"...ข่าวสารต่างๆมากมายที่หลั่งไหลออกมาจากโซเชียลมีเดียในแต่ละวินาทีสู่สายตาผู้รับข่าวสารนอกจากจะทำให้ผู้คนรับข้อมูลมากจนเกินไปแล้ว ยังเกิดคำถามอยู่เสมอมาว่าข้อมูลต่างๆเหล่านี้เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใดในโลกที่ข้อมูลทุกอย่างถูก สร้าง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดีย(User generated content) และสามารถกลายเป็นไวรัลและ มีม ได้ตลอดเวลาจนเกิดภาวะวิกฤติของความน่าเชื่อถือ(Crisis of trust) ต่อโซเชียลมีเดียเอง..."
แม้ว่าแท่นพิมพ์จะถูกสร้างมาก่อนโซเชียลมีเดียหลายร้อยปี แต่สภาวะแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคมของเทคโนโลยีทั้งสองประเภทแทบไม่ได้มีความแตกต่างกันและบทเรียนจากผลผลิตของแท่นพิมพ์ที่กำเนิดสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อปี 1450 หรือเมื่อเกือบหกร้อยปีก่อน รวมถึงบทเรียนจากสื่อ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อยุคถัดมา จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังครองโลกได้ไม่มากก็น้อย
มุมมืดของเทคโนโลยี
เทคโนโลยีและนวัตกรรมคือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์นับตั้งแต่กำเนิดมนุษย์ขึ้นมาบนโลก เทคโนโลยีได้ถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนาตามกาลเวลาที่ผ่านไป นวัตกรรมบางประเภทเป็นที่ยอมรับจากผู้คนในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ปีแรกของการออกสู่สาธารณะ เช่น คนอเมริกันยอมรับการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมากถึง 71 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 1989 ถึงปี 2002 ในขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทอาจใช้เวลาในการยอมรับจากคนส่วนใหญ่หลายสิบปีหรือนวัตกรรมบางประเภทเป็นที่ยอมรับในสังคมของบางประเทศแต่กลับไม่เป็นที่นิยมในบางประเทศจนกระทั่งเทคโนโลยีเหล่านั้นสูญหายไปหรือไม่มีใครพูดถึงอีกต่อไป
เทคโนโลยีทุกประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้น มักก่อผลกระทบในเชิงลบต่อส่วนรวมเสมอ บางครั้งอาจเกิดขึ้นเร็วจนแทบตั้งตัวไม่ติดแต่บางครั้งก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆและเกิดผลกระทบในวงกว้างซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายไป สินค้าประเภทเทคโนโลยีที่เกิดจากนวัตกรรมของมนุษย์มีวงจร การเกิด การใช้งานและสร้างผลกระทบที่คล้ายๆกันไม่ว่าจะอยู่ในยุคของ เครื่องยนต์ ไฟฟ้า เครื่องพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียก็ตาม มนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธต่อความรับผิดชอบใดๆที่เกิดจากผลพวงทางลบของเทคโนโลยีที่ตัวเองสร้างขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียที่ผู้ประกอบการแต่ละแพลตฟอร์มแทบจะผูกขาดเพียงรายเดียว แต่มีผู้ใช้นับร้อย นับพันล้านย่อมส่งผลกระทบอย่างมากมายจนคาดไม่ถึง ปัญหาที่เคยถูกมองว่าเล็กน้อยกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่จนยากที่จะแก้ไข
ผลกระทบในทางลบจากเทคโนโลยี เกิดขึ้นได้จากทั้งตัวเทคโนโลยีเองและเกิดจากฝีมือมนุษย์ ถ้าหากจำลองวงจรการใช้งานของเทคโนโลยีให้อยู่ในรูปของกราฟ จะเห็นได้ว่า ในช่วงต้นของการรับเทคโนโลยีมาใช้งานที่เรียกกันว่า ช่วง “ก่อนเข้าสู่หุบเขา” (Pre-valley) โดยทั่วไปมักจะไม่พบปัญหาการใช้งานของเทคโนโลยีมากนัก เพราะปัญหาถูกบดบังด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ
- ความตื่นเต้นของผู้คนจากการได้ใช้เทคโนโลยีใหม่
- กระแสการเชียร์ของสื่อต่อนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น
- จำนวนผู้ใช้เทคโนโลยียังมีจำนวนน้อย เพราะเป็นช่วงการใช้งานเริ่มต้น(Early adoption)
เมื่อระยะเวลาผ่านไปและมีผู้ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น การใช้เทคโนโลยีจะเข้าไปสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ช่วง “หุบเขาแห่งความมืด” (Dark valley) ในช่วงนี้เองที่ปัญหาต่างๆซึ่งซุกอยู่ใต้พรมของการใช้เทคโนโลยีได้ค่อยๆถูกเปิดเผยออกมา ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น สังคมรับรู้ได้ถึงภัยจากเทคโนโลยี (จำนวนผู้ใช้มากขึ้น ผู้ใช้ได้รับผลกระทบโดยตรง ฯลฯ) การพิสูจน์และศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยี ความตื่นตระหนกของผู้คน การโต้ตอบทางสังคม การกำหนดมาตรการและนโยบายต่างๆที่ออกมากำกับการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น
