"...เธออ่านหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรีทุกเล่มในห้องสมุด และสมัครเข้าร่วมวงออร์เคสตราของโรงเรียน ซึ่งเหลือเพียงเครื่องเล่นดับเบิลเบสที่เพื่อน ๆ ต่างเมินหน้าหนี เพราะเป็นเครื่องเล่นสายแบบไวโอลินที่ใหญ่ นิ้วมือต้องแข็งแรง แถมต้องคอยอุ้มและนั่งเล่นอยู่ข้างหลังของวง ซึ่งผู้ชมมักจะไม่ค่อยได้เห็นแต่โอรินได้ใช้ความอดทน เพียรพยายามฝึกซ้อมกว่า 6 เดือนแบบไม่มีวันหยุด เธอกล่าวว่า “เล็บมือฉันขบ เจ็บ ต้องแช่น้ำเกลือ แต่ฉันไม่ท้อแท้ ไม่ยอมแพ้ จนถูกคัดเลือกเข้าร่วมวงในที่สุด” โอรินได้สานฝันตนเองสามารถเข้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนจูลเลียร์ด (Juilliard) โรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และกลายเป็นตำนานนักดนตรีหญิงดับเบิลเบส จนถึงทุกวันนี้..."
สัปดาห์ที่แล้ว พวกเราคงผิดหวังที่ภาพยนตร์ “หลานม่า” ไม่ติดหนึ่งในห้าภาพยนตร์ที่เข้ารอบสุดท้ายชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2567 แต่ผลการตัดสินให้ “หลานม่า” ติดเป็น 1 ใน 15 ภาพยนตร์จากที่ส่งเข้าประกวดทั่วโลกทั้งหมด 85 เรื่อง ถือได้ว่าภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับในวงการหนังฮอลลีวูด และพวกเราควรจะภาคภูมิใจแล้ว
รางวัลการประกวดออสการ์มีหลายประเภท แต่ประเภทที่ผมเฝ้าติดตามในทุกปี คือรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยม (best short documentary) ซึ่งเรื่อง The Only Woman in the Orchestra เป็นหนึ่งในห้าสารคดีที่เข้ารอบสุดท้าย และผมมีโอกาสได้ดูสารคดีเรื่องนี้ผ่านสตรีมมิ่ง เป็นสารคดีความยาวเพียง 35 นาที ชมครั้งแรกแบบผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตายังไม่ทันกะพริบ แต่เมื่อมีเวลาคิดไตร่ตรองพร้อมย้อนหลังไปชมอีกรอบ จึงสรุปได้ว่า สารคดีเรื่องนี้แฝงไปด้วยข้อคิดผ่านการใช้ชีวิตของ โอริน โอ ไบรอัน (Orin O'Brien) สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของชีวิตได้เป็นอย่างดี
สารคดีเรื่องนี้เป็นชีวประวัติของโอริน ภายใต้การกำกับของมอลลี่ โอ ไบรอัน (Molly O'Brien) หลานสาว ด้วยมอลลี่เห็นโอรินเป็นไอดอลตั้งแต่เด็ก “น้าโอรินมีชีวิตในแบบที่ฉันต้องการ ชีวิตของศิลปินชาวนิวยอร์ก ชีวิตของหญิงสาวผู้เป็นอิสระ” ในใจกลางของเมือง Big Apple ในอะพาร์ตเมนต์ที่เต็มไปด้วยแผ่นเสียง ซีดี เทปคาสเซ็ท โน้ตเพลง แกรนด์เปียโนตัวเล็ก และดับเบิลเบส (double bass) เครื่องดนตรีอันเป็นที่รักของโอริน [1]
อย่างไรก็ดี โอรินปฏิเสธที่จะให้ถ่ายทำสารคดีนี้ถึง 10 ครั้ง ก่อนตกลงเมื่อเธอเกษียณจากวง New York Philharmonic ในปี ค.ศ. 2021 ช่วงการระบาดของโรคโควิด โอรินอาจไม่ใช่ผู้ที่ทุกคนรู้จักดี แต่ในหมู่นักดนตรีวงออร์เคสตราถือว่าเธอเป็นตำนาน เพราะเธอสามารถฝ่าฟันนักดนตรีเล่นดับเบิลเบสถึง 33 คนเข้ามาเล่นในวง New York Philharmonic ด้วยวัยเพียง 31 ปี และที่สำคัญเป็นนักดนตรีหญิงเพียงคนเดียวในวงที่ประกอบด้วยนักดนตรีชาย 102 คน ซึ่งมีลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) วาทยากรโด่งดังที่สุดในศตวรรษนี้เป็นผู้ควบคุมวง เบิร์นสไตน์ได้กล่าวถึงโอรินว่า “ฉันชื่นชมโอรินเพราะว่าเธอคือผู้มีเสน่ห์ในวงออร์เคสตรา เธอหมกมุ่นอยู่กับดนตรีอย่างสมบูรณ์ และเมื่อฉันมองไปที่เธอและเธอมองมาที่ฉันอย่างตั้งใจ ฉันประหลาดใจกับสมาธิของเธอ เพราะเธอรู้ทุกโน้ตของเสียงเบสทุกตัวในเนื้อเพลงด้วยใจ นี่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อราวกับปาฏิหาริย์” (as impossible as any miracle)
พ่อแม่ของ โอริน คือจอร์จ โอ ไบรอัน (George O'Brien) และมาร์เกอริต เชอร์ชิลล์ (Marguerite Churchill) เป็นดาราภาพยนตร์ที่โด่งดังในยุค 1930s และด้วยความเป็นลูกของดาราหนังที่โด่งดัง
เธอจึงทราบดีถึงชีวิตที่ต้องถูกสปอตไลต์ฉายแสงตลอดเวลา เมื่อพ่อแม่กำลังจะหย่าร้าง เธอค้นพบสิ่งที่จะช่วยปลดทุกข์ ด้วยการตกหลุมรักเสียงเพลงคลาสสิกของเบโธเฟน (BeeThoven) และคิดว่าเธอมีพรสรรค์เพียงพอที่จะแสดงออกผ่านเสียงดนตรีได้
เธออ่านหนังสือที่เกี่ยวกับดนตรีทุกเล่มในห้องสมุด และสมัครเข้าร่วมวงออร์เคสตราของโรงเรียน ซึ่งเหลือเพียงเครื่องเล่นดับเบิลเบสที่เพื่อน ๆ ต่างเมินหน้าหนี เพราะเป็นเครื่องเล่นสายแบบไวโอลินที่ใหญ่ นิ้วมือต้องแข็งแรง แถมต้องคอยอุ้มและนั่งเล่นอยู่ข้างหลังของวง ซึ่งผู้ชมมักจะไม่ค่อยได้เห็นแต่โอรินได้ใช้ความอดทน เพียรพยายามฝึกซ้อมกว่า 6 เดือนแบบไม่มีวันหยุด เธอกล่าวว่า “เล็บมือฉันขบ เจ็บ ต้องแช่น้ำเกลือ แต่ฉันไม่ท้อแท้ ไม่ยอมแพ้ จนถูกคัดเลือกเข้าร่วมวงในที่สุด” โอรินได้สานฝันตนเองสามารถเข้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนจูลเลียร์ด (Juilliard) โรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และกลายเป็นตำนานนักดนตรีหญิงดับเบิลเบส จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี ปรัชญาการใช้ชีวิตของโอรินเป็นหัวใจของสารคดีเรื่องนี้ เพราะโอรินได้เรียนรู้ชีวิตจริงจากพ่อแม่ที่ครั้งหนึ่งเคยโด่งดังอยู่ในสปอตไลต์ แต่เมื่อพ่อแม่อายุมากขึ้น ไม่มีใครเสนอให้พวกเขาเล่นหนังเหมือนเคย เธอจำได้ว่าพ่อของเธอนั่งรอเสียงโทรศัพท์ดังทั้งวัน หลังจากเสร็จสิ้นการรับราชการทหาร แต่เสียงโทรศัพท์ไม่ได้ดังขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความทุกข์ของครอบครัว
ที่มาของรูป: https://www.onlygirlintheorchestra.com/about
ปัจจุบัน โอริน โอ ไบรอัน มีอายุ 87 ปี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีกิจกรรมทำมากมาย ตั้งแต่สอนดับเบิลเบสให้กับลูกศิษย์ เต้นบัลเลต์ ไปจนถึงไปชมคอนเสิร์ตที่ชื่นชอบ และพึงพอใจกับบทบาทของเธอในวงออร์เคสตราในการเล่นเป็นตัวประกอบ เธอกล่าวว่า “ฉันชอบที่จะอยู่เบื้องหลัง การเล่นดับเบิลเบส ได้ยืนอยู่ข้างหลังวง เปรียบเสมือนกับได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของเรือดำน้ำที่ดังแซ่ซ้องตลอดเวลา เสียงดับเบิลเบส ที่ดังทึ่ม ๆ ช่วยให้เกิดความกลมกลืนและสมบูรณ์แบบ”
มอลลี่เข้าใจบุคลิกของโอริน จึงเป็นเหตุผลว่าทําไมเธอจึงไม่ลังเลที่จะยกย่องโอรินในสารคดี ในขณะที่โอรินไม่ชอบฟังคําชมมากมายเกี่ยวกับความสำเร็จหรือชีวิตของเธอ และไม่ต้องการให้ผู้ชม
เสียน้ำตาและเสียเวลาขายเรื่องราวสะอึกสะอื้น
มอลลี่กล่าวถึงเบื้องหลังของการถ่ายทำสารคดีนี้ว่า “ในวัยกลางคน ฉันมักถามตัวเองว่าเราควรทำอะไรต่อจากนี้ เพื่อเป็นมรดกทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จในอาชีพการงาน อาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราปรารถนากับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข แต่เมื่อได้รับทราบถึงเป้าประสงค์ของชีวิตของโอรินที่ทำในสิ่งที่ตนรัก ด้วยความมุ่งมั่น เพียรพยายาม สร้างความประทับใจให้ผู้คนตลอดห้าทศวรรษในฐานะหนึ่งในผู้เล่นดับเบิลเบสโดยไม่ได้มุ่งหวังชื่อเสียงและเงินทอง ฉันสรุปได้แล้วว่าเป้าหมายของชีวิตฉันต้องการอะไร” [3]
แหล่งที่มา:
[1] Marquitta, สารคดีเรื่อง "The Only Woman in the Orchestra" วาดภาพที่ซับซ้อนของตำนานดับเบิลเบส Orin O'Brien 8 ธันวาคม 2567 https://tcheronline.com/th/lifestyle/marquitta/zeitgeist/netflix-dokumentation-orin-obrien
[2] Vikas Yadav, ‘The Only Girl in the Orchestra’ Netflix Review - Wonder Woman, Marquitta Times, Wed, 04 Dec 2024 https://moviesr.net/p-the-only-girl-in-the-orchestra-netflix-review-wonder-woman#google_vignette
[3] The Only Woman in the Orchestra https://www.onlygirlintheorchestra.com/about