"...หลักฐานดีเอ็นเอได้ถูกนํามาใช้ในคดีอาชญากรรมเป็นครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1986 เมื่อพนักงานสอบสวนได้ขอความช่วยเหลือจากเซอร์เจฟฟรียส์ในคดีข่มขืนและฆาตกรรมสองครั้งของวัยรุ่นสองคน (Lynda Mann และ Dawn Ashworth) จากเมืองนาร์โบโรห์ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์เพียง 5 ไมล์ ซึ่งแม้ว่าอาชญากรรมจะห่างกันสองปีครึ่ง แต่ทั้งสองถูกข่มขืนและฆาตกรรมในลักษณะที่คล้ายคลึงกันระหว่างทางกลับจากโรงเรียน..."
ผมถือว่าเป็นคอดูหนังพันธุ์แท้คนหนึ่ง เพราะตอนเด็กมีโรงภาพยนตร์อยู่ใกล้บ้านนครปฐม เรียกว่ามีหนังดี ๆ ไม่เคยพลาด สมัยก่อนหากเป็นหนังฝรั่งจะมีคนคอยพากย์แบบสด ๆ อยู่ชั้นบนฟังไปแบบไม่ทราบว่าแปลถูกหรือไม่ แต่ทราบว่าคนพากย์ใส่อารมณ์สุด ๆ ทำให้หนังที่ไม่สนุก กลับสนุกได้ แต่พอโตขึ้นกล้าหาญพอที่จะเข้าไปดูในโรงที่ฟังเสียงในฟิล์ม ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ดังนั้นการดูหนังหรือภาพยนตร์จึงเป็นกิจกรรมที่ผมพลาดไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้
ยิ่งปัจจุบันสามารถดูภาพยนตร์ผ่านช่องทางสตรีมมิ่งได้ เลยไม่ได้เข้าไปดูในโรงภาพยนตร์บ่อยเหมือนแต่ก่อน เพราะกลัวคนในโรงจะทักเป็นคุณลุง (ยกเว้นหนังรางวัลออสการ์ จึงจะแวะเวียนเข้าไปดูบ้าง) อย่างไรก็ดี หลังเกษียณผมต้องหักห้ามใจไม่ดูภาพยนตร์แบบก้นติดโซฟา ไม่ดูแบบหนังซีรีส์ 7 ตอน รวดเดียวจบแบบทั้งวันไม่ลุกไปไหน จึงกำหนดเป็นกติกาไว้ในใจว่า วันหนึ่งให้เวลาดูหนังไม่เกิน 1 เรื่อง จากนั้นต้องทำกิจกรรมอื่นที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ โดยเฉพาะการออกกำลังกายและอ่านหนังสือ
สำหรับประเภทหนังที่ผมชอบดูนั้น ดูได้หมดตั้งแต่หนังรักโรแมนติก หนังผจญภัย หนังไซไฟ หนังตลก หนังอาชญากรรม (ยกเว้นหนังผี) แต่หากถูกต้อนถามว่าชอบหนังประเภทไหนเป็นพิเศษ
คงต้องสารภาพว่าหนังอาชญากรรมประเภทสืบสวนสอบสวน เริ่มจากหนังของเชอร์ล็อคโฮล์มส์ที่พยายามไขเงื่อนงำจากการไต่สวนพยานและหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เรียกว่าใช้การสังเกตและทักษะด้านการประมวลเหตุและผลในการคลี่คลายคดี แต่หนังอาญาชกรรมในช่วงหลัง ๆ เริ่มสลับซับซ้อนขึ้น มีเงื่อนงำที่ต้องไขปริศนา คาดเดาไม่ได้ มีการใช้เทคนิคต่าง ๆ มาช่วยในการสืบสวนสอบสวน ตั้งแต่การสเก็ตช์ภาพคนร้าย รอยนิ้วมือ ไปจนถึงภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่สุดคือ การนำดีเอ็นเอ (DNA) มาใช้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้เปลี่ยนโฉมกระบวนการสืบสวนสอบสวนในช่วงเพียงไม่ถึงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ผมพยายามหาคำอธิบายง่าย ๆ ว่า ดีเอ็นเอคืออะไร แต่ก็ไม่ค่อยง่ายนัก DNA ย่อมาจาก deoxyribonucleic acid เป็นสารพันธุกรรมที่พบในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ข้อมูลนี้รวมถึงลักษณะทางกายภาพ ลักษณะนิสัย และโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้น ดีเอ็นเอส่วนใหญ่อยู่ในรูปโครโมโซม (chromosome) วางตัวอยู่ในส่วนนิวเคลียส (nucleus) ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ในมนุษย์จะมีดีเอ็นเอที่คล้ายคลึงกันร้อยละ 20 และอีกร้อยละ 80 จะเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งดีเอ็นเอสามารถค้นพบได้ในเซลล์มนุษย์เกือบทุกส่วนของร่างกาย (ยกเว้นในเม็ดเลือดขาว) [1]
