"...หลายคนที่เห็นว่าจ่ายแล้วสบายใจ อย่างน้อยก็ไม่ถูกคุกคามจากผู้ใดหรือได้รับการคุ้มครองบางประการตามตกลง การปฏิเสธจ่ายส่วยต่างหากที่ยุ่งยาก เพราะนอกจากต้องทำถูกต้องทุกอย่างทุกเวลาแล้ว ยังต้องอาศัยความกล้าด้วย..."
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “ส่วย” จะถูกเรียกให้ดูดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็น “ค่าดูแล ค่าธรรมเนียม ค่าช่วยเหลือ ค่าอำนวยความสะดวก ค่าเร่งเวลา” เพราะคำเหล่านี้นอกจากทำให้คนทั่วไปสับสนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายหรือศีลธรรม แต่เป็นการจ่ายเพื่อแลกกับการช่วยเหลือตามที่ประชาชนต้องการ และใครเขาก็จ่ายกันเป็นเรื่องปรกติ
คำลวงโลกเหล่านี้ยังช่วยลดบาปในใจของเขาเมื่อรับเงินที่รีดไถคดโกงมา ซึ่งมนุษย์ทุกคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องชั่วช้าน่าละอาย ไร้เกียรติสิ้นศักดิ์ศรี
ด้านคนจ่ายส่วยก็มิได้ทำเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเสมอไป บ้างก็หวังว่าจะช่วยให้ตนหลุดจากปัจจัยแวดล้อมแย่ๆ เช่น ความยุ่งยาก ภาระ ต้นทุน หรือมีข้อเท็จจริงที่การทำถูกกฎหมายไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ที่ทำให้เอกชนอยู่ในสภาพไม่ถูกทั้งหมด ไม่ถูกตลอดเวลา เช่น นายจ้างจำต้องจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเพราะแรงงานเคลื่อนย้ายบ่อย จึงทำเรื่องขอไม่ทันหรือไม่ใช่ช่วงเวลาที่ทางการเปิดให้ยื่นเรื่อง และบ่อยครั้งแม้มีเอกสารถูกต้องก็โดนกลั่นแกล้งอยู่ดีหากไม่จ่ายส่วย
หลายคนที่เห็นว่าจ่ายแล้วสบายใจ อย่างน้อยก็ไม่ถูกคุกคามจากผู้ใดหรือได้รับการคุ้มครองบางประการตามตกลง การปฏิเสธจ่ายส่วยต่างหากที่ยุ่งยาก เพราะนอกจากต้องทำถูกต้องทุกอย่างทุกเวลาแล้ว ยังต้องอาศัยความกล้าด้วย (“ส่วยชายแดน มานุษยวิทยากับการศึกษาคอร์รัปชัน” ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2564)
สองคำที่คุ้นเคยแต่แตกต่าง..
ส่วยและสินบน หมายถึงทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่โดนบังคับให้จ่ายเพื่อแลกกับการทำหรือไม่ทำอะไรอย่างผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีข้อแตกต่างอยู่บ้างคือ
“ส่วย” จ่ายต่อครั้งไม่มากนักแต่ต้องจ่ายหลายครั้งตามวงรอบที่ตกลงกัน เช่น รายเดือน รายสัปดาห์ รายเที่ยวหรือจ่ายทุกครั้งที่ผ่านสถานที่นั้น บางครั้งส่วยอาจหยุดจ่ายช่วงสั้นๆ เมื่อถูกจับตาตรวจสอบแล้วกลับมาจ่ายใหม่ หากเงื่อนไขการบังคับใช้อำนาจหรืออิทธิพลนั้นยังคงอยู่
“สินบน” จ่ายหนักกว่าแต่ชัดเจนว่าจ่ายวันนี้ เท่านี้ แล้วเรื่องจบได้ เช่น จ่ายเมื่อถูกจับเพราะขับรถเร็ว
ในสายตานักลงทุนและชาวต่างชาติ เมืองไทยเรายังมีปัญหา “จ่ายแต่ไม่จบ” สร้างความเอือมระอาน่าหวาดกลัวแก่คนที่ไม่คุ้นเคย คือจ่ายให้คนหนึ่งแล้ว ยังต้องจ่ายให้คนจากหน่วยงานอื่นอีก ซ้ำร้ายเมื่อมีคนใหม่ย้ายมานั่งตำแหน่งแทนก็เรียกร้องให้จ่ายอีกครั้ง
เครื่องมือที่ใช้ในการข่มขู่/รีดไถ..
1.ใช้อำนาจตามกฎหมาย
1.1 แสดงตนชัดเจนว่าจะเล่นงานเหยื่อด้วยกฎหมายอะไร บทลงโทษอย่างไร โดยมากมักข่มขู่เกินจริงให้เหยื่อหวาดกลัว ประเมินไม่ถูกว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ควรสู้หรือไม่และถ้ายอมควรจ่ายแค่ไหน หากพอรับได้ก็รีบจ่ายตัดปัญหาไป
1.2 สร้างขบวนการที่รู้กันทั่ววงการ มีช่องทางติดต่อและมีอัตราที่ต้องจ่ายชัดเจน เช่น ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ส่วยสถานบันเทิง แหล่งการค้าคนต่างด้าว บ่อน ซ่อง วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ
2. รีดไถเอาโดยข่มขู่คุกคามให้เหยื่อกลัวด้วยอิทธิพลหรือตำแหน่งในราชการ
ปัจจัยที่ทำให้ส่วยคงอยู่..
1.ความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อยของนโยบายและกฎระเบียบ ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากขึ้น แต่ชาวบ้านตามไม่ทันแถมงุนงงสงสัยมากขึ้น
2.ส่วยมีวงจร “ยาว” กล่าวคือ คนเก็บส่วยนอกจากทำเพื่อตนเองแล้วยังอาจต้องแบ่งให้คนอื่นด้วย ทั้งที่อยู่หน่วยงานเดียวกันและต่างหน่วยงาน บ่อยครั้งที่เหยื่อรายหนึ่งต้องจ่ายส่วยให้คนหลายหน่วยงาน เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่อื่นที่รู้เห็นเหตุการณ์เกรงกลัว เกรงใจ ไม่อยากยุ่ง ไม่กล้าทำสิ่งถูกต้อง บ้างก็กลัวโดนย้อนศร จึงเลือกที่จะอยู่ทางใครทางมันปลอดภัยกว่า
3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเคยชินกับการไม่แก้ปัญหา จนชาวบ้านจำยอมแล้วนิ่งเฉย
3.1 ปฏิเสธความจริงจึงไม่เกิดการแก้ไข เช่นกรณีรถบรรทุกดินตกหลุมก่อสร้างยักษ์ย่านสุขุมวิทซอย 64/1 สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ยืนยันว่ารถคันนั้นติดสติ๊กเกอร์ส่วย แต่ตำรวจปฏิเสธว่าตรวจสอบแล้วไม่มีส่วย (ทำนองเดียวกับตรวจไม่พบการค้าประเวณีในสถานอาบอบนวด)
3.2 ขาดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหา เช่น ผู้ว่าฯ ขอให้กรมการขนส่งทางบกนำตาชั่งเคลื่อนที่มาดักจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หากตรวจพบก็สั่งลงโทษไซ้ต์งานก่อสร้างที่รถคันนั้นวิ่งเข้าออก ตำรวจดำเนินคดีกับเจ้าของและคนขับรถบรรทุกคันนั้น เป็นต้น
3.3 พฤติกรรมลูบหน้าปะจมูก เช่น สั่งย้ายผู้เกี่ยวข้อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันเอง สอบแบบยาวนานพอเรื่องเงียบก็ไกล่เกลี่ยจบเรื่องไป ไม่มีการลงโทษ ไม่มีมาตรการแก้ไขตามมา ไม่เก็บข้อมูลไม่แสดงสถิติ
3.4 โยนให้เป็นหน้าที่องค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. ที่มีงานเยอะ ขั้นตอนมาก ใช้เวลานาน เต็มไปด้วยความลับ
เพื่อตัดตอนมิให้สาวเส้นทางไปดำเนินคดีกับตัวบงการได้ ทุกวันนี้ขบวนการส่วยมักใช้คนนอก ลูกจ้าง หรือให้คนในกลุ่มเหยื่อเองเดินเก็บรวบรวมส่วย นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี่ เช่น ตั้งกลุ่มไลน์ของเหยื่อเพื่อควบคุมและทวงให้จ่ายเงิน มีการโอนเงินผ่านบัญชีม้า ทำให้ขยายจำนวนเหยื่อได้มาก ทำงานง่าย เจ้านายและคนในขบวนการตรวจเช็คยอดเงินสะดวก
บทสรุป
ส่วยเป็นพฤติกรรมผิดกฎหมายที่เดินคู่ขนานกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่ายเพื่อปกป้องและส่งเสริมกัน การจับกุมหรือโยกย้ายคนผิดจึงไม่มีทางกำจัดให้สิ้นไปได้ เพราะระบบและสภาพแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้คนใหม่ที่ย้ายมาแทนทำสิ่งชั่วร้ายต่อไป
การลงโทษนอกจากทางอาญาแล้ว ยังต้องใช้มาตรการทางวินัยและปกครองต่อผู้กระทำผิดและผู้บังคับบัญชาด้วย หัวใจคือต้องแก้ปัญหาระยะยาวที่รากของปัญหา เช่น จำกัดการใช้อำนาจและดุลยพินิจ สร้างระบบงานและวิถีปฏิบัติให้โปร่งใสตรวจสอบได้ ใช้เทคโนโลยี่ ลดเงื่อนไขที่ประชาชนต้องเข้าพบเจ้าหน้าที่ และใส่ใจทุกเรื่องร้องเรียนของประชาชน
คนจ่ายส่วยจะเป็นเพราะจำยอมหรือหวังประโยชน์พึ่งพาก็ตาม ความรู้สึกถูกกดขี่เอาเปรียบที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความทุกข์ เป็นต้นทุนและความเสี่ยงที่ทุกคนและประเทศชาติต้องแบกรับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
20 พฤศจิกายน 2566