“...คนเป็นประธานต้องวางอุเบกขา ต้องไม่โกรธ ไม่เกลียด รักได้แต่ไม่รักมาก ไม่หลงตัวเองว่าเหนือคนอื่น ถ้าหลงก็จะใช้อำนาจเหมือนกับว่าตัวเองเหนือกว่า ต้องให้เกียรติทุกท่าน ไม่ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองถูกใจ...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 วุฒิสภาจัดงาน ‘วุฒิสภาพบสื่อมวลชน’ เปิดเวทีให้ ‘ประธานวุฒิสภา’ และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 ได้เปิดใจถึงเพื่อนวุฒิสมาชิกและนักข่าวประจำรัฐสภา
ผู้ดำเนินรายการ : แนวทางการทำงานของประธานวุฒิสภา
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา : ผมเข้ามาด้วยความเคารพ ตอนแรกเรามาไม่รู้จักใคร แต่หลายคนก็รู้จักกันมาก่อน
สิ่งที่คนทำหน้าที่เป็นประธานต้องตระหนักอยู่เสมอ ต้องวางอุเบกขาให้ได้ คิดต่างได้ยิ่งดี เพราะคือความงดงาม ดอกไม้หลากสี คิดต่างกับแตกแยกไม่เหมือนกัน
“คนเป็นประธานต้องวางอุเบกขา ต้องไม่โกรธ ไม่เกลียด รักได้ แต่ไม่รักมาก ไม่หลงตัวเองว่าเหนือคนอื่น ถ้าหลงก็จะใช้อำนาจเหมือนกับว่าตัวเองเหนือกว่า ต้องให้เกียรติทุกท่าน ไม่ฟังแต่สิ่งที่ตัวเองถูกใจ ผมถือว่า การได้มาพบกับทุกท่านถือว่าเป็นบุญ”
ศูนย์รวมของพวกเราก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความผาสุกของประชาชน
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 : ขอสันติสุขจงมีแด่ทุกคน จากบริบทของชีวิตที่เคยรับราชการมาตลอด 37 ปี กับการ ‘พลิกผัน’ อีกครั้งหนึ่งของชีวิตในบทบาทของวุฒิสภา
“ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเป็นรองประธานวุฒิสภา เหนือความคาดหมายได้มาอยู่ในบทบาทของรองประธานวุฒิสภา ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นประธานหรือรองประธานฯ แต่เมื่อเพื่อนสมาชิกมอบความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่จะให้ใครถูกใจทุกคนทั้งหมดไม่ได้”
ผมตั้งใจที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ในการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่อยากเป็น สส. หลายคนวาดหวังให้ผมไปนั่งตรงนั้น แตกต่างกัน สว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย
“พวกเรามือใหม่หัดขับกันทั้งนั้น ย่อมมีข้อบกพร่องเป็นธรรมดา”
บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานสภาคนที่ 2 : ผมชินกับสื่อมวลชน เพราะเป็นสื่อมวลชนประจำกกต. และอาจเป็นชุดเดียวกับที่มาอยู่สภา เพราะฉะนั้นเจอคำถามหนัก ๆ ตอนเป็นกกต.เยอะแล้ว ผมคงให้สัมภาษณ์น้อยหน่อย
“พบกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่มารายงานตัว และไม่คิดว่าจะเจอสื่อมาสัมภาษณ์ก็เลยสัมภาษณ์ยาวตอนนั้น และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์พอสมควร ก็เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ทำให้ผม...เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมขึ้นมาเป็นรองประธานวุฒิสภา ขอบคุณจริงๆครับ”
ในเรื่องข้อบังคับ เราต้องให้อภัยกัน เพราะเรามือใหม่ด้วยกันทั้งหมด หรือการรักษาเวลาในการพูด พูดยาว แต่พูดจบแล้วหาทางลงไม่ได้
“ผมทำหน้าที่อยู่บนบัลลังก์ ผมพูดไม่ได้ ไปกำชับท่านมากก็หาว่าผมเคร่งครัด ใหม่ ๆ อาจจะเคร่งนิดนึง แต่เดี๋ยวดีก็คลายลงมาเรื่อย ๆ เพราะเริ่มรู้จักกัน รู้ว่าคนนี้นิสัยเป็นอย่างไร”
ตนอยากจะฝากประเด็นให้สื่อมวลชนขยายต่อ ประเด็นที่เป็นภารกิจด่วนของรัฐบาล เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประเด็นสุดท้ายที่มาที่ไปของวุฒิชุดนี้ ควรจะปรับปรุง หรือควรที่จะแก้ไขอย่างไรหรือไม่
ประเด็นแรก การเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย ประเด็นที่สอง การเปิดให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี อันนี้ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพูดกันอีกยาว การแถลงนโยบายของรัฐบาล พวกเราควรจะถาม พวกเราควรจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ชอบอย่างไร
“วุฒิสภาเราก็ไม่ควรเห็นด้วย 99 ปี เราไม่ใช่เมืองขึ้น จะไปเอาแบบฮ่องกง มาเก๊า เขาจำเป็นต้องทำเพื่อให้หลุดออกจากเป็นเมืองขึ้น ของเราไม่ใช่”
ผู้ดำเนินรายการ : เป้าหมาย-ความมุ่งหวังในการขับเคลื่อนภารกิจด้านนิติบัญญัติ
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา : เป้าหมายร่วมกันคือ ประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ตัดเรื่องส่วนตัวออก ต้องยอมสละเวลา อะไรที่เคยทำความอิสระต้องตัดออกไป ต้องทุ่มเทเวลา
“พวกผมเป็นวัยสุดท้าย ทำอะไรไม่ได้ เราไม่มีข้อแก้ตัว ถ้าเราผิดพลาดไป สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ความสุจริต อุทิศตัวเองให้กับบ้านเมืองของเรา นั่นคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด”
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 : เราอยากจะให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราจะมีความสุขได้ในสังเรา เราอย่ารักในสิ่งที่เขาเกลียด อย่าเกลียดในสิ่งที่เขารัก ลงมือทำคือคำตอบ
บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 : ผ่านมาหลายองค์กร ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา และกกต. ซึ่งช่วงปลายของชีวิตของผู้พิพากษาก็ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างอื่น ช่วงสุดท้ายของชีวิตก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นสว.ที่สร้างสรรค์ ทำอย่างไรให้ผลงานมากที่สุดเท่าที่ทำได้ อภิปรายสั้น ๆ จบ เพราะไม่ใช่ผลงานของวุฒิสภาเพียงคนเดียว แต่เป็นผลงานของวุฒิสภาทั้งหมด ผลงานที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
“ไปสมัคร (สว.) ก็ไม่คิดว่าจะได้เป็น เป็นแล้วก็ไม่คิดว่าจะมาเป็นรองประธาน ที่ไปสมัครเพราะอยากรู้ว่า บัญญัติกฎหมายไว้เช่นนี้เพื่ออะไร ทำไมพี่น้องประชาชนอีกตั้ง 40 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ได้มารับรู้ เลือกกันเองระหว่าง 48,000 คน พอมาเป็นก็รู้ว่าอยากตั้งแต่กรอกใบสมัคร เก็บเงิน 2,500 บาทก็ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะระเบียบกกต.หลายเรื่อง ควรจะแก้ไข”
ผู้สื่อข่าว : บทบาทของวุฒิสภาชุดนี้ และมีแนวทางสร้างความปรองดองอย่างไร
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา : บ้านเมืองมีความเห็นต่าง มีความแตกแยก มีจริง เห็นต่างกับแตกแยก แตกต่างกัน เห็นต่างเป็นเรื่องที่สวยงาม ไม่มีใครคิดเห็นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความแตกแยก แตกแยกคือแบ่งกลุ่ม แบ่งพวก ไม่ใช้เหตุใช้ผล แต่ความเห็นต่าง ถ้ามารวมกันด้วยเหตุด้วยผล นี่คือสภาของเราที่ผมเห็นมาตลอด พบมาตลอด
ทุกคนมีความคิดที่แตกต่าง มีความรู้ที่แตกต่าง ตั้งแต่ประชุมวันแรกจนถึงประชุมวันนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างหลากหลาย เป็นเรื่องที่ดีงาม ไม่เบื่อ ยิ่งฟังก็ยิ่งความรู้ ยิ่งเห็นประสบการณ์ เป็นเรื่องของดอกไม้หลากสี ความสวยงามของความเห็นที่แตกต่าง
ผมทำงานฝ่ายปกครองมาตลอด ผมจะแก้ปัญหาของคนที่เห็นต่างกันตลอด ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น คนทะเลาะกันกว่าจะถึงศาล ต้องถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก่อน ตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็อยู่กับความเห็นแตกต่างมาตลอด อยู่มาตลอดชีวิต
“ถ้าเราพูดกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างที่เราพูดกันในสภาแห่งนี้ รู้สึกว่าสวยงาม พอลงมติแล้ว จบเลย ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นเสร็จจนสิ้นกระแสความแล้ว กลับมาเป็นเพื่อนกัน กินข้าวด้วยกัน คุยกันได้ ได้บทสรุปปที่ดีงาม ได้ข้อสังเกตที่ดีงาม เป็นความสวยงามของสภาแห่งนี้”
ชีวิตนี้ก็คงเป็นชีวิตสุดท้าย อีก 5 ปี ผมไม่กลับมาแน่นอน ผมคงต้องพักผ่อนแล้ว มองเห็นอนาคต จากคนรุ่นใหม่ด้วย
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 : ในบริบทของสังคมทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นทุกย่อมหญ้า แต่ว่า การขจัดความขัดแย้ง เราจะใช้วิธีใด เราจะรับฟังความเห็นต่าง เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการพูดคุย ด้วยสันติวิธี หรือเราจะขจัดความขัดแย้งด้วยความรุนแรง
“ถ้าเราเลือกขจัดความขัดแย้งด้วยความรุนแรง ผมคิดว่า มันจะเกิดการหลั่งเลือดขึ้นมา ความขัดแย้งถ้าเราแก้ปัญหาด้วยวิธีการรุนแรง ถึงขั้นหลั่งเลือด มันจะเรียกว่าสงคราม แต่ถ้าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เราแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นระบบรัฐสภา หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนบนเวทีไหนก็แล้วแต่ด้วยการพูดคุย สุดท้ายแล้วเรายอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่เพิกเฉยต่อเสียงส่วนน้อยเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง”
สุดท้ายแล้ว การขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รับฟังปัญหา รับมติ รับฟังข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น แล้วใช้กระบวนการสันติวิธีด้วยการพูดคุยด้วยระบบรัฐสภาจะไม่หลั่งเลือด ความขัดแย้งจะคลี่คลายไปจากการพูดคุย เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่ก็จะเกิดบริบทความขัดแย้งอื่นเกิดขึ้นอีกในสังคม วิธีที่ดีที่สุดคือการขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ด้วยการพูดคุย ด้วยระบบรัฐสภาที่เรามีอยู่
ผู้สื่อข่าว : การแสดงวิสัยทัศน์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาจะเริ่มต้นความเป็นหนึ่งเดียวให้วุฒิสภา 1 เดือนเศษผ่านไปคิดว่าอะไรที่เป็นผลรูปธรรม
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา : (ยืนตอบ) ยืนยัน
ผู้สื่อข่าว : นักวิชาการภายนอกมองว่า กลุ่มสว.ที่เป็นเอกภาพ 120-140 เสียง ที่โหวตเป็นหนึ่งเดียว ไม่แตกแถว แต่ สว.อีกกลุ่มที่แตกออกไป โหวตเรื่องอะไรก็ไม่ผ่าน จะทำอย่างไรให้ข้อเสนอของเสียงข้างน้อยเป็นไปได้ในนามวุฒิสภาส่วนรวม
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา : ทุกอย่างเริ่มตนจากตัวเอง ตัวเองต้องเป็นมิตรกับทุกท่าน ให้เกียรติกับทุกท่านก่อน เมื่อตัวเองวางอุเบกขาได้ ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นได้ แต่ละท่านที่คิด พูด ไม่เหมือนกัน ลงมติแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน บางทีเห็นด้วยน้อย บางทีเห็นด้วยมาก ทุกท่านมีเหตุ มีผล และจะเริ่มต้นจาก บางที ไม่เห็นด้วย 2 เสียง บางทีไม่เห็น 50 ก็มีนะ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่นี่จะไปบอกให้คนโน้นทำอย่างนั้น อย่างนี้ ผมว่า น่าจะยาก วุฒิสภาชุดนี้ ถ้าหัวใจท่านไม่เห็นด้วย ผมว่ายาก
ผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นั่งกันอยู่ 3 คน (รองประธานวุฒิสภาอีก2คน) กดได้อย่างเดียว คือ งดออกเสียง คิดได้ แต่พูดไม่ได้ ไม่ได้ได้ทุกอย่าง แต่วุฒิสภาพูดได้ทุกเรื่อง ต้องไม่ถือกัน ไม่ว่ากัน ต้องวางตัวเป็นกลาง จะค่อย ๆ มีเพื่อน มีรอยยิ้ม รู้จักกันมากขึ้น หลายคนไม่ได้คิดเหมือนกัน ไม่ได้ปรึกษาหารือกันเลย คุยกันเรื่องปกติ พอถึงเวลาอภิปราย ลงมติของใครของมัน ผมไม่เคยไปนั่น
“ถ้าเราทำตัวจุ้นจ้านหมดทุกเรื่อง เราก็เป็นประธานไม่ได้ ผมไม่แทรกแซง ไม่ก้าวก่าย สภาเราทำได้ดีกว่า เพราะมาแบบ เรื่องส่วนตัวน้อยกว่า เรื่องที่ต้องไปฟังคนโน้น คนนี้น้อยกว่า เราคิดเหมือนกันได้ เราก็คิดต่างกันได้ เราไม่ใช่สภาที่ถึงขนาดที่จะดุเดือดเลือดพล่าน ถึงเวลาก็ออกมาดี กำลังก้าวไปข้างหน้า อีก 3-4 เดือนจะดีกว่านี้อีกเยอะ”