"...การปรับเปลี่ยน “ช่องว่างทางดิจิทัล” (Digital divide) เป็น “ โอกาสทางดิจิทัล” (Digital opportunity) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ให้เป็นความจริงคือความท้าทายครั้งสำคัญของรัฐบาล ซึ่งหากไม่สามารถปิด “ช่องว่างทางดิจิทัล” ลงได้ ระบบการเรียนออนไลน์ของประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหลายปีกว่านักเรียนไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์ในอุดมคติอย่างเท่าเทียมกัน..."
วันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี คนไทยต่างรู้ดีว่าเป็นวันเปิดเทอมใหญ่ของนักเรียนมาช้านาน แต่ในปีการศึกษา 2563 เป็นปีที่แตกต่างออกไปเพราะเป็นช่วงเวลาปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การศึกษาของไทย นอกจากเด็กนักเรียนจะไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว นักเรียนยังต้องเรียนหนังสือจากบ้านผ่าน จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือ จอโทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนแทนการนั่งเรียนในห้องเรียน
ตามข่าวที่ได้รับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาทราบว่าการเรียนทางไกลและเรียนออนไลน์ในครั้งนี้เป็นการทดสอบความพร้อมของการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีและเท่าที่ประเมินจาก ข่าวที่นำเสนอทั่วไป ผลสำรวจทางทีวี ความเห็นจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษา เสียงสะท้อนจากตัวเด็กนักเรียนเอง รวมทั้งการออกมาแสดงการปลอบใจนักเรียนจากผู้บริหารของโรงเรียนในบางจังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังห่างไกลจากความพร้อมต่อการเรียนการสอนออนไลน์และการเรียนการสอนทางไกลสำหรับเด็กนักเรียนบางกลุ่มอยู่มาก ทั้งนี้พบปัญหาหลากหลาย เป็นต้นว่า ไม่สามารถรับสัญญาณทีวีได้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ผู้ปกครองฐานะยากจนไม่สามารถหาอุปกรณ์การเรียนให้เด็กได้ เด็กขาดที่ปรึกษา อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง เด็กขาดสมาธิในการเรียน ฯลฯ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาในวงการศึกษาไทยได้เปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาช่องว่างทางการศึกษาครั้งสำคัญจากการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนจำนวนหนึ่ง นอกเหนือจากความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาจากปัจจัยอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและยังพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวเร็วไปเกินกว่าที่ผู้คนจะตามทัน ความไม่เท่าเทียมก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
มิใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่ขาดความพร้อมต่อการศึกษาผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ นักเรียนทั่วทั้งโลกล้วนแต่พบอุปสรรคจากการเรียนออนไลน์ด้วยกันทั้งสิ้น ในช่วงโควิด -19 ระบาดมีนักเรียนราว 1,500 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและโรงเรียนส่วนใหญ่เริ่มให้นักเรียนเรียนด้วยระบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต จากรายงานของยูเนสโกพบว่านักเรียน 43 เปอร์เซ็นต์หรือราว 706 ล้านคนไม่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้านและส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ของประชากรต่ำ
การที่นักเรียนราวครึ่งโลกรวมทั้งนักเรียนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยมีอุปสรรคในการเข้าถึงระบบการศึกษาออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการติดต่อสื่อสารซึ่งยังคงปรากฏอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกและได้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้เทคโนโลยีล้าหลังที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการเงิน ธุรกิจสื่อ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์ยังได้ซ้ำเติมปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติของการใช้โทรเลขของโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2392 เป็นต้นมา พบว่าความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบโทรเลขของประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตก มีแนวโน้มลดลงหรือในบางกรณีกลับเป็นตรงกันข้ามและช่องว่างนี้มีความเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมประเภทอื่นๆด้วย เช่นกัน
ปรากฏการณ์ ความไม่เท่าเทียมใน การเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจาก เทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต นั่นเอง
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(International Telecommunication Union : ITU) เมื่อปี 2019 พบว่าประชากรทั้งโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,700 ล้านคน มีประชากรเพียง 53.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งหมายความว่าคนเกือบครึ่งโลกยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งที่องค์การสหประชาชาติได้เคยประกาศว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือพื้นฐานในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ความไม่เท่าเทียมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนทั้งโลกรวมทั้งนักเรียนนับพันล้านกำลังเผชิญอยู่นั้น เกิดจากปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 4 ประการคือ
- เกิดจากช่องว่างในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี (วัดจากจำนวนและการกระจายตัวของเทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรศัพท์ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น)
- เกิดจากช่องว่างจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (วัดจากทักษะและปัจจัยเสริมอื่นๆ)
- เกิดจากช่องว่างในการใช้เทคโนโลยีตามความเป็นจริง (วัดจากจำนวนนาทีที่มีการใช้งานผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม จำนวนของผู้ใช้และเวลาที่ใช้ระบบออนไลน์ จำนวน Host ของอินเทอร์เน็ต และระดับการใช้งานของ e-commerce)
- เกิดจากช่องว่างที่มีผลกระทบต่อการใช้งาน (วัดจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการวัดผลด้านอื่น)
ประเทศต่างๆตระหนักถึงปัญหาของ “ช่องว่างทางดิจิทัล”เหล่านี้เป็นอย่างดี และเกือบทุกประเทศได้พยายามแก้ไขเพื่อทำให้ช่องว่างเหล่านี้แคบลง หลายประเทศสามารถลดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นต้นว่า สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ลักเซมเบิร์ก และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศอีกจำนวนมากรวมทั้งประเทศไทยเองต่างยังไม่สามารถก้าวข้ามช่องว่างนี้ไปได้ ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมครั้งใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือการเรียนออนไลน์จึงเกิดความโกลาหลกันไปทั้งประเทศและเหตุการณ์ความโกลาหลเหล่านี้จะยังคงอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่ปัญหา “ช่องว่างทางดิจิทัล” ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“ช่องว่างทางดิจิทัล” เป็นปัญหาหนักอกของทุกประเทศทั่วโลกทั้งประเทศกำลังพัฒนาหรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตามและผู้กำหนดนโยบายของประเทศมักมองปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลในมุมที่แคบเกินไปหรือมักใช้แนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยมองข้ามสาระสำคัญของ “ช่องว่างทางดิจิทัล” ซึ่งได้แก่
- ช่องว่างทางดิจิทัล มีวิวัฒนาการต่อเนื่อง ตามกาลเวลาที่ผ่านไปและตามประเภทของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้
- เทคโนโลยีทุกประเภทที่ถูกนำมาใช้ต้องใช้เวลาใน การแพร่กระจาย(Diffusion) เทคโนโลยีบางประเภทสามารถถูกซึมซับและแพร่กระจายได้รวดเร็วขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทต้องใช้เวลาหลายปีหรือหลายสิบปีจึงจะถึงจุดอิ่มตัวและเข้าถึงคนส่วนใหญ่
- ช่องว่างทางดิจิทัล มิใช่เป็นช่องว่างเชิงเดี่ยว(Single divide) แต่เป็นช่องว่างหลายมิติ เช่น เกิดขึ้นระหว่างประเทศ เกิดขึ้นระหว่างเพศ เกิดขึ้นระหว่างวัย ฯลฯ
- ช่องว่างทางดิจิทัลมักเกิดจากความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่ง เช่น ความมั่งคั่งระหว่างประเทศ ความมั่งคั่งระหว่างบุคคล ซึ่งหมายความว่าตราบใดที่ช่องว่างระหว่างความร่ำรวยกับความยากจนยังมีปรากฏอยู่ ช่องว่างทางดิจิทัลก็จะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวเสมอ
คนจำนวนหนึ่งมักทึกทักเอาว่ายิ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยิ่งจะทำให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น แต่คนพูดมักลืมคิดไปว่าเทคโนโลยีคือพลวัตที่ไม่มีการหยุดนิ่ง ซึ่งกว่ามนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งๆจะได้ใช้หรือซึมซับประโยชน์จากเทคโนโลยี บางชนิด เทคโนโลยีใหม่ก็เข้ามาแทนที่เสียแล้ว คนจำนวนไม่น้อยจึงไม่เคยรู้จักเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างตลอดชั่วชีวิตของตัวเอง ทั้งๆที่เครื่องมือเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นและถูกนำมาใช้มานานนับสิบปีหรือนับร้อยปีมาแล้วก็ตามและหากประเทศใดบริหารจัดการนโยบายทางเทคโนโลยีไม่มีประสิทธิภาพผลประโยชน์จากเทคโนโลยีก็จะตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว โดยทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังดังที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วในหลายกรณี
แม้ว่าเทคโนโลยีประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตจะมีราคาถูกลงและมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วกว่า วิทยุ โทรทัศน์หรือเครื่องแฟกซ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมก็ตาม แต่คนจำนวนไม่น้อยยังเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยความยากลำบากและเห็นว่าความอิ่มท้องและการเอาชีวิตให้อยู่รอดไปในแต่ละวันคือความจำเป็นยิ่งกว่าการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใดๆ
ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พัฒนาชั้นนำของโลกซึ่งเคยถูกจัดอันดับจาก World Economic Forum เมื่อปี 2015 ให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่สามารถปิดช่องว่างทางดิจิทัลได้ดีที่สุด แต่เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติจากโควิด-19 ต้องมีการเรียนออนไลน์ปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลที่ซุกอยู่ใต้พรมจึงได้เปิดเผยออกมา
จากรายงานของบริษัทไมโครซอฟท์เผยแพร่เมื่อปี 2019 ประมาณการว่า ประชากรอเมริกันราว 162.8 ล้านคนหรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรอเมริกันทั้งหมดไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเหตุผลต่างๆ เป็นต้นว่า อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย ไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะติดตั้งอินเทอร์เน็ต ฯลฯ นอกจากนี้ผลสำรวจของบริษัทไมโครซอฟท์และ National H-4 Council พบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงได้ แม้ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มงบประมาณมากมายมหาศาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่ผ่านมายังไม่สัมฤทธิ์ผล
ประเทศจีนซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่แตกต่างกันนัก ปัจจุบันประชากร 56-80 ล้านคนของประเทศจีนอยู่ในภาวะขาดแคลนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้คนจำนวนราว 480 ล้านคนไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพราะผู้คนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีทั้งๆที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือของตัวเอง
ความไม่พร้อมของระบบสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยไม่ได้มีความต่างจากประเทศอื่นๆทั่วโลกและเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องใช้เวลาในการแก้ไขซึ่งเป็นขวากหนามสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
การปรับเปลี่ยน “ช่องว่างทางดิจิทัล” (Digital divide) เป็น “ โอกาสทางดิจิทัล” (Digital opportunity) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ให้เป็นความจริงคือความท้าทายครั้งสำคัญของรัฐบาล ซึ่งหากไม่สามารถปิด “ช่องว่างทางดิจิทัล” ลงได้ ระบบการเรียนออนไลน์ของประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหลายปีกว่านักเรียนไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์ในอุดมคติอย่างเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจาก
1. https://en.unesco.org/news/startling-digital-divides-distance-learning-emerge
2. World Information Society Report, ITU, 2007
3. W(h)ither the Digital Divide ? โดย Carsten Fink , Charles J. Kenny
4. 4. https://www.forbes.com/sites/pikeresearch/2020/04/02/as-cities-face-covid-19-the-digital-divide-becomes-more-acute/#2c5441d158c5
5. https://www.weforum.org/agenda/2015/04/which-nations-are-top-for-digital/
6. The Second Machine Age โดย Erik Brynjolfsson , Andrew McAfee
ภาพประกอบ
https://www.technologyreview.com/2016/12/16/155240/the-unacceptable-persistence-of-the-digital-divide/