"...ผลข้างเคียงจากโซเชียลมีเดียที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลกระทบที่มีการศึกษาและรายงานไว้ แต่ยังมีโรค ทางกาย ทางใจและพฤติกรรมแปลกๆอีกมากที่ยังไม่ได้นำมากล่าวถึงในที่นี้ ผลข้างเคียงจากการใช้โซเชียลมีเดียยังลามไปถึง การหลอกลวงฉ้อฉล การคุกคามทางเพศ ฯลฯ รวมทั้งยังมีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตย ด้วย การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างความเข้าใจผิดและการสร้างความนิยมการเมืองเทียม(Political Astroturf Movement)โดยที่องค์กรกำกับดูแลตามเกมนักการเมืองไม่ทัน..."
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 สร้างความปั่นป่วนให้กับมนุษย์ทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและให้บทเรียนหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้มนุษย์ต้องจดจำไปอีกนาน การหยุดชะงักของกิจกรรมของมนุษย์จากการปิดประเทศก็ดี การที่ผู้คนต้องทำงานจากบ้านก็ดีหรือการที่นักเรียนทั้งโลกมากกว่า 1,500 ล้านคน ต้องหันมาเรียนออนไลน์ก็ดี ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ทั้งโลกเปลี่ยนไป ผู้คนต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มากขึ้นกว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และทำให้เวลาที่ต้องอยู่กับหน้าจอของคนทั้งโลกเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
การที่ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้นและพบกับเพื่อนร่วมงานและผู้คนน้อยลงย่อมขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นสัตว์สังคมที่ต้องพบกับผู้คนและต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ประมาณการกันว่าในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 เวลาที่อยู่กับหน้าจอของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ความเศร้า(Depression)ของมนุษย์กลับเพิ่มขึ้นราวสามเท่า(อ้างอิง1)
สิ่งหนึ่งที่ถูกเปิดเผยอย่างชัดเจนจากการที่ผู้คนต้องพึ่งพาโลกออนไลน์พร้อมๆกันจำนวนหลายพันล้านคน คือ อุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เรียกกันว่า ช่องว่างทางดิจิทัล(Digital divide) ซึ่งเปิดเผยให้เห็นว่าหลายต่อหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยยังขาดความพร้อมต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเรียนการสอนออนไลน์ แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็ยังพบปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลเช่นกันเมื่อมีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้(อ้างอิง 2)
สต็อกโฮล์ม ซินโดรม-อาการพอใจการถูกกักขัง
การที่ผู้คนใช้เวลาอยู่กับจอนานขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดทำให้คำแนะนำจาก แพทย์ นักจิตวิทยาและนักบำบัดที่เรียกร้องให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้น้อยลงเพื่อลดผลข้างเคียงจากการป่วย ทางกาย ทางใจและทางอารมณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจึงแทบไร้ผล เมื่อผู้คนหันกลับไปอยู่กับหน้าจอมากขึ้นกว่าเดิมในช่วงมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19
