"...ในการประเมินดัชนีคอร์รัปชันโลก (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มี 7 ใน 9 แหล่งข้อมูลที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสินบน ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤตนี้เป็นปัญหาที่คนไทยและต่างชาติมองเห็นร่วมกัน ดังนั้นหากหยุดการเรียกรับสินบนไม่ได้ก็ยากที่ไทยเราจะก้าวทันโลก..."
พฤติกรรมเรียกรับสินบนในบทความนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน วัด มหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
เหตุผล 4 ประการ ที่ทำให้คนยอมจ่ายสินบน
ใครก็อาจกลายเป็นผู้จ่ายสินบนได้ ทั้งชาวบ้าน พ่อค้า นักธุรกิจใหญ่ ชาวไทยและต่างชาติ นักธุรกิจทั้งสีเทาและสีดำ บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองก็ต้องจ่าย หากต้องการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งหรือขอให้หาทางช่วยลดโทษหรือพ้นผิด
คนจ่ายสินบนมีทั้งที่ “ตั้งใจจ่าย สมประโยชน์ และจำยอม” แยกได้ดังนี้
1. ซื้อความสะดวกเมื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เช่น ลัดคิว ลดปัญหาวุ่นวายในการเตรียมเอกสารให้ครบ
2. พ้นผิดจากการกระทำ เช่น ทำผิดกฎจราจร พวกฮั้วประมูลงานรัฐ บริษัทใช้แรงงานผิดกฎหมาย
3. แลกกับอภิสิทธิ์บางอย่าง เช่น การได้สัมปทานของรัฐแบบง่ายๆ ในราคาต่ำ
4. ความปลอดภัยจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ตนไม่ได้ทำผิดอะไรเลย
ตัวอย่างข้อที่ 4 คือ กรณีคนต่างด้าวทั้งผู้ใช้แรงงานและพ่อค้าแม่ค้าในหลายจังหวัดชายแดนร้องเรียนผ่านองค์กรระหว่างประเทศว่า พวกเขาต้องส่งส่วยรายเดือนด้วยความกลัว ให้กับตำรวจท้องที่และตรวจคนเข้าเมืองบางกลุ่ม ที่คอยจ้องจับผิดและกลั่นแกล้งไม่ว่าจะมีเอกสารอนุญาตจากทางการไทยถูกต้องหรือไม่ก็ตาม
เงินซื้อได้ทุกอย่าง!!
เราอาจจำแนกที่มาหรือแหล่งกำเนิดอำนาจให้เกิดการเรียกรับสินบน ดังนี้
1. สินบนในการออกใบอนุญาตอนุมัติ
2. สินบนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
3. สินบนในการแต่งตั้งโยกย้าย
4. สินบนจากการบังคับใช้หรือไม่บังคับใช้กฎหมาย หรือใช้เครื่องแบบไปข่มขู่ประชาชน เช่น ตำรวจ เทศกิจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง แรงงาน อาหารและยา ขนส่งทางบก ทรัพย์สินทางปัญญา
5. สินบนในกระบวนการยุติธรรม
6. สินบนในการใช้อำนาจบริหารจัดการ เช่น การดึงเรื่องให้ล่าช้าหรือเร็วกว่าปรกติ
อนึ่ง สังคมไทยยังมีสินบนที่ไม่เป็นความผิดคือ “สินบนรางวัลนำจับ” ตามกฎหมาย และสินบนที่หมายถึงสิ่งของหรือการกระทำบางอย่างที่คนบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนกลับมา ประเภทหลังนี้ฟังดูเหมือนการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐที่เรากำลังกล่าวถึง
คนรับมีอัตราที่กำหนดไว้ คนจ่ายก็มีตัวเลขในใจ
ในกรณีที่ประชาชนไปติดต่อราชการ เงินสินบนที่ต้องจ่ายมักถูกเรียกตามกรอบ “อัตราสินบน” ที่ถูกกำหนดไว้โดยเจ้าหน้า เช่น บริษัทชิปปิ้งเมื่อไปเดินเรื่องที่กรมศุลกากร คนทำหมู่บ้านจัดสรรไปยื่นเรื่องที่สำนักงานที่ดิน คนซื้อขายรถยนต์มือสองไปทำนิติกรรมที่ขนส่งทางบก คนเหล่านี้ต่างรู้ดีว่าเรื่องไหนต้องจ่ายเท่าไหร่ จ่ายโต๊ะไหน จ่ายอย่างไร เป็นต้น
ในหลายกรณี “การเจรจา” จะเป็นตัวกำหนดมูลค่าสินบน เช่น ตำรวจจราจรอาจเรียกเงิน 100 – 1,000 บาท แต่หากเป็นเมกะโปรเจคหรือคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ผู้จ่ายหวังได้ลาภก้อนใหญ่ ต้องอาศัยสายสัมพันธ์กับนักการเมืองที่มีอำนาจมาก กรณีเช่นนี้ย่อมต้องแลกด้วยสินบนมูลค่ามหาศาล
น่าแปลกใจที่คนจ่ายมักมีตัวเลขในใจว่าควรจ่ายเท่าไหร่ โดยรู้จากประสบการณ์หรือข้อมูลที่สอบถามมา
การหยิบยื่นสินบน
โดยปรกติต้องจ่ายเป็นเงินสด มีบ้างที่จ่ายเป็นทอง อัญมณี พระเครื่อง ซื้อทัวร์ให้ไปเที่ยวต่างประเทศแถมเงินติดกระเป๋า ระยะหลังนิยมให้สินค้าแบรนด์เนม หุ้นของบริษัท จ่ายเป็นเงินคริปโต ฯลฯ
หากต้องโอนเงินทางธนาคารในประเทศมักทำผ่านบัญชีม้า ถ้าเป็นเงินจำนวนมากก็โอนเข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศ โดยชื่อผู้รับโอนเงินอาจเป็นคนในครอบครัว ภรรยาน้อย หรือหน้าม้านอมินี
ที่น่าสนใจคือ ข่าวที่ระบุว่านักการเมืองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันด้วยการแต่งตั้งให้คนของอีกฝ่ายมีตำแหน่งทางการเมืองหรือในหน่วยงานของรัฐได้อีกด้วย
บทส่งท้าย
ในการประเมินดัชนีคอร์รัปชันโลก (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มี 7 ใน 9 แหล่งข้อมูลที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสินบน ซึ่งสะท้อนว่าวิกฤตนี้เป็นปัญหาที่คนไทยและต่างชาติมองเห็นร่วมกัน ดังนั้นหากหยุดการเรียกรับสินบนไม่ได้ก็ยากที่ไทยเราจะก้าวทันโลก
ท่านผู้อ่านคิดว่า “คนไทยไม่ยอมจ่ายสินบนทุกกรณี เป็นไปได้ไหมครับ?”
เชิญอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินบน ตามลิ้งค์
1. ส่วย: เงินบาปจากความทุกข์และความหวัง https://isranews.org/article/isranews-article/123941-bribe-2.html
2. เบื้องหลังตัวเลขคดีสินบนที่ดูน้อยกว่าความจริง https://www.isranews.org/article/isranews-article/133086-mana-50.html
3. เงินคอร์รัปชันมีมากแค่ไหนในแต่ละปี https://www.isranews.org/article/isranews-article/124603-Mana-3.html
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
12 พฤศจิกายน 2567