"...ธุรกิจน้ำมันมีความเสี่ยงในอนาคต เทคโนโลยีมาเร็ว การใช้รถยนต์คนในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ กำลังจะเข้ามาอีกมา เราต้องยอมรับเรื่องจริง แต่ถ้าเราอยู่เฉย ๆ เราก็จะหายสาบสูญไป..."
"เรากำลังจะก้าวออกจาก comfort zone (คอมฟอร์ทโซน หรือ พื้นที่ปลอดภัย) ในการทำธุรกิจของเรา เราพยายามที่จะเติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจในเรื่องปั๊มน้ำมัน เพราะปั๊มน้ำมันทุกวันนี้ไม่ได้เป็นปั๊มน้ำมันอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว น้ำมันเป็นแค่หนึ่งในสินค้าของเรา ซึ่งการก้าวออกจาก comfort zone แม้ว่ามันจะเสี่ยง แต่เราก็ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่แข็งแกร่ง สู้กับใครไม่ได้"
คือ คำอธิบายของ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่ให้กับคณะสื่อมวลชนไทยในระหว่างการเดินทางไปดูงานธุรกิจผลิตและขายสินค้าความงามที่ประเทศญี่ปุ่น ของ สุกิ โฮลดิ้งส์ (Sugi Holdings) หนึ่งในผู้นำธุรกิจเครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์ม นาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น พันธมิตรธุรกิจรายสำคัญของ โออาร์ ในการเริ่มลงทุนธุรกิจด้านนี้ ผ่านร้าน “found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม ที่เปิดนำร่องไปแล้ว 3 สาขา ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา และมีแผนจะเปิดให้บริการครบ 10 สาขา ภายในกลางปี 2567 และขยายเป็น 500 สาขาภายในปี 2573 เพื่อหวังก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์และธุรกิจค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามในไทยอย่างเต็มตัว
@ ทำไมต้องเป็นธุรกิจนี้
นายดิษทัต ปันยารชุน ขยายความให้ฟังว่า ธุรกิจสุขภาพและความงาม เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมาก โออาร์ อยู่ในธุรกิจเดิมมานาน ขายน้ำมัน อาหาร และเครื่องดื่ม โออาร์จึงอยากจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ก็คือ ธุรกิจสุขภาพและความงาม
"ถามว่าทำไมต้องเป็นธุรกิจนี้ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีผู้เล่นชัดเจนในประเทศไทย และก็เป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในญี่ปุ่นด้วย"
"ต้องเรียนว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ของไทยก็เช่นเดียวกันเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกประมาณ 5 ปี ในอนาคตสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันคนทั่วไปก็รักความสวยความงามดูแลสุขภาพกันมากมาย ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่โออาร์ควรจะเข้าไปหาโอกาสทางธุรกิจนี้ นอกจากธุรกิจของเราที่ทุกคนเห็นอยู่"
ส่วนคำถามที่ว่า จุดดึงดูดที่ทำให้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจสนใจร่วมทำธุรกิจนี้กับโออาร์ ทั้งที่โออาร์ทำธุรกิจขายน้ำมันมาตลอด นายดิษทัต ตอบว่า "ผมกับทีมงานมาดูงานธุรกิจนี้ ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) เรามาด้วยแบรนด์สินค้าหัวหอม เขาก็งงว่า อะไรคือหัวหอม มานัดพบกันระหว่างบริษัทน้ำมันกับบริษัทความงาม แต่ผมว่ามันคือกลยุทธ์ที่เราต้องทำจริง คือ โออาร์ เรามีเงิน มีความสามารถในการลงทุน แล้วก็มีธรรมาภิบาล เขาต้องมองว่า เราคือใครก่อน แล้วก็มีเงินมาลงทุนไหม และที่สำคัญเรามีธุรกิจปั๊มน้ำมันที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ประเทศไทย นั่นคือสิ่งที่เขาสนใจ"
"ผมได้ติดต่อกับ สุกิ โฮลดิ้งส์ ของญี่ปุ่นและบริษัทของเกาหลี สิ่งที่เห็นได้ ก็คือ เขาต้องการที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในไทยแบบเต็มๆ ไม่มีใครที่จะไม่อยากขยายธุรกิจในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเขาต้องหาเพื่อนลงทุนทางธุรกิจที่ดีที่สุด ซึ่งมันก็ตรงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เราอยากจะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจสุขภาพและความงาม กลยุทธ์ตรงกัน"
"ถ้าเขาไม่อยากจะมาลงทุนในต่างประเทศ คุยยังไงก็คงร่วมมือกันไม่ได้ แต่เขามีกลยุทธ์เหมือนกัน เขาอยากขยายธุรกิจในตลาดให้ครอบคลุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยากจะมีโรงงานในประเทศไทยด้วยซ้ำ อยากเข้ามาเปิดโรงงานเพื่อเป็นฐานขยายสินค้า ไม่ใช่แค่ขายสินค้าให้เท่านั้น แต่เรื่องนี้ต้องใจเย็นก่อน ช่วงแรกเราต้องซื้อมาขายไปก่อน เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเราเล่นในตลาดนี้แล้ว"
"เมื่อเขาเห็นความจริงใจว่าเราทำจริงจัง ระบบทุกอย่างก็จะมาเอง แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย หรือไม่เริ่มให้เห็นเป็นภาพ เราต้องทำให้เกิดผลให้ได้ ให้เกิดการรับรู้ เชื่อถือสามารถเข้าถึงได้ สัมผัสได้ นั้นคือการสร้างการลงทุนร่วมกันที่เข็มแข็ง หลังจากนั้นทุกอย่างจะต่อยอดไปได้เอง"
@ เยี่ยมชม PHARMAFOOD FACTORY, KYOTO
@ น้ำมัน มีสถานะเป็นแค่สินค้าตัวหนึ่ง
นายดิษทัต อธิบายต่อว่า "เราพยายามที่จะเติมเต็มระบบนิเวศทางธุรกิจในปั๊มน้ำมันของเรา จะเห็นว่าปั๊มน้ำมันทุกวันนี้ไม่ได้เป็นปั๊มน้ำมันอย่างเดียว น้ำมันเป็นแค่หนึ่งในสินค้าของเรา ปัจจุบันทุกธุรกิจถูกดิสรัปชั่น(หยุดชะงัก) ธุรกิจน้ำมันก็ถูกดิสรัปชั่นเหมือนกัน เราเป็นผู้ค้าขายทำธุรกิจค้าปลีก เพราะฉะนั้นในการประเมินความเสี่ยงของเรา เรามองว่า 5 ปี 10 ปี ขึ้นไป บอกได้เลยว่าถ้าเราไม่ปรับตัว โออาร์ก็จะไม่เข้มแข็งอีกต่อไป"
"ขณะที่การลงทุนธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ก็อยู่ในกลยุทธ์ของเราอยู่แล้ว สิ่งที่เราพยายามทำ คือ การลงทุนทำธุรกิจใหม่ หาโมเดล เพื่อนร่วมธุรกิจก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก กรรมการของโออาร์ มีองค์ความรู้ในเรื่องธุรกิจนี้เป็นอย่างดี เราเอาคนที่มีความรู้มาช่วยในการดูแล เพื่อผลักดันธุรกิจสุขภาพและความงามให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพราะเป็นธุรกิจ ที่เรามองว่าต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ทำมาแล้วก็ปล่อยไป อันนี้ คือ ความตั้งใจของคนโออาร์จริงๆ"
"วันนี้เรามาประเทศญี่ปุ่น ก็เพื่อที่จะให้ทุกคน (สื่อ) ได้เห็นโมเดลธุรกิจของเรา เราพาไปดูสินค้าต่างๆ ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้า ในกลุ่มธุรกิจของ Sugi Holdings เพื่อนร่วมธุรกิจมี่สำคัญในญี่ปุ่น ว่าเขาทำงานอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร เพื่อที่จะนำสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากคนในญี่ปุ่นเหล่านี้ เข้ามาขายในไทย"
"ต้องเรียนว่าเรื่องกิจการค้าปลีกเป็นธุรกิจที่เราถนัด เราต้องทำในสิ่งที่เราคุ้นเคยก่อน เพราะห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) มันยาวมาในเรื่องธุรกิจความงามหรือสุขภาพ ณ เวลานี้ เราพยายามที่จะเรียนรู้หาเพื่อนทางธุรกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรามีเพื่อนทางธุรกิจทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลี แต่เพื่อนทางธุรกิจกลุ่มสุดท้ายที่เราให้ความสำคัญไม่ทิ้ง ก็คือคนไทยเนี่ยแหละ เพราะโออาร์ อยากจะสนับสนุนคนไทยด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ของต่างชาติเข้ามา แต่ถ้าจะให้มองเป็นเรื่องระบบนิเวศทางธุรกิจสุขภาพและความงาม เพื่อนทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ ญี่ปุ่นและเกาหลี ที่เราจะต้องดึงเข้ามาก่อน เพื่อสร้างความน่าสนใจ ถ้าไม่เริ่มต้นแบบนี้ มันก็จะไม่ว้าว แต่ในลำดับถัดไป เราก็ต้องหาเพื่อร่วมลงทุนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการลงทุน หรือเป็นผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ ส่วนรูปแบบการลงทุนร่วมกัน ก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมอีกครั้ง"
@ เยี่ยมชม COSMED PHARMACEUTICAL COMPANY, KYOTO
@ ความเสี่ยงในการก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน
นายดิษทัต ย้ำว่า โออาร์ กำลังจะก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน แน่นอนว่าการก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจ แต่ก็คิดว่าโออาร์มีกลุยทธ์ที่ดี
"ถามว่า ธุรกิจสุขภาพและความงาม เป็นธุรกิจจริงจังหรือไม่ กรรมการบริษัทฯ ทุกคนเห็นด้วย ให้เราเริ่มทำในรูปแบบร้าน “found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม เพื่อทดลอง หาโมเดล หาเพื่อนร่วมทางธุรกิจ หาสูตรที่ใช่ ดึงความน่าสนใจธุรกิจนี้ออกมาให้ได้ นี่คือ สิ่งที่โออาร์มีความแตกต่าง จากคู่แข่งอื่นๆ ที่ดูเราอยู่ โดยในส่วนร้าน “found & found” ปี 2567 นี้ ให้เปิด 10 สาขา ก่อนที่ในปีหน้าจะเริ่มรันธุรกิจเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าหมายขยายเป็น 500 สาขาภายในปี 2573 ใช้เงินลงทุนต่อสาขาประมาณ 4 ล้านบาท เน้นกลุ่มเป้าหมายอยู่ระดับกลาง ๆ อยู่ในพื้นที่ กทม. ประมาณ 20-30 %อีก 70-80 % อยู่ในต่างจังหวัด เพราะในเมืองมีคู่แข่งจำนวนมาก การแข่งขันราคาค่อนข้างสูง ถ้าออกด้านนอกจะทำให้เราขยายตัวได้ดี เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายกว่า"
นายดิษทัต กล่าวย้ำอีกว่า "ธุรกิจความงาม เป็นการทดลองแรกของเรา มันยังมีธุรกิจเรื่องสุขภาพที่จะมีการต่อยอดต่อไปด้วย แต่ธุรกิจสุขภาพต้องใช้เวลา แต่เราต้องเริ่มจากธุรกิจที่เราถนัดก่อน และค่อยไปสู่ธุรกิจอื่นที่เรากำลังศึกษา การวิเคราะห์ในเชิงสุขภาพ ต้องหาให้เจอ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวการให้บริการอื่น ๆ"
"หลังจากที่เราเริ่มร้าน “found & found” ผมได้รับการติดต่อจากคนที่ต้องการจะเข้ามาร่วมธุรกิจของเรา ทั้งที่เป็นคนไทย และต่างชาติจำนวนมาก เพราะเขาเห็นว่าเราจริงจัง เขาสามารถต่อยอดทางธุรกิจร่วมกับเรา เราก็สามารถต่อยอดธุรกิจร่วมกับเขา เป็นการต่อจิ๊กซอร์ทางธุรกิจให้สมบูรณแบบมากขึ้น ถ้าผ่านไปอีก 1 ปี เรามีความคุ้นเคยเข้าใจธุรกิจตัวนี้มากขึ้น มีเพื่อนร่วมธุรกิจมากขึ้น สินค้าที่นำเข้ามาก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น มั่นใจว่าเราจะแต่กต่างจากคู่แข่งแน่นอน เพราะเรามีความเคลื่อนไหวตื่นตัวอยู่ตลอด ซึ่งเป็นไปตามสีสันของการลงทุนธุรกิจใหม่"
@ เยี่ยมชม SUGI PHARMACY FLAGSHIP STORE สาขา Shinsaibashi, OSAKA
@ ระบบนิเวศทางธุรกิจของโออาร์
นายดิษทัต กล่าวย้ำด้วยว่า "โออาร์เรามีปั๊มน้ำมันและ Cafe Amazon จำนวนกว่า 4.5 พันแห่ง ปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้จากการน้ำมันอยู่ที่ 70 % ส่วนสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันอยู่ที่ 30 % แต่ในช่วง 5 ปี หลังจากนี้ เราตั้งใจจะผลักดันให้สัดส่วนรายได้ ทั้ง 2 ส่วนอยู่ที่ 50% เท่าๆ กัน แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ กลยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ธุรกิจสุขภาพและความงาม กำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจของคนในอนาคต เรากำลังพยายามที่จะเติมเต็มระบบธุรกิจของเราให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด"
"เราไม่ต้องการจะเป็นแค่ เจ้าของปั๊มน้ำมัน (แลนด์ลอร์ด) ทำปั๊มน้ำมันมา แล้วปล่อยให้คนมาเช่าพื้นที่เท่านั้น แต่เราต้องการให้คนเข้ามามีส่วน ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา"
"แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในการทำธุรกิจเราจะมุ่งในเรื่องของผลกำไรบริษัทเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดูแลคนในสังคมไทยของด้วย ในการเปิดโอกาสให้คนไทย เข้ามาร่วมมีส่วนในการทำธุรกิจกับเรา ซึ่งร้าน “found & found” ในอนาคตก็อาจจะมีการเปิดให้กลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์ ขณะที่สินค้าที่เรานำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ ก็เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่แพงจนเกินไป ราคาจับต้องได้ ไม่ใช่หลัก 4-5 พันบาท อยู่ที่หลัก 300- 200- 500 บาท"
นายดิษทัต กล่าวย้ำอีกว่า "คำว่า “รีเทล” (การค้าปลีก) มันมีความหมาย รูปแบบธุรกิจเราในการเป็นปั๊มน้ำมัน คนเข้าถึงได้ง่าย คนไม่จำเป็นต้องไปเข้าห้างสรรพสินค้า เราเข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงได้ทุกจุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนร่วมธุรกิจของเราให้ความสนใจ เรามีสิ่งที่ได้เปรียบอยู่เรา ก็นำมาต่อยอดทางธุรกิจของเรา"
"นอกจากนี้ ธุรกิจนี้แล้ว โออาร์ จะเข้าสู่การทำธุรกิจ Digital Transformation เต็มรูปแบบ นำข้อมูลที่ได้จากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่เก็บได้มาประมวลผลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ซึ่งโออาร์มีช่องทาง ฐานข้อมูลลูกค้าหลากหลายพฤติกรรม รวมทั้งเงินทุนในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ธนาคารกรุงไทยในการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ Virtual Bank เข้าสู่บริการทางการเงินอย่างเต็มตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้โออาร์"
"ธุรกิจน้ำมันมีความเสี่ยง ในอนาคต เทคโนโลยีมาเร็ว การใช้รถยนต์คนในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ กำลังจะเข้ามาอีกมา เราต้องยอมรับเรื่องจริง แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราก็จะหายสาบสูญไป"
***********
เหล่านี้ คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโออาร์ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่จากคอมฟอร์ทโซนธุรกิจเดิม ที่แค่ทำปั๊มขายน้ำมัน อาหาร และเครื่องดื่ม ภายใต้ความหวังในการก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกด้านสุขภาพและความงามในไทยอย่างเต็มตัว
หลังจากที่สถานการณ์ธุรกิจน้ำมัน ในปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยงถึง "ทางตัน" ไม่ใช่ "พระเอก" แบบที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว