"...ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเคยมีตัวเลขอัตราการเติบโต GDP ที่สูงกว่าสหรัฐฯอย่างมาก ซึ่งศ.หลิน อี้ฟูก็ยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จีนจะรักษาอัตราเติบโตที่สูงเช่นนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนมีฐานขนาดใหญ่ขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว..."
ณ โมงยามนี้ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก จากเดิมที่เศรษฐกิจจีนเคยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในยุคที่จีนเคยรุ่งเรือง มีสำนักวิเคราะห์หลายแห่ง เช่น Goldman Sachs, EIU, OECD และ The Economist เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ในที่สุด แม้ว่าจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องกรอบเวลาขึ้นอยู่กับตัวแปรในการวิเคราะห์และการตั้งสมมติฐานในการพยากรณ์ตัวเลขการเติบโต อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น (โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อย่อมมีผลต่อการพยากรณ์ขนาดเศรษฐกิจ GDP จีน) เช่น บางสำนักเคยวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาด GDP ที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯได้ ภายในปี 2030
มาถึงขณะนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว จีนต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงอนาคตเศรษฐกิจจีนจะไปต่ออย่างไร และดูเสมือนว่า ไม่ง่ายที่เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้ตามที่เคยคาดการณ์กันไว้
บางสำนักวิเคราะห์ เช่น CEBR มีการปรับการพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถแซงสหรัฐฯ ได้จนกว่าจะถึงปี 2036 เป็นต้น
นอกจากนี้ มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่มีข้อกังวลและมีทัศนะต่ออนาคตเศรษฐกิจจีนที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบการเติบโตของจีน เช่น ความท้าทายด้านประชากร และความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของจีนที่ฝังรากมานาน
ตัวอย่างเช่น นีลล์ เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์และนักเขียนที่มีชื่อเสียง เคยวิเคราะห์ว่าแม้ว่าที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะน่าทึ่งมากหากแต่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าจีนมาก และนีลล์ เฟอร์กูสัน ชี้ให้เห็นว่า “มีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของจีนในระยะยาว เช่น โครงสร้างประชากรและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำในจีน ระดับหนี้ของจีนที่สูงมาก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์”และวิเคราะห์ว่า “จีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองและสังคมเพื่อความมั่นคงและความรุ่งเรืองในระยะยาว”
อย่างไรก็ดียังคงมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งที่มีทัศนะในเชิงบวกต่ออนาคตเศรษฐกิจจีนเช่น ศาสตราจารย์ ดร.หลิน อี้ฟู (Justin Yifu Lin) LinYifu นักเศรษฐศาสตร์จีนที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเคยคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2030”
ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.หลิน อี้ฟูได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และดิฉันได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมหารือกับศ.หลิน อี้ฟูในหลายประเด็น รวมทั้งมุมมองต่ออนาคตเศรษฐกิจจีน
ในระหว่างการประชุมด้วยกันที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ศ.หลิน อี้ฟูก็ได้ยืนยันว่า “เศรษฐกิจจีนจะ (ยังคง) แซงหน้าสหรัฐได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากในช่วงนี้”
สำหรับคำอธิบายและเหตุผลหลักของศ.หลิน อี้ฟูในการวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจจีน จากการประเมินตัวแปรสำคัญและปัจจัยเชิงโครงสร้างของจีน สรุปได้ดังนี้
ประการแรก
นโยบายและบทบาทของภาครัฐ ศ.หลิน อี้ฟู มั่นใจว่า รัฐบาลจีนจะสามารถใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ พร้อมๆ ไปกับการรักษาโมเมนตัมในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงิน และการลงทุนภาครัฐเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริม Green Transition ทั้งด้านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปเชิงลึก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดในระยะยาว
ประการต่อมา
การปรับโมเดลเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ศ.หลิน อี้ฟู ย้ำว่า จีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเน้น “พลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่” (New Quality Productive Forces) โดยมีอุตสาหกรรม “สามใหม่” (New Three Industries) เป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic)
ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างขนานใหญ่นี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตที่แผ่วลงในระยะสั้น แต่ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องทนเจ็บ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเคยมีตัวเลขอัตราการเติบโต GDP ที่สูงกว่าสหรัฐฯอย่างมาก ซึ่งศ.หลิน อี้ฟูก็ยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จีนจะรักษาอัตราเติบโตที่สูงเช่นนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนมีฐานขนาดใหญ่ขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ รัฐบาลจีนจำเป็นจะต้องพยายามอย่างหนัก เพื่อรักษาระดับอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ศ.หลิน อี้ฟู จึงวิเคราะห์ว่า ในช่วงปี 2020-2035 ตัวเลข GDP จีนต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.7 ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ประการสุดท้ายที่สำคัญ
คือปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพของจีน ในระยะยาว ศ.หลิน อี้ฟู เชื่อว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนยังคงแข็งแกร่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ เป็นเพียงระยะชั่วคราว โดยชี้ให้เห็นถึงตัวแปรและปัจจัยพื้นฐานของจีน ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพของจีนในระยะยาว และจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้แซงหน้าสหรัฐฯ ในที่สุด สรุปได้ดังนี้
- ปัจจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
จีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะเทคโนโลยีแห่งอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ A.I. และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Green Technology)รวมทั้งมีการอัปเกรดยกระดับภาคการผลิตของจีนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต
ศ.หลิน อี้ฟู มองว่า นี่คือจุดแข็งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในระยะยาว
รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมของจีนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ จูงใจให้ภาคเอกชนจีนแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ เน้นสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของจีน
- ปัจจัยด้านการบริโภค
ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น จีนมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านคนและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นข้อได้เปรียบของจีน
รวมทั้งทิศทางเชิงนโยบายของรัฐบาลจีนที่เน้นภาคการบริโภคภายในประเทศอย่างจริงจัง เน้นสร้างความมั่นใจ และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างงาน เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้บริโภคจีนมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง
- ปัจจัยภาคบริการ
จีนกำลังเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม รวมทั้งภาคการเงิน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว ซึ่งเน้นทั้งการส่งเสริมให้คนจีนเที่ยวจีน และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวจีน
ตัวอย่างเช่น นโยบายฟรีวีซ่า โดยคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้เงินภายในประเทศจีนมากขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการบริโภคของจีนต่อไป
(ทั้งนี้ ผลของนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลจีน ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปประเทศจีน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 129.9 ในรอบ 7 เดือนของปีนี้)
- ปัจจัยด้านนโยบายรัฐเน้นการกระจายความเจริญสู่ชนบท
รัฐบาลจีนเน้นพัฒนาความเป็นเมืองให้กับชนบท ภายใต้นโยบาย “ฟื้นฟูชนบท” (Rural Revitalization) เพื่อกระจายความเจริญ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชาวจีนในชนบท ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นพลังผู้บริโภคระลอกใหม่ของเศรษฐกิจจีนต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนทุ่มงบลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายการขนส่งที่ทันสมัยและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ชาวจีนในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจัยทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมานั้น ล้วนมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกัน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในขณะที่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ก็จะช่วยรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย และเพิ่มช่องทางในรูปแบบใหม่ๆ ในการเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ศ.หลิน อี้ฟู ยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างหนักหน่วง ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรสูงอายุ แต่ก็ยังคงมั่นใจในศักยภาพของจีนที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตามคำทำนายในเชิงบวก และเต็มไปด้วยความหวังของศ.หลิน อี้ฟู ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ มีนักวิชาการบางคนโต้แย้งว่า การชะลอตัวของจีนอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่ศ.หลิน อี้ฟู เคยคาดการณ์ไว้ และจีนยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจที่ฝังรากลึก เช่น ช่องว่างทางรายได้ของจีนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากภายนอกที่รุมเร้าเข้ามากระทบ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นอุปสรรคและความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
โดยสรุป การพยากรณ์ของศ.หลิน อี้ฟูมาจากสมมติฐานต่างๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อเส้นทางการเติบโตของจีน
ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐได้เมื่อไร จำเป็นต้องพิจารณาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ควบคู่ไปด้วย ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในอนาคตที่มีความไม่แน่นอน สูงมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งปัจจัยจากภายนอก
ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐได้จริงหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือและความสามารถของรัฐบาลจีนในการรับมือและจัดการกับโจทย์ยากต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายได้สำเร็จอย่างแท้จริงหรือไม่ จึงต้องติดตามกันต่อไป
เครดิต : บทความฉบับเต็มใน The Standard คอลัมน์โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น https://thestandard.co/author/aksornsri/
แหล่งที่มา : Facebook ของ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น