การรับรู้ถึงภัยจากเทคโนโลยีและมาตรการโต้ตอบจากสังคมทำให้ผู้ผลิตเทคโนโลยีมีการปรับปรุงคุณภาพและผู้ใช้เทคโนโลยีเกิดความระมัดระวัง จนกระทั่งอันตรายจากเทคโนโลยีค่อยๆลดลงและก้าวขึ้นสู่ช่วง “หลังหุบเขาแห่งความมืด” (Post dark valley) จนทำให้ สินค้าหรือบริการทางเทคโนโลยี อยู่ในสถานะที่คนส่วนใหญ่วางใจโดยแทบไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่โซเชียลมีเดียต่างตกอยู่ในวงจรที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่การหลุดพ้นจากหุบเขาแห่งความมืด อาจต้องใช้ทั้งความพยายามและใช้เวลา มิเช่นนั้น ความรุ่งเรืองของมวลมนุษย์ จะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลในทางลบของเทคโนโลยีตลอดไป
หุบเขาแห่งความมืดของสื่อสิ่งพิมพ์
ความสำเร็จของการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์จากฝีมือของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ชาวเยอรมัน ในช่วงศตวรรษที่ 15 ทำให้เทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ได้แพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรป ถือ เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการรับรู้ข้อมูลทางสาธารณะครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ เพราะเพียง 50 ปีของการสร้างเครื่องพิมพ์ มีการพิมพ์หนังสือต่างๆออกสู่สาธารณะมากกว่าหนังสือที่ถูกผลิตขึ้นตลอดทั้งรอบ 1,000 ปีที่ผ่านมาเสียอีก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการพิมพ์ในยุคนั้นจึงไม่ได้ต่างจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโซเชียลมีเดีย ในยุคปัจจุบัน
ก่อนหน้าการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ความรู้ทั่วไปของผู้คนยังกระจัดกระจาย และเต็มไปด้วย ความสับสน ความคลาดเคลื่อนมีการผสมปนเปไปด้วยความเท็จ การผลิตหนังสือแต่ละเล่มเป็นไปด้วยความยุ่งยากและใช้เวลานาน นักวิชาการใช้เวลานับเดือนหรือเป็นแรมปีในการคัดลอกหนังสือเพียงเล่มเดียว แต่ผลผลิตจากเครื่องพิมพ์ทำให้มนุษย์สามารถที่จะพิมพ์เอกสารได้มากถึง 3,600 แผ่นต่อวันแทนการผลิตเอกสารด้วยมือซึ่งมีสามารถในการพิมพ์เอกสารได้เพียง 40 แผ่นต่อวันเท่านั้น
การพิมพ์หนังสือและเอกสารรวมทั้งแผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีทั้งความรู้และเรื่องราวต่างๆนานา รวมทั้งสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งได้แก่สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันเรียกกันว่า ทฤษฎีสมคบคิด(Conspiracy theory) หรือ ข่าวปลอม(Fake news) ในยุคนั้นทฤษฎีสมคบคิดที่เรียกว่า Malleus Maleficarum หรือ ค้อนของแม่มด(Hammer of Witches) เป็นเรื่องราวที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะ ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป หนังสือเล่มนี้อ้างว่า มีแม่มดแฝงตัวอยู่ทั่วไป จนสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนและก่อให้เกิดคดีฆาตกรรมนับหมื่นคดีทั่วยุโรป
หนังสือเล่มนี้ได้โหมกระพือความเชื่อว่าลัทธิแม่มดมีอยู่จริงและ แปะป้ายว่าแม่มดเป็นสิ่งชั่วร้ายทำให้เกิดการร่างกฎหมายสำหรับการล่าแม่มดโดยอ้างอิงจากหนังสือ ค้อนของแม่มด จนมีผู้เสียชีวิตจากการล่าแม่มดนับพันคน อันเกิดจากการเผยแพร่ข้อมูล ทฤษฎีสมคบคิดที่เป็นผลผลิตจากเครื่องพิมพ์นั่นเอง ทฤษฎีสมคบคิด การล่าแม่มด คือหนึ่งในผลพวงจากมุมมืดของเทคโนโลยีที่ทำให้ข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิดแพร่กระจายไปยังผู้คนทั้งทวีปยุโรป สิ่งพิมพ์จึงเป็นเครื่องขยายที่ทรงพลังที่สุดในยุคนั้น ซึ่งไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบัน ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงของเทคโนโลยีการพิมพ์ยุคแรกที่ตกอยู่ภายใต้ “ หุบเขาแห่งความมืดของสื่อสิ่งพิมพ์” ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตไปอย่างมากมาย โดยแทบไม่รู้เลยว่าตัวเองมีความผิดอะไร
แม้ว่ายุคแห่งความเศร้าสลดของการล่าแม่มดได้ผ่านพ้นไป แต่ผู้คนอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกยังไม่สามารถก้าวข้าม “หุบเขาแห่งความมืดของสื่อสิ่งพิมพ์” ไปได้ เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกาในอีกหลายร้อยปีต่อมา คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่อบอวลไปด้วย การเผยแพร่ความรู้สมัยใหม่ ความเห็นจากผู้คน คำถามเกี่ยวกับ ความจริง-ความเท็จและความเป็นกลางของสื่อ ถูกพูดถึงมากเท่ากับช่วงปี 1830 และช่วงเวลานี้เองที่ ข่าวสมัยใหม่(Modern news) ถูกสร้างขึ้นและโฆษณาสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน
ยุคนี้เองเป็นจุดกำเนิดของหนังสือพิมพ์ราคาถูกที่เรียกกันว่า เพนนี เปเปอร์ (Penny paper) จุดต่างของ เพนนี เปเปอร์ คือแทนที่จะนำเสนอข่าวทางการเมืองและข่าวแวดวงสังคมชั้นสูง หนังสือพิมพ์ประเภทนี้กลับนำเสนอสิ่งที่หนังสือพิมพ์ประเภทอื่นไม่นำเสนอ ซึ่งได้แก่ ข่าวอาชญากรรมและเรื่องซุบซิบแนวหยาบคาย(Salacious gossip) หนังสือพิมพ์ประเภท เพนนี เปเปอร์ จึงเป็นเหมือนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm) ของการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นการขาย ความสนใจ ของข่าวให้กับคนอ่าน พร้อมกับขายโฆษณาไปด้วย ถือเป็นยุคแรกของหนังสือพิมพ์ที่เริ่มแข่งขันกันขายความสนใจ ซึ่งไม่ต่างจากการขายข่าวออนไลน์ยุคใหม่ที่แข่งกันพาดหัวข่าวเรียกความสนใจ (Click bait) เช่น BuzzFeed Upworthy ฯลฯ ซึ่งเคยถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางเมื่อหลายปีก่อนว่าเป็นสื่อประเภทขายแต่ความสนใจมากกว่าสาระสำคัญ
หนังสือพิมพ์ เพนนี เปเปอร์ ได้สร้างพื้นที่ทางสังคมขึ้นมาใหม่ด้วยการนำเรื่องราวที่เป็นชีวิตส่วนตัวของผู้คนเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้รับรู้และวิจารณ์กันอย่างสนุกปาก ไม่ต่างจากยุคของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เพียงแต่ในเวลานั้นยังเป็นการสื่อสารทางเดียว จากสื่อสิ่งพิมพ์และในที่สุดการขายความสนใจก็ถูกขยายขอบเขตออกไปจนกระทั่งมีการนำทฤษฎีสมคบคิดและเรื่องหลอกลวงเพื่อเรียกความสนใจโดยไม่คำนึงถึงถึงข้อเท็จจริงมาตีพิมพ์และกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นความเท็จในภายหลังผู้คนก็รับรู้เรื่องเหล่านั้นไปแล้วและมักไม่มีการแก้ข่าวจากแหล่งข่าวนั้น นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ประเภทนี้ยังเต็มไปด้วยโฆษณาขายยาและนักต้มตุ๋นที่อาศัยพื้นที่สื่ออวดอ้างสรรพคุณสินค้าตัวเองเพื่อให้ผู้คนหลงเชื่อ ซึ่งไม่ต่างจาก โฆษณาชวนเชื่อ ความหลอกลวงและภัย ต่างๆนานาที่เผยแพร่กันในโลกโซเชียลทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป และ ทวิตเตอร์ดังเช่นทุกวันนี้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเกิดห่างกันหลายร้อยปีแต่พิสูจน์ให้เห็นว่า นวัตกรรมสิ่งพิมพ์ได้ตกอยู่ “ หุบเขาแห่งความมืดของสื่อสิ่งพิมพ์” ในภาวะแวดล้อมต่างๆกัน แม้ว่าจะอยู่คนละศตวรรษก็ตามและต้องใช้เวลานับร้อยปีเช่นกันที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ก้าวข้ามจากหุบเขาแห่งความมืดสู่แสงสว่างจนกลายเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่และยังเป็นที่พึ่งของผู้คนได้ในยามที่โลกโซเชียลยังไม่หลุดพ้นจากสภาวะแห่งความมืดเหมือนกับสิ่งพิมพ์เมื่อหลายร้อยปีก่อน
หุบเขาแห่งความมืดของสื่อวิทยุ
นับตั้งแต่ ไฮน์ริช เฮิร์ตซ์ (Henirich Hertz) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้พิสูจน์ว่าคลื่นไฟฟ้าสามารถส่งผ่านไปในอากาศได้ การค้นพบของ เฮิร์ตซ์ จึงกลายเป็นรากฐานของเทคโนโลยีของระบบไร้สาย(Wireless) ทุกประเภทในปัจจุบัน วิทยุเป็นสื่อในยุคแรกๆที่สามารถแพร่กระจายคลื่นออกไปยังเครื่องรับให้ผู้คนได้รับรู้ข่าวสารและความบันเทิงได้ ปี 1930 เป็นปีที่ วิทยุกลายเป็นสื่อยอดนิยมของคนอเมริกัน นอกจากเครื่องรับวิทยุที่ผู้คนรับฟังข่าวสารกันตามบ้านเรือนแล้ว ใครก็ตามที่พอมีเงินและพอจะมีความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่บ้างต่างสร้างเครื่องส่งวิทยุและสายอากาศขึ้นเองเพื่อกระจายเสียงรายการตามที่ต้องการ