การค้นพบถือเป็นเรื่องบังเอิญ เกิดขึ้นตอนเช้าวันจันทร์ที่ 10 กันยายน ปี ค.ศ. 1984 เวลา 9:05 น. เมื่อเซอร์อเล็ค เจฟฟรียส์ (Sir Alec Jeffreys) นักพันธุศาสตร์ชาวอังกฤษและทีมงานแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ที่กำลังศึกษาวิจัยถึงที่มาของโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ได้ทำการสกัดดีเอ็นเอจากเซลล์และใช้ฟิล์มเพื่อพัฒนาออกมาเป็นภาพถ่าย ซึ่งเมื่อยืดภาพนั้นออกมา ปรากฏว่ารูปที่ออกมาเป็นเหมือนบาร์โค้ด และที่สำคัญคือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน เซอร์เจฟฟรียส์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “รูปแบบเหล่านี้เป็นแบบเฉพาะบุคคลและดูเหมือนจะสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัว นั่นเป็นช่วงเวลาค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ที่แท้จริงโดยไม่ได้นัดหมาย (Eureka Moment) เพราะจู่ ๆ เราสามารถค้นพบวิธีการระบุตัวตนด้วยดีเอ็นเอ” หลังจากนั้นไม่นาน เซอร์เจฟฟรียส์ได้นำดีเอ็นเอมาช่วยพิสูจน์ตัวตนของผู้อพยพ โดยจับคู่เด็กชายกับพ่อแม่ผู้ให้กําเนิดผ่านดีเอ็นเอเพื่อให้พวกเขาได้รับสัญชาติอังกฤษ [2]
หลักฐานดีเอ็นเอได้ถูกนํามาใช้ในคดีอาชญากรรมเป็นครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1986 เมื่อพนักงานสอบสวนได้ขอความช่วยเหลือจากเซอร์เจฟฟรียส์ในคดีข่มขืนและฆาตกรรมสองครั้งของวัยรุ่นสองคน (Lynda Mann และ Dawn Ashworth) จากเมืองนาร์โบโรห์ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์เพียง 5 ไมล์ ซึ่งแม้ว่าอาชญากรรมจะห่างกันสองปีครึ่ง แต่ทั้งสองถูกข่มขืนและฆาตกรรมในลักษณะที่คล้ายคลึงกันระหว่างทางกลับจากโรงเรียน
ตํารวจได้นำอสุจิของของริชาร์ด บัคแลนด์ (Richard Buckland) วัย 17 ปี ผู้ต้องสงสัยมาให้เซอร์เจฟฟรียส์พิสูจน์ดีเอ็นเอ ว่าตรงกับที่พบในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ ซึ่งเซอร์เจฟฟรียส์ได้กล่าวว่า “ช่วงเวลานั้น ผมรู้สึกหนาวเยือกเย็น ไม่คาดคิดว่าการวิจัยของผมจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโลกของนิติวิทยาศาสตร์” แต่ผลการทดสอบปรากฏว่าดีเอ็นเอกลับไม่ตรงกัน ส่งผลให้บัคแลนด์ได้รับการปล่อยตัว และคลายข้อสงสัยในตัวเขา แต่ท้ายสุดฆาตกรตัวจริงถูกจับได้ในอีก 1 ปีต่อมา เมื่อคนใกล้ชิดของโคลิน พิทช์ฟอร์ก (Colin Pitchfork) ได้หลุดปากสารภาพกับเพื่อนในผับว่า เขาได้ให้ตัวอย่างเลือดตนเองสำหรับการทดสอบดีเอ็นเอแทนของพิทช์ฟอร์กเมื่อตำรวจทราบเรื่องนี้ พวกเขาจึงได้เรียกพิทช์ฟอร์กมาสอบปากคํา เขาสารภาพว่าก่ออาชญากรรมเกือบจะในทันที และการตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าเขาเป็นผู้กระทําความผิดจริง ถือเป็นคดีแรกของโลกที่ศาลได้นำผลการตรวจสอบดีเอ็นเอมาใช้เป็นหลักฐานในการพิพากษา
หลังจบคดีดังกล่าว นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้นําเทคนิคใหม่นี้ไปใช้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศมีการพัฒนาให้ผลการทดสอบรวดเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาเป็นสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่วินาที รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ก่ออาชญากรรมไว้เป็นถังข้อมูลในการตรวจสอบ เก็บไว้เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
รูปแบบของการนำดีเอ็นเอมาใช้ทางนิติวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนามาถึงจุดที่เรียกว่า “เจเนติค ยีเนียโลยี” (genetic genealogy) ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบดีเอ็นเอซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมแล้วนำมาสอบหาเครือญาติที่มีดีเอ็นเอตรงกันย้อนกลับไปเป็นหลายชั่วอายุคนตามหลักวิชาการด้าน “วงศาวิทยา” ซึ่งนำมาสู่การไขปริศนาของคดีที่สืบหาฆาตกรไม่ได้ร่วมทศวรรษ อย่างเช่น คดี “โกลเดน สเตท คิลเลอร์” ที่โด่งดังตั้งแต่ยุค 1970 ได้นำเทคนิคนี้มาชี้ไปที่ตัวฆาตกรในข้อหาทำฆาตกรรมต่อเนื่องอีก 12 ราย กับข่มขืนกระทำชำเราเหยื่ออีก 45 ราย ด้วยการสืบลำดับวงศาคณาญาติจากข้อมูลทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ [3]
เหตุที่วิธีการสืบสวนย้อนหาวงศ์ญาติด้วยดีเอ็นเอ สามารถทำได้ในสหรัฐอเมริกาเป็นเพราะในสหรัฐฯ มีเว็บไซต์อย่าง “จีอีดีแมตช์” (GED Match) เป็นเว็บไซต์ให้บริการสืบค้นหาวงศาคณาญาติด้วยข้อมูลทางพันธุกรรม ดีเอ็นเอ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีบริการนี้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลและการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
เรื่องราวของดีเอ็นเอยังคงมีสิ่งที่น่าติดตามอีกเยอะ การทดสอบไม่เพียงแต่สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้ร้ายได้ แต่ยังสามารถพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดไปแล้ว ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ได้ช่วยให้ผู้ต้องหาถึง 35 คนที่ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินประหารชีวิตได้ถูกปล่อยตัวจากการพิสูจน์ผ่านกระบวนการดีเอ็นเอ
การดูภาพยนตร์นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถต่อยอดหาความรู้ได้ อย่างเช่นเรื่องราวของการค้นพบดีเอ็นเอเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ข้างต้นครับ
แหล่งที่มา:
[1] ห้องปฏิบัติการ ดีเอ็นเอ เทคโนโลยี https://dnatec.kps.ku.ac.th/article-7.php
[2] Sofia Quaglia, The Evolution of DNA Forensics and Its Impact on Solving Crimes, Discover Magazine, Oct 26, 2023 8:00 p.m. https://www.discovermagazine.com/the-sciences/the-evolution-of-dna-forensics-and-its-impact-on-solving-crimes
[3] ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ สะพานแห่งกาลเวลา: ดีเอ็นเอ กับ ยีเนียโลยี มติชนออนไลน์ วันที่ 17 มิถุนายน 2562 เวลา 13:00 น . https://www.matichon.co.th/columnists/news_1541449