“...รัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในตอนนี้ แต่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ถ้ารัฐมนตรีที่พ้นไป ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะได้เป็นตำแหน่งเดิมหรือไม่ก็ตาม ภายใน 30 วัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เหมือนสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พ้นจากตำแหน่งในปี 2562 เมื่อได้กลับมาในปีเดียวกัน ซึ่งมีรัฐมนตรีหน้าซ้ำหลายคน ก็ไม่ต้องบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยความสมัครใจ…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี นัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นกรณีพิเศษ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี โดยหลังจากประชุมแล้ว นายภูมิธรรมได้แถลงผลการประชุมและได้มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในรายละเอียดด้านกฎหมาย มีเนื้อหาดังนี้
@ภูมิธรรม: ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ
นายภูมิธรรมแถลงผลการประชุมครม.นัดพิเศษว่า ที่ประชุมได้รับทราบตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ของรัฐธรรมนูญ โดยคณะรัฐมนตรีที่เหลือจะช่วยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญ, มาตรา 10 วรรค 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 ที่บัญญัติให้ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
“ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อไปได้ จึงมีมติมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” นายภูมิธรรมกล่าว
- ‘เศรษฐา’ ยอมรับเสียใจ ศาลรธน.ฟันไม่มีจริยธรรม แต่น้อมรับคำตัดสิน
- ครม.พ้นทั้งคณะ! ศาล รธน. มติ 5: 4 'เศรษฐา' ไม่รอด สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
- ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน. 5:4 คดี 'เศรษฐา' อวสานนายกฯ เซลส์แมน 358 วัน
- เปิดมติ ศาล รธน. ใคร 5 - ใคร 4 คดี 'เศรษฐา' ปมตั้ง 'พิชิต ชื่นบาน'
นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ครม.เห็นชอบตามแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 (4) ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ประการที่ 1 สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแต่ต้องอยู่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่ได้เรียกว่ารักษาการ และได้รับเงินเดือน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประการที่ 2 คณะรัฐมนตรียังมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่นประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น
ประการที่ 3 การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง
ประการที่ 4 ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด
ประการที่ 5 ให้คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 11 (6) แห่งพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน 2534 และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำรองนายกรัฐมนตรี ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
นายภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 หลักการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี
ประการที่ 1 เรื่องที่เป็นนโยบายใหม่ซึ่งมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ไม่ควรพิจารณา
และประการที่ 2 เรื่องจำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต่อเนื่องให้พิจารณาดำเนินการเป็นเรื่องๆ
@วิษณุ: ข้าราชการการเมืองจากนายกฯพ้นไปทั้งหมด
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้นายภูมิธรรมปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีความแตกต่างจากกรณีที่นายเศรษฐาเคยมีคำสั่งมอบหมายรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะคำสั่งดังกล่าวมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ แต่ครั้งนี้เป็นการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่มีนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องมีการนัดประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเพื่อมีมติใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นที่ 2 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวพันถึงคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ระดับ คือระดับนายกรัฐมนตรีและระดับรัฐมนตรี โดยตำแหน่งใดก็ตามที่นายเศรษฐาใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้เป็นข้าราชการการเมือง เช่น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นต้น ตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลายที่เป็นตำแหน่งทางกฎหมายและนายเศรษฐาได้ตั้งไว้ เป็นอันพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด โดยจะมีการจ่ายเงินเดือนถึงวันที่ 13 ส.ค.นี้
ทั้งนี้ รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะตำแหน่งนี้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง และจะเลยไปถึงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย, ตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ส่วนตำแหน่งกรรมการที่นายเศรษฐาแต่งตั้งไว้ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอำนาจนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการต่างๆได้ เช่น กรรมการที่ปรึกษา, คณะกรรมการประสานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นต้น ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
แต่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า วิปรัฐบาลยังจำเป็นต้องมี จึงมีมติให้แต่งตั้งใหม่ให้ต่อเนื่องกันไป โดยเป็นการแต่งตั้งใหม่โดยใช้คนเก่า
ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวกับระดับรัฐมนตรี ไม่ว่าจะกระทรวงใดก็ตามยกเว้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการของรัฐมนตรี, ที่ปรึกษาของรัฐมนตรี จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ส่วนการทำงานของคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมมีความเห็นว่า เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้มีความแตกต่างจากกรณีคณะรัฐมนตรีรักษาการช่วงยุบสภาที่ผ่านมา เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตคณะรัฐมนตรีรักษาการในช่วงยุบสภาแต่งตั้งข้าราชการได้ พิจารณาอนุมัติงบประมาณผูกพันไม่ได้ ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายไม่ได้
แต่ครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเพราะนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อห้ามกรณีคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจากการขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงยังสามารถพิจารณาในหลายๆเรื่องได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็ควรจะต้องรอคณะรัฐมนตรีใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อย่างเรื่องดิจิทัลวอลเลต คงต้องรัฐบาลใหม่แถลงนโยบายในคราวหน้า
@รัฐมนตรีหน้าเก่า กลับมาใหม่ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ส่วนคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในตอนนี้ แต่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ถ้ารัฐมนตรีที่พ้นไปได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะได้เป็นตำแหน่งเดิมหรือไม่ก็ตาม ภายใน 30 วัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เหมือนสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พ้นจากตำแหน่งในปี 2562 เมื่อได้กลับมาในปีเดียวกัน ซึ่งมีรัฐมนตรีหน้าซ้ำหลายคน ก็ไม่ต้องบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยความสมัครใจ
ขณะที่กำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ซึ่งเดิมกำหนดจะประชุมในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ต้องถูกยกเลิกไปก่อน
สุดท้ายเมื่อถามว่า แล้วจะกลับมารับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลใหม่อีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ขอดูหมอก่อน”
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล