เรื่องวิกฤตการเงินการคลังเป็นเรื่องใหญ่และที่สำคัญเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขเรื่องนี้มาก่อน ถ้าหากเกิดวิกฤตดังกล่าวในอนาคตจะสร้างความยากลำบากให้กับพวกเรามากเสียยิ่งกว่าวิกฤตการเงินที่เราเคยประสบมาในอดีต
หมายเหตุ เป็นคำอภิปรายของนาย วีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.บ.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ตามที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติในการตัดลดงบประมาณลง เนื้อหาในการอภิปรายดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ก่อให้เกิดภาระหนี้และการขาดดุลงบประมาณมหาศาล
กระผมนาย วีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการฯ ขอแสดงความเห็นในหลักการและเหตุผลที่ผมเสนอให้ตัดลดงบเงินประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณปีพ.ศ.2667 เหลือเพียง 50,000 ล้านบาทจากวงเงินที่รัฐบาลเสนอมาจำนวนทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาทตามที่ผมได้ขอสงวนความเห็นเอาไว้ในการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ เพื่อขอมาชี้แจงให้ท่านประธานสภาฯและสมาชิกได้ร่วมกันพิจารณาก่อนจะให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป
แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลในการตัดงบค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรืองบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ผมมีข้อสังเกตเบื้องต้นเป็นประเด็นสำคัญ ว่า แท้จริงแล้ว เราต้องมองภาพรวมของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตงทั้งหมดซึ่งใช้เงินรวมกันประมาณ 450,000 ล้านบาทแม้จะมีการลดลงจากเดิมที่ตั้งเอาไว้ 500,000 ล้านบาทว่า มีความเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้นอกจากเหนืองบประมาณรายจ่ายเติมตามร่างพ.ร.บ.ที่เรากำลังพิจารณากันในวาระที่สองและสามในขณะนี้ จะเรียกว่าเป็นการจัดทำแบบรวมห่อหรือแพคเกจซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงไปตรงมา
อยากตั้งเป็นข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการจัดทำงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการนี้เอาไว้
สำหรับเงินที่รัฐบาลจะใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านมีที่มา 3 ทางเป็นสำคัญ
หนึ่ง จากงบประมาณปกติปี 2567 และงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 รวม 165,000 ล้านบาท สอง สอง จากงบประมาณปกติปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และ สาม จากงบประมาณปกติปี 2568 โดยไม่บอกที่มาอย่างชัดเจน 132,300 ล้านบาท
ตรงนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไปใช้วิธีให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธกส. ทดลองจ่ายไปก่อนตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐหรืออาจจะออกเป็นงบประมาณเพิ่มเติมปี 2568 หรือจะจัดสรรวงเงินงบประมาณปกติปี 2568 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการอยู่ก็ไม่ทราบได้
แต่ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าค่อนข้างจะฉุกหุกชุลมุนชุลเกสมกับที่รัฐบาลบอกว่ามีความจำเป็นฉุกเฉิน
เงินที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งหมดมียอดรวมกันทั้งสิ้น 450,000 ล้านบาทเทียบเท่ากับร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ที่ตกประมาณ 18 ล้านล้านบาท ในแง่จำนวนแล้วต้องถือว่าไม่มาก เพียงแต่ว่ามาดำเนินการในช่วงเวลาที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ใช้เงินในการประคับประครองเศรษฐกิจไปแล้วถึงร้อยละ 10 ของจีดีพีในช่วงวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมาด้วยการออกพระราชกำหนดกู้เงินมาเยียวยาเศรษฐกิจไปแล้วถึง 1.5 ล้านล้านบาทและควรจะเป็นช่วงเวลาที่ปรับลดวงเงินที่ภาครัฐเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจไม่ใช่การเพิ่มวงเงินกู้ผ่านการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องพอกพูนจากเดิมที่เคยมีอยู่จนทำให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตัวอย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้
การดำเนินนโยบายการคลังผ่านการทำงบประมาณขาดดุลเรื้อรังและพอกพูนหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆแบบนี้
อันตรายครับ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการใช้เงินดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญซึ่งมีลักษณะเฉพาะกิจและเป็นการดำเนินการทางด้านดีมานด์ไซด์แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการผลิตด้านซับพลายไซด์ที่จะสร้างความเข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า
แม้เรื่องนี้จะสามารถถกเถียงกันได้ว่าการดำเนินการทางด้านดีมานด์ไซด์จะนำมาซึ่งการดำเนินการทางด้านซับพลายไซด์ในอนาคตได้ก็ตามที
ท่านประธานที่เคารพครับ
แต่ถึงแม้ว่าการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลจะมีความสลับซับซ้อนเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านข้อกฎหมายในทางปฏิบัติอย่างที่ผมได้ลำดับความมาก่อนหน้านี้
แต่ผมก็อยากจะชื่นชมกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ยอมใช้วิธีงบประมาณปกติในการใช้เงินทำโครงการนี้ผ่านงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 เพื่อให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรวจสอบเพื่อความรอบคอบ โดยไม่ใช้การเงินกึ่งการคลังที่ให้สถาบันการเงินของรัฐดำเนินการจ่ายเงินแทนไปก่อนและไม่ใช้การออกพระราชกำหนดกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความการดำเนินการผ่านงบประมาณที่กำลังทำอยูในขณะนี้และในอนาคตจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังแต่อย่างใด
สิ่งที่ผมอยากจะเรียนต่อไปก็คือ การดำเนินโครงการนี้นอกจากประเด็นทางด้านข้อกฎหมายซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐและพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณรวมทั้งพ.ร.บ.เงินคงคลังและ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้งรายละเอียดในทางปฏิบัติที่อาจจะมีช่องว่างรูโหว่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ผลเต็มที่ตามที่ตั้งใจซึ่งผมเข้าใจว่า มีกรรมาธิการท่านอื่นๆและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งข้อสังเกตและอภิปรายไปแล้ว ผมจะขอไม่กล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อน
โดยสรุปก็คือประเด็นข้อกฎหมายในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังเป็นปัญหาอาจจะต้องมีการตีความหรือท้วงติงผ่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
แต่ผมคิดว่า ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและประเด็นการเมืองก็ควรให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ผมขออนุญาตพูดถึงประเด็นทางด้านเศรษฐกิจดังนี้ครับ
ประเด็นแรก ถ้าเราดูวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงปี2527-2529 ที่มีการลดค่าเงินบาทและช่วงปี 2540-2542 ที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท สิ่งที่ควรตระหนักก็คือวิกฤตที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีความแตกต่างจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ที่อาจจะพัฒนาจนกลายเป็นวิกฤตในอนาคตได้ เพราะรากเหง้าของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญก่อนหน้านี้เป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศภาครัฐและหนี้ต่างประเทศภาคเอกชน จนทำให้ต้องมีการปรับระบบอัตราเปลี่ยนด้วยการลดค่าเงินบาทและลอยตัวค่าเงินบาทตาม
แต่สำหรับคราวนี้รากเหง้าของปัญหาเป็นหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นเรื่องเงินบาทเป็นสำคัญเชื่อมโยงกับบริหารด้านทางด้านการเงินการคลังภาครัฐโดยตรงซึ่งต้องบอกว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์บริหารจัดการปัญหาแบบนี้มาก่อน
มาถึงตรงนี้ผมจึงอยากเสนอแนะให้ทางการที่เกี่ยวข้องศึกษาบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่เรียกว่าวิกฤตหนี้สินของประเทศกรีซ(Greek Crisis) แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ก็ตามที แต่ก็มีความเหมือนที่มองข้ามไม่ได้และน่าจะเป็นประโยชน์
ประเด็นที่สอง ถ้าหากเรามองให้ลึกลงไปในเรื่องงบประมาณที่จัดทำในอดีตปัจจุบันและในอนาคต เราจะเห็นตัวชี้วัดอันหนึ่งที่เป็นอันตรายซ่อนเร้นอยู่นั่นก็คือ อัตราส่วนระหว่างรายจ่ายดอกเบี้ยเทียบกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในแต่ละปี
ถ้าหากดูแบบคร่าวๆ จะเห็นว่างบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 346,000 ล้านบาท (ชำระคืนเงินต้น 118,320 ล้านชำระดอกเบี้ย 227,000 ล้านบาทหรือเท่ากับร้อยละ 8) ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 410,253 ล้านบาท (ชำระคืนเงินต้น 150,100 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ย 260,153 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 9)
สรุปแบบสั้นย่อก็คือ เราจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีเท่าหรือเกือบเท่าร้อยละ10 ของรายได้ที่เราหามาได้
ตรงนี้อันตรายครับถ้าหากแนวโน้มยังมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่สาม ถ้าหากมองตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง นั่นคือ อัตราส่วนระหว่างงบจ่ายลงทุนเทียบกับยอดขาดดุลงบประมาณ ในขณะนี้และในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าดูแบบคร่าวๆ เราจะเห็นว่า งบจ่ายลงทุนในงบประมาณปี 2567 มีจำนวน 710,080 ล้านบาท ในขณะที่ขาดดุลงบประมาณมียอด 693,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับงบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีงบจ่ายลงทุน 908,224 ล้านบาทเทียบกับขาดดุล 865,700 ล้านบาท
แม้ว่างบจ่ายลงทุนดังกล่าวจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายและยังมียอดสูงกว่าการขาดดุลงบประมาณก็ตามที แต่นี่เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงนิยามของงบจ่ายลงทุนของสำนักงานงบประมาณที่ยังมีข้อถกเถียงว่า เหมาะสมหรือไม่ เป็นการบิดเบือนเพื่อให้ตัวเลขงบจ่ายลงทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็นและการคำนวณงบจ่ายลงทุนที่นำโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) บางรายการมารวมไว้ในงบจ่ายลงทุนอีกต่างหาก
ความผิดปกติที่ชัดเจนมากก็สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้เพราะเป็นการทำงบประมาณขาดดุลสูงที่สุดจนติดเพดานการทำงบประมาณขาดดุลอย่างไม่เคยมีมาก่อน
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ปกติและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจะทำให้มียอดขาดดุลรวมกันถึง 805,000 ล้านบาท ในขณะที่เพดานที่จะขาดดุลได้โดยไม่ผิดกฎหมายอยู่ที่ 815,052 ล้านบาท จะเห็นว่าเหลือเพียงแค่หนึ่งหมื่นล้านบาท นั่นเท่ากับว่าการใช้งบประมาณรายจ่ายแทบไม่เหลือช่องว่างให้ทำอะไรได้อีกแล้ว
เรื่องที่ผมกล่าวมาโดยสั้นย่อดังกล่าวยังไม่รวมภาระการคลังในงบประมาณที่รัฐบาลต้องตั้งวงเงินจ่ายเงินสมทบให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม (กปส.) ที่ยังไม่ครบถ้วน โดยยังไม่รวมภาระการคลังนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่มียอดคงค้างอยู่ประมาณ 1 ล้านล้าน ในขณะนี้ที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายใช้คืนในอนาคต เช่นเดียวกับภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 110,000 ล้านบาท ภาระหนี้สินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 98,000 ล้านบาทและภาระหนี้สินของกองทุนประกันวินาศภัยที่มีภาระต้องจ่ายสินไหมทดแทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ล้มละลายอีกไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท
นี่เป็นส่วนหนึ่งของระเบิดเวลาที่จะทำให้การคลังภาครัฐมีความอ่อนไหวจนสามารถพัฒนาเป็นวิกฤตการเงินการคลังในอนาคตถ้าหากบริหารจัดการกันไม่ถูกต้อง
ผมอยากเพิ่มเติมข้อมูลด้วยประสบการณ์จากประเทศอื่นที่เคยประสบวิกฤตการคลังอย่างรุนแรงเป็นตัวอย่างเป็นบทเรียนให้เราช่วยกันพิจารณาครับว่า เมื่อเกิดวิกฤตการคลังแล้วเศรษฐกิจโดยรวมจะซบเซาซึมนาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำต่อเนื่องและถึงขั้นติดลบ ราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้นและอื่นๆจะไม่ขยับปรับขึ้นเพราะขาดแรงซื้อ การลงทุนใหม่จะไม่เกิดขึ้น
เมื่อต้องลงมือแก้ไขกันอย่างจริงจังจะต้องมีการลดรายจ่ายประจำอย่างหนัก เช่น เงินบำเหน็จบำบาญ เงินอุดหนุนชดเชย เงินสมทบกองทุนต่างๆจะถูกกระทบอย่างรุนแรง จะต้องมึขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐและอุดช่องว่างการขาดดุลงบประมาณด้วยการตัดลดงบประมาณรายจ่าย ในขณะที่การจ้างงาน การผลิต การออมจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการวาดภาพคร่าวๆและหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหากเราดำเนินนโยบายการคลังไม่รอบคอบจนเกิดความผิดพลาดส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างใหญ่หลวง
ถ้าหากไม่เป็นการรบกวนเวลาที่ประชุมมากจนเกินไป ผมขอพูดถึงประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิตอลวอลเล็ตโดยขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ครับ
ประเด็นแรก การที่โครงการนี้เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพี่อไทยและรัฐบาลทำให้การบริหารจัดการดำเนินไปในลักษณะที่นำเป้าหมายมาสร้างความชอบธรรมในด้านวิธีการนำไปสู่เป้าหมาย End justify Mean
อันนี้เป็นเรื่องอันตรายครับ
ประเด็นที่สอง จะมากหรือน้อยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นนโยบายในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่สร้างภาระทางการคลังในอนาคตและอาจจะเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายการคลังแบบสุ่มเสี่ยงเช่นนี้
อันที่จริงยังมีประเด็นมากกว่านี้แต่ผมขอสรุปสั้นๆเพียงแค่นี้
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การดำเนินตามนโยบายรัฐบาลด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าวลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต ผมจึงเสนอให้ลดวงเงินในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 จากเดิม 122,00 ล้านบาทเหลือเพียง 50,000 ล้านบาทและลดการขาดดุลจากเดิม 112,000 ล้านเหลือเพียง 40,000 ล้านบาท การลดวงเงินและลดการขาดดุลดังกล่าวผมเชื่อว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระทางการคลังที่ตึงตัวอยู่ในขณะนี้
แม้การเสนอขอปรับลดวงเงินดังกล่าวอาจจะไม่มากพอที่จะทำให้ภาระทางการคลังลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็ตามที ถ้าหากพิจารณาเชื่อมโยงว่าการขาดดุลงบประมาณในงบประมาณรายจ่ายปี2567 และ2568 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เกินร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับจีดีพี
การขาดดุลงบประมาณแต่ละปีไม่เกินร้อยละ3 เป็นหมุดหมายสำคัญที่จำเป็นถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต
แม้ว่าการลงมติในการให้ความเห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่สองและที่สามจะเป็นไปตามเสียงข้างมากของกรรมาธิการที่ให้คงตามร่างเดิมเอาไว้ก็ตามที แต่ผมก็หวังว่าข้อสังเกตด้วยความห่วงใยที่ผมลำดับความมาตามลำดับจะทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคต
ผมอยากจะสรุปในตอนท้ายว่าในขณะนี้มีแนวคิดสำคัญต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะนโยบายการคลังซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ งบประมาณรายจ่าย หนี้สาธารณะและรายได้ภาครัฐในปัจจุบันและในอนาคตซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้สองแบบด้วยกัน
แบบแรก เห็นว่าถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้และที่จะทำต่อไปในอนาคตแบบไม่รอบคอบรัดกุมมากพอ มีความสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดวิกฤตการเงินการคลังในอนาคตได้
แบบที่สอง เห็นว่าถ้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการนโยบายแบบนี้ จะทำให้วิกฤตการเงินการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสามารถหลีกเลี่ยงได้
ผมคงไม่ต้องบอกว่าผมเห็นด้วยกับแนวทางแบบไหน?
เรื่องวิกฤตการเงินการคลังเป็นเรื่องใหญ่และที่สำคัญเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขเรื่องนี้มาก่อน ถ้าหากเกิดวิกฤตดังกล่าวในอนาคตจะสร้างความยากลำบากให้กับพวกเรามากเสียยิ่งกว่าวิกฤตการเงินที่เราเคยประสบมาในอดีต
ผมจึงหวังว่าท่านสมาชิกจะได้พิจารณาในเรื่องการให้ความเห็นชอบร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ด้วยความรอบคอบโดยคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ
ขอบพระคุณครับท่านประธาน
อ่านประกอบ