"...เรื่องนี้เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนสูงสุดถึง 5 แสนล้านบาท นำไปแจกแบบให้เปล่าแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคการเมือง ทั้งที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ อีกมาก จึงควรต้องผ่านด่านการตรวจสอบของ 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้ครบทุกด่าน..."
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินหมื่นที่เป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ (ไม่ใช่ด้านสังคม) ของรัฐบาลนางสาวแพทองทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เริ่มแจกเงินเฟสแรกจำนวน 1.45 แสนล้านบาท ให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคน ๆ ละ 1 หมื่นบาท โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2567 มีความหล่อแหลมหลายประการที่จะถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั้งหมด 5 องค์กรคือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เหตุที่จะต้องถูกตรวจสอบกันอย่างครบวงจร เพราะประชาชนจำนวนมากซึ่งรวมถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่ม 14 ล้านคน ที่มีสิทธิแต่ไม่ลงทะเบียนเพื่อรับแจกเงิน เห็นว่าพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีลักษณะเดียวกับการซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ด้วยการจะใช้เงินของแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากถึง 5 แสนล้านบาท โดยหาเสียงว่าจะแจกเงินแบบให้เปล่ากับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน โดยวิธีการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท แต่ใช้ข้ออ้างในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจบังหน้า และนำนโยบายนี้ไปใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่ขณะหาเสียงยังไม่รู้เลยว่าจะหาเงิน 5 แสนล้านบาทนี้มาจากแหล่งเงินใดในลักษณะหาเสียงให้ประชาชนลงคะแนนให้ก่อนแล้วไปตายเอาดาบหน้า โดยบอกกับประชาชนว่าจะแจกเงินทันทีเมื่อได้เป็นรัฐบาล เพื่อให้ประชาชน 56 ล้านคนหลงเชื่อว่าจะได้เงินทันทีและเลือก สส.พรรคเพื่อไทยแบบแลนด์สไลด์ แต่ถึงแม้จะแพ้การเลือกตั้งได้จำนวน สส.เป็นอันดับสอง แต่ก็ได้ปฏิบัติการข้ามขั้วจนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้จำเป็นจะต้องหาเงินเพื่อทำนโยบายนี้ตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายนี้ก็ไม่ได้ชี้แจงต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ต้องชี้แจง
เมื่อนโยบายนี้มีรากฐานมาจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และไม่มีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงิน จึงทำให้การหาแหล่งเงินและดำเนินการหลายอย่างส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้มีการทักท้วงกันอย่างรุนแรงทั้งจากองค์กรสำคัญต่าง ๆ นักวิชาการ สื่อมวลชน พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และประชาชนในทุกสาขาอาชีพ จนต้องเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินและเลื่อนการแจกเงินตามนโยบายนี้ออกไปเรื่อย ๆ 6-7 ครั้ง และหมกมุ่นอยู่กับการหาแหล่งเงินมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี สุดท้ายก็ได้ไม่ครบ แต่ยังคงดันทุรังที่จะทำไปก่อนบางส่วน โดยแหล่งเงินที่ได้มาก่อนก็ดูจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การแจกเงินก็ไม่ค่อยจะเป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม วิธีการและจำนวนเงินที่แจกก็ไม่มากเพียงพอที่จะทำให้เป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 3-4 ลูกตามที่คุยโม้ไว้ แม้จะเป็นแค่เพียงฝนหลงฤดูแต่ก็ใช้เงินภาษีประชาชนเป็นแสนล้านบาทตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปอย่างน่าใจหาย เพราะหากไม่ทำก็จะมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายนี้
ก่อนไปดูว่า 5 ด่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะต้องเข้าไปตรวจสอบนโยบายนี้ในเรื่องอะไรบ้าง มาดูรายละเอียดว่าทำไมถึงบอกว่านโยบายนี้เกิดขึ้นมาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์
นโยบายนี้ถูกกำหนดขึ้นมาในช่วงที่มีการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่นโยบายทางสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยจะเติมเงิน10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งประเทศประมาณ 56 ล้านคน และได้นำนโยบายนี้ไปใช้หาเสียงตลอดช่วงเวลาของการหาเสียง หลังการเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วได้สำเร็จ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก ได้แถลงข่าวเปลี่ยนแปลงการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท จากเดิมที่หาเสียงไว้ว่า จะแจกเงินให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน เปลี่ยนเป็นแจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป แต่ไม่แจกให้ทุกคน โดยตัดผู้ที่อายุ 16 ปี ขึ้นไป ที่มีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาทต่อเดือน หรือ 840,000 บาทต่อปี ขึ้นไป และ/หรือ มีเงินฝากตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป ซึ่งประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ถูกตัดไม่ให้ได้รับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์จากการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชน 6 ล้านคนนี้ไปแล้ว
ที่บอกว่านโยบายนี้มีลักษณะเป็นการซื้อเสียงของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศโดยใช้เงินของแผ่นดิน เนื่องจากได้มีการแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จะแจกเงินเป็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดโดยมีประชาชนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปะปนอยู่ในกลุ่มนี้เพียงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่จะไม่แจกเงินเป็นประชาชนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนผลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยกขึ้นมาบังหน้าเป็นเพียงผลทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดและคุ้มค่ากับเงินที่แจกไปจำนวนหลายแสนล้านบาทหรือไม่ เป็นเรื่องของการคาดคะเนที่ไม่มีความชัดเจน
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
-กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เลือกแจกเงิน ได้เลือกแจกให้กับประชาชนเฉพาะที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป เท่านั้น หรือเป็นจำนวนประชาชน ประมาณ 56 ล้านคน โดยประชาชน 56 ล้านคนที่เลือกแจกเงินนี้ เป็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 54.5 ล้านคน หรือร้อยละ 97.3 และประชาชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ลงมาถึงอายุ 16 ปี ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.7 เท่านั้น
-กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เลือกไม่แจกเงิน ได้เลือกไม่แจกให้กับประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่ทุกคนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเป็นประชาชน ประมาณ 10 ล้านคน
ช่วงที่เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยมีนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม แบบใหม่ คือ
-กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เลือกแจกเงิน ได้เลือกแจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป เฉพาะผู้ที่มีรายได้ หรือ มีเงินฝากไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือเป็นประชาชนที่จะได้รับแจกเงินลดลงมาเหลือ ประมาณ 50 ล้านคน
-กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เลือกไม่แจกเงิน ได้เลือกไม่แจกให้กับประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ทุกคน รวมถึงประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป แต่มีรายได้หรือเงินฝากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้รับแจกเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นประมาณ 16 ล้านคน
รัฐบาลนายเศรษฐา ได้หมกมุ่นอยู่กับการหาแหล่งเงินให้ครบถ้วนและหาวิธีการจ่ายเงินให้เป็นดิจิทัลวอลเล็ตมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จจนกระทั่งพ้นหน้าที่ไป ต่อมารัฐบาลนางสาวแพทองธาร เข้ามาดำเนินการต่อ กระทรวงการคลังได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีและได้รับอนุมัติให้ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้ เมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 โดยใช้งบประมาณจำนวน 1.45 แสนล้านบาท แจกเงินในเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2567
การนำเอาเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากไปใช้ดำเนินนโยบายนี้ เป็นความพยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะให้เงินเป็นรายบุคคลกับประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการกระทำในทำนองเดียวกับการซื้อเสียงด้วยการสัญญาว่าจะให้ แต่มีความรุนแรงยิ่งกว่าเพราะเป็นการซื้อเสียงโดยใช้เงินของแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีความหล่อแหลมที่จะกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกหลายประการ จึงเป็นประเด็นที่อาจถูกร้องไปยัง 5 องค์กรอิสระ เพื่อให้มีการตรวจสอบนโยบายนี้และการจ่ายเงินแผ่นดินของนโยบายนี้อย่างเข้มข้น
1. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ คือ การใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 1.22 แสนล้านบาท ที่เป็นงบประมาณหลักสำหรับการแจกเงินเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ซึ่งนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อนำไปออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ว่าจะนำเงินงบประมาณที่ขอเพิ่มเติมไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยเป็นรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 80 ซึ่งสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ทักท้วงว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับแจกเงินจะนำเงินไปใช้เพื่อการลงทุนหรือนำไปใช้จัดหาทรัพย์สินประเภททุน แม้ขณะที่ของบประมาณจะนำเงินไปใช้แจกให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางหรือผู้พิการ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะใช้อำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 เพื่อตรวจสอบว่า
• การจ่ายเงินของแผ่นดินในการดำเนินการเฟสแรก เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 140 หรือไม่
• เป็นการจ่ายเงินงบประมาณตามนโยบายที่มาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายโดยครบถ้วนและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง หรือไม่
• เป็นการใช้จ่ายในโครงการที่เป็นการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐาได้แถลงของบประมาณเพิ่มเติมไว้ หรือไม่
• มีความจำเป็น หรือมีความคุ้มค่า และมีผลสัมฤทธิ์หรือประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน หรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) ให้สัมภาษณ์ก่อนแจกเงินเฟสแรกว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว...จึงอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายนี้แล้ว
• ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความเพียงพอแล้ว หรือไม่ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการแจกเงินแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาท แทนที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นที่ยังขาดแคลนอยู่อีกมาก
@ แพทองทองธาร ชินวัตร
