“…ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ ดิฉันจึงเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมมีความเคลือบแคลง สงสัยอย่างมาก และความเคลือบแคลงนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องสถานะของบุคคลทางเศรษฐกิจ หรือสังคม อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ ข้อกำหนดแมนเดลลา ซึ่งหวังคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติถอนญัตติ เรื่อง ขอให้วุฒิสภาพิจารณาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอ เนื่องจากนางอังคณาได้ทำหนังสือถึงนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ขอถอนญัตติดังกล่าวออกจากวาระการประชุม เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์
นางอังคณาได้ลุกขึ้นแถลงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอญัตติก่อนที่จะให้เหตุผลในการขอขอถอนญัตติ ว่า สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอญัตติ ว่า การลงโทษด้วยการจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลเป็นการจำกัดอิสรภาพของบุคคลเมื่อมีการกระทำความผิด และเพื่อให้มีการปรับปรุงพฤตินิสัย ไม่ใช่เป็นการแก้แค้น
อย่างไรก็ดี แม้ผู้ต้องขังหรือนักโทษจะสูญเสียอิสระภาพ แต่สิทธิอย่างอื่นยังต้องได้รับความเคารพ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อันถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล และเป็นไปตามข้อบทที่ 12 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยรัฐมีหน้าที่ป้องกันภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ศาลไม่สามารถคาดการณ์ได้ และการรักษาพยาบาลกับคนที่ช่วยเหลือทางการแพทย์
นอกจากนี้เพื่อกำหนดแนวทางในการดูแลด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง หรือนักโทษในเรือนจำ สหประชาชาติได้รับรองมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ ‘กฎแมนเดลลา’ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรอง โดยได้ระบุว่า ผู้ต้องขังควรได้รับบริการด้านสุขภาพตามมาตรฐานเดียวกับที่รัฐจัดให้บุคคลอื่น และต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามมาตรฐานเดียวกันกับที่รัฐจัดให้ประชาชนทั่วไป และต้องเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งสถานภาพทางกฎหมาย
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพัฒนาการหลายประการที่ก้าวหน้าในการดูแลผู้ต้องขังหรือนักโทษ ก่อนที่ประเทศไทยจะนำมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้หญิงที่กระทำผิดขององค์การสหประชาชาติมาใช้ในการป้องกันผู้ต้องขังหญิง
ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่กระทรวงยุติธรรมออกระเบียบราชฑัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นการออกระเบียบตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อให้ผู้ต้องขังสูงอายุ หรือ ผู้ป่วยร้ายแรง หรือ เป็นโรคระยะสุดท้ายที่ไม่จำเป็นต้องควบคุม หมายความว่า ไปไหนไม่ได้แล้วให้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสอยู่กับครอบครัวในวาระสุดท้ายของชีวิต
@ ยกรายงานกรรมการสิทธิฯ ป่วยทิพย์-ชั้น 14
นางอังคณากล่าวว่า มาตรการปฏิบัติในการดำเนินการสำหรับผู้ถูกคุมขังที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ได้รับความสนใจและความกังวลอย่างมากจากสังคม มีคำถามอย่างมากถึงความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ แม้นักโทษหรือผู้ต้องขังมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยสาเหตุของความเจ็บปวดของตัวเอง ด้วยเหตุผลอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล แต่หลักการ right to privacy เป็นหลักสากลที่ได้รับรองจากกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อบทที่ 17 แต่สิทธินี้ก็ไม่ใช่สิทธิที่สมบูรณ์ สามารถยกเว้นได้
“ในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องซับซ้อนและเกี่ยวพันกับหลายสิทธิ นักสิทธิมนุษยชนบางคนเชื่อว่า ความเป็นส่วนตัวต้องมีข้อจำกัดบางประการที่จำเป็นป้องกันการอ้างที่ไม่ชอบธรรม โดยเห็นว่า บุคคลควรสละการอ้างสิทธิความเป็นส่วนตัวเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เฉพาะการยืนยันหลักความเท่าเทียม การไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อรักษาหลักการใหญ่ของสังคม คือ หลักนิติธรรม”
“กรณีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวบนชั้น 14 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบและได้ออกรายงานผลการตรวจสอบที่ 221/2567 ลงในที่ 30 กรกฎรคม 2567 โดยสรุปรายงานกรรมการสิทธิระบุว่า จากข้อเท็จจริงและเหตุผลการตรวจสอบยังไม่อาจเชื่อได้ว่า ผู้ต้องขังคนดังกล่าวมีอาการป่วยจนถึงขั้นต้องรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือ กลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร”
“การรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลดังกล่าวต่อเนื่องจนได้รับการปล่อยตัว พักโทษ และออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้ผู้ต้องขังคนดังกล่าวได้รับประโยชน์ นอกเหนือจากสิทธิที่จะได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
@ คดีในอยู่ ป.ป.ช.-ข้อมูลไม่พร้อม
“ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ ดิฉันจึงเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมมีความเคลือบแคลง สงสัยอย่างมาก และความเคลือบแคลงนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องสถานะของบุคคลทางเศรษฐกิจ หรือสังคม อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ ข้อกำหนดแมนเดลลา ซึ่งหวังคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากดิฉันเองมีเวลาค่อนข้างจำกัด ในการรวบรวมข้อมูล ดิฉันจึงเห็นควรที่จะถอนญัตตินี้ออกไป เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และรอบด้าน และดิฉันเชื่อมั่นว่า ในการเสนอความคิดของเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดทำข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังตามมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ เท่าเทียม และเพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งดิฉันจะเสนอญัตตินี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพราะขณะนี้มีข้อมูลเพียงรายงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“ดิฉันยืนยันว่า จะเสนอญัตติเข้ามาใหม่ ส่วนเหตุผลวิญญูชนจะฟังได้หรือฟังไม่ได้ ก็ขอให้เป็นการพิจารณาของสาธารณะชน ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาสามารถเสนอญัตติได้เองอยู่แล้ว แต่ในส่วนของการทำงานของดิฉัน ถ้าอะไรที่ไม่รอบคอบ หรือไม่ได้ระมัดระวัง ดิฉันค่อนข้างกังวลว่า อาจจะไปกระทบต่อสิทธิของผู้อื่นด้วย”
@ ถอนญัตติ ไม่สมเหตุสมผล
นางนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นต่อการถอนญัตติดังกล่าว ว่า สื่อมวลชนได้รายงานไปแล้วว่า การประชุมวุติสภาในวันนี้จะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว ซึ่งการที่เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง การที่จะถอนญัตติต้องสมเหตุสมผล มิเช่นนั้นจะถูกสาธารณะชนมองว่า มีการล็อบบี้ให้ถอนหรือไม่
ประเด็นก็คือว่า การถอนญัตตินี้ ประชาชนได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร เพราะญัตติพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมในการที่ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผู้ต้องขังจำนวนมากที่อยู่ในเรือนจำ ได้รับการปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติหรือไม่ และนักโทษคนไหนบ้าง ที่ได้รับสิทธิพิเศษ ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง
ทันทีที่ดิฉันเห็นว่าญัตตินี้ได้รับการบรรจุมาในวาระการประชุม ดิฉันเชื่อว่า สมาชิกหลายท่านในห้องนี้ เตรียมที่จะมีการอภิปรายเพื่อระดมความคิดเห็นให้เกิดความเป็นธรรมให้กับผุ้ต้องขังทุกคนให้ได้รับสิทธิเข้ารักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน และอภิปรายเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้ต้องขังได้รับในเรือนจำ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ยากลำบาก แม้ที่จะได้พบแพทย์ แม้แต่จะได้รับการรักษาเข้าไปในโรงพยาบาลเรือนจำก็ยังยาก
“ดิฉันเตรียมมาอภิปราย ดิฉันอยากที่จะให้ผู้ที่นำเสนอญัตตินั้นได้อภิปรายให้เห็นเหตุผลมากกว่าความไม่พร้อม เพราะท่านยื่นญัตติเข้ามาแล้ว แปลว่าท่านก็รู้ว่า จะต้องมีการอภิปราย ความไม่พร้อมคืออะไร ถ้าไม่พร้อมต้องไม่ยื่น ถ้ายื่นต้องพร้อม แล้วมันจะไม่พร้อมได้อย่างไรก็ในเมื่อเราเปิดอภิปรายให้ สว.ทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมนำเสนอข้อมูล ท่านไม่พร้อมไม่เป็น ไร แต่สมาชิกวุฒิสภาพร้อมที่จะอภิปรายในเรื่องนี้”
ดิฉันจึงเห็นว่า การถอนญัตติในวันนี้ สาธารณชนจะสงสัยว่า ทำไมญัตตินี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นประโยชน์ในการสร้างความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันในสังคมของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องถูกพิจารณาด้วย จึงอยากให้ผู้ยื่นญัตติอธิบายด้วยเหตุผลชัด ๆ นอกเหนือจากการไม่พร้อม เพราะสว.ท่านอื่นพร้อมและอยากอภิปราย เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ถ้าอธิบายเพียงแค่นี้ ดิฉันไม่เห็นชอบที่จะถอนญัตติแน่นอน
“วิญญูชนพึงพิจารณาได้ว่า สมเหตุสมผลกับการถอนญัตติในวันนี้หรือไม่ ดิฉันฟังแล้ว ไม่สมเหตุสมผล และดิฉันไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการถอนญัตติในวันนี้”
อ่านประกอบ :