เช่น ความคิด ประสบการณ์ ความกลัว สิ่งที่วางแผนไว้ในใจ ฯลฯ ซึ่งไม่ควรที่จะมีใครมาละเมิดความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด ชีวิตที่เคยเป็นของตัวเองก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป..."
แทบไม่น่าเชื่อว่าคนระดับประธานสภาผู้แทนราษฎรจะกลายเป็นเหยื่อของการสอดแนมด้วยการถูกแอบบันทึกภาพและเสียง ระหว่างคุยกับประธานตณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)และนำมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆจนเป็นข่าวครึกโครม
คลิปที่นำมาเปิดเผยถูกตั้งข้อสงสัยว่าใครคือมือมืดที่บันทึกและปล่อยคลิปดังกล่าวเพราะแต่ละฝ่ายต่างพูดกันไปคนละทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นผู้บันทึกคลิปซึ่งเป็นบุคคลในเงามืดและไม่ปรากฎตัวชัดในคลิป
แต่สื่อต่างๆให้ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่าเป็นอดีตนายพลสีกากี ซึ่งเจ้าตัวได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าการบันทึกคลิปดังกล่าวไม่ใช่ฝีมือตัวเองแน่เพราะตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น แม้ว่าจะถูกลูบคมจนถึงในบ้านแต่ประธานสภาฯก็ยังไม่เอาความต่อผู้กระทำเพราะยังไม่เกิดความเสียหาย แต่ได้ตำหนิผ่านสื่ออย่างรุนแรงว่าการกระทำเช่นนั้นเสียมารยาท ไม่ใช่ลูกผู้ชายและมีเจตนาที่เลวร้าย(1และ2)
แรงจูงใจของการสอดแนม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธาน ป.ป.ช.แสดงให้เห็นว่ าการสอดแนมได้คืบคลานเข้าไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งบุคคลที่มีตำแหน่งถึงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติและประธานองค์กรอิสระ โดยผู้กระทำมิได้มีความยำเกรงต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไปและผลที่จะตามมา โดยใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆซึ่งเป็นการสอดแนมที่เรียกว่าการสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการสอดแนมทางไซเบอร์ (Electronics espionage/Cyber espionage) เพื่อล้วงข้อมูลที่เป็นความลับจากเหยื่อเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง
การสอดแนมมีจุดมุ่งหมายในทางสร้างความเสียหายแก่เหยื่อมากกว่าความปรารถนาดี กรณีของประธานสภาฯ นัยว่า ผู้กระทำอาจสอดแนมเหยื่อผ่านเครื่องชาร์ตโทรศัพท์มือถือหรือเพาเวอร์แบงก์ที่บางคนมักพกติดตัวและวางไว้ตรงหน้าใกล้กับโทรศัพท์ ซึ่งนับวันอุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำให้การสอดแนมง่าย สะดวก มิหนำซ้ำยังถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ในทันทีและแนบเนียนจนฝ่ายตรงข้ามไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองกำลังถูกแอบสอดแนมจากบุคคลรู้จักคุ้นเคยที่นั่งอยู่ต่อหน้า
การสอดรู้สอดเห็นและการสอดแนมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกับปัจจัยผลักดันทางจิตวิทยาและปัจจัยประกอบอื่นๆ อย่างน้อยที่สุด 3 ปัจจัย ได้แก่ (3)
ปัจจัยที่ 1 ความเบี่ยงเบนทางบุคลิกภาพ (Dysfunction in personality) เช่น อาจเกิดจากแรงจูงใจที่ต้องการที่จะแสวงหา ความตื่นเต้นเร้าใจ มีความรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะสอดแนม รวมทั้งความต้องการที่จะควบคุมหรือมีอำนาจเหนือเหยื่อ เป็นต้น
ปัจจัยที่ 2 บุคคลนั้นกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติ (A state of crisis) เช่น การตกอยู่ในภาวะวิกฤติอันเป็นผลจากความเครียดอย่างรุนแรง แม้ว่าผู้กระทำอาจรู้สึกเสียใจต่อผลที่จะตามมาขณะที่ทำการสอดแนม แต่ดูเหมือนว่าในขณะนั้นจะเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุผลและเชื่อว่าการกระทำนั้นสามารถจะแก้ปัญหาได้หรือเป็นทางเลือกทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากความสิ้นหวังและเจ็บปวดที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่
ปัจจัยที่ 3 ความสะดวกและโอกาสในการเข้าถึงเหยื่อ (Ease of opportunity) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการสอดแนม ซึ่งเป็นเหมือนบันไดขั้นแรกที่ผู้สอดแนมจะเข้าไปล้วงความลับจากเหยื่อได้ ด้วยอุปกรณ์ที่มีความฉลาดที่อยู่รอบตัว (Ambience intelligence) ที่ถูกนำไปใช้สอดแนม
ทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญของประเทศซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่คนบางคนได้
การที่บุคคลในเงามืดยอมเสี่ยงตัวเองเพื่อสอดแนมถ่ายคลิปการพูดคุยระหว่างคนสำคัญสองคนย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาและเป็นเดิมพันที่สูงยิ่งสำหรับชีวิตและหน้าที่การงานของบุคคลผู้นั้น
หากพิจารณาถึงแรงจูงใจของการสอดแนมแล้ว กรณีคลิปหลุดของประธานสภาฯ อาจจะเข้าข่ายทั้ง ปัจจัยที่ 1 คือต้องการใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมหรือมีอำนาจเหนือเหยื่อและปัจจัยที่ 2 ซึ่งอธิบายได้ว่า บุคคลผู้นั้นกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งกำลังเผชิญความเครียดอย่างรุนแรงและเห็นว่าข้อมูลระหว่างคนสองคนนั้นคือเครื่องต่อรองสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ได้ ร่วมกับปัจจัยที่ 3 จากการที่บุคคลนั้นมีความคุ้นเคยกับเหยื่อและมีอุปกรณ์สอดแนมที่ทรงประสิทธิภาพ ยิ่งทำให้เกิดโอกาสให้การสอดแนมเป็นไปอย่างง่ายดายโดยไม่มีใครเกิดความสงสัย จนเรื่องแดงเมื่อคลิปถูกเปิดเผยสู่สาธารณะดังที่เป็นข่าว
การสอดแนม-พฤติกรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนของมนุษย์
โดยทั่วไป คลิปเสียง คลิปภาพ ที่บันทึกและมักนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะนั้นมักเป็นเรื่องที่คุยกันลับๆในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งหรืออาจเป็นเสียงที่พูดคุยกันทางโทรศัพท์ซึ่งมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินทองบ้าง การวิ่งเต้นหาตำแหน่งบ้างหรือเรื่องการเจรจาความทางการเมือง การต่อรองทางคดีความ รวมทั้งเรื่องบนเตียงของคนบางคน ซึ่งสร้างความอยากรู้อยากเห็นแก่คนทั่วไปอยู่ไม่น้อยและหลายกรณียังเป็นที่สงสัยเรื่องที่มาของคลิปว่าเกิดจากการสอดแนมจากบุคคลที่สามหรือเป็นคลิปที่คู่สนทนาบันทึกไว้เองแล้วนำมาเปิดเผยทางโซเชียลมีเดียหรือส่งให้สื่อเพื่อให้เปิดเผยเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง
ก่อนที่จะมีการสอดแนมด้วยเครื่องมือสารพัดชนิดและใช้เทคนิคผสมผสานกับเล่ห์กลต่างๆจนทำให้ความลับซึ่งควรจะรู้กันระหว่างคนบางคนถูกนำมาเปิดเผยต่อสารธารณะนั้น
การสอดแนมเกิดขึ้นมาเกิดขึ้นมานับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกก็ว่าได้ การแอบฟัง (Eavesdropping) การสนทนาของใครก็ตามถือเป็นการสอดแนม(Espionage) ประเภทหนึ่งที่มนุษย์คุ้นเคยและมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานก่อนมีเทคโนโลยีประเภทโทรเลขและโทรศัพท์เกิดขึ้นในโลกเสียอีก
ตำนานของการดักฟังย้อนไปถึงยุคที่ ผู้คนแอบฟังการพูดคุยตามบ้านของบุคคลอื่นซึ่งผู้แอบฟังมักใช้วิธีซ่อนตัวอยู่ตามชายคาบ้านขณะที่มีฝนตกเพื่อการพรางตัวจึงเรียก การดักฟังหรือแอบฟังการพูดคุยของผู้คนว่า Eavesdropping (Eaves แปลว่า ชายคาบ้าน และ Rain Drops แปลว่า หยดฝน) คำว่า Eavesdropping จึงถูกใช้เรื่อยมาแม้ว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนจะไม่ได้แอบฟังใครคุยกันอยู่ใต้ชายคาบ้านขณะฝนตกแล้วก็ตาม (4)
การดักฟังในยุคแรกๆด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีคงไม่มีครั้งไหนถูกพูดถึงมากเท่าประวัติศาสตร์การสู้รบของอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นการดักฟังทางโทรเลข โดยใช้วิธีพ่วงเครื่องดักฟังเข้ากับสายโทรเลขที่เรียกกันว่า การแท็บสายโทรเลข(Wiretapping) เพื่อแอบฟังรหัสมอส(Morse code) ที่ส่งผ่านสายโทรเลขและนำรหัสนั้นมาถอดเป็นข้อความ โทรเลขจึงเปรียบเสมือน “มือขวา” ของเสนาธิการทั้งสองฝ่าย
โทรเลขจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการทำสงครามระหว่างรัฐ เพราะสามารถใช้หาข่าวความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายจากข้อความที่สื่อสารระหว่างกันผ่านสายโทรเลขได้ด้วยการดักฟังสัญญาณโทรเลข การแท็บสายโทรเลขจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมาจนอาจเรียกได้ว่าการแท็บสายโทรเลขเป็นการสอดแนมด้วยเทคโนโลยีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็ว่าได้
แม้ว่าโทรเลขหมดความสำคัญและเลิกใช้ไปนานแล้วแต่ประวัติศาสตร์ของการสื่อสารด้วยโทรเลขและการสอดแนมมักถูกนำมาอ้างถึงเสมอเมื่อพูดถึงการดักฟัง ปัจจุบันโทรเลขได้ยุติการให้บริการไปหลายปีแล้วและแทบไม่เหลือให้เห็นแล้วในประเทศไทย แต่ในสหรัฐอเมริกาสายและเสาโทรเลขที่อยู่ในสภาพผุพังยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างตามสองข้างทางรถไฟในชนบท
การดักฟังโทรศัพท์ วิธีสอดแนมสุดคลาสสิก
เมื่อยุคของโทรศัพท์มาถึง การสอดแนมหรือดักฟังทางโทรศัพท์เพื่อล้วงความลับใครก็ตามเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำตั้งแต่ยุคแรกๆที่โทรศัพท์มีการถูกนำมาใช้สำหรับการสื่อสารจนถึงยุคปัจจุบัน
วิธีที่ใช้กันมากที่สุดในการดักฟังโทรศัพท์แบบมีสายหรือโทรศัพท์บ้านคือการดักฟังด้วยการพ่วงสายโทรศัพท์หรือการแท็บสายโทรศัพท์แบบเดียวกับโทรเลข แต่เป็นการดักฟังเสียงสนทนาระหว่างคนสองคนและบันทึกเทปแทนการดักฟังสัญญาณมอสของโทรเลขหรืออาจมีการนำเครื่องดักฟังขนาดจิ๋วไปซ่อนไว้ในปากพูดโทรศัพท์ก็มักกระทำกันหรือแม้แต่ใช้ขดลวดที่เรียกว่า Induction coil ไปติดไว้ใกล้กับสายโทรศัพท์เพื่อการแอบฟังการสนทนาโทรศัพท์โดยไม่ต้องไปแท็บสายโทรศัพท์เลยก็ได้ เทคโนโลยีการดักฟังจึงมีการพัฒนาต่อเนื่อง พร้อมๆกับเทคโนโลยีการสื่อสาร
การคุยทางโทรศัพท์ระหว่างบุคคลสองคนถือว่าเป็นความลับระหว่างคู่สนทนาเท่านั้น การแทรกแซงใดๆต่อการสนทนาทางโทรศัพท์จึงถือว่าเป็นการสอดแนมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย
ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในยุคที่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงกับต้องแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งเพื่อเซ่นกรณีลูกน้องรับงานดักฟังโทรศัพท์จากการสนทนาของบุคคลอื่นมาแล้ว กรณีดักฟังในครั้งนั้นเป็นการดักฟังจากโทรศัพท์บ้าน ซึ่งคนทั่วๆไปคงทำไม่ได้ ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับโทรศัพท์ในระดับหนึ่ง เพราะโทรศัพท์และเครื่องดักฟังในยุคนั้นไม่ได้ฉลาดเท่ากับเครื่องโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีการสอดแนมยุคปัจจุบัน การดักฟังจึงไม่สามารถทำได้เองทุกคนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเชื่อว่าเป็นพนักงานในหน่วยงานนั้นเอง (5)
ไม่เฉพาะกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธาน ป.ป.ช.เท่านั้นที่ตกเป็นข่าวใหญ่ คงจำกันได้ว่าเมื่อปีที่แล้วมีคลิปเสียงหลุดที่ไปพัวพันกับพรรคการเมืองและมีข่าวว่า เลขาธิการพรรคการเมืองที่ถูกพาดพิง เตรียมยื่นฟ้องหมิ่นประมาทกับผู้ปล่อยคลิปและผู้เกี่ยวข้องโดยกล่าวว่าจะยื่นฟ้องดำเนินคดีกับผู้จัดรายการและรักษาการผู้อำนวยการใหญ่รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ช่องที่นำคลิปเสียงไปออกอากาศ ต่อศาลอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเสียงของเลขาธิการพรรคการเมืองนั้น ทำให้บุคคลคนนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และคลิปเสียงดังกล่าวมีที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(6)
ผลกระทบจากการถูกสอดแนม
โดยธรรมชาติคงไม่มีมนุษย์คนไหนมีความพึงพอใจเมื่อมีคนนำข้อมูลส่วนตัวของคนนั้นไปเผยแพร่ตามสื่อสาธารณะโดยที่เจ้าตัวไม่รู้หรือไม่ยินยอม การสอดแนมเพื่อล้วงความลับของใครก็ตามจึงย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลนั้นโดยตรง เพราะความเป็นส่วนตัวซึ่งหมายถึงความสามารถและสิทธิในการเก็บสิ่งที่ควรจะเป็นของตัวเองเอาไว้กับตัว เช่น ความคิด ประสบการณ์ ความกลัว สิ่งที่วางแผนไว้ในใจ ฯลฯ ซึ่งไม่ควรที่จะมีใครมาละเมิดความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด ชีวิตที่เคยเป็นของตัวเองก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธาน ป.ป.ช. ถูกสอดแนมด้วยการบันทึกภาพและเสียงนอกจากจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะผู้นำองค์กรระดับสูงของทั้งสององค์กรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อฐานะความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ 7 ประการ ได้แก่ (7)
- สูญเสียความมีเสรีภาพที่มนุษย์พึงได้รับ
- ข้อมูลส่วนตัวซึ่งเป็นความลับสามารถที่จะถูกนำกลับมาใช้ทำร้ายตัวเองได้โดยไม่รู้ตัวและไม่รู้แหล่งที่มา
- ข้อมูลที่ถูกนำไปใช้อาจเป็น ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน(หรืออาจมีการตั้งใจดัดแปลงให้คลาดเคลื่อน) คนละบริบทกับข้อมูลต้นทางและถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกสอดแนม
- ข้อมูลในโลกดิจิทัลที่ถูกบันทึกและเผยแพร่จะไม่สูญหายหรือถูกลบไปได้โดยง่ายเพราะโลกออนไลน์และอินเทอร์เน็ตจะไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตามและข้อมูลนั้นมักกลับมาหลอกหลอนเหยื่ออยู่เสมอในบางโอกาส
