"...จนกระทั่งปลายปี 2564 จึงเริ่มเชิญพยานไปให้ข้อมูลหลักฐานแต่ก็ทำคำให้การอย่างผิดๆถูกๆ แสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาหลายหลายปี ทางเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ไม่ได้ใส่ใจกับพยานหลักฐานของผู้ร้องเลย ถ้าใครอ่านเอกสารคำให้การของอดีตภรรยานายสมโภชน์ทั้งหมด จะพบว่า มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนเกือบทุกอย่าง มีการชี้ช่องเบาะแสอย่างละเอียด ซึ่งปรากฏว่า การกล่าวโทษนายสมภชน์ของ ก.ล.ต. ตรงกับข้อมูลของอดีตภรรยานายสมโภชน์ แม้แต่ตัวเลขความเสียหาย..."
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบด้วย
เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556 - 2558 บุคคลทั้ง 3 ราย ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาทนั้น
เสียงที่กำลังกระหึ่มอยู่เวลานี้ในหมู่นักลงทุนข้องใจว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ดองคดีการทุจริตบริษัทพลังงานบริสุทธิ์หรือ EA นานถึง 9 ปีหรือไม่ ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเกือบ 43,000 รายเสียหาย นับแสนล้านบาท
ยังไม่รวมผู้ที่ซื้อหุ้นกู้และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่ EA หลายหมื่นล้านบาทที่กำลัง ‘เสี่ยง’ กับสถานะของบริษัทที่กำลังเสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว
ตลอดระยะเวลา 9 ปี EA เติบโตอย่างรวดเร็ว มีภาพที่สวยหรู ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย จน ‘แมงเม่า’ หลงบินเข้าไปเป็นจำนวนมาก
คำถามคือ ทำไม ก.ล.ต. ต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี ผ่านลขาธิการ ก.ล.ต. 3 คน คือ นายรพี สุจริตกุล น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล (รับตำแหน่งเมษายน 2562 - 2566) จนมาถึง นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคนปัจจจุบัน จึงออกมาประกาศว่า ผู้บริหาร EA ถูกกล่าวหาว่าโกงบริษัทเกือบ 3,500 ล้านบาท และอาจพ่วงด้วยข้อหาฟอกเงิน และยังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีข้อหาอะไรตามมาอีก
ทางด้าน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และได้ตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น
นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำและการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่งและได้ความร่วมมือรวมเป็นอย่างดี
โทษสูงสุดคุก 10 ปี-ปรับ 2 เท่า! ก.ล.ต.แพร่ 7 คำถาม-ตอบ กล่าวโทษ‘บิ๊ก EA’ทุจริต 3.4 พันล.
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากหนังสือคำให้การนางบลังก้า ชูหลาน หวาง ซึ่งเป็นอดีตภรรยานายสมโภชน์ อาหุนัย และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ EA ได้ยื่นร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 (ก.ล.ต.อ้างว่า ได้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อปลายปี 2559 เวลาไม่ตรงกันไม่ต่ำกว่า 6 เดือน)
เปิดคำให้การอดีตเมีย 'สมโภชน์' คดีทุจริต EA ซื้ออุปกรณ์ถูก-ขายแพง กินส่วนต่าง 3.4 พันล.
ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ได้ส่งอีเมลไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมหลักฐานเพิ่มเติม...
