"...คดีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้คงต้องรอคำตัดสินจากศาลของแต่ละเมืองและไม่ว่าผลของการตัดสินของศาลจะออกมาในแนวทางใด อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้ออกมาส่งเสียงถึงแพลตฟอร์มต่อการละเลยการตรวจสอบและปิดกั้นคอนเทนต์ที่หลอกลวงนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมรับเพราะไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา ผลการตัดสินของศาลญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นสามารถที่นำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทยซึ่งเกิดคดีหลอกลวงที่คล้ายคลึงกันมากมายได้เช่นกัน..."
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวชิ้นหนึ่งจากญี่ปุ่นที่ถูกนำมาเผยแพร่ทั่วไปอย่างกว้างขวางทั้งสื่อไทยและสื่อเทศ เมื่อเหยื่อชาวญี่ปุ่นที่ถูกหลอกลงทุน 30 ราย รวมตัวกันยื่นฟ้อง บริษัท Meta ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม โดยโจทย์อ้างว่าบริษัท Meta ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้ชื่อและรูปเซเลบโฆษณาบนแพลตฟอร์มโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อนุญาต หลอกลวงให้ลงทุนทำให้เหยื่อหลงเชื่อและสร้างความเสียหายมูลค่าราว 435 ล้านเยนหรือเกือบ 96 ล้านบาท โดยโจทย์ให้ทีมทนายความเป็นตัวแทนยื่นฟ้องต่อศาลในเมือง ไซตามะ ชิบะ โยโกฮามา โอซากา และโกเบ (1)
ข่าวการหลอกลวงลงทุนออนไลน์จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ลามไปทุกหนทุกแห่งที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเข้าถึง แต่สิ่งที่แตกต่างจากที่เคยเห็นในบ้านเราคือ ครั้งนี้ผู้ถูกฟ้องเป็นบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่ถูกผู้เสียหายรวมตัวกันยื่นฟ้องโดยตรง เพราะปล่อยให้มิจฉาชีพเข้ามาใช้ประโยชน์โดยแพลตฟอร์มไม่สามารถ ตรวจสอบ คัดกรองและปิดกั้นคอนเทนต์จากมิจฉาชีพได้ จนทำให้เหยื่อหลงเชื่อและสูญเงินไปคนละไม่น้อย ทั้งที่เหตุการณ์หลอกลวงลักษณะนี้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มมาแล้วหลายต่อหลายแห่งรวมทั้งเมืองไทยด้วย แต่แพลตฟอร์มยังไม่สามารถทำให้พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้
ทีมทนายของผู้ฟ้องกำลังเดินทางไปยื่นฟ้องบริษัท Meta ที่ศาลเมืองโอซากา
ความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม
สิ่งที่สังคมไทยมักไม่ค่อยพูดถึงคือความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มต่อการตรวจสอบ กลั่นกรองและปิดกั้นข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังหรือแม้แต่ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆนานาที่ถูกสร้างและเผยแพร่อยู่ดาษดื่นบนแพลตฟอร์มจนทำให้ผู้คนหลงเชื่อและนำไปสู่ความเสียหายหลากหลายรูปแบบจนอาจพูดได้เต็มปากว่าแพลตฟอร์มล้มเหลวในการตรวจสอบและจัดการต่อข้อมูลอันตรายที่ตัวเองนำไปเผยแพร่อย่างสิ้นเชิง
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมักอ้างเสมอว่าตัวเองแค่เป็นคนกลางในการส่งต่อข่าวสาร ความรับผิดชอบทั้งหมดต้องตกอยู่กับผู้ใช้ปลายทางแต่ฝ่ายเดียว แพลตฟอร์มจึงมักลอยตัวจากปัญหาทั้งปวงและปล่อยให้หน่วยงานของแต่ละประเทศแก้ไขปัญหากันเองซึ่งไม่มีทางสำเร็จหากไม่กำจัดปัญหาจากแพลตฟอร์มซึ่งเป็นแหล่ง รับ เผยแพร่และกระจายข้อมูลตั้งแต่ต้น