- ข้อมูลที่ถูกสอดแนมบางประเภทอาจเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจเป็นช่องทางที่คนบางกลุ่มสามารถนำไปแสวงหาประโยชน์ในทางการเมืองในทางใดทางหนึ่งได้
- การถูกสอดแนมแม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากบุคคลทั่วไป แต่การเข้าไปใช้บริการ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริษัทสินค้าออนไลน์ แอปพลิเคชัน ต่างๆ ฯลฯ ผู้ใช้บริการจะถูกสอดแนมข้อมูลส่วนตัวและพฤติกรรมอย่างเงียบๆโดยที่เราอาจไม่รู้หรือไม่ได้สนใจเงื่อนไขในการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูก ละเมิด รั่วไหล และอาจถูกเปลี่ยนมือไปสู่บริษัทนายหน้าขายข้อมูลหรือแม้แต่องค์กรอาชญากรรรมต่างๆได้ตลอดเวลา
- การอยู่ในโลกที่รายล้อมด้วยเครื่องมือสอดแนมและบุคคลที่ต้องการหาประโยชน์จากความเป็นส่วนตัวจากใครก็ตาม ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา
ความรู้สึกเช่นนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้นั้น เช่น มีจำกัดการกระทำบางอย่างลงและระมัดระวังตัวจนมีความรู้สึกกลัวที่ถูกมองว่ากระทำผิด ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำผิดก็ตาม การตกอยู่ในสภาวะระมัดระวังจนเกินเหตุ(Hypervigilance)และเกิดความวิตกกังวลจากผลการกระทำที่อาจผิดพลาดหรือทำสิ่งที่อาจต้องเสียใจในภายหลังจึงไม่ส่งผลดีต่อวิถีชีวิตของผู้คนตามครรลองของความมีเสรีภาพหรือความเป็นประชาธิปไตยเลย
เทคโนโลยีได้ทลายกำแพงของความเป็นส่วนตัวของผู้คนลงอย่างราบคาบจนทำให้การคุกคามความเป็นส่วนตัวเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ตราบที่โอกาสอำนวยให้
ด้วยเทคโนโลยีที่หาได้ทั่วไปและมีราคาถูก คนทุกคนในโลกนี้จึงสามารถตกเป็นเหยื่อของการสอดแนมได้ตลอดเวลาทั้งต่อหน้า(Co-presence) และจากที่ห่างไกล(Tele-presence) โดยไม่เลือกหน้า ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีตำแหน่งสำคัญเพียงใดก็ตาม
การนำความเป็นส่วนตัวซึ่งควรเป็นความลับของคนคนนั้นไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากจะทำให้เกิด ความบาดหมางระหว่างบุคคล สร้างความเสื่อมเสียแก่ทั้งตัวผู้ถูกสอดแนม องค์กร รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมและศักยภาพของเทคโนโลยีฉกฉวยความได้เปรียบและกระทำทุกวิถีทางเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
หมายเหตุ บทความนี้ต้องการนำเสนอเฉพาะประเด็น “การสอดแนม” โดยไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัว ผลประโยชน์หรือความขัดแย้งใดๆของบุคคลที่ตกเป็นข่าว
อ้างอิง
1.https://www.isranews.org/article/isranews/135633-politics-41.html
2. https://www.isranews.org/article/south-slide/135714-wannortalk.html
3.https://www.cia.gov/resources/csi/static/psychology-of-espionage.pdf
4.The Listeners โดย Brian Hochman
5. https://www.ryt9.com/s/ryt9/261875
6. https://www.thaipbs.or.th/news/content/344215
7.Understanding Digital Culture โดย Vincent Miller : เพิ่มเติม/ดัดแปลงบางส่วน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/