การใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้คนจึงเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะในขณะที่คนส่วนหนึ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจใครก็ตาม คนอีกส่วนหนึ่งมักใช้เครื่องมือเดียวกันโจมตีฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามไปด้วยโดยไม่ยั้งมือ ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ถูกกระทำจึงมาพร้อมกับแรงกระตุ้นให้เกิด ความโกรธ ความเกลียดแก่ผู้ที่ได้รับข้อมูลต่อๆกันไปเป็นลูกโซ่บนโซเชียลมีเดีย
ข่าวที่ถูกเผยแพร่จนกลายเป็นประเด็น ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันบนโลกโซเชียลอย่างเผ็ดร้อนและถูกนำมาเสนอต่อตามสื่อกระแสหลักทั้ง วิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนที่มีคนพูดถึงมากเท่าข่าว 'สาวขอลางานดูแลแม่ หัวหน้าไม่ให้ลา แถมเชิญมาให้เซ็นใบลาออก' (อ้างอิง 1) และ ข่าว 'รอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โพสต์เชียร์เบียร์บนโซเชียลมีเดีย ' (อ้างอิง2) แถมด้วยเรื่องแปลกๆเกี่ยวกับครูกายแก้วซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร(อ้างอิง3)
ทั้งข่าว 'สาวขอลางานดูแลแม่' และข่าว 'รองประธานสภาฯโพสต์เชียร์เบียร์' ล้วนเริ่มต้นมาจากการโพสต์ข้อความและภาพบนโซเชียลมีเดียของคนเพียงสองคน แต่ถูกขยายความต่อออกไปทั้งในโลกโซเชียลและสื่อกระแสหลักอย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกเซียลกับโลกของสื่อกระแสหลักถูกทำลายลงเรียบร้อยแล้วจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่หลอมรวมกับพลังของสื่อหลักจนแยกไม่ออกว่าสื่อใดมีอิทธิพลมากกว่ากัน
โซเชียลมีเดีย สื่อที่ควบคุมไม่ได้
โซเชียลมีเดียเป็นสื่อของคนทุกคนในโลกที่ยอมให้ใครต่อใครได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎของแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย จึงเป็นเครื่องขยาย(Amplifier) ที่ทรงพลังที่สุดและสามารถทำให้คำพูดหรือการกระทำของใครก็ตามกลายเป็นกระแส ความชื่นชม ความโกรธและความเห็นใจ จากผู้คนทั้งโลกได้ภายในเสี้ยววินาทีและยังแผ่อิทธิพลจากแพลตฟอร์มแรกไปยังแพลตฟอร์มต่อๆไปได้อย่างง่ายดายด้วยการแชร์ข้อมูล เราจึงเห็นกระแสที่อื้ออึงบนเฟซบุ๊ก กลายไปเป็น แฮชแท็ก #พี่กบ ปรากฏบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์(X)ได้ในช่วงเวลาอันสั้น(อ้างอิง 4)
ปัญหาบุคคลที่เกิดขึ้นระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรม จึงถูกขยายวงไปสู่คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆนับพัน นับหมื่น นับแสนและนับเป็นล้านๆคนได้อย่างรวดเร็วและยังลามปามไปจนถึง การโจมกิจการโรงแรมที่พนักงานที่ตกเป็นข่าวทำงาน พร้อมกับมีการรุมรีวิวลดดาวเหลือ 1 ดาว และ ยังมีชาวเน็ตบางคนโทรศัพท์ไปยังโรงแรม รวมทั้งเบอร์มือถือส่วนตัวของพนักงานเพื่อด่าทอเรื่องที่เกิดขึ้นจำนวนมาก จนโรงแรมต้องออกแถลงข่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีการโจมตีไปถึงโรงแรมชื่อเดียวกันในสาขาอื่นๆอีก 65 สาขา ทั่วโลก ทั้งที่โรงแรมเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับพนักงานโรงแรมที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเมืองไทยแม้แต่น้อย (อ้างอิง 5)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมที่ผู้คนใช้โซเชียลมีเดีย ในการแสดงความเห็นใจน้องพนักงานที่ตกเป็นข่าวและกลายเป็นกระแสที่เกินเลยขอบเขตของคำว่าการลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อต่อหัวหน้างานที่ตกเป็นจำเลย จากคำพิพากษาของคนที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งส่งผลรุนแรงกว่าโทษถูกสอบสวนและถูกพักงานตามคำสั่งของโรงแรมมาก