แม้ว่าแพลตฟอร์มเองมีกฎที่กำหนดขึ้นเพื่อจัดการต่อคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น มีความตั้งใจในการรับมือกับ คอนเทนต์ที่คุกคามผู้อื่น การละเมิดสิทธิผู้คนและความแปลกปลอมรูปแบบต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติ มาตรการของแพลตฟอร์มที่ผ่านมานั้นไม่เคยได้ผล จนถึงขั้นเคยมีการกล่าวหาว่า “ แพลตฟอร์ม Meta Reddit และ 4 chan ทำมาหากินจาก การเหยียดผิว (Racist) การต่อต้านยิว (Antisemitic) และจากความรุนแรงต่างๆนานา เพื่อเรียกยอดผู้ชม(User engagement) ” (2) และคอนเทนต์เหล่านี้คืออาหารอันโอชะของแพลตฟอร์มที่ดึงดูดให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนานที่สุดเพื่อผลกำไรของบริษัท ซึ่งหากพูดกันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วข้อกล่าวหานี้ไม่ได้เกินความเป็นจริงเลย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก การฟ้องร้องบริษัท Meta โดยผู้เสียหายชาวญี่ปุ่นได้สะท้อนถึงความเป็นจริงในโลกโซเชียลที่ไม่อาจปฏิเสธได้
คดีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้คงต้องรอคำตัดสินจากศาลของแต่ละเมืองและไม่ว่าผลของการตัดสินของศาลจะออกมาในแนวทางใด อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้ออกมาส่งเสียงถึงแพลตฟอร์มต่อการละเลยการตรวจสอบและปิดกั้นคอนเทนต์ที่หลอกลวงนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมรับเพราะไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา ผลการตัดสินของศาลญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นสามารถที่นำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทยซึ่งเกิดคดีหลอกลวงที่คล้ายคลึงกันมากมายได้เช่นกัน
สื่อแบบเดิม vs สื่อโซเชียล
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสื่อแบบเดิมกับโซเชียลมีเดียคือ คุณภาพของผลลัพธ์ที่ปรากฎต่อสายตาผู้คน เพราะขณะที่ข่าวสารแบบเดิมถูกผลิตด้วย ความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผ่านการกลั่นกรอง ควบคุมคุณภาพ สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้เขียนและแหล่งข่าวได้ เป็นการผลิตข่าวสารที่มีการ “ตรวจสอบล่วงหน้า”(Editorial review) ก่อนเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่าน ในขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มอาจจะมีการตรวจสอบล่วงหน้าอยู่บ้าง แต่ด้วยปริมาณทราฟฟิกอันมหาศาลของข้อมูลบนแพลตฟอร์มบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆจึงมักให้ผู้สร้างคอนเทนต์ปล่อยคอนเทนต์ออกมาก่อนและใช้วิธี “ตรวจสอบภายหลัง” โดยใช้พนักงานตรวจสอบที่เรียกกันว่า Moderator หรือใช้กลไกอัตโนมัติรายงานความผิดปกติ (Automatic detection)หรือให้ผู้ใช้บริการเองเป็นผู้รายงาน(Flagging) เมื่อตรวจพบคอนเทนต์ที่อาจละเมิดกฎและไม่เหมาะสมและบางแพลตฟอร์มอาจใช้ตัววัดอื่นๆร่วมด้วย เช่น จำนวนยอด Like Dislike Upvote และ Downvote เป็นต้น
การตรวจสอบคอนเทนต์จากคนร้อยพ่อพันแม่นับล้านๆคนเป็นเรื่องที่ยาก เพราะนอกจากต้องลงทุนทำให้ระบบอัตโนมัติทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้วการจ้างแรงงานมนุษย์จำนวนมากที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบควบคู่กันจะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลซึ่งคงไม่มีแพลตฟอร์มรายใดเต็มใจอยากลงทุนกับมนุษย์จำนวนมากอีกต่อไป ระบบอัตโนมัติสำหรับการคัดกรองที่เรียกกันว่า AI Moderation จึงเป็นกลไกคู่ขนานในการตรวจสอบและคัดกรองคอนเทนต์จำนวนมหาศาลบนแพลตฟอร์ม
แม้ว่าโมเดลด้านภาษาของ AI ที่ใช้บนแพลตฟอร์มได้ถูกพัฒนาไปไกลจนเชื่อว่าแทบจะทำงานแทนมนุษย์ได้และมีการทำงานได้รวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ AI ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเวทย์มนต์คาถาและไม่สามารถมองโลกด้วยความเข้าใจดังเช่นมนุษย์ ดังนั้นความฉลาดของ AI เมื่อพบกับคอนเทนต์บางประเภท เป็นต้นว่า คอนเทนต์ที่มีความกำกวม คอนเทนต์ภาษาถิ่นหรือแม้แต่คอนเทนต์ภาษาอังกฤษที่อาจแปลความได้หลายความหมาย รวมทั้งการใช้เทคนิคทางภาษาที่หลีกเลี่ยงการตรวจจับ ระบบอัตโนมัติเหล่านี้จะยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบและคัดกรองคอนเทนต์ทางภาษาหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆบนแพลตฟอร์มจากคนนับพันล้านคนได้ดีเพียงใด จึงเป็นคำถามที่ยังคงต้องการคำตอบ
