เมื่อศพปริศนา ร่วงหล่นลงมาจากยอดเขา นำมาสู่ความสัมพันธ์ต้องห้าม ที่ไม่อาจเลี่ยง "ยิ่งตกหลุมรัก ยิ่งตกหลุมพราง" การตัดสินใจครั้งนี้ กำลังจะเปลี่ยนเธอและเขาไปตลอดกาล
ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) คือชื่อเรียกประเภทของหนัง คำว่า "Noir" เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ดำ" ถ้าแปลแบบดาดๆ ฟิล์มนัวร์ คงจะเรียกว่าหนังมืด หากจะว่ากันตามจริง ฟิล์มนัวร์ คือ ภาพยนตร์ที่ใช้แสงและสีมืดทึบ มีพล็อตแสดงให้เห็นถึง ด้านมืดในใจมนุษย์ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผิดหรือถูก ใครดีกว่าใคร ใครเลวกว่าใคร เช่นเดียวกับหนังเรื่อง Decision to Leave
(ภาพ โปสเตอร์ Decision to Leave )
แฮจุน (Hae-joon) ตำรวจสายสืบที่สุขุมต่อคนอื่น ๆ รอบข้าง แต่กลับเหมือนเป็นอีกคนเมื่อเขาดำดิ่งเข้าสู่การสืบสวนคดีแต่ละคดี เขาก็ได้รับมอบหมายให้เสาะหาเบาะแสเกี่ยวกับคดีการเสียชีวิตแบบผิดวิถีธรรมชาติที่เกิดขึ้นในย่านหุบเขาแห่งหนึ่ง ที่นั่นทำให้เขาได้พบกับ ซอแร (Seo-rae) อดีตภรรยาของผู้เสียชีวิตในคดีนี้ แน่นอนว่าเขาสงสัยเธอเป็นลำดับต้น ๆ ในคดีนี้ แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งสงสัย เขากลับยิ่งหลงใหลในเธอมากขึ้น
เมื่อศพปริศนา ร่วงหล่นลงมาจากยอดเขา นำมาสู่ความสัมพันธ์ต้องห้าม ที่ไม่อาจเลี่ยง
"ยิ่งตกหลุมรัก ยิ่งตกหลุมพราง" การตัดสินใจครั้งนี้ กำลังจะเปลี่ยนเธอและเขาไปตลอดกาล
หนังเรื่องนี้คือผลงงานของ พัค ชาน-วุค (Park Chan-wook) เจ้าของผลงานที่เป็นที่รู้จัก อย่าง Joint Security Area, The Handmaiden ผลงานที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นหนังในตำนานอย่าง Oldboy (2003) ที่ฝากรอยแผลฝั่งลึกในใจใครหลายคน กับตอนจบที่สุดแสนระทมหัวใจ แถมยังพาให้เขาไปคว้ารางวัลแรก จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ จนทำให้ทั่วโลกหันมามองวงการหนังของเกาหลีใต้ หนังของเค้ามักจะแฝงไปด้วย ความรุนแรง ความพยาบาท และด้านมืดของมนุษย์
(ภาพ พัค ชาน-วุค ผู้กำกับ Decision to Leave )
เหตุที่ผู้เขียนนำหนังเรื่อง Decision to Leave มาเขียนแนะนำ เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังรักของเกาหลี ที่ผู้เขียนชอบที่สุดแล้วตั้งแต่ได้รับชมมา ด้วยการเล่าเรื่องสไตล์ Neo-noir ที่พัฒนามาจากหนัง ฟิล์มนัวร์
หนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายของหนัง ฟิล์มนัวร์ ยุคเก่าอย่างผลงานสุดคลาสสิค อย่าง “Vertigo” ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ผู้สร้างผลงานแนวระทึกขวัญมามากมาย หนังส่วนใหญ่ของเค้า จะชอบเล่าเรื่องราวของ ตัวละครเอกที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากจะควบคุมได้ และ มักมีตัวละครหญิงสาวที่ต้องการหลอกใช้ความรู้สึกของตัวเอก