โพสต์แรกบนโซเชียลมีเดียจากประโยคสั้นๆไม่กี่คำพูดจึงเป็นเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่แผ่กระจายและถูกขยายความต่อ พร้อมสร้างเรื่องราวใหม่ต่างๆนานาไปทั้งโลกโซเชียลโดยผู้โพสต์คนแรกคง คาดไม่ถึงว่าโพสต์ของเธอเพียงโพสต์เดียวจะมีอิทธิพลมากมายต่อผู้คนถึงเพียงนี้ ซ้ำร้ายยังมีผู้สร้างเพจปลอมเพื่อให้ผู้คนเข้าไปก่นด่าพนักงานที่เป็นหัวหน้าอย่างสาดเสียเทเสีย เพียงเพื่อหาผลประโยชน์ จากยอดไลค์ ยอดแชร์ บนเพจของตัวเองอีกด้วย การกระทำเช่นนี้จึงแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากการโปรโมทตัวเองโดยอาศัยการแสดงออกทางศีลธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฉากบังหน้า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้สร้างสื่อที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เพื่อผลกำไรจากโมเดลทางธุรกิจที่สร้างความสนใจให้กับผู้คนผ่านหน้าจอ ในขณะเดียวกันผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยต่างฉวยโอกาสใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อหาประโยชน์ให้กับตัวเองด้วยการแสดงความเห็นใจต่อน้องผู้ถูกกระทำจนเลยเถิด และไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ได้แสดงออกไปนั้นกลายเป็นปฏิกิริยาตอบสนองลูกโซ่ (Reaction chain) ที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้คนในทางลบและสร้างความเสียหายต่อธุรกิจของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปทั่วโลก โดยที่ไม่มีใครสามารถควบคุมและหยุดปฏิกิริยาต่อเนื่องนี้ได้ จนกว่ากระแสของความเกรี้ยวกราดบนโลกออนไลน์จะเจือจางลงไปเอง
จาก ภาษา สู่ อารมณ์
การที่ผู้คนได้อ่านพาดหัวข่าว 'โซเชียลเดือดถล่มยับหัวหน้าใจดำ' หรือ 'รุมสาปหัวหน้าใจดำ' หรือ ไล่ 'ปดิพัทธ์' ลาออก พ้น สส.- รองประธานสภาฯ เซ่นพิษกร่างโชว์เบียร์ กม.เสี่ยงคุก” (อ้างอิง 6 7 และ8 ) บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นภาษาล่อเป้าที่กระตุ้นอารมณ์ (Emotive language) จึงเป็นเหมือนข้อความที่บังคับให้ผู้เสพข่าวต้องตอบสนองต่อถ้อยคำที่มองเห็นตรงหน้านั้นในทันที ในการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายของคอนเทนต์ทางจริยธรรมพบว่าหากมีการใส่คำพูดเชิงศีลธรรม(Moral)หรือคำพูดที่เกี่ยวกับอารมณ์(Emotion) เข้าไปในข้อความที่โพสต์บนทวิตเตอร์ จะทำให้ไวรัลของคอนเทนต์นั้นเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ต่อคำ (อ้างอิง 10) และถ้อยคำเหล่านี้คืออาหารอันโอชะของอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบมาเพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้คนและกลายเป็นเครื่องมือส่งต่อความโกรธต่อผู้ตกเป็นข่าวออกไปอย่างไม่มีจุดจบ เพราะนอกจากความไม่พอใจของผู้คนที่ระอุเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เอาต์พุต(Output) ของอัลกอริทึมยังสร้างกระแสเกี่ยวกับความเห็นและข้อสรุปของเหตุการณ์ที่มาจากความหลากหลายอารมณ์ของผู้คนจนเกิดเป็นภาพใหม่ที่ถูกต่อเติมจากเรื่องราวเดิมจนเกินความจริงและส่วนหนึ่งของภาพใหม่เหล่านี้ได้กลายเป็นพอลลูชันทางข้อมูลที่ผู้คนต่างหยิบฉวยไปขยายความต่อและซ้ำเติมพอลลูชันเหล่านั้นให้มากขึ้นไปอีกจากการกระทำที่เกิดขึ้นซ้ำๆกัน
มนุษย์ยุคปัจจุบันจึงตกอยู่ในสภาวะที่ได้รับข้อมูลมากเกินความจำเป็นจนไม่สามารถประมวลผลได้ทันและครบถ้วนภายใต้กระแสของข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาเกือบตลอดเวลา เพราะสมองมนุษย์ถูกใช้งานจนถึงขีดจำกัดที่จะประมวลผลข้อมูลที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพได้
