"...นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด แต่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดระยะเวลาสุทธิที่ต้องรับโทษจำคุก การถูกควบคุมตัวโดยการพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีข้อยุติตามผลการตรวจสอบของ กสม.แล้วว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ที่จะกระทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 จึงถือเป็นการกระทำอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2567 มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดในหนังสือ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นดังกล่าว
************
เรื่อง ขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสิ้นสุดลงหรือไม่
เรียน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
อ้างถึง ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่แถลงโดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 2567 เรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยคณะนิติชน-เชิดชูธรรม มอบหมายให้บุคคลที่มีชื่อและที่อยู่ท้ายหนังสือนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องและให้ข้อมูล
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม เป็นกลุ่มประชาชนที่มีความรู้ทางกฎหมาย รวมตัวกันเพื่อเชิดชูรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะใช้สิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ติดตามเร่งรัดให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการตามหน้าที่ของรัฐอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดอันเป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะติดตามเร่งรัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 โดยจะดำเนินการด้วยการใช้ฐานแห่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชัดเจน หรือใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่มาจากข้อมูลปฐมภูมิที่เชื่อถือได้ พร้อมกับนำเสนอความเห็นทางกฎหมายอย่างอิสระ เพื่อให้มีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนญหรือองค์กรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรภาครัฐมีความครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ และกระบวนการทางการเมืองเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์
คำร้องฉบับนี้เป็นเรื่องการกระทำโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งนายทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2567 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 กันยายน 2567 ซึ่งนายทวี สอดส่อง อาจเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี และอาจทำให้นายกรัฐมนตรีผู้เสนอแต่งตั้งเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน โดยมีฐานแห่งข้อเท็จจริงจากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ฐานแห่งข้อเท็จจริง (จากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.)
กสม.เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย กสม.มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี โดยผลการตรวจสอบของ กสม. ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผลในลักษณะเดียวกันกับการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 37 ได้บัญญัติให้ กสม.มีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญาด้วย
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงผลการตรวจสอบเรื่องที่มีการร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยสรุปผลการตรวจสอบว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
รายงานผลการตรวจสอบของ กสม.ตอนหนึ่งระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ด้วยอาการวิกฤตในช่วงแรก (จากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์) แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณ ชินวัตร ยังพักที่ห้องพิเศษของชั้น 14 มาโดยตลอด ซึ่งหากนายทักษิณ ชินวัตร ป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณ ชิยวัตร กลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำฯไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณ ชินวัตร สามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำ นายทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ทันทีโดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยในรายงานการตรวจสอบของ กสม. ระบุด้วยว่า กฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 7 กำหนดว่า กรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ
2. ผลจากฐานแห่งข้อเท็จจริง
ผลการตรวจสอบของ กสม.ในเรื่องนี้ เป็นการชี้มูลให้เห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และยังเห็นว่ามีการกระทำผิดอาญาของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยมาตรา 27 บัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใด ๆ จะกระทำมิได้ และทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป อันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 3 บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม โดยการกระทำที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 3 ซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5
ดังนั้น นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด แต่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกนำตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดระยะเวลาสุทธิที่ต้องรับโทษจำคุก การถูกควบคุมตัวโดยการพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีข้อยุติตามผลการตรวจสอบของ กสม.แล้วว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ที่จะกระทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 จึงถือเป็นการกระทำอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5
ผลจากฐานแห่งข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้มีความเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ
1) การจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร ตามคำพิพากษาถึงที่สุด ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่การคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้ถูกนำตัวไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14โรงพยาบาลตำรวจ โดยมิชอบ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่จะต้องรับโทษจำคุก อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่มีผลให้ใช้บังคับมิได้ เมื่อการพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วันใช้บังคับมิได้ จะถือว่ายังไม่มีการจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร ตามคำพิพากษา หรือไม่ หากถือว่ายังไม่มี จะต้องจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา หรือไม่ เป็นกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปพิจารณาและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
2) การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ กสม.สรุปผลการตรวจสอบว่า นอกจากเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ของนายทวี สอดส่อง เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
3. การพิจารณาถึงการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ของนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
จากฐานแห่งข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามการตรวจสอบของ กสม.ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในระดับต่าง ๆ มีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่นายทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น ย่อมทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดีโดยตลอด เนื่องจากมีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานระดับกรมที่อยู่ในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และต้องปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งนายทวี สอดส่อง จะต้องรับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่กฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ กำหนดไว้ว่า กรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ
จึงแสดงว่านายทวี สอดส่อง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ทราบเรื่องนี้จากการรายงานตามสายบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อทราบแล้วหากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง รัฐมนตรีย่อมมีหน้าที่จะต้องสั่งการให้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น เช่น เมื่อเห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร พักอยู่ในห้องพิเศษซึ่งไม่ใช่ห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แสดงว่านายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีอาการป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติ ซึ่งไม่ตรงกับความเห็นของแพทย์ รัฐมนตรีก็ควรมีคำสั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางเพื่อทำการรักษาต่อไป เป็นต้น แต่นายทวี สอดส่อง มิได้สั่งการใด ๆ จึงแสดงว่านายทวี สอดส่อง รู้เห็นหรือยินยอมให้มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้น เมื่อ กสม.มีความเห็นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กับโรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย ดังนั้น นายทวี สอดส่อง ที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น จึงถูกชี้มูลโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรงว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจเป็นความผิดอาญาด้วย
นอกจากนี้นายทวี สอดส่อง ยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดมาตรฐานไว้ทั้งในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การจะต้องไม่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลโดยถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน
ดังนั้น นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
4. ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
ผลการตรวจสอบของ กสม.มีความสำคัญและมีความน่าเชื่อถือ โดยมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ผลการตรวจสอบหรือความเห็นของ กสม.ในเรื่องสิทธิมนุษยชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปฏิบัติ เนื่องจากเป็นผลการตรวจสอบหรือความเห็นจากองค์กรสูงสุดทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ แม้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่อาจมีความเห็นแตกต่างจาก กสม.ในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้
ในขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนายทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมครั้งใหม่ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 อย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นนายทวี สอดส่อง ได้กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 3 แล้ว จากผลการตรวจสอบของ กสม.ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญและนำผลของ กสม.มาใช้เป็นฐานในการปฏิบัติงาน หากนายกรัฐมนตรีนำเอาผลของ กสม.มาใช้พิจารณาแล้ว จะเห็นว่านายทวี สอดส่อง เคยมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) และยังอาจกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นการกระทำผิดทางอาญาอีกด้วย ซึ่ง กสม.ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว โดยมาจากการหารือร่วมกันของสององค์กรอิสระในระหว่างการตรวจสอบเรื่องนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 6 วรรคสาม และเห็นชอบร่วมกันให้ กสม.ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อชี้มูลความผิดทางอาญา
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของนายทวี สอดส่อง ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลชุดก่อน โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เนื่องจาก กสม.ได้แถลงผลการตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และคัดเลือกผู้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญของนายทวี สอดส่อง มีลักษณะเป็นการอำนวยความสะดวกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้กับบุคคลในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร ต้องการที่จะตอบแทนการกระทำของนายทวี สอดส่อง ที่ได้ช่วยเหลือให้นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของตนไม่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่รู้ว่า กสม.ได้แถลงผลการตรวจสอบแล้วว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มีนายทวี สอดส่อง รวมอยู่ด้วย แต่ก็ยังคงเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเดิม อันอาจเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 ข้อ 11 หากเป็นเรื่องเล็กน้อยจะถือว่าไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง แต่เรื่องนี้กระทบถึงความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในแวดวงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จึงมีลักษณะร้ายแรง อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงอีกส่วนหนึ่ง
การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีแม้จะเป็นการเสนอรายชื่อมาจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่อำนาจสุดท้ายเป็นของนายกรัฐมนตรีที่จะนำรายชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง หากเสนอบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามย่อมกระทบถึงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ส่งรายชื่อรัฐมนตรีรายนี้ด้วย ตามที่มีตัวอย่างให้เห็นจากการพ้นตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนก่อน
การที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญโดยเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม นอกจากจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งสิ้นสุดลงแล้ว ยังทำให้นายกรัฐมนตรีผู้เสนอแต่งตั้งเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ด้วย และทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ตามแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่พิจารณาที่ 17/2567 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม
จึงเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้โปรดพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ หากได้ผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ผู้ร้องทราบด้วย
อนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 41 วรรคสาม ห้ามมิให้บุคคลใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง....หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 68
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม
ผู้ร้อง
************
กล่าวสำหรับ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม คือกลุ่มบุคคลที่เคยยื่นเรื่องต่อ กกต.มาแล้ว 3 เรื่อง ในนามบุคคล คือ 1.กรณียุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ใช้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ คณะกรรมการบริหารพรรค เอื้อประโยชน์ตนเอง 2. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ 3. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องที่ 2 ก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย
- เหตุที่ชั้น14 จะนำไปสู่ห้องพิจารณาศาล รธน.? แพทองธาร (พึง) ระวังตั้ง รมต.กระทรวงสำคัญ