"...แทนที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะนำ ‘มรดกบาป’ ที่รัฐบาลพ่อบังเกิดเกล้าของตัวเองก่อเกิดขึ้น มาชำระสะสางให้เกิดประโยชน์ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดความคุ้มค่า กลับผลักดันโครงการบ้านเพื่อคนไทยขึ้นมาโดยใช้ที่ดินของ รฟท. และตีปี๊บว่า เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงความกระตือรือร้นที่จะผลักดันโครงการอย่างเต็มที่..."
เมื่อรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ชูโครงการบ้านเพื่อคนไทยโดยจะใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่มีอยู่กว่า 38,000 ไร่ทั่วประเทศดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม
สิ่งที่ผู้เขียนนึกถึงขึ้นมาทันทีคือ โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทยซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า เกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร มีการดำเนินดคีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
จนกระทั่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าของโครงการ 11 กระทง 99 ปี(จำคุกจริง 50 ปี)และพวกซึ่งโดนไปคนละหลายปี
โครงการบ้านเอื้ออาทรคือ ‘มรดกบาป’ของรัฐบาลทักษิณที่จนบัดนี้เวลาผ่านไปแล้ว 20 ปียังสะสางไม่เสร็จ รัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล(ยังไม่รวมที่ถูกพร่าผลาญไปกับการทุจริตอีกจำนวนมาก) ในการจัดซื้อที่ดินไปถึง 143 แปลงทั่วประเทศ ปัจจุบันที่ดินอยู่ในการครอบครองของการเคหะแห่งชาติ เหลืออยู่ 94 แปลง พื้นที่กว่า 4,500 ไร่
แทนที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะนำ ‘มรดกบาป’ ที่รัฐบาลพ่อบังเกิดเกล้าของตัวเองก่อเกิดขึ้น มาชำระสะสางให้เกิดประโยชน์ เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดความคุ้มค่า
กลับผลักดันโครงการบ้านเพื่อคนไทยขึ้นมาโดยใช้ที่ดินของ รฟท. และตีปี๊บว่า เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แสดงความกระตือรือร้นที่จะผลักดันโครงการอย่างเต็มที่
มีการมอบหมายให้ รฟท.และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่ง รฟท.ถือหุ้น 100 % นำที่ดินการรถไฟมาพัฒนา และเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนและห้องตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 คณะรัฐมตรี มีมติให้กระทรวงคมนาคมโดยเอสอาร์ที แอสเสทใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 166 ล้านบาทสำหรับ
1.ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ‘โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพ’โครงการนำร่อง
2.จ้างศึกษาความเป็นไปได้ การจ้างงานออกแบบแนวทางและรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE)โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพสูงต่อเนื่อง 22 โครงการ
แม้โครงการบ้านเพื่อคนไทยจะทำในนามรัฐบาล แต่มีสื่อมวลชนบางแห่งรายงานว่า เป็นความคิดหรือนโยบายของนายทักษิณ ชินวัตร จึงไม่น่าแปลกที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และบริษัทบริวาร จึงแสดงความกระตือรือร้นในการผลักดันโครงการนี้เป็นอย่างมาก
มีการกำหนดเป้าหมาย ก่อนหมดวาระรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2570 จะให้มีบ้านเพื่อคนไทยถึง 300,000 ยูนิต
ขณะที่โครงการบ้านเอื้ออาทร วางเป้าหมายไว้ที่ 600,000 ยูนิต แต่เกิดการทุจริตอย่างมโหฬารโดยมีการเรียกหัวคิวจากบริษัที่เข้าร่วมโครงการขั้นต่ำยูนิตละ 10,000 บาท จนโครงการล่มสลาย
แต่ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายจะมีเงินเข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจของโครงการนี้ นอกจากทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการกลบเกลื่อน ‘มรดกบาป’ของรัฐบาลทักษิณหรือไม่
ยังเกิดคำถามว่า การดำเนินการโครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
เริ่มจากวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ นำที่ดินของ รฟท.ริมทางรถไฟและสถานีรถไฟมาสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับสงเคราะห์ประชาชนเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยมีการเคหะแห่งชาติเป็นกลไกสำคัญ
แต่เนื่องจากรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้สังกัดพรรคเพื่อไทย ในทางการเมือง พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีทางโยนคะแนนเสียงและผลประโยชน์มหาศาลไปให้พรรคอื่นอย่างเด็ดขาด
เรื่องนี้ จึงเข้าทางนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และบริษัทบิวาร
แต่คำถามคือ กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสงเคราะห์ประชาชนหรือ?
ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 20 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงคมนาคม
ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสงเคราะห์ประชาชนเลย
แต่เมื่อจะดันทุรังก็อ้างว่า ได้มอบหมายให้ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็ต้องดูว่า กฎหมายให้อำนาจ รฟท.ในการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่
ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 9 บัญญัติ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) สร้าง ซื้อ จ้าง รับจ้าง จัดหา จำหน่าย แลกเปลี่ยน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อยืม ให้ยืม และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ
(2) ซื้อ จัดหา เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง อาศัย ให้อาศัย จำหน่าย แลกเปลี่ยน และดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ
(3) กำหนดอัตราค่าภาระการใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว
(4) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ
(5) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน ลงทุน ร่วมลงทุนหรือออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน
(6) รับส่งเงินทางรถไฟ
(7) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ
(8) ดำเนินกิจการโรงแรมและภัตตาคาร รวมตลอดถึงกิจการอื่นอันเป็นอุปกรณ์แก่
กิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร
(9) จัดบริการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ
(10) จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดดังกล่าวจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้
(11) เข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการรถไฟ
ยิ่งในมาตรา 6 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งการรถไฟยิ่งชัดเจนว่า จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ
แม้ตามกฎหมายจะให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการแต่ ก็ตีกรอบไว้ชัดเจนว่า เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการรถไฟและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ
ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจบริษัทลูกของ รฟท.ในการสร้างบ้านเพื่อสงเคราะห์ประชาชน แม้จะเป็นที่ดินของ รฟท.ก็ตาม
อาจจะมีการอ้างข้างๆคูๆว่า การพัฒนาที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ รฟท.ได้ประโยชน์และเป็นการสร้างความเจริญให้กับที่ดินบริเวณรอบๆสถานีรถไฟ
ต้องย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ตามเอกสารตามมติคณะรัฐมนตรีจะระบุชัดว่า เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง ไม่ใช่มุ่งเพื่อพัฒนาที่ดินของการรถไฟให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อกิจการรถไฟซึ่งมีหนี้สินอยู่หลายแสนล้านบาท
ตรงกันข้ามกลับนำที่ดินที่มีราคาสูงมาสร้างบ้านเพื่อจำหน่ายหรือให้เช่าระยะยาวในราคาถูก เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ทำให้ รฟท.สูญเสียประโยชน์มหาศาล ไม่สามารรถแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่หลายแสนล้านบาทได้
การตีความว่า การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามขอบวัตถุประสงค์ จะทำเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจมิได้นั้น คณะกรรมการกฎษฎีกาเคยตอบข้อหารือกับหน่วยงานของรัฐหลายครั้งว่า ไม่สามารถกระทำได้โดยต้องตีความอย่างเคร่งครัดพอสมควร แม้ดูเหมือนว่า การดำเนินการตามที่หารือจะเกี่ยวเนื่องกับกิจการของหน่วยงานรัฐนั้นก็ตาม ตัวอย่างเช่น บันทึกเรื่องเสร็จ 627/2544 และ 646/2559
ดังนั้น รัฐบาล น.ส.แพทองธารหรือนายสุริยะ จึงรุงเรืองกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อนุมัติให้มีการใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าวไปแล้ว อยากทำโครงการดังกล่าวต่อไปโดยไม่ยอมมอบให้หน่วยงานที่มีมีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการแล้ว
อยากแนะนำให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ชัดเจนก่อน
ถ้ายังดันทุรังเดินหน้าต่อไปในลักษณะนี้ ให้นึกถึงชะตากรรมของนายวัฒนา เมืองสุข ให้ดี