จากการศึกษาพบว่ามนุษย์แต่ละคน สามารถประมวลผลข้อมูลภาษา(แปลงเป็นไบนารี)ได้เพียง 126 บิท ต่อวินาที เท่านั้น (อ้างอิง 10) การได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวินาทียังทำให้มนุษย์มีโอกาสเกิดอาการอ่อนล้าจากการได้รับข้อมูลมากจนเกินไป( Information Fatigue Syndrome :IFS) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสื่อมทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์(Deterioration of analytic skill) ได้เช่นกัน (อ้างอิง 9) นอกจากนี้ความเป็นพิษของข้อมูลที่กระตุ้นอารมณ์โกรธที่สะสมอยู่ บนโลกออนไลน์ที่ผู้คนเข้าไปสัมผัสและมีอารมณ์ร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนอาจพูดได้ว่าสังคมไทยกำลังจมอยู่ในคลื่นของความโกรธผ่านเครื่องมือที่เราเรียกว่ากระบอกเสียงแห่งเสรีภาพของเราโดยไม่รู้ตัว
ความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์คือเมนูที่อัลกอริทึมถวิลหาอยู่เสมอ ลองจินตนาการดูว่า ข้อความบน เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์หรือแพลตฟอร์มอื่น ที่มีการอัปเดตข่าวหรือข้อมูลที่ทำให้ผู้คนมีความสุขและสงบ กับข้อความที่ทำให้ผู้คนมีความขัดแย้ง จนถึงขั้นเกิดอารมณ์ โกรธแค้น ชิงชัง ต่อหัวหน้างานที่มีชื่อในข่าว รวมทั้งโรงแรมที่ตกเป็นข่าว อัลกอริทึมจะชอบข้อมูลประเภทไหนและจะเลือกส่งข้อมูลไหนไปให้ผู้คนได้อ่านมากกว่ากัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะชอบดูสิ่งที่เป็นภาพในทางลบและรุนแรง(Negative and outrageous) นานกว่าสิ่งที่เป็นภาพทางบวกและความสงบ(Positive and calm) เสมอ (อ้างอิง 11) ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงกับจริตของอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบตามพฤติกรรมของมนุษย์ อัลกอริทึมจึงหยิบจับสิ่งที่ผู้คนสนใจและส่งต่อคอนเทนต์เหล่านั้นออกไปเพื่อดึงดูดผู้คนไม่ให้ละสายตาจากจอโทรศัพท์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือโมเดลทางธุรกิจของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่เริ่มต้น
ผลลัพธ์จากการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โพสต์ข้อความที่แสดงอารมณ์โกรธและได้รับยอดไลค์ ยอดแชร์ จำนวนมากเป็นรางวัล คนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะแสดงออกถึงอารมณ์โกรธได้อีกในโพสต์ครั้งต่อๆไป (อ้างอิง10) นอกจากนี้ผลการศึกษาการเดินทางของอารมณ์บนแพลตฟอร์ม Weibo ของจีน พบว่าอารมณ์โกรธสามารถเดินทางบนโลกโซเชียลได้ไกลกว่าอารมณ์อื่นๆและจากผลการศึกษาบนแพลตฟอร์มอื่นๆเช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์(X)ก็ให้ผลในทำนองเดียวกัน(อ้างอิง 12 )
ลำดับเหตุการณ์ที่ขึ้นระหว่างพนักงานโรงแรมสองคนที่เผยแพร่ออกไปยังโซเชียลมีเดียและส่งต่อไปยังสื่อกระแสหลัก ภายใต้อารมณ์ขุ่นเคืองของผู้คนต่อหัวหน้าที่ไม่ให้พนักงานลาไปดูแลแม่และแม่ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงพออธิบายได้ว่าเหตุใดอารมณ์โกรธบนโซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นไวรัลไปทั่วและยังได้สะท้อนถึงการใช้ภาษากระตุ้นอารมณ์ที่เกิดจากการแสดงออกถึงการปกป้องทางศีลธรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จนทำให้เรื่องภายในออฟฟิศของคนสองคนในโรงแรมหรูที่โคราชกลายเป็นเรื่องระดับโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
เมื่อความเห็นใจ กลายเป็นดาบสองคม