กิจการวิทยุที่ต้องใช้คลื่นในการออกอากาศแต่ขาดการควบคุมจึงกลายเป็นความวุ่นวายตามมา เพราะใครต่อใครสามารถที่จะใช้วิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างง่ายดาย โดยอ้าง สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้างและยังมีการใช้สื่อวิทยุในการแสดงการสนับสนุนลัทธินาซีในเยอรมันและสร้างความเกลียดชังชาวยิว ซึ่งสร้างความปวดหัวต่อรัฐบาลอเมริกันในเวลานั้นอย่างยิ่ง จนในที่สุดต้องมีการออกกฎหมายควบการใช้คลื่นวิทยุ(Radio regulation) ขึ้น เพื่อกำกับดูแลการใช้คลื่นวิทยุ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวงการวิทยุของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นคือ “หุบเขาแห่งความมืด” ที่เกิดขึ้นในยุคหนึ่งของกิจการวิทยุ การออกกฎเกณฑ์การควบคุมการใช้คลื่นวิทยุ โดยรัฐบาลในยุคนั้นจึงกลายเป็นพื้นฐานในการกำกับดูแลเทคโนโลยีอื่นในยุคต่อๆมาด้วย
หุบเขาแห่งความมืดของสื่อโทรทัศน์
โทรทัศน์เองก็มิได้ต่างจากเทคโนโลยีอื่นๆที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า เพราะต้องตกอยู่ใน “หุบเขาแห่งความมืด” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค ประเทศสหรัฐอเมริกาคือตัวอย่างหนึ่งของวงการสื่อโทรทัศน์ที่สามารถอธิบายถึงเรื่องราวของสื่อโทรทัศน์ผ่านยุคต่างๆได้เป็นอย่างดี ช่วงปี 1970 เป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกามีการส่งทหารเข้าไปรบในสงครามเวียดนาม ข่าวที่รายงานอยู่ในช่วงเวลานั้นจึงไม่พ้นเรื่องของศพของทหารอเมริกันถูกส่งกลับบ้านนับพันๆศพในแต่ละเดือน รวมทั้งการคร่าชีวิตคนเวียดนามจากการปะทะกันในสมรภูมิ ทำให้การประท้วงและการแสดงอารมณ์โกรธเคืองต่อรัฐบาลอเมริกันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมอเมริกันในขณะนั้นจึงเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีคนอเมริกันหลายต่อหลายกลุ่มออกมาสร้างสถานการณ์ไปทั่วประเทศทั้งการประท้วงโดยทั่วไปและใช้ความรุนแรงด้วยการใช้ระเบิด
สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation) เคยรายงานว่า ในช่วงเวลา 18 เดือน ระหว่างปี 1971 และปี 1972 มีการวางระเบิดมากถึง 2,500 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วมีระเบิดเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ย 5 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นไม่นานมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคดีวอเตอร์เกต(Watergate) ที่มีการแฉข้อมูลที่เชื่อว่ามีการดำเนินการของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันและผู้ใกล้ชิด โดยการกระทำผิดกฎหมายเพื่อให้มีชัยชนะเหนือคู่แข่งทางการเมืองและที่เป็นความอื้อฉาว
จนทำให้ถูกเปิดโปง คือกรณีที่ทีมงานเข้าไปติดตั้งเครื่องดักฟังในศูนย์รณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต และถูกตำรวจจับได้ ขณะที่สื่อสารมวลชนที่รายงานเบื้องหลังของการงัดแงะครั้งนั้นอย่างต่อเนื่อง จนข้อมูลเบื้องลึกถูกเปิดโปงใหญ่โต จากคดีงัดแงะเล็กน้อยกลายเป็นคดีอื้อฉาวระดับประเทศ อันเป็นผลทำให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และน้ำตาตกต่อหน้าการแถลงข่าว
เรื่องราวความโกลาหลจากการประท้วง และความอื้อฉาวของรัฐบาลอเมริกันในช่วงปี 1968 ถึงปี 1970 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย สับสน และเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้ ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆออกสู่สาธารณะให้ผู้คนรับรู้กันโดยทั่วไป ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ในยุคนั้นมีเพียง สถานีโทรทัศน์ CBS NBC และ ABC เท่านั้น ข่าวสารที่ผู้คนได้รับจึงแทบจะเป็นข่าวที่ถูกรายงานข้อเท็จจริงไปในทางเดียวกัน จากแหล่งข่าวเดียวกัน ผู้คนจึงรับรู้ข่าวที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญมากนัก ต่างจากในโลกโซเชียลมีเดียที่มีความหลากหลายและยังถูกขยายความต่อ ภายใต้การสั่งการของอัลกอริทึมซึ่งเป็นเหมือนกล่องดำ(Black box) อันลึกลับซึ่งยากที่จะเข้าใจและยากที่จะตรวจสอบได้
สื่อโทรทัศน์ของอเมริกันมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนอเมริกันในยุคนั้นอย่างยิ่งและกลายเป็นศูนย์กลางในการรับรู้ข่าวสารของคนโดยทั่วไป รัฐบาลขณะนั้นได้ ออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎเวลาเท่าเทียม (The Equal Time Rule) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการกระจายเสียงและภาพ(Broadcaster) ต้องให้เวลากับคู่แข่งทางการเมืองเท่าๆกันเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบในทางการเมืองระหว่างกัน รวมทั้งได้มีการออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายหลักความเป็นธรรม (The Fairness Doctrine) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการกระจายเสียงและภาพ ต้องเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอมุมมองจากผู้เห็นต่าง เพื่อสะท้อนถึงความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งให้สังคมได้รับรู้