“ข้าฯหวังว่า หลักฐานเพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบประเด็นปัญหาทั้งหมดที่ข้าฯร้องเรียนได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านมากว่า 3 ปี ข้าฯไม่ได้รับข้อมูลอัปเดตหรือคำขอเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ก.ล.ต. ไม่ได้ถือคดีนี้เป็นคดีอาญาหรือผิดกฎหมาย.....ข้าพเจ้าจึงเลิกติดตามเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2564 เมื่อเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงและแสดงหลักฐานประกอบการร้องเรียน ข้าพเจ้าจึงกลับมามีข้ามหวังอีกครั้งหนึ่ง”
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ก.ล.ต. ส่งอีเมล เพื่อนัดข้าพเจ้าไปพบ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าไปตามนัดแต่ไม่สามารถลงนามในคำให้การเป็นพยานได้เนื่องจากมีข้อผิดพลาดมากเกินไปซึ่งขัดกับคำร้องของข้าพเจ้าโดยสิ้นเชิง
สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ไม่ได้อ่านหรืออ่านไม่เข้าใจหลักฐานทั้งหมดที่ข้าพเจ้ายื่นพร้อมคำร้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จึงตกลงจะอ่านเอกสารหลักฐานทั้งหมดและแก้ไขคำให้การของพยานเพิ่มเติม
วันที่ 6 มกราคม 2565 ข้าพเจ้าไปที่สำนักงาน ก.ล.ต. อีกครั้งเพื่ออ่านคำให้การของพยานฉบับแก้ไขเนื่องจากยังมีข้อมูลสำคัญอีกมากมายที่ขาดหายไปในคำให้การของพยานข้าพเจ้าจึงไม่สามารถลงนามได้
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จึงเสนอให้ส่งอีเมลคำให้การของพยานในไฟล์ไมโครซอฟ เวิร์ด เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถเพิ่มรายละเอียดหรือแก้ไขเพิ่มเติมด้วยตนเอง
จากคำให้การดังกล่าวบ่งบอกข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่อดีตภรรยาของนายสมโภชน์ร้องเรียน ไปตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2559 จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2564 เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ ก.ล.ต. เงียบหายไป
แม้ช่วงเวลาดังกล่าวอดีตภรรยาของนายสมโภชน์จะได้ติดตามเรื่องครั้งหนึ่งในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 แต่เรื่องก็ยังเงียบ โดยไม่มีการเชิญพยานไปให้ปากคำหรือแจ้งความคืบหน้าให้แก่ผู้ร้องทราบแต่อย่างใด
จนกระทั่งปลายปี 2564 จึงเริ่มเชิญพยานไปให้ข้อมูลหลักฐานแต่ก็ทำคำให้การอย่างผิดๆถูกๆ แสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาหลายหลายปี ทางเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ไม่ได้ใส่ใจกับพยานหลักฐานของผู้ร้องเลย
ถ้าใครอ่านเอกสารคำให้การของอดีตภรรยานายสมโภชน์ทั้งหมด จะพบว่า มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนเกือบทุกอย่าง มีการชี้ช่องเบาะแสอย่างละเอียด ซึ่งปรากฏว่า การกล่าวโทษนายสมโภชน์ของ ก.ล.ต. ตรงกับข้อมูลของอดีตภรรยานายสมโภชน์ แม้แต่ตัวเลขความเสียหาย
แต่คำถามคือทำไม ก.ล.ต. ยังใช้เวลานานถึง 9 ปีกว่าจะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อกล่าวโทษนายสมโภชน์กับพวกได้
ถ้าพิจารณาจากคำให้การของอดีตภรรยานายสมโภชน์ อาจเชื่อได้ว่า เป็นความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. และการทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพประกอบกัน จนเป็นเหตุให้แมงเม่าเสียหายนับแสนล้านบาท
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการทำงานของบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย
ดังนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ควรชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่างก่อนที่นักลงทุนและประชาชนจะไร้ความเชื่อมั่นต่อองค์กรแห่งนี้ไปมากกว่านี้
อ่านประกอบ :
- เปิดคำให้การอดีตเมีย 'สมโภชน์' คดีทุจริต EA ซื้ออุปกรณ์ถูก-ขายแพง กินส่วนต่าง 3.4 พันล.
- EA ตั้งกรรมการสอบซ้ำ หลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษ 3 กก.บริษัททุจริตจัดซื้ออุปกรณ์จาก ตปท.
- ‘สมโภชน์-อมร’ แถลงยืนยัน 2 โรงไฟฟ้าฯแสงอาทิตย์ไร้ทุจริต-EA จ่อเปิดตัว ผบห.ใหม่ 15 ก.ค.
- โทษสูงสุดคุก 10 ปี-ปรับ 2 เท่า! ก.ล.ต.แพร่ 7 คำถาม-ตอบ กล่าวโทษ‘บิ๊ก EA’ทุจริต 3.4 พันล.
- อดีตคนใกล้ชิด‘สมโภชน์’แจ้งเบาะแส! เบื้องหลัง‘ก.ล.ต.’กล่าวโทษ‘บิ๊ก EA-พวก’ทุจริต 3.4 พันล.
- ‘ก.ล.ต.’กล่าวโทษ ‘สมโภชน์ อาหุนัย-พวก’ ต่อ DSI ร่วมกันทุจริตทำ EA เสียหาย 3.4 พันล้าน