การควบคุมการระบาดของโควิด-19 จึงเหมือนกับผู้คนถูกขังด้วยกรงสองชั้น กรงชั้นแรกคือการถูกบังคับจากรัฐให้อยู่กับบ้านด้วยมาตรการล็อกดาวน์และกรงชั้นที่สองคือกรงดิจิทัล(Digital cage) ที่ทำให้เราติดอยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ผู้คนมักไม่พอใจกับมาตรการล็อกดาวน์(Lockdown)ของรัฐเพราะถือว่าถูกจำกัดเสรีภาพ แต่กลับรู้สึกพึงพอใจที่จะถูกขังอยู่ในกรงของ เฟซบุ๊ก ยูทูป TikTok หรือไอจี ที่เชิญชวนให้เราเข้าไปอยู่ในกรงเสมือนโดยที่เราไม่รู้สึกว่าเราเป็นตัวประกันหรือถูกกักขัง เพราะเราได้หลงรักและพอใจในสิ่งที่แพลตฟอร์มเหล่านี้หยิบยื่นให้และชื่นชมในตัวเจ้าของกรงดิจิทัลที่ให้เราเข้าไปอยู่ ปรากฏการณ์เช่นนี้มักนำไปเปรียบเทียบกับอาการที่เรียกว่า สต็อกโฮล์ม ซินโดรม(Stockholm syndrome) ซึ่งอธิบายถึงอาการที่ตัวประกันเกิดความสัมพันธ์ทางใจกับผู้ลักพาตัวในระหว่างการถูกกักขัง เราจึงไม่ได้มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจต่อเจ้าของแพลตฟอร์มที่เราเข้าไปใช้บริการแต่กลับพอใจที่จะถูกขังโดยไม่อยากออกจากกรงทิพย์เหล่านี้ไปไหน
เสพติดโซเชียลมีเดีย – เทคนิคแปลงจิตวิทยาเป็นผลกำไร
ความพอใจที่จะอยู่ในกรงดิจิทัลมิใช่เกิดจากความปรารถนาของเราเพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการออกแบบอย่างแยบยลของเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อหลอกล่อให้เราเข้าไปอยู่ในกรงนั้น นักเทคโนโลยีรู้ดีว่า ยิ่งทำให้ผู้คนเสพติดและซึมซับในเทคโนโลยีมากเท่าใด ยิ่งเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น ครั้งหนึ่งอดีตผู้บริหารเฟซบุ๊กและอดีตประธาน เฟซบุ๊ก (Chamath Palihapitiya และ Sean Parker) เคยยอมรับว่า เขาหาประโยชน์จาก ความอ่อนไหว ทางจิตวิทยาของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้าง ความเติบโต ความผูกพันและผลกำไรให้กับบริษัท เขาเปิดเผยว่าความลับที่เขาทำให้ผู้คนใช้เวลาและจดจ่ออยู่กับหน้าจอนานที่สุดคือ การกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ได้รับ สารโดพามีน ซึ่งเป็น สารที่ทำให้ให้มนุษย์รู้สึกได้รับความตื่นเต้นและพึงพอใจ(อ้างอิง3) ซึ่งไม่ต่างจากการได้กินของชอบและการมีเพศสัมพันธ์
การกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการหลั่งสารโดพามีนเล็กน้อยในสมองด้วยสัญญาณบางอย่างจากโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียคือความรู้สึกถึงการได้รับรางวัล จนทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมต้องหันเข้าหาโทรศัพท์เกือบตลอดเวลาอย่างไร้เหตุผล เพราะมีความคาดหวังจากรางวัลที่โทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียจะมอบให้ในครั้งต่อๆไป ซึ่งหมายความว่าการเสพติดโซเชียลมีเดียไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของแพลตฟอร์มที่ถูกออกแบบมาเพื่อการเสพติดตั้งแต่เริ่มต้น
การถูกกล่าวหาว่ามีการใช้เทคนิคในการกระตุ้นให้หลั่งสารโดพามีนแก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เฟซบุ๊กต้องปฏิเสธเสียงแข็งต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะเมื่อถูกถามจากสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2018 ว่า “บริษัท เฟซบุ๊กเคยจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อหาวิธีเพิ่มโดพามีนในการเหนี่ยวรั้งไม่ให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหนีออกจากแพลตฟอร์มหรือไม่” มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวในทันที(อ้างอิง1) คำพูดของเขาจึงขัดแย้งกับคำสารภาพของอดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊กทั้งสองคนข้างต้นอย่างสิ้นเชิง
โดพามีน(Dopamine) การเสพติด(Addiction)และความสนใจ(Attention) จึงเป็นลูกเล่นสำคัญในการทำธุรกิจที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ การโน้มน้าวโดยการใช้วิทยาการทางคอมพิวเตอร์และจิตวิทยาที่เรียกกันว่า แคปโตโลยี (Captology) เพื่อควบคุมปริมาณการหลั่งสารเคมีในสมองของมนุษย์(Brain hacking) จึงไม่ต่างจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของบรรดาเหล่าแฮกเกอร์นั่นเอง
โรคซึมเศร้า เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาซิลิคอน แวลลี ได้สร้างสินค้าและบริการทางเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์และมีคุณค่าต่อมนุษย์อย่างมากมาย ในขณะเดียวกันสินค้าและบริการทางดิจิทัลเหล่านี้กลับส่งผลกระทบทางลบต่อมนุษย์ในวงกว้าง ซึ่งนอกจากจะส่งผลถึง การเบี่ยงเบนผลการเลือกตั้ง การใช้ข้อมูลเท็จเพื่อประโยชน์ของตัวเองและการสูญเสียงานของผู้คนจากสินค้าเหล่านี้แล้ว ผู้คนที่ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกันทั้งต่อ สุขภาพกาย สุขภาพจิตและสูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง
ผลการศึกษาฉบับแล้วฉบับเล่ายืนยันตรงกันว่าโซเชียลมีเดียมีความสัมพันธ์ในทางลบกับความเป็นอยู่ที่ดีและความพึงพอใจในชีวิตผู้คนและยังเพิ่มระดับอารมณ์ในทางลบ ความโดดเดี่ยวและความเศร้าต่อมนุษย์ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้ออกมาให้ทำงานสอดคล้องกับวงจรชีวิตของมนุษย์
จากผลการศึกษาเปิดเผยในวารสาร American Psychologist พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตมีส่วนทำให้ การติดต่อสื่อสารภายในครอบครัวลดลง วงกลมทางสังคม(Social circle : กลุ่มคนที่อยู่รอบๆตัวเราที่เคยมีการติดต่อกัน) เล็กลง มีอาการซึมเศร้า(Depression)และความเปล่าเปลี่ยว(Loneliness)เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลการศึกษาของนักจิตวิทยาบางคนยังพบว่านอกจากการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจเพิ่มระดับความเศร้าแล้วยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายในเด็กด้วย (อ้างอิง 3) ผลการศึกษาดังกล่าวจึงพอจะยืนยันได้ว่าโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตมีผลทางลบต่อสุขภาพจิตของมนุษย์อยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะกับเด็ก
ขณะที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น แต่สุขภาพจิตของผู้คนกลับมีปัญหา นักจิตวิทยาพบว่าปัจจุบันคนอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้ามากถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับ 60 ปีก่อนและที่น่าสนใจคืออัตราส่วนของความซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระยะเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา(อ้างอิง1)
นักวิจัยยังพบว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดความซึมเศร้านอกจากการอยู่กับหน้าจอเกือบตลอดเวลาแล้ว การนั่งจับเจ่าอยู่กับที่(Sedentary) คือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเช่นกันและอาการซึมเศร้าลักษณะนี้สามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้ยา แต่สามารถใช้วิธีออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มระดับเซโรโทนิน(เซโรโทนิน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งภายในร่างกายที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ (อ้างอิง1และ4) และเพิ่มระดับอ็อกซิเจนให้สมอง เป็นต้นว่า การเดิน ขี่จักรยาน วิ่ง เล่นกีฬาต่างๆ ฯลฯ
ทฤษฎีการบำบัดแบบมนุษย์ถ้ำ(Caveman therapy) เป็นหนึ่งในวิธีบำบัดความซึมเศร้าและความเครียดซึ่งมีหลัก 6 ประการในการบำบัด ได้แก่ ออกกำลังสม่ำเสมอทุกๆวัน พบปะผู้คนด้วยการเข้าสังคม ทานอาหารที่มีปริมาณโอเมกา 3 สูง รับแสงแดดเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต สิ่งเหล่านี้คือชีวิตประจำวันของบรรพบุรุษของเราเมื่อครั้งที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่าทุกวันนี้
นักวิจัยยังพบว่าสาเหตุของการเกิดความซึมเศร้ามิใช่เกิดจากการไม่สมดุลของสารเคมีในสมองแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากไลฟ์สไตล์ของมนุษย์เองด้วย การที่มนุษย์ขาดการติดต่อกับผู้คนและหันมาใช้โซเชียลมีเดียจึงเป็นไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างไปจากความเป็นปกติของมนุษย์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหายไป ดังนั้นการกลับไปใช้ชีวิตในแบบเดิมซึ่งเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ถูกออกแบบมาและพึ่งพาเทคโนโลยีประเภทโซเชียลมีเดียให้น้อยลงลงจึงเป็นทางออกที่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คล้ายกับพวกอามิช(Amish) ในสหรัฐอเมริกาที่พวกเขาปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปซึ่งพบว่าคนเหล่านี้แทบไม่มีปัญหาเรื่องความเศร้าและความเครียด(อ้างอิง1และ 8) สังคมของพวกอามิช จึงเป็นเหมือนสังคมแห่งการปลอดความเศร้า(Depression-free societies) ต่างจากสังคมทั่วๆไปของสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ตลอดเวลา
โรบิน วิลเลียมส์ กับการเลียนแบบฆ่าตัวตาย
เมื่อหลายปีก่อนนักแสดงชื่อดังจากฮอลลีวูด โรบิน วิลเลียมส์ จบชีวิตด้วยการใช้เข็มขัดแขวนคอตายที่บ้าน ภรรยาของเขาเปิดเผยในภายหลังว่า ก่อนเสียชีวิต โรบิน วิลเลียมส์ ต้องทนทุกข์อยู่กับโรคสมองเสื่อมแบบ เลวี บอดี (Lewy Body Disease) ที่ทำให้เขามีอาการต่างๆ มากมาย ทั้ง อาการเห็นภาพหลอน สับสน เพ้อ และทรงตัวไม่อยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า วิลเลียมส์ มีอาการป่วยทางสมอง ภรรยาของเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขามีกำหนดจะไปพบแพทย์ แต่ก็มาเสียชีวิตไปซะก่อน ส่วนอาการซึมเศร้านั้นเป็นส่วนเล็กๆของอาการที่เขาเผชิญอยู่เท่านั้น(อ้างอิง 5)
การตายของ โรบิน วิลเลียมส์ เป็นข่าวที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกตะลึง สื่อต่างๆนำเสนอถึงสาเหตุการตายของเขาอย่างครึกโครม นอกจากนี้ข่าวจากสื่ออาชีพได้ถูกนำไปขยายต่อในโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว ความที่เขาเป็นดาราดังและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั้งโลกทำให้เขาเป็นดาราในดวงใจของคนจำนวนมาก จากการศึกษาพบว่าในช่วงเวลา 5 เดือนหลังจากการฆ่าตัวตายของ โรบิน วิลเลียมส์ อัตราการฆ่าตัวตายของคนอเมริกันเพิ่มขึ้น 12.9 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ชายวัย 30 ถึง 44 ปีและพบว่าการตายจากการขาดอากาศหายใจเช่นเดียวกับการตายของโรบิน วิลเลียมส์ เพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยพบปฏิกิริยาเช่นนี้มาก่อนเมื่อเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตของดาราดังๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้าเมื่อหลายปีก่อน (อ้างอิง 6) จึงน่าเชื่อว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนอเมริกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดจากการนำเสนอของสื่อโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ขยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและกว้างขวางจนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้น(อ้างอิง7 )
ผลการศึกษายังพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มที่จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายและมีการฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่นที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน(อ้างอิง1) ซึ่งหมายความว่าการใช้ชีวิตอยู่หน้าจอโทรศัพท์มากเกินไปไม่ได้เป็นคุณแก่มนุษย์เลย
หัวหน้าใจดำ กับ ฝรั่งเตะหมอ : อารมณ์เดียวกัน
คงจำกันได้ว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมามีข่าวครึกโครมที่ทำให้โลกโซเชียลร้อนระอุและสื่ออาชีพนำไปเผยแพร่ต่อและพาดหัวในลักษณะใช้ภาษากระตุ้นอารมณ์ผู้อ่าน เช่น “ใจร้ายเกินไปไหม ? สาวขอลางานดูแลแม่ หัวหน้าไม่ให้ลา แถมเชิญมาให้เซ็นใบลาออก” สาเหตุเกิดจากก่อนหน้านั้น มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ตัดพ้อหลังคุยแชตกับหัวหน้าที่ทำงาน เพื่อขอลาไปดูแลคุณแม่ป่วยหนักและใกล้จะสิ้นใจ แต่หัวหน้ากลับไม่ให้ลา แล้วถามต่อว่าจะลาออกใช่หรือไม่ พร้อมให้มาเขียนใบลาออกหากทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว(อ้างอิง 9)
พลันที่ข้อความบนเฟซบุ๊กของหญิงสาวรายนี้ถูกเผยแพร่ออกไป เรื่องราวระหว่างคนสองคนจึงถูกขยายความต่อออกไปทั้งในโลกโซเชียลและสื่อกระแสหลักอย่างรวดเร็ว ทำให้โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสของ ความโกรธและความเห็นใจจากคนทั่วไปภายในเสี้ยววินาทีและก้าวข้ามจากแพลตฟอร์มแรกไปยังแพลตฟอร์มต่อๆไปได้อย่างง่ายดายด้วยการแชร์ข้อมูล เราจึงเห็นกระแสที่อื้ออึงบนเฟซบุ๊ก กลายไปเป็น แฮชแท็ก #พี่กบ ปรากฏบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์(X)ได้ในช่วงเวลาอันสั้น(อ้างอิง10)
ข้อความบนสื่อโซเชียลและข่าวบนสื่ออาชีพเกือบทุกสำนักได้ถูกขยายวงไปสู่คนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียใดๆ นับพัน นับหมื่น คนภายในช่วงเวลาอันสั้นและยังลามปามไปจนถึง การโจมกิจการโรงแรมที่พนักงานที่ตกเป็นข่าวทำงาน พร้อมกับมีการรุมรีวิวลดดาวเหลือ 1 ดาว และ ยังมีชาวเน็ตบางคนโทรศัพท์ไปยังโรงแรม รวมทั้งเบอร์มือถือส่วนตัวของพนักงานเพื่อด่าทอเรื่องที่เกิดขึ้นจำนวนมากจนโรงแรมต้องออกแถลงข่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีการโจมตีไปถึงโรงแรมชื่อเดียวกันในสาขาอื่นๆอีก 65 สาขา ทั่วโลก ทั้งที่โรงแรมเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับพนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเมืองไทยแม้แต่น้อย(อ้างอิง 10) ซึ่งแสดงถึงความรุนแรงจากอารมณ์ของผู้คนบนโลกโซเชียลได้ถูกขยายและส่งต่อออกไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะควบคุมได้
รูปแสดงการยกระดับความสนใจของผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อโพสต์ที่กระตุ้นอารมณ์ (อ้างอิง13)
การมีส่วนร่วมของผู้คนมากมายจากอารมณ์โกรธหัวหน้างานและความเห็นอกเห็นใจต่อพนักงานที่ตกเป็นข่าวสามารถอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายๆได้ จากกราฟในรูปจะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ทั่วๆไปที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอารมณ์ขัดแย้งจะเป็นแนวนอนเส้นตรง เมื่อมีการโพสต์คำพูดระหว่างพนักงานกับหัวหน้าลงบนเฟซบุ๊กสาธารณะเพียงโพสต์เดียวที่กระตุ้นอารมณ์(โพสต์อันดับ1) ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อโพสต์นั้นในทันที (โพสต์อันดับ 2) การแชร์ข้อความ การสแดงความเห็น ต่อๆกันไปบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการตอบสนองต่อเนื่องเป็นระยะและส่งผลให้ความสนใจถูกยกระดับเป็นโพสต์อันดับ 3 และโพสต์อันดับ 4 ตามลำดับ
การที่มีผู้โพสต์แสดงความเห็นใจพนักงานและแสดงความโกรธต่อหัวหน้างานมากจนเป็นที่สังเกตได้ แสดงให้เห็นว่าคนจำนวนมากมีอารมณ์ร่วมกันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสูง จุดนี้เองที่อัลกอริทึมที่ทำหน้าที่จัดลำดับ(Ranking algorithm)จะเข้ามามีบทบาท ด้วยการยกระดับของอารมณ์เกรี้ยวกราดให้เข้มข้นขึ้นไปอีก
การถูกยกระดับความสนใจของโพสต์บนโซเชียลมีเดียจาก คอมเมนต์ ยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ และ แฮชแท็ก #พี่กบ ทำให้ข่าวนั้นกลายเป็นกระแสโด่งดังเป็นที่สนใจของผู้คนมากกว่าข่าวอื่น สำนักข่าวอาชีพจึงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้จังหวะนี้ในการพาดหัวข่าวด้วยภาษาที่ดึงดูดความสนใจ เช่น “ใจร้ายเกินไปไหม ? สาวขอลางานดูแลแม่ หัวหน้าไม่ให้ลา แถมเชิญมาให้เซ็นใบลาออก” หรือ “โซเชียลเดือดถล่มยับ หัวหน้าใจดำ” หรือ “รุมสาปหัวหน้าใจดำ” เป็นต้น
พาดหัวข่าวประเภทนี้เป็นภาษาล่อเป้าที่กระตุ้นอารมณ์ (Emotive language) ซึ่งเป็นเหมือนข้อความที่บังคับให้ผู้เสพข่าวต้องตอบสนองต่อถ้อยคำที่มองเห็นตรงหน้านั้นในทันที ในการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายของคอนเทนต์ทางจริยธรรมพบว่าหากมีการใส่คำพูดเชิงศีลธรรม(Moral)หรือคำพูดที่เกี่ยวกับอารมณ์(Emotion) เข้าไปในข้อความที่โพสต์บนทวิตเตอร์ จะทำให้ไวรัลของคอนเทนต์นั้นเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ต่อคำ(อ้างอิง10) และถ้อยคำเหล่านี้คืออาหารอันโอชะของอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้คนและกลายเป็นเครื่องมือส่งต่อความโกรธต่อผู้ตกเป็นข่าวได้เป็นอย่างดี การพาดหัวของสื่ออาชีพด้วยภาษากระตุ้นอารมณ์เป็นแรงขับสำคัญต่อเรื่องราวที่โพสต์ต่อๆกันมาบนโซเชียลมีเดีย จนทำให้เรื่องภายในของคนสองคนกลายเป็นเรื่องราวระดับโลกภายในเวลาไม่กี่นาทีโดยที่ผู้โพสต์คนแรกอาจคาดไม่ถึงว่าเพียงโพสต์เดียวของเธอจะทำให้เหตุการณ์บานปลายไปมากถึงเพียงนี้
เหตุการณ์ข้างต้นไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่ฝรั่งเตะหมอที่ภูเก็ต เมื่อแพทย์หญิงคนหนึ่งโพสต์ข้อความเรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านโซเชียลมีเดียเพราะถูกฝรั่งทำร้ายด้วยการเตะเข้าที่หลัง พลันที่โพสต์นั้นถูกรับรู้โดยคนทั่วไปกระแสความสนใจและอารมณ์โกรธก็แพร่ไปทั้งโลกโซเชียลและถูกยกระดับด้วยการพาดหัวของสื่ออาชีพจนอื้ออึงไปทั่วประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การตรวจสอบบุกรุกที่ดินของวิลล่าและธุรกิจของครอบครัวฝรั่งคนนั้น
แม้ว่าครอบครัวฝรั่งได้ออกมายอมรับผิดและขอโทษและครอบครัวคุณหมอยอมรับคำขอโทษแล้วก็ตาม โลกโซเชียลยังเกาะติดและขุดคุ้ยพฤติกรรมฉาวผ่านร่องรอยทางดิจิทัล(Digital footprint) ของชาวต่างชาติคนนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดและขยายประเด็นเพื่อลงโทษทางสังคมต่อครอบครัวฝรั่งรายนี้ถึงขั้นนัดรวมตัวกันผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อขับไล่บุคคลนี้ออกไปนอกพื้นที่และทวงคืนพื้นที่สาธารณะทั้งที่หาดยามูและพื้นที่อื่นของภูเก็ตกลับคืน ส่งผลให้หาดยามูเป็นที่รู้จักและบริเวณหน้าวิลลาหลังนั้นกลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของภูเก็ตไปในทันที
การพาดหัวข่าว “ตะเพิดฝรั่งเตะหมอ” หรือ “ไล่ฝรั่งสันดานกร่าง” ตามสื่อต่างๆ จึงเป็นเชื้อกระตุ้นอารมณ์ที่ทำให้ผู้คนต้องติดตามข่าวต่อด้วยอารมณ์ที่ร้อนระอุ ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โพสต์ข้อความที่แสดงอารมณ์โกรธและได้รับยอดไลค์ ยอดแชร์ จำนวนมากเป็นรางวัล คนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะแสดงออกถึงอารมณ์โกรธได้อีกในโพสต์ครั้งต่อๆไป นอกจากนี้ผลการศึกษาการเดินทางของอารมณ์บนแพลตฟอร์ม Weibo ของจีน พบว่าอารมณ์โกรธสามารถเดินทางบนโลกโซเชียลได้ไกลกว่าอารมณ์อื่นๆและจากผลการศึกษาบนแพลตฟอร์มอื่นๆเช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์(X) ก็ให้ผลในทำนองเดียวกัน (อ้างอิง10) ผลการศึกษาเหล่านี้จึงยืนยันได้ว่าเหตุใดอารมณ์โกรธต่อพฤติกรรมของหัวหน้าที่ทำกับลูกน้องและพฤติกรรมของฝรั่งที่เตะคุณหมอจึงกลายเป็นไวรัลได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงถึงเพียงนี้
โซเชียลมีเดีย พาหะของโรคทูเร็ตต์ซินโดรม ?
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปใช้การติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น หนึ่งในพฤติกรรมแปลกๆที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2020 ในช่วงโควิดระบาด มีการพบว่าวัยรุ่นหญิงบนแพลตฟอร์ม TikTok และเป็นผู้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อกระตุก(Tics disorder) บน TikTok แสดงพฤติกรรมที่คล้ายกับอาการที่เรียกกันว่า ทูเร็ตต์ซินโดรม(Tourette’s syndrome-TS ) ซึ่ง เป็นโรคที่แสดงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหลายๆ มัดพร้อมๆ กัน และ/ร่วมกับมีการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือจากจมูกโดยเปล่งเสียงเป็นคำที่มี/ไม่มีความหมาย และเสียงที่เปล่งออกมาอาจเกิดร่วมกับอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหรือเกิดขึ้นต่างช่วงเวลากันได้ (อ้างอิง11)
ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการพบผู้ป่วยใหม่ด้วยอาการดังกล่าวมากขึ้นอย่างผิดปกติในโรงพยาบาลเด็กทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย วัยรุ่นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายและมักมีอาการแสดงการเคลื่อนไหวของมือและแขนที่มากกว่าปกติ ร่วมกับอาการที่เรียกกันว่าโคโปรลาเลีย(Coprolaria) ซึ่งเป็นอาการที่เด็กมีการสบถคำหยาบซ้ำๆกันโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งมักพบไม่บ่อยนักในโรคทูเร็ตต์ซินโดรม ทั่วๆไป(อ้างอิง1)
จากรายงานพบว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2020 โรงพยาบาลเด็กในรัฐเทกซัสมีผู้ป่วยด้วยโรคทูเร็ตต์ซินโดรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีรายงานว่า ศูนย์การแพทย์ ทูเร็ตต์ซินโดรม ที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ พบผู้ป่วยเด็กด้วยโรคทูเร็ตต์ซินโดรมเพิ่มมากขึ้นราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยก่อนโรคระบาดซึ่งมีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย รัช (Rush University Medical Center ) ในชิคาโก มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อกระตุก(Tics disorder) ซึ่งมีความสัมพันธ์โรคทูเร็ตต์ซินโดรม มากขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากปี 2020 และผู้ป่วยจำนวนมากเป็นเพศหญิง(อ้างอิง 1)
นักวิจัยและแพทย์พยายามหาคำตอบจากปรากฏการณ์ความไม่ปกติดังกล่าวและพบว่าเด็กผู้หญิงที่มีอาการทูเร็ตต์ซินโดรมที่เข้ามารักษาเคยดูคลิปวิดิโอของอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok ที่มีอาการของโรคทูเร็ตต์ซินโดรมซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของแฟนคลับ TikTok จำนวนมาก นักวิจัยและแพทย์จึงมีความเชื่อว่า โรคทูเร็ตต์ซินโดรม ซึ่งเกิดขึ้นมากผิดปกติในช่วงโควิด-19 ระบาดในปี 2020 และช่วงเวลาหลังจากนั้น เป็นผลมาจากการที่เด็กผู้หญิงเหล่านี้ใช้เวลาในการดูคลิปวิดิโอของอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นโรคทูเร็ตต์ซินโดรมนั่นเอง
ความหิวกระหายความมีชื่อเสียง
มนุษย์ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันถึงความมือมีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่งไม่มากก็น้อย ในอดีตก่อนมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นในโลก มนุษย์คนหนึ่งๆจะมีชื่อเสียงได้ด้วยความสามารถและความพยายามของตัวเอง เช่น เป็นนักกีฬา นักดนตรี นักร้อง นักแสดง เป็นต้น แต่โซเชียลมีเดียได้ทำให้ใครก็ตามสามารถกลายเป็นคนมีชื่อเสียงได้ภายในชั่วเวลาข้ามคืน การสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียจึงเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งโลกด้วยหวังว่าวันหนึ่งตัวเองอาจมีชื่อเสียงขึ้นมาเหมือนกับเซเล็บที่ตัวเองหลงใหล แสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยให้คุณค่าต่อความมีชื่อเสียงไม่น้อยกว่าคุณค่าอื่นๆในชีวิตตัวเอง
จากการศึกษาของสถาบัน PEW แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอายุ 18 ถึง 25 ปี เห็นว่าความมีชื่อเสียงคือเป้าหมายสำคัญที่สุดอันดับหนึ่งหรืออันดับสองของชีวิต ไม่เฉพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ถวิลหาความมีชื่อเสียง ผลสำรวจที่เปิดเผยในบทความใน New York Times พบว่า ผู้ใหญ่ในจีนและเยอรมัน 30 เปอร์เซ็นต์ ใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้มีชื่อเสียงและจำนวนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์คาดหวังว่าตัวเองจะมีชื่อเสียงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม(อ้างอิง12) และ เฟซบุ๊ก ยูทูป ไอจี TikTok ฯลฯ ได้ทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นความจริงแล้ว
ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าผู้คน เจเนอเรชัน Y (Gen Y) หรือ มิลเลนเนียล(Millennial :เกิดระหว่างปี 2523-2537) 1 ใน 9 คน ต้องการความมีชื่อเสียงมากกว่าการแต่งงานและที่หนักไปกว่านั้นก็คือพวกเขาอาจยอมปฏิเสธที่จะติดต่อหรือมีความสัมพันธ์แม้แต่กับครอบครัวตัวเองเพื่อแลกกับความมีชื่อเสียง(อ้างอิง12)
การที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นคนมีชื่อเสียงประกอบกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการแสวงหาความเด่นดังอยู่แล้วจึงทำให้ผู้คนต้องติดกับอยู่กับโซเชียลมีเดียอยู่แทบตลอดเวลาจนเหมือนเป็นพฤติกรรมการเสพติดจนถึงขั้นสามารถแลกความสุขที่ยั่งยืนของชีวิตเพื่อความโด่งดังบนโลกโซเชียลเพียงชั่วครู่ชั่วยามได้ พฤติกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย UCLA ซึ่งพบว่ายิ่งมีการใช้โซเชียลมีเดียมากเพียงใดความต้องการความมีชื่อเสียงยิ่งมีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากขึ้นเท่านั้น (อ้างอิง12) ชีวิตของคนใช้โซเชียลมีเดียจึงถูกผูกติดกับความต้องการความมีชื่อเสียงอยู่ตลอดเวลา
ผลข้างเคียงจากโซเชียลมีเดียที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลกระทบที่มีการศึกษาและรายงานไว้ แต่ยังมีโรค ทางกาย ทางใจและพฤติกรรมแปลกๆอีกมากที่ยังไม่ได้นำมากล่าวถึงในที่นี้ ผลข้างเคียงจากการใช้โซเชียลมีเดียยังลามไปถึง การหลอกลวงฉ้อฉล การคุกคามทางเพศ ฯลฯ รวมทั้งยังมีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตย ด้วย การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างความเข้าใจผิดและการสร้างความนิยมการเมืองเทียม(Political Astroturf Movement)โดยที่องค์กรกำกับดูแลตามเกมนักการเมืองไม่ทัน
ปัญหาทั้งมวลของโซเชียลมีเดียเกิดจากการออกแบบเพื่อหวังผลทางธุรกิจและกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้โซเชียลมีเดียเติบโต แต่เมื่อเกิดปัญหาเจ้าของแพลตฟอร์มกลับปล่อยปละละเลยและไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง จนกลายเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องหาทางรับมือกันเองซึ่งยากที่จะประสบความสำเร็จ
อ้างอิง :
1. Digital Madness โดย Nicholas Kardaras
2. ช่องว่างทางดิจิทัล : ขวากหนามของการเรียนออนไลน์ https://www.isranews.org/article/isranews-article/88963-pansak.html
3. The Psychology of Silicon Valley โดย Katy Cook
4. https://www.pobpad.com/serotonin-เซโรโทนิน-สารเคมีแห่งความสุข
5. https://mgronline.com/entertainment/detail/9580000123705
6. https://www.reuters.com/article/us-people-robin-williams-suicides/robin-williams-death-linked-to-rise-in-copycat-suicides-idINKBN1FR3AW/
7. Influenced โดย Brian Boxer Wachler
8. https://scholarworks.waldenu.edu/dissertations/7691/
9. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000073984
10. https://www.isranews.org/article/isranews-article/121249-Pansak-3.html
11. https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-673#:~:text=โรคทูเร็ตต์
12. Who are you following? โดย Sadie Robertson Huff
13. Outrage Machine โดย Tobias Rose-Stockwell
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.thechurchillobserver.com/opinions/2021/03/03/social-media-damages-teens-mental-health/