ในปี 1987 เคเบิล ทีวี เริ่มข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมในคนหมู่มากและในช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ได้ยกเลิก กฎหมายหลักความเป็นธรรม (The Fairness Doctrine) การยกเลิกกฎหมาย(Deregulation) ดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการสื่อ เพราะการที่ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักความเป็นธรรมทำให้ผู้ประกอบการสื่อบางคนเห็นโอกาสที่จะนำเสนอรายการประเภทการสร้างความไม่ลงรอยกันทางความเห็นระหว่างกลุ่ม(Partisan controversy) ซึ่งเป็นรายการที่สามารถเรียกเรทติ้งได้ดีกว่ารายการที่เคยนำเสนอกันก่อนที่จะมีการยกเลิกกฎหมาย โดยไม่ได้ให้ความสนใจต่อการนำเสนอความจริงมากนักและนำไปสู่การเผยแพร่ข่าวในลักษณะแสดงความเห็น(Opinion journalism) รวมทั้งยังมักนำเสนอทฤษฎีสมคบคิดต่างๆนานาโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานของการทำข่าวแบบมืออาชีพ แม้กระทั่งในยุคหลังที่มาตรฐานของการทำข่าวถือว่าเข้าที่เข้าทางแล้วก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายยังนำทฤษฎีสมคบคิดจากบางแหล่ง เช่น บารัค โอบามา ไม่ได้เกิดในอเมริกา ไปอ้างบนสื่อของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แทบไม่ได้แตกต่างจากสื่อในปี 1830 เลย
สื่อเหล่านี้แม้ว่าอาจถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของวงการสื่อและมีจำนวนไม่มากนัก แต่สื่อประเภทนี้ก็ยังได้รับความนิยม เพราะตราบใดที่คอนเทนต์ที่นำเสนอสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนและเพิ่มทราฟฟิคได้ เจ้าของสื่อก็จะยังคงนำเสนอคอนเทนต์ประเภทนี้ต่อไป แม้ว่าจะเบี่ยงเบนไปจากความถูกต้องและจริยธรรมก็ตาม เพื่อหวังผลจากจำนวนยอดวิวและรายได้จากการโฆษณาที่จะตามมา รวมทั้งยังสนับสนุนต่อพรรคการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่งอีกด้วย เทคโนโลยีประเภทสื่อ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ จึงมักมีช่องว่างให้คนบางคนนำไปใช้หาประโยชน์ทางใดทางหนึ่งได้เสมอในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าจะมีมาตรฐานความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของผู้คนในระดับที่ค่อนข้างดีแล้วก็ตาม
หุบเขาแห่งความมืดของโซเชียลมีเดีย
จริยธรรม มาตรฐาน รวมทั้งวิธีปฏิบัติของสื่อตั้งแต่ยุคแรกของ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เป็นเสมือนการส่งไม้ต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและมีการปรับแต่งจนได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย มาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ถูกขัดเกลากันมานับร้อยๆปีกลับไม่สามารถใช้กับโลกโซเชียลได้ ความโกลาหล วุ่นวาย บนโลกโซเชียลจึงเป็นความท้าทายต่อผู้ควบคุมกฎ เจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ใช้โซเชียลมีเดียโดยทั่วไป และเป็นเสมือนความแตกต่างที่รอการปรับจูนเพื่อการสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคข่าวสารในโลกโซเชียล
ความโกลาหลบนโลกโซเชียลนอกจากจะเกิดจากผู้คนร้อยพ่อพันแม่ที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสียงของตัวเองให้คนทั้งโลกได้ยินแล้ว ตัวแพลตฟอร์มเองยังเป็นประตูที่เปิดให้ความเห็นต่างๆที่ได้รับความนิยมถูกเผยแพร่และขยาย(Amplify) ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหากข้อความหรือข่าวสารและความเห็นนั้นได้รับความสนใจ โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและที่มาของข้อมูลข่าวสารนั้นๆ จากการทำหน้าที่ของอัลกอริทึมที่เข้ามาแทนที่ ผู้ควบคุมดูแล(Gatekeeper) ที่เคยทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของสื่อแบบเดิม เท่ากับว่าโลกโซเชียลได้ปลดเอาความต้านทาน(Friction) ซึ่งเป็นกระบวนการของสื่อที่คัดกรองความเท็จเพื่อแสวงหาความจริง ออกไปจากแพลตฟอร์มจนกลายเป็นพื้นที่เสรีที่ใครต่อใครสามารถนำไปหาประโยชน์เพื่อตัวเองได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ
ข่าวสารต่างๆมากมายที่หลั่งไหลออกมาจากโซเชียลมีเดียในแต่ละวินาทีสู่สายตาผู้รับข่าวสารนอกจากจะทำให้ผู้คนรับข้อมูลมากจนเกินไปแล้ว ยังเกิดคำถามอยู่เสมอมาว่าข้อมูลต่างๆเหล่านี้เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใดในโลกที่ข้อมูลทุกอย่างถูก สร้าง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดีย(User generated content) และสามารถกลายเป็นไวรัลและ มีม ได้ตลอดเวลาจนเกิดภาวะวิกฤติของความน่าเชื่อถือ(Crisis of trust) ต่อโซเชียลมีเดียเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความโกลาหลอันเกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บนพื้นที่ทั้งสื่อหลักและโลกโซเชียลคงไม่มีข่าวไหนโด่งดังเท่าคดีการสูญเสียของดาราสาว แตงโม เมื่อต้นปี 2565 ในครั้งนั้นสื่อทุกแขนงต่างพร้อมใจนำเสนอเรื่องราวการเสียชีวิตของน้องแตงโมกันเกือบทั้งวันจนกลบข่าวสำคัญอื่นๆไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลบนโลกโซเชียลมากมายที่เสาะแสวงหาและขุดค้นเบาะแสการเสียชีวิตของน้องแตงโมทั้งจากการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ วิเคราะห์และให้ความเห็นต่างๆนานาและบางครั้งดูเหมือนว่าล้ำหน้าการสืบสวนของตำรวจด้วยซ้ำไป ทั้งๆที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากสมมุติฐานของคนที่ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและไม่ได้มีหน้าที่และหลักฐานทางการใดๆในมือมากไปกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบการสืบสวนคดี แถมยังมีนักสืบโซเชียลต่างแดนจากเวียดนามที่ให้ความสนใจและเข้ามาให้เบาะแสในคดีนี้ ซึ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ติดตามข่าวหนักขึ้นไปอีก จนทำให้ผู้รับข่าวสารจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับไปเชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดียซึ่งมาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายทั้งจากบุคคลทั่วไปและความเห็นจากผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆและเกิดการขยายวงของพื้นที่ข่าวคดีแตงโมออกไปเรื่อยๆและกลายเป็นกรณีฟ้องร้องกันจนถึงโรงถึงศาลก็ยังมี เพราะผู้คนหลากหลายอาชีพต่างต้องการการมีส่วนร่วมหรือเกาะกระแสของคดีดังด้วยกันทั้งสิ้น
พื้นที่ข่าวของเมืองไทยในเวลานั้นจึงเต็มไปด้วยความสับสนที่ ผู้คนมีความโน้มเอียงไปในทางความเชื่อจาก อารมณ์ ความรู้สึก ความลำเอียง ความกำกวมของข่าวสารและความสงสารน้องแตงโม จากเสียงของโลกโซเชียล ซึ่งดังกว่าคำอธิบายจากหลักฐานของตำรวจและเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่โลกโซเชียลตกอยู่ในความอลวนที่ชัดเจนที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในสังคมไทยหรือแม้แต่เหตุการณ์ยิงในห้างกลางกรุงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ถูกขยายความออกไปจนกลายเป็น ดรามาต่างๆนานาบนโลกโซเชียลทั้งๆที่บางเรื่องไม่มีมูลความจริงหรือไม่รู้ที่ไปที่มา รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์จากความเห็นของผู้คนซึ่งล่อแหลมต่อการสร้างความขัดแย้งก็ถูกนำมาละเลงกันบนสื่อโซเชียลกันอย่างสนุกมือ
เหตุการณ์ความสับสนบนโลกโซเชียลมากมายที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงวิกฤติโควิดและในช่วงเวลาอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สัญญาณโทรศัพท์ 5G เป็นตัวการแพร่เชื้อโควิด การปฏิเสธการฉีดวัคซีนเพราะเชื่อข้อมูลที่ได้รับบนโซเชียลมีเดีย การใช้โซเชียลมีเดียกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยาในพม่า การใช้โซเชียลมีเดียสร้างความเกลียดชัง ผู้อพยพในเยอรมัน การใช้โซเชียลมีเดียแทรกแทรงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ฯลฯ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่อาศัยโซเชียลมีเดียในการกระจายข่าวให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น
การรับข้อมูลข่าวสารภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดียจึงอาจเทียบได้กับกฎทางเศรษฐศาสตร์ของ เกรเเชม (Grasham’s law) ซึ่งกล่าวว่า “เงินเลวขับไล่เงินดีออกจากการหมุนเวียน” (bad money drives good money out of circulation) แต่ในโลกของข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มมักมีการนำเอากฎของเกรเเชมมาเปรียบเทียบกับการเคลื่อนที่ของข้อมูลเท็จที่เป็นพิษต่อสังคมและมาจากแหล่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ จนทำให้ข้อมูลจริง ถูกขับออกไปจากวงจรการรับรู้ของผู้คนด้วยการนำเสนอความเท็จ การหลอกลวงและข้อมูลที่ชักนำผู้รับข่าวสารไปในทางตรงข้าม จนบางครั้งมีผู้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า กฎทางข้อมูลของเกรเเชม (Grasham’s law of information) ทั้งที่ความจริงแล้วข้อมูลที่ควรจะถูกขับออกไปจากการรับรู้ของผู้คนควรจะเป็นข้อมูลเท็จมากกว่า โซเชียลมีเดียจึงยังคงอยู่ในหุบเขาแห่งความมืดและดูเหมือนว่าจะยังมองไม่เห็นหนทางที่จะหลุดพ้นไปจากหุบเขาแห่งนี้ไปได้ง่ายๆในระยะเวลาอันใกล้
มนุษย์ต้องร่วมกันหาทางออก
มนุษย์ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความเจ็บปวดและได้รับบทเรียนมากมายจากการสื่อสารด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ จนบางครั้งนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะสื่อยุคใหม่อย่างโซเชียลมีเดียซึ่งด้านหนึ่งสร้างประโยชน์มหาศาลแก่มวลมนุษย์ แต่ การขาดกลไกควบคุมที่เหมาะสม การขาดวิจารณญาณของผู้ใช้งานและการละเลยต่อการแก้ไขปัญหาของแพลตฟอร์ม กลับสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้กับมนุษย์ไม่แพ้สื่อในยุคแรก ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองหรือประเทศที่รับเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียมาใช้งาน เช่น ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอื่นของโลก
เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่แพร่หลายเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน นักเสรีนิยมมักอนุมานว่าอินเทอร์เน็ตคือโลกแห่งความอิสระที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ใด แนวคิดนี้ไปไกลถึงขั้นมีการ ประกาศอิสรภาพบนโลกไซเบอร์ (Declaration of the Independence of Cyberspace) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธการถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐ และน่าจะเป็นความเชื่อที่ตกทอดกันต่อๆมาถึงคนในยุคหลังที่ต้องการแสดงออกอย่างเสรีบนโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่อาจเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะความเสรีบนโลกไซเบอร์ซึ่งเป็นสังคมเปิดไม่ใช่ความเสรีที่ไร้ขีดจำกัด และสามารถสร้างความเดือดร้อนต่อสังคมได้ตลอดเวลาหากปราศจากการควบคุมและการใช้งานที่เหมาะสม
เสรีภาพในการแสดงความเห็นกับการกำกับดูแลมักเป็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกันเสมอและยากที่จะเกิดการประนีประนอมระหว่างกันได้ เมื่อปี 1500 สมเด็จพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 (Pope Alexander VI) ทรงประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่า “ กรุงโรมเป็นเมืองแห่งเสรีภาพ ใครใคร่เขียน-เขียน ใครใคร่พูด-พูด” แต่เพียงปีเดียวพระองค์ทรงประกาศใหม่ว่า “ สิ่งพิมพ์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ เป็นสิ่งพิมพ์ต้องห้าม” เมื่อถึงยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามายึดครองพื้นที่ของการสื่อสาร จึงเกิดคำถามตามเช่นกันว่า จะกำกับดูแลโซเชียลมีเดียอย่างไรจึงเหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ภายใต้ความสามารถของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียที่สามารถทำให้คอนเทนต์ ถูก สร้าง ส่งต่อ แก้ไขและทำใหม่ ได้อย่างง่ายดาย ในสภาวะที่ไร้บรรณาธิการบนโลกโซเชียลมีเดีย
มาตรทางกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลและวิธีปฏิบัติที่องค์กรต่างๆได้กำหนดขึ้นเป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่งในการกำกับดูแลการการใช้งานของโซเชียลมีเดียและ เท่าที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวยังไม่เคย สัมฤทธิ์ผล หลายต่อหลายประเทศมักให้น้ำหนักการกำกับดูแลและควบคุมการใช้งานของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย แต่มักไม่ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลตัวเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มมากเท่าที่ควร รวมทั้งแพลตฟอร์มเองมักจะลอยตัวจากปัญหาทั้งปวงและปล่อยให้แต่ละประเทศแก้ไขปัญหากันเอง เพราะเครื่องจักรสำคัญคือตัวแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เรียกร้องความสนใจจากผู้คนยังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขันเพื่อผลกำไรจากโฆษณาจนละเลยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สังคมภายใต้การสั่งการของอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มเอง
สิ่งที่มักมีการพูดถึงเสมอหากต้องการให้การกำกับดูแลโซเชียลมีเดียมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสังคมคือ การกำกับดูแลเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มอย่างเข้มข้น ทั้งการขอความร่วมมือหรือแม้แต่การบังคับให้เจ้าของแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามมาตรการบางอย่างด้วยความเข้มงวด เพื่อลดปัญหาทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น เป็นต้นว่า
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่มีความสามารถตรวจจับและลดจำนวนการเข้า-ออกและการมองเห็นข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้(Harmful misinformation)และข้อมูลที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อสังคม
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่สามารถป้องกันการคุกคามออนไลน์(Online harassment) รูปแบบต่างๆได้
- แพลตฟอร์มควรต้องมีระบบที่สามารถตรวจจับและป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ(Foreign interference) เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ( เช่น แทรกแซงทางการเมืองเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง แทรกแซงผลการโหวตในวาระสำคัญๆของประเทศ ฯลฯ)
- แพลตฟอร์มต้องมีระบบที่สามารถลดอันตรายที่เกิดจาก การแทรกแซงของสิ่งเทียมหรือความแปลกปลอม(Synthetic or inauthentic) ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกโซเชียล เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง (เช่น บัญชีปลอม บอท ฯลฯ)
ข้อเสนอแนะข้างต้นดูเหมือนว่าจะเป็นคำแนะนำที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือซับซ้อน เพราะเป็นปัญหาที่ผู้คนเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและเป็นข้อเสนอเชิงป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงแทนที่จะปล่อยให้เกิดปัญหาก่อนแล้วมาแก้ไขในภายหลัง แต่เท่าที่ผ่านมา ปัญหาธรรมดาๆเหล่านี้กลับไม่สามารถถูกแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมและถูกละเลยตลอดมา เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มมุ่งหวังผลกำไรมากกว่าความใส่ใจต่อผลกระทบทางสังคมโดยอาศัยเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนเป็นเกราะกำบัง ทั้งที่มีเงื่อนไขและข้อตกลงการให้บริการ(Terms of Service) ค้ำคออยู่ทุกแพลตฟอร์ม แต่เงื่อนไขเหล่านี้กลับไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
ปัญหาของโซเชียลมีเดียกำลังเป็นวาระของโลกและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พรรคเดโมแครต กับ พรรครีพับริกันของของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยลงรอยกันทาง นโยบายตลอดมา ยังต้องหันมาจับมือกันเพื่อเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาของโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่มีใครสามารถจะแก้ไขปัญหาได้หากไม่ได้รับความร่วมมือหรือบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างจริงจัง นอกเหนือจากมาตรการอื่นๆที่ถูกนำมาใช้แล้วก่อนหน้านี้เพื่อให้โซเชียลมีเดียหลุดพ้นจาก”หุบเขาแห่งความมืด” ดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับสื่อรูปแบบอื่น
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อ้างอิง
1.Diffusion of Innovation โดย Everett M. Rogers
2.The Constitution of Knowledge โดย Jonathan Rauch
3.Hammer of Witches หนึ่งในตัวการที่ทำให้ยุโรปยุคกลางล่าแม่มด
4.Outrage machine โดย Tobias Rose – Stockwell
5.คดีวอเตอร์เกต https://www.silpa-mag.com/history/article_46007
6.กฎเวลาเท่าเทียม https://firstamendment.mtsu.edu/article/equal-time-rule/
7.The Digital Republic โดย Jamie Susskind
8.Nobody’s Victim โดย Carrie Goldberg