(ภาพ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก และโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ เรื่อง Vertigo)
Decision to Leave เองก็มีโครงเรื่องอะไรที่ไม่ต่างไปจาก Vertigo แต่สิ่งที่แตกต่างของหนังเรื่องนี้ คือ การใส่ความรักลงไป ในสถานการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดมากที่สุด
หนังสามารถเล่าเรื่องของตำรวจผู้เกิดตกหลุมรัก ผู้ต้องสงสัยได้ โดยไม่ต้องมีประโยคอะไรมากมาย แต่ออกมาด้วยสายตาที่ พัค แฮ-อิล (Park Hae-il) ผู้รับบท แฮจุน แสดงออกมา ถึงสายตาของชายผู้หลงรักหญิงสาวเข้าอย่างจัง แม้ว่าแฮจุนจะมีภรรยาแล้วก็ตาม ส่วนนักแสดงนำหญิงอย่าง ทัง เหวย (Tāng Wéi) หรือ รีเบกกา ทัง (Rebecca Tang) ผู้รับบท ซอแร อดีตภรรยาของผู้เสียชีวิตในคดี ที่สามารถแสดงความน่าหลงใหลออกมาได้ แม้ว่ามันจะมาพร้อมกับความอันตรายก็ตาม หนังสามารถทำให้ผู้ชมเข้าสู่ห้วงอารมณ์ของ แฮจุน ที่มีต่อ ซอแร พาเราดำดิ่งด้วยภาพแต่ละเฟรม ที่ออกมาจากหนังเรื่องนี้ถูกจัดวางไว้อย่างมีความหมาย การใช้สี สภาพแวดล้อมต่างๆ สามารถเล่าเรื่องผ่านภาพออกมาได้อย่างเฉียบคม เป็นหนังอีกเรื่องที่ใช้ศิลปะการเล่าเรื่องผ่านภาพได้อย่างดี
ตัวหนังเล่นกับ “ความรู้สึก” ของตัวละครเอกและผู้ชม ยิ่งเราเคลิบเคลิ้ม ไปกับความรักของทั้งสอง ยิ่งทำให้ผู้ชมและตัวละครเอกเริ่มสูญเสีย จริยธรรม และ จรรยาบรรณ มันค่อยๆกัดกินตัวตนของเค้า และ ผู้คนรอบข้าง จนท้ายที่สุดไม่เพียงแค่ตัวเอก แต่ผู้ชมเอง ก็หัวใจแตกสลายให้กับจุดจบของเรื่องนี้
ในส่วนของข้อเสียสำหรับผม คือ หนังเรื่องนี้อาจจะออกตัวช้าไปหน่อยสำหรับใครหลายๆคน กว่าจะเข้าสู่เนื้อเรื่องหลักจริงๆใช้เวลาค่อนข้างเยอะพอสมควร และ ความสมดุลของเรื่องอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ชอบดูหนังที่เน้นไปทางบันเทิงมาก เพราะ Decision To Leave มีความเฉพาะกลุ่มพอสมควร
สิ่งที่ผมได้จากหนังเรื่องนี้ คงเป็นดั่งชื่อเรื่อง Decision To Leave ที่แปลไทยแบบง่ายๆว่า การตัดสินใจที่จะทิ้งอะไรบางอย่าง ตัวละครเอกของเราเลือกที่จะทิ้งเหตุและผลทุกอย่างของชีวิต
จากชายบ้างาน มีปัญหาครอบครัว ที่ต้องการแค่หาเหตุผลในการทำงานของตัวเอง สู่ชายที่เลือกจะทิ้งแม้แต่จรรยาบรรณ ปกป้องผู้ร้ายของคดี เพียงเพราะแค่ความลุ่มหลงของตนเอง ท้ายที่สุดแล้วเค้าก็ต้องสูญเสียตัวตน และ ทุกอย่างไปเพราะ "ความลุ่มหลง"
สามารถรับชม Decision To Leave ได้ที่ NETFLIX