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ คือ นโยบายนี้และการดำเนินนโยบายในเฟสแรก มีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด ที่จะกระทำมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม หรือไม่ จากการที่นโยบายนี้ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยความไม่สุจริต เพื่อที่จะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยและเลือกพรรคเพื่อไทย โดยจะใช้เงินของแผ่นดินแจกให้กับประชาชนเฉพาะที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ซึ่งร้อยละ 97.3 ของประชาชนกลุ่มนี้เป็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีประชาชนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปะปนอยู่ด้วยเล็กน้อย ร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ฐานะทางเศรษฐกิจแบ่งประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ให้เป็นกลุ่มที่ไม่แจกเงิน ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ ที่จะแจกเงินเปลี่ยนแปลงลดลงเหลือ 50 ล้านคน และจะไม่แจกเงินเพิ่มเป็น 16 ล้านคน และเมื่อจะแจกเงินจริงในเฟสแรกโดยรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ยังแจกให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคน เท่านั้น ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องฐานะทางสังคม เมื่อสิ้นสุดเฟสแรกจึงมีการแจกเงินให้กับประชาชนเพียง 14.5 ล้านคน ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ครั้งแรกสุดว่าจะแจกเงินให้ทั้งหมด 56 ล้านคน ทำให้มีประชาชนที่ไม่ได้รับแจกเงินอีก 41.5 ล้านคน โดยไม่มีความชัดเจนว่าจะแจกอีกเมื่อใดหรือไม่
นอกจากนี้ในกลุ่มประชาชนที่จะได้รับแจกเงินด้วยกัน ยังได้แบ่งวิธีการแจกเงินออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ในเฟสแรกแจกโดยการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน และไม่มีการควบคุมการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิธีที่ 2 ในเฟสต่อไปที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะแจกอีกหรือไม่ แต่หากมีการแจกจะใช้วิธีการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล โดยจะมีการควบคุมการใช้เงินด้วยการจำกัดพื้นที่ใช้เงินและจำกัดรายการสินค้าที่จะนำเงินไปซื้อ การกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายในลักษณะนี้จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับแจกเงินและอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับแจกเงิน และยังเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับประชาชนกลุ่มที่จะได้รับแจกเงินด้วยกันซึ่งใช้วิธีการแจกและการควบคุมที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมทั้งหมดของโครงการจึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ และฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ทั้งที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายทางสังคมซึ่งประชาชนทุกคนควรจะได้รับแจกเงินเสมอภาคกัน โดยไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสี่ และเป็นการนำเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปแจกให้กับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับแจกเงินเป็นกลุ่มประชาชนที่จ่ายภาษีให้รัฐสูงกว่ากลุ่มประชาชนที่ได้รับแจกเงิน อันเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่จะตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 247
3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบคือ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐคือกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนโดยเป็นธรรมและเสมอภาคกันทุกคนในการดำเนินนโยบายนี้ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 230 วรรคสาม ซึ่งมีเหตุให้ตรวจสอบเช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบคือ การกระทำของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้กระทำหรือร่วมกันกระทำการที่อาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในเรื่องการเสนอขอและการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ และการดำเนินนโยบายที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 160 หรือไม่ รวมทั้งการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย ได้หาเสียงไว้ว่าจะเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ในทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่ง กกต.เคยให้ความเห็นชอบนโยบายนี้แล้ว แต่เมื่อมีการดำเนินนโยบายจริง กกต.ควรได้วินิจฉัยอีกครั้งว่าการดำเนินนโยบายนี้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ หรือเป็นการหาเสียงที่เข้าลักษณะเป็นการจูงใจด้วยวิธีการหลอกลวง เพื่อให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
5. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบคือ การกระทำที่อาจมีมูลความผิดทางอาญาจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน รวมการกระทำของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 หรือไม่
เรื่องนี้เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนสูงสุดถึง 5 แสนล้านบาท นำไปแจกแบบให้เปล่าแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคการเมือง ทั้งที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ อีกมาก
จึงควรต้องผ่านด่านการตรวจสอบของ 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้ครบทุกด่าน
แต่หากนโยบายนี้มีข้อสรุปว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป ก็คงจะมีนโยบายแจกเงินจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ 1 หมื่นบาท แต่จะประมูลซื้อเสียงจากประชาชนด้วยราคา 2-3-4-5 หมื่นบาท หรือมากกว่านั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ และเมื่อพรรคใดได้เป็นรัฐบาลก็คงต้องหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินมาแจก จนแทบจะไม่มีเวลาบริหารประเทศด้านอื่น ๆ
เห็นอย่างนี้แล้ว ยังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดระดับความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมกันอีกหรือ.....อนิจจา !!!
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย
- เหตุที่ชั้น14 จะนำไปสู่ห้องพิจารณาศาล รธน.? แพทองธาร (พึง) ระวังตั้ง รมต.กระทรวงสำคัญ
- คำร้องที่ 4! คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นกกต.ขอศาล รธน.สั่ง 'แพทองธาร-ทวี' พ้นตำแหน่ง
- แถลงนโยบายขัด รธน.! คณะนิติชนฯยื่นคำร้องที่ 5 'ครม.แพทองธาร' ผิดเงื่อนไขเข้าบริหาร ปท.