นอกจากนี้พนักงานที่มีหน้าที่ดูแลคอนเทนต์ซึ่งกลายเป็นบรรณาธิการจำเป็นจากบริษัทเอาท์ซอร์ส (Outsource) ซึ่งมักอยู่ในประเทศอื่นนอกอาณาเขตของสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคอนเทนต์ที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาแม่ของประเทศนั้นๆมักทำงานภายใต้ภาวะถูกกดดัน ซ้ำซาก น่าเบื่อและมีข้อจำกัด ที่สำคัญคืออำนาจในการตัดสินใจของพวกเขามีอยู่ในระดับหนึ่งในการตัดสินใจต่อคอนเทนต์ที่มีปัญหาภายในเวลาที่จำกัด ปัญหาหลายปัญหาจึงต้องถูกส่งต่อไปยังฝ่ายบริหารที่อยู่เหนือกว่าพวกเขาขึ้นไปอีก การแก้ปัญหาจึงมักล่าช้าเสมอ
เทคนิคประวิงเวลา - เป็นไปได้ ?
สิ่งที่ยังเป็นประเด็นน่าสงสัยจนทำให้เชื่อว่าบางแพลตฟอร์มมีการใช้เทคนิคประวิงเวลาเพื่อรักษาคอนเทนต์ซึ่งแม้ว่าจะล่อแหลมต่อการละเมิดกฎของแพลตฟอร์มหรือกฎหมายเอาไว้ แต่ตราบใดที่คอนเทนต์นั้นยังสามารถเรียกกระแสและดึงดูด ยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ จากผู้คน คอนเทนต์นั้นก็ยังต้องถูกเก็บเอาไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อรักษา ตัวชี้วัดการมีส่วนร่วม (Engagement metric)ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าคอนเทนต์ที่ควรถูกระงับและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้คน เช่น การกล่าวหาผู้คนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ คอนเทนต์แสดงความก้าวร้าวรุนแรง คอนเทนต์สร้างความเกลียดชัง(Hate speech) คอนเทนต์ขายอาวุธ คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนันและค้าประเวณี ฯลฯ ถูกประวิงเวลาเอาไว้ด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อให้คอนเทนต์นั้นอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้นและกว่าที่จะตรวจสอบพบหรือนำคอนเทนต์นั้นออกจากแพลตฟอร์มอาจใช้เวลารออยู่ในคิวเพื่อตรวจสอบเป็นเวลานานจนความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งปัญหามากมายที่พบบนสื่อเหล่านี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยจากสื่อแบบเดิม
เทคนิคการตรึงจำนวนผู้ใช้บริการให้อยู่บนแพลตฟอร์ม
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรู้ดีว่า การที่ทำให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลิน พอใจและลื่นไหลไปกับลูกเล่นที่แพลตฟอร์มหยิบยื่นให้บนโซเชียลมีเดียคือปัจจัยสำคัญที่จะรักษาจำนวนผู้ใช้บริการเอาไว้ไม่ให้หนีไปยังแพลตฟอร์มอื่น พวกเขาจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดอุปสรรคใดๆที่ขัดขวางหรือทำให้ผู้ใช้บริการไม่สะดวกในการใช้งานซึ่งเป็นเทคนิคที่รู้กันดี ดังนั้นทุกแพลตฟอร์มจึงต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการเกิดความหงุดหงิด รำคาญจากการแทรกแซงต่างๆนานา และพวกเขามักยึดกฎทอง 3 ข้อต่อไปนี้เป็นโมเดลทางธุรกิจเสมอเพื่อรักษาจำนวนผู้ใช้บริการเอาไว้โดย…
- ทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีผู้ใช้บริการมากที่สุด
- ไม่ปล่อยให้ความสนใจของผู้คนหลุดลอยไปจากแพลตฟอร์ม
- หยิบยื่นผลประโยชน์แบบใดแบบหนึ่งให้กับผู้ที่สร้างคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจ
ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาจากคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม พวกเขาจึงมักบ่ายเบี่ยงและไม่เต็มใจที่จะระงับการเผยแพร่คอนเทนต์นั้น เพราะไม่ต้องการที่จะละเมิดกฎทั้ง 3 ข้อซึ่งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงธุรกิจของแพลตฟอร์มให้ยังคงอยู่ได้ต่อไป ทุกแพลตฟอร์มจึงมักอ้างความเป็นสื่อกลาง(Neutral intermediaries) ที่เป็นเพียงพาหะนำพาคอนเทนต์ไปยังปลายทางและช่วยให้การพูดคุยระหว่างผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มง่ายขึ้นเท่านั้น โดยไม่ต้องการเข้าไปข้องแวะใดๆกับคอนเทนต์ที่ผู้ใช้บริการโพสต์ลงบนแพลตฟอร์มเอง เพื่อลดการมีปัญหากับผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด
คำ 26 คำ - สร้างนวัตกรรม แต่ทำลายชีวิตผู้คน
เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มมีตัวตนและได้รับความนิยมมากขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตรากฎหมาย ที่เรียกว่า กฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม หรือ The Communication Decency Act ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1996 ส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้เรียกว่า Section 230 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า CDA230 ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกัน (Safe habor) ที่ทรงพลังให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ต โดยปกป้องบริษัทอินเทอร์เน็ตจากความรับผิดชอบใดๆต่อคอนเทนต์ที่โพสต์โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
กฎหมายฉบับนี้ถูกตราขึ้นขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊กอายุเพียง 11 ปีเท่านั้นเอง ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครรู้จักแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ผลพวงของกฎหมายฉบับนี้ทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังหลายปีได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้ารวมทั้งเฟซบุ๊กเองด้วย
ข้อความ 26 คำที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย CDA 230 เขียนเอาไว้ว่า “ No provider or user of an interactive computer service shall be treated as the publisher or speaker of any information provided by another information content provider” ซึ่งแปลและขยายความให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า “เว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ความเห็น ภาพ และวิดิโอ ที่ผู้ใช้บริการและสมาชิกโพสต์ลงไป ไม่ว่าคอนเทนต์นั้นจะเลวร้าย(Vile) หรือเป็นอันตราย(Damaging) มากเพียงใดก็ตาม” (3)
ด้วยคำพูดเพียง 26 คำที่นักการเมืองจาก พรรครีพับริกัน และ เดโมแครต 2 คนร่วมกันประดิษฐ์ขึ้น ทำให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของอเมริกาที่ทำให้การปลดปล่อยความรับผิดชอบครั้งนี้สามารถเกิดการพัฒนาต่อยอดจากอินเทอร์เน็ตธรรมดาๆมาสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบซึ่งสร้างทั้งคุณประโยชน์และให้โทษแก่ผู้คนในเวลาต่อมา
คำพูดของนักการเมืองทั้งคู่ได้กลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มในอเมริกาซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการตรากฎหมาย ต่างยึดถืออย่างเหนียวแน่นตลอดมา แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกตราขึ้นเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ตยุคแรก แต่บริษัทโซเชียลมีเดียซึ่งมีความสลับซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างจากบริษัทอินเทอร์เน็ตยุคนั้น มักทึกทักด้วยการอ้างสิทธิจากกฎหมายฉบับนี้อยู่เสมอเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