โซเชียลมีเดีย สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ระบายความทุกข์ใจของคนบางคนให้สังคมได้รับรู้และในทางกลับกันยังเป็นเครื่องมือที่สามารถปลอบประโลมใจแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์เหล่านั้นด้วย โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่เป็นทางเลือกให้ผู้คนได้แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกช่องทางหนึ่ง การแสดงความมีศีลธรรมและจรรโลงความดีผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องดีงามที่ไม่มีใครปฏิเสธได้และน้องที่ได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมจากหัวหน้าที่เป็นข่าวควรได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ในสภาวะที่ผู้คนใช้ชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในโลกออนไลน์ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใครก็ตามที่มีโทรศัพท์อยู่ในมือมักต้องการส่งเสียงเพื่อแสดงออกถึงการปกป้องผู้คนที่ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมอยู่เสมอในสังคมที่ความเห็นอกเห็นใจลดน้อยลงไปทุกวัน อย่างไรก็ตามในขณะที่เราแสดงความเห็นอกเห็นใจใครคนหนึ่งเรามักอดไม่ได้ที่จะแสดงการ ทับถม วิจารณ์และด่าทอ ผู้ซึ่งเป็นคู่กรณีของคนคนนั้นในเวลาเดียวกัน ดังตัวอย่างของพนักงานโรงแรมที่เป็นข่าว
การใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้คนจึงเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะในขณะที่คนส่วนหนึ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจใครก็ตาม คนอีกส่วนหนึ่งมักใช้เครื่องมือเดียวกันโจมตีฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามไปด้วยโดยไม่ยั้งมือ ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ถูกกระทำจึงมาพร้อมกับแรงกระตุ้นให้เกิด ความโกรธ ความเกลียดแก่ผู้ที่ได้รับข้อมูลต่อๆกันไปเป็นลูกโซ่บนโซเชียลมีเดีย
ไม่เฉพาะตัวเราเท่านั้นที่ต้องการเรียกร้องความสนใจต่อสิ่งที่เราโพสต์ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกรางวัลจาก ยอดการอ่าน ยอดไลค์ ยอดแชร์และยอดติดตาม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่ถูกแปลงเป็นเงินในธุรกิจออนไลน์ อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียเองก็พยายามจับสิ่งผู้คนสนใจและจัดลำดับให้โพสต์เหล่านั้นถูกมองเห็นเป็นอันดับแรกๆเสมอ ดังนั้น ความเกลียด ความไม่พอใจ การด่าทอ ที่ตอบโต้กันต่อกรณีที่เกิดขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่ถูกจัดลำดับความสำคัญ (Priority)ไว้เป็นลำดับแรกๆเหนือกว่าสัญญาณอื่นๆ จนทำให้ อารมณ์โกรธ เกลียด ไม่พอใจ จากความหัวร้อนมักปรากฏให้ผู้คนเห็นอยู่เสมอบนโลกโซเชียลด้วยการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของอัลกอริทึมนั่นเอง
สมองมนุษย์กับโซเชียลมีเดีย
แดเนียล คาฮ์เนแมน ( Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2002 ได้อธิบายระบบการทำงานของสมองมนุษย์เอาไว้ว่า การทำงานของสมองมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ซึ่งเขาเรียกระบบการทำงานนี้ว่า สมองส่วนคิดเร็ว(Fast thinking) หรือสมองระบบที่ 1(System 1) และสมองส่วนคิดช้า(Slow thinking) หรือสมองระบบที่ 2(System2)
สมองส่วนคิดเร็ว คือสมองส่วนที่คิดและตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติ ตัดสินใจอะไรง่ายๆ และไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก โดยอาศัยความชำนาญ สัญชาตญาณและข้อมูลที่มีในอดีตที่มีอยู่แล้วและสามารถนึกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
สมองส่วนคิดช้า คือ สมองส่วนที่ใช้ตรรกะและการคิดอย่างมีเหตุผล สมองส่วนนี้จะมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจเมื่อเราใช้ความพยายามมากในการโฟกัสถึงการตัดสินใจนั้นๆ(อ้างอิง 13)
คำอธิบายของ แดเนียล คาฮ์เนแมน สามารถไขความกระจ่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี เพราะทฤษฎีของการคิดแบบเร็วทำงานได้ดีกับโลกดิจิทัลและทำงานสัมพันธ์กับฟังก์ชันของโซเชียลมีเดียที่หลอกล่อให้มนุษย์เข้าไปติดกับดัก เช่น การโน้มน้าวอารมณ์ให้ผู้คนเข้าไปคลิก(Click bait) ข้อความหน้าจอ การตอบสนองทันทีต่อการเห็นภาพและข่าวที่มีความก้าวร้าวรุนแรงและกระตุ้นอารมณ์ เป็นต้น
ฟังก์ชันเหล่านี้ถูกตั้งใจสร้างขึ้นอย่างแยบยลจนดูเหมือนว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ถูกโปรแกรมให้ต้องทำตามคำสั่ง เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัว(Unconscious) จากสมองส่วนคิดเร็ว โดยใช้เวลาตอบสนองต่อสิ่งที่เห็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีความคิดอื่นเข้ามาสอดแทรกในระหว่างที่สมองส่วนคิดเร็วกำลังทำงาน
ทฤษฎีของ คาฮ์เนแมน จึงพออธิบายได้ว่าเหตุใด โพสต์เดียวจากน้องพนักงานคนหนึ่งที่ กระตุ้นความเห็นอกเห็นใจและอารมณ์โกรธของผู้คนตั้งแต่ตอนแรกบนโซเชียลมีเดีย จึงสามารถกลายเป็นไวรัลไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีความเป็นไปได้ที่ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคือการตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้คนบนโลกโซเชียลโดยฉับพลันต่อข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาจากความหัวร้อนของคนที่รับทราบข่าว ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนคิดเร็ว(ระบบที่ 1) ซึ่งทำงานสำเร็จไปแล้วอย่างฉับไวและถูกแชร์ออกไปทันที ก่อนที่สมองส่วนคิดช้า(ระบบที่ 2) จะเข้ามาสอดแทรกเพื่อทำให้เกิดการกลั่นกรองและเกิดการคิดเชิงวิเคราะห์ในภายหลัง
โซเชียลมีเดียเป็นสื่อไร้พรมแดนที่ไร้ข้อจำกัดหรือขอบเขตในการแสดงความเห็นและไม่มีใครสามารถเรียกร้องความเห็นใจหรือความปราณีใดๆจากโซเชียลมีเดียได้ สิ่งใดก็ตามที่ถูกนำไปเผยแพร่บนโซเชียมีเดียแม้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยก็อาจถูกตีความใหม่และขยายความจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตอย่างง่ายดาย สุภาษิต 'ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า' ที่คนไทยเคยสั่งสอนกันมาช้านาน อาจต้องถูกนำกลับมาใช้เพื่อเตือนสติผู้คนในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นกระบอกเสียงเสรีที่ทุกคนสามารถจะนำไปใช้เพื่อการสร้างสรรค์หรือทำลายใครก็ตามได้ในเวลาเดียวกัน
อ้างอิง
1.เกินไปไหม สาวเผยแชตสุดอึ้ง https://www.sanook.com/news/8983794/
สาวลางานดูแลแม่ หัวหน้าไม่ให้ลาhttps://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000073984
2.รอง ปธ.สภาฯโพสต์เชียเบียร์ https://www.thaipost.net/dominate-the-situation-news/432840/
3.ครูกายแก้ว https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2718127
4.https://www.dailynews.co.th/news/2633795/
5.https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000074843
6.
7.
8.
9.In the Swarm โดย Byung-Chul Han
10.Outrage Machine โดย Tobias Rose-Stockwell
11.Stolen Focus โดย Johann Hari
12.The Chaos Machine โดย Max Fisher
13.https://datascihaeng.medium.com/thinking-fast-and-slow-review-96f2f4464900
https://www.nytimes.com/2014/07/06/fashion/social-media-some- susceptible-to-internet-outrage.html
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร