พบข้อมูล เฟซบุ๊กส่วนตัว 'บลังก้า ชูหลาน หวาง' อดีตภรรยา 'สมโภชน์ อาหุนัย' แพร่คำให้การ 64 หน้า ร้องก.ล.ต. สอบ 'สมโภชน์ อาหุนัย' -พวก ตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากจนท. อ้างมีการวางแผนหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้แก่กิจการบริษัทในเครือ ซื้อถูกขายแพง มีส่วนต่าง 3,450 ล้าน เผยใช้วิธีจ่ายค่าคอมมิชชั่นทำสัญญากู้ยืมเงิน ก่อนจะออกใบรับคืนเงินกู้ไว้ล่วงหน้า
กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบด้วย
เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 ราย ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท นั้น
จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในช่วงเดือน เม.ย.2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘Blanca Huang’ ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของนางบลังก้า ชูหลาน หวาง ซึ่งเป็นอดีตภรรยานายสมโภชน์ อาหุนัย และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ได้โพสต์ข้อความในกลุ่มสาธารณะ The growth story of EA ว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ได้ยื่นคำให้การต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบนายสมโภชน์กับพวกในหลายกรณี โดยกล่าวหาว่า วางแผนหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้แก่กิจการบริษัทในเครือ
นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘Blanca Huang’ ยังเผยแพร่เอกสารคำให้การของ นางบลังก้ากับ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท EA ซึ่งประกอบด้วยเอกสาร 64 หน้ากระดาษ โดยเอกสารทุกแผ่นลงนามรับรองโดยนางบลังก้า
นางลังก้ายอมรับว่า มีคดีฟ้องร้องในการแบ่งสินสมรมกับนายสมโภชน์ในศาลเยาวชนและครองครัวกลาง ขณะเดียวกันก็อ้างว่า ได้ร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. มาตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จนถึงปี 2564
จากการตรวจสอบข้อมูลในเอกสาร 64 หน้า นางบลังกล้า กล่าวหาว่า EA มีบริษัทย่อยหลายบริษัทรวมทั้งบริษัท อีเอ โซล่านครสวรรค์ และบริษัทอีเอ โซล่าลำปาง ซึ่งนายสมโภชน์มีการวางแผนหาประโยชน์มิควรได้จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการจัดกิจกรรมของบริษัท อีเอ โซล่านครสวรรค์ และบริษัทอีเอ โซล่าลำปาง โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอเมอรัล เอเนอร์จี จำกัด (Emerald) และบริษัท บริคส์ โซล่า จำกัด (Brics) ขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และ 29 มกราคม 2556 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์นั้น บริษัท เอเมอรัลฯ และบริษัทบริคส์ฯ จะซื้อสินค้าจากผู้ขายต้นทางในราคาถูก
จากนั้นทั้งสองบริษัทดังกล่าวจะนำสินค้ามาขายต่อในราคาสูงมากให้กับบริษัท ไฮโดรฯ และบริษัทพาวเวอร์เพื่อนำมาสินค้ามาขายต่อให้กับบริษัท อีเอ โซล่านครสวรรค์ และบริษัทอีเอ โซล่าลำปางอีกต่อหนึ่ง โดยได้กำไรเพียงเล็กน้อย (2%) ซึ่งทั้งบริษัท ไฮโดรฯและบริษัทพาวเวอร์เป็นบริษัทวิศวกรคู่สัญญาในการจัดหาอุปกรณณ์ (Engineering Procurement and Construction) ให้กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์รวมถึงดูแลรับผิดชอบบริหารโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดบริษัท อีเอ โซล่านครสวรรค์ และบริษัทอีเอ โซล่าลำปาง
เอกสารระบุว่า บริษัท อีเอ โซล่านครสวรรค์ จัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า 6 ครั้ง ขณะที่ บริษัทอีเอ โซล่าลำปาง จัดซื้อ 5 ครั้ง ซึ่งในการจัดซื้ออุปกรณ์ทุกครั้ง บริษัท เอเมอรัลฯ และ บริษัท บริคส์ฯ จัดซื้อมาในราคาถูก และขายต่อให้ บริษัท ไฮโดรฯ และบริษัทพาวเวอร์ ในราคาสูง ซึ่งในช่วงปี 2556 จนถึง 2558 ทำให้ บริษัท เอเมอรัลฯ และ บริษัท บริคส์ฯ ได้ส่วนต่าง จากราคาสินค้าถึง 109,342,925.253 เหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 3,450,763,563.89 บาท
จากนั้น ทั้งบริษัท เอเมอรัลฯ และ บริษัท บริคส์ฯ จึงทำสัญญาจ่ายค่านายหน้า ให้กับนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส หนึ่งในบุคคลที่ถูก ก.ล.ต.กล่าวหา จำนวนร้อยละ 98 ของกำไร รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ่ายค่าคอมมิชชั่น ระหว่าง บริษัท เอเมอรัลฯ และ บริษัท บริคส์ฯ กับนายพรเลิศ ฉบับลงวันที่ 1 เม.ย.2556
จากนั้น นายพรเลิศ ได้มีหนังสือ ถึงบริษัท เอเมอรัลฯ ขอให้ส่งเงินค่าค่าคอมมิชชั่น มายังบัญชีธนาคารบริษัท เมลิต้า ซึ่งการถ่ายเทเงินส่วนต่างจากราคาสินค้า จาก บริษัท เอเมอรัลฯ และ บริษัท บริคส์ฯ มายังนายสมโภชน์นั้น นายสมโภชน์ ใช้วิธีทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท เมลิต้าฯ กับ นายพรเลิศ โดยที่นายสมโภชน์ ไม่ต้องนำเงินกู้ยืมมาคืนแต่อย่างใด เพราะทั้งสอง ในฐานะผู้ให้กู้ยืม จะออกใบรับคืนเงินกู้ไว้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ ข้อมูลเอกสารคำให้การของ นางบลังก้า จำนวน 64 หน้ากระดาษ ดังกล่าว ตรงกับข้อมูลหนังสือกล่าวโทษคดีนี้ของ ก.ล.ต.ทุกอย่าง ทั้งพฤติการณ์ตัวละคร และตัวเลขที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)หรือ EA พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร EA ได้ทำเอกสารชี้แจงข่าวในนามส่วนตัวต่อกรณีนายสมโภชน์ พร้อมด้วยนายอมร ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท
โดยระบุว่าการลาออกนั้นเป็นไปเพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมให้ความ ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนกรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศและ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการ
นายสมโภชน์และนายอมรชี้แจงต่อไปว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลําปาง ยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทําทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการรับเหมาแบบ ทั้งโครงการ (Turn Key) มีการทําสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆของโครงการ ทั้งหมด การจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอํานาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็นการตัดสินใจของ บริษัท ของสมโภชน์ หรือของอมร
โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ ต้องไปจัดหา โดยกําหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง ทั้งนี้การกําหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นําหรือควบคุมได้
โดย ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่าค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบ กับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกันอีกทั้งโครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทํากําไรสูงสุด จนทําให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงสุด
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และ บริษัทอีเอ โซล่าลำปาง จำกัด นั้น จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา พบว่า ปัจจุบัน ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
อ่านประกอบ:
- ‘สมโภชน์-อมร’ แถลงยืนยัน 2 โรงไฟฟ้าฯแสงอาทิตย์ไร้ทุจริต-EA จ่อเปิดตัว ผบห.ใหม่ 15 ก.ค.
- โทษสูงสุดคุก 10 ปี-ปรับ 2 เท่า! ก.ล.ต.แพร่ 7 คำถาม-ตอบ กล่าวโทษ‘บิ๊ก EA’ทุจริต 3.4 พันล.
- อดีตคนใกล้ชิด‘สมโภชน์’แจ้งเบาะแส! เบื้องหลัง‘ก.ล.ต.’กล่าวโทษ‘บิ๊ก EA-พวก’ทุจริต 3.4 พันล.
- ‘ก.ล.ต.’กล่าวโทษ ‘สมโภชน์ อาหุนัย-พวก’ ต่อ DSI ร่วมกันทุจริตทำ EA เสียหาย 3.4 พันล้าน
- EA ตั้งกรรมการสอบซ้ำ หลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษ 3 กก.บริษัททุจริตจัดซื้ออุปกรณ์จาก ตปท.