ในทางตรงกันข้ามนักวิชาการอเมริกันจำนวนหนึ่ง กำลังสงสัยต่อเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ว่ายังสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจากเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนหรือไม่และถึงเวลาแล้วหรือยังที่กฎหมายฉบับนี้ควรถูกปรับปรุง/แก้ไข แม้แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังเคยให้สัมภาษณ์ขณะหาเสียงก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า เขาอยากให้มีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ (4)
ขณะที่รัฐบาลของหลายต่อหลายประเทศที่อนุญาตให้โซเชียลมีเดียเข้าไปให้บริการมักไม่ปลื้มต่อแนวคิดที่เป็นมรดกตกทอดของกฎหมายอเมริกันฉบับนี้เช่นกัน เพราะอุดมการณ์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น(Free speech) แบบคนอเมริกันไม่เหมือนกับคนในอีกหลายประเทศซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายและผู้คนมีแนวคิดแตกต่างกับคนอเมริกันอย่างสิ้นเชิง การที่นำแนวคิดจากกฎหมาย Section 230 ของสหรัฐอเมริกาไปใช้กับประเทศต่างๆทั้งโลกจึงทำให้เกิดปัญหาในหลายต่อหลายประเทศ ศาลสูงของประเทศออสเตรเลียเคยออกมาออกมาเตือนให้ระมัดระวัง อิทธิพลทางกฎหมายอเมริกัน (American legal hegemony) ที่แผ่เข้ามายังประเทศออสเตรเลีย ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นแม้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศด้วยความจำยอม แต่สูตรสำเร็จของพวกเขาคือการพยายามหาทางเลี่ยงต่อความรับผิดชอบอยู่เสมอ ดังตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เพราะทันทีที่มีการฟ้องร้อง บริษัท Metaได้มีการโต้แย้งในทันทีถึงข้ออ้างเรื่อง ความปลอดจากภาระผูกพันต่อความรับผิดชอบในการตรวจสอบและยืนยันเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ตามกฎหมายของญี่ปุ่น(5)
เมื่อคนญี่ปุ่นหมดความอดทน
เสรีภาพในการแสดงความเห็นกับการกำกับดูแลมักเป็นความไม่ลงรอยกันเสมอและยากที่จะทำให้เกิดความประนีประนอมระหว่างกันได้ เมื่อปี 1500 สมเด็จพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 (Pope Alexander VI) ทรงประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่า “ กรุงโรมเป็นเมืองแห่งเสรีภาพ ใครใคร่เขียน-เขียน ใครใคร่พูด-พูด” แต่เพียงปีเดียวพระองค์ทรงประกาศใหม่ว่า “ สิ่งพิมพ์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ เป็นสิ่งพิมพ์ต้องห้าม ”
เมื่อถึงยุคที่โซเชียลมีเดียครองโลกจึงเกิดคำถามตามมาเช่นกันว่า จะกำกับดูแลโซเชียลมีเดียอย่างไรจึงเหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ภายใต้ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถทำให้คอนเทนต์ ถูก สร้าง ส่งต่อ แก้ไขและทำใหม่ ได้อย่างง่ายดาย ในสภาวะที่ไร้บรรณาธิการที่มีคุณภาพบนโซเชียลมีเดีย
การเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การฟ้องร้องแพลตฟอร์มต่อศาลในญี่ปุ่นจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยตรงถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจเป็นแรงกระตุ้นแก่ผู้บริโภคชาวไทยและประเทศอื่นๆที่ต้องผลักดันให้แพลตฟอร์มทุกแพลตฟอร์มสร้างกลไกการตรวจสอบข้อมูลและแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ดังเช่นประเทศในยุโรปหลายประเทศและผลักดันให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัย ด้วยการแทนที่คอนเทนต์ไม่ดีด้วยคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์
มาตรการทางกฎหมาย - ความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้
นักอินเทอร์เน็ตยุคแรกๆมักวาดความฝันของสังคมอินเทอร์เน็ตในอุดมคติไว้เสมอว่า สังคมอินเทอร์เน็ตควรจะสามารถกำกับดูแลกันเองได้ดีกว่าการพึ่งกฎหมายที่ออกโดยรัฐ แต่จากประสบการณ์และผลพวงในทางลบต่อสังคมจากการใช้อินเทอร์เน็ตจนถึงยุคโซเชียลมีเดียที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความฝันของนักอินเทร์เน็ตในยุคนั้นไม่มีทางเป็นความจริงได้เลย
การควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆด้วยกฎหมายจึงมีความจำเป็นและภาครัฐจะต้องหันมากำกับดูแลการใช้งานของแพลตฟอร์มอย่างเข้มข้น รวมทั้งใช้มาตรการขอความร่วมมือจากบรรดาแพลตฟอร์มควบคู่กันไปและอย่างน้อยที่สุดข้อกำหนดขั้นต้นต่อไปนี้ควรถูกนำมาพิจารณา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการ เป็นต้นว่า…
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่มีความสามารถตรวจจับและลดจำนวนการเข้า-ออกและการมองเห็นข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้(Harmful misinformation)และข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อสังคม
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่สามารถป้องกันการคุกคามออนไลน์(Online harassment) รูปแบบต่างๆได้
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่สามารถตรวจจับและป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ(Foreign interference) เพื่อวัตถุประสงค์ในทางมิชอบ ( เช่น แทรกแซงทางการเมืองเพื่อหวังผลการเลือกตั้งแทรกแซงผลการโหวตในวาระสำคัญๆของประเทศ ฯลฯ)
- แพลตฟอร์มต้องมีระบบที่สามารถลดอันตรายที่เกิดจาก การแทรกแซงของสิ่งเทียมหรือความแปลกปลอม(Synthetic or inauthentic) ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกโซเชียล เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง (เช่น บัญชีปลอม บอท Deepfake ฯลฯ) (6)
- แพลตฟอร์มควรพิจารณาออกแบบกลไกจัดลำดับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการให้อยู่ในความสำคัญลำดับต้นๆ เทียบเท่ากับการให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วม(Engagement) จากยอดวิว ยอดไลค์ และยอดแชร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตามมาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มอาจไม่ประสบความสำเร็จหากภาครัฐไม่มีการผลักดันอย่างจริงจังและคนไทยคงไม่อาจฝากความรับผิดชอบไว้กับ ตำรวจ องค์กรกำกับดูแลหรือตัวผู้ใช้บริการ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความจริงใจในการแก้ปัญหาจากเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายบนแพลตฟอร์ม พร้อมกับการยื่นมือจากภาครัฐในการทบทวนกฎหมาย เพื่อให้ความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มกลายเป็นความจริงและป้องกันไม่ให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทุกรูปแบบที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลและเศรษฐกิจ ตลอดจนทำลายความน่าเชื่อถือและขัดขวางความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตในทางที่เป็นประโยชน์
อ้างอิง
1. https://www.japantimes.co.jp/news/2024/10/29/japan/crime-legal/investment-fraud-meta/
2. Taming Silicon Valley โดย Gary Marcus
3. The Twenty-Six Words that Created the Internet โดย Jeff Kosseff
4. System Error โดย Rob Reich Mehran Sahami และ Jeremy M.Weinstein
5. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5/235668
6. https://www.isranews.org/article/isranews-article/122683-PANSAK.html
ภาพประกอบ
https://www.japantimes.co.jp/news/2024/10/29/japan/crime-legal/investment